สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ละครไทย ยังทำร้ายเยาวชนและสังคม

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :นราทิพย์ กวางเส็ง:


สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือมีเดีย มอนิเตอร์ และเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ จัดงานเสวนาเรื่อง ความรุนแรงในละครโทรทัศน์ทางฟรีทีวี

ครั้งนี้ได้ศึกษาละครที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี เรื่อง ความรุนแรงในละครโทรทัศน์ทางฟรีทีวี ปี 2551 และการประเมินการจัดระดับความเหมาะสมของละครโทรทัศน์ พบว่า ในรอบปี 2551 มีละครแพร่ภาพทั้งสิ้น 113 เรื่อง โดยช่อง 7 มีจำนวนมากที่สุดถึง 62 เรื่อง รองลงมาเป็นช่อง 3 จำนวน 39 เรื่อง ช่อง 5 จำนวน 9 เรื่อง ทีวีไทย จำนวน 2 เรื่อง ช่อง 9 จำนวน 1 เรื่อง

ในจำนวนละครทั้งหมดมีปมขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงถึง 110 เรื่อง และบางเรื่องมีมากกว่า 1 รูปแบบ โดยละครช่อง 3 จะมีปมความขัดแย้งในละครทุกเรื่อง

ทั้งนี้ พบว่าปมความขัดแย้งเรื่องความรักมากที่สุด โดยเป็นการชิงรักหักสวาทนำไปสู่ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การทำร้ายร่างกาย การดูถูก เหยียดหยาม ใส่ร้าย กักขัง และข่มขืน นอกจากนี้ยังพบการสร้างปมความอาฆาต แก้แค้น อิจฉาริษยา การแก่งแย่ง การมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ป้องกัน

ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงาน วิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ เปิดเผยว่า พบว่าเนื้อหาละครมีการกระทำความรุนแรงแทบทุกช่วงเวลาออกอากาศ โดยเฉพาะช่วงละครหลังข่าวภาคค่ำ 20.00-24.00 น. แต่ก็พบว่าช่วงก่อนข่าวภาคค่ำ 16.00-20.00 น. มีเด็กและเยาวชนดูรายการเหล่านั้นด้วย ซึ่งมีความรุนแรงที่ใกล้เคียงกัน และมีความน่าเป็นห่วงในช่วงกลางวันยังมีการนำละครหลังข่าวที่มีความรุนแรงมา ฉายซ้ำ

ความรุนแรงที่พบในละครไทย มีทั้งความรุนแรงต่อร่างกาย ความรุนแรงต่อจิตใจ ความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงด้วยวาจา เช่น การด่าทอ ดูถูก พูดประชด การทะเลาะ กักขัง หน่วงเหนี่ยว ใส่ร้าย การข่มขืน ลวนลาม หรือพยายามจะกระทำ การทิ้ง การทำลาย การแย่งสมบัติ ปล้น และยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ทั้งทางสังคม ทางเพศ เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยก กีดกันต่างๆ

นอกจากนี้ยังพบว่า ละครได้ใช้แก่นเรื่องที่ส่งเสริมให้คนทำความดีมากที่สุด รองลงมาคือ ธรรมะชนะอธรรม การส่งเสริมสถาบันครอบครัว การกำหนดคุณค่าของบุคคลโดยสังคม การให้อภัย ความรัก มิตรภาพ ความสามัคคี การแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง และการส่งเสริมสำนักรักบ้านเกิด

เมื่อประมวลระดับความรุนแรงที่ประเมินจากสถานีโทรทัศน์ต่อละคร เรื่องต่างๆ พบว่า ละครไทยราว 80% นำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรงระดับ น.13+ และ น.18+ และอีก 20% ถูกประเมินให้อยู่ในระดับ ท. เมื่อเปรียบเทียบกับละครเกาหลี ญี่ปุ่น ที่นำเข้ามาฉายในช่องฟรีทีวีแล้วพบว่ามีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย ให้ความสนุกสนาน และไม่ทำให้เยาวชนซึมซับความรุนแรง เช่น ละครเกาหลีเรื่อง ลีซาน จอมบัลลังก์พลิกแผ่นดิน

สำหรับสาเหตุสำคัญที่ยังคงทำให้ละครไทยมีความรุนแรง คือ

1.ละครไทยส่วนใหญ่มักจะดัดแปลงมาจากบทประพันธ์เดิม ความคิด ทัศนคติ แก่นของบทประพันธ์ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อผู้ผลิตนำบทประพันธ์เดิมมาสร้างใหม่ ด้วยการดัดแปลงเล็กน้อยๆ แต่ยังคงรูปแบบเดิมๆ อยู่ จึงทำให้ละครไทยวนเวียนอยู่ในเรื่องราวเดิมๆ และการกระทำ พฤติกรรมของตัวละครยังเหมือนเดิม

2.ละครไทยยังคงมีการใช้การโต้ตอบอย่างรุนแรง การแก้แค้น เป็นหนึ่งสิ่งที่ละครต้อง นำเสนอเพื่อความบันเทิง หรือตอบสนอง ผู้บริโภค

3.ผลตอบแทนจากการกระทำที่รุนแรง หรือบทลงโทษกับตัวละครที่สร้างความรุนแรง ทำผิด ไม่ได้แสดงถึงผลกระทบที่น่ากลัว หรือทำให้ผู้ชมไม่เรียบแบน เช่น ตัวอิจฉามักจะตาย หรือเป็นบ้าไปในตอนจบเพื่อให้เรื่องจบไปเท่านั้น

อัญญาอร พานิชพึ่งรัถ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เปิดเผยว่า ผลการศึกษาการประเมินการจัดระดับความเหมาะสมของละครโทรทัศน์ ตาม คู่มือการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ ของกรมประชาสัมพันธ์ ในช่วงเวลา 16.00-22.30 น. ระหว่างวันที่ 9-22 มี.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 20 รายการ พบว่ามี 3 รายการที่ประเมินสัญลักษณ์รายการไม่ตรงกัน โดยสถานีประเมินต่ำกว่าการประเมินของเครือข่ายฯ เช่น ละครเรื่อง สาปภูษา และสุสานภูเตศวร จากเดิมที่ได้รับการประเมินให้ความรุนแรงอยู่ในระดับ น.13+ แต่ทางเครือข่ายประเมินว่าความรุนแรงอยู่ในระดับ น.18+ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้ประเมินระดับความรุนแรงของละครโทรทัศน์เรื่องต่างๆ ของช่อง 3, 5, 7, 9 พบว่า โดยเฉลี่ยความรุนแรงของช่อง 3 อยู่ที่ 3.8, ช่อง 5 อยู่ที่ 5.2, ช่อง 7 อยู่ที่ 4.8 และช่อง 9 อยู่ที่ 3.0

จากสิ่งที่ค้นพบจากละครไทยในปัจจุบัน ทางเครือข่ายฯ จึงได้เสนอข้อเรียงร้องต่อภาครัฐฯ ดังต่อไปนี้

1.ขอให้สถานีโทรทัศน์จัดเรตติ้งให้ตรงกับระดับเนื้อหา และความรุนแรงของละครเรื่องที่ต้องการนำเสนอ

2.นำแก่นเรื่อง หรือบทประพันธ์มา พิจารณาในการจัดเรตติ้งร่วมด้วย เพื่อนำเสนอหรือกำหนดให้ผู้ชมได้ตรงกับระดับความรุนแรง

3.ผู้ผลิตควรจะปรับบทการแสดงไม่ให้เกินความเป็นจริง หรือโอเวอร์ แอ็กติง จนเกินไป เช่น ตัวละครชื่อ ส้ม ในเรื่อง นัดกับนัด จะเรียกผู้ชายทุกคนที่รู้จักว่า สามีขา หรือผัวขา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และเป็นการแสดงที่เกินความเป็นจริง

4.รัฐบาลต้องออกมาตรการทางกฎหมายขึ้นมาควบคุมดูแล ซึ่งปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์ได้เป็นผู้ดูแล ดังนั้นก็ต้องโอนไปให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นผู้รับไปดูแล

5.จัดให้มีองค์กรทำหน้าที่ในการประเมินระดับความรุนแรงของละครหลัง จากฉายแล้ว ซึ่งต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อวัดคุณภาพการประเมินคุณภาพของสถานีโทรทัศน์

6.มีการก่อตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์เพื่อร่วมกันพัฒนาสื่อที่ดีไปยังผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันต้องใช้เงินทุนจำนวนหนึ่ง

ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ละครโทรทัศน์เท่านั้น ยังมีสื่ออินเทอร์เน็ต โรงภาพยนตร์ ที่มีสารของความรุนแรง เรื่องเพศ เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายใดๆ ฝ่ายหนึ่ง เพื่อเฝ้าระวัง หรือควบคุมการทำงานของสื่อ รวมถึงการหามาตรการลงโทษกับผู้ผลิตหรือสถานีโทรทัศน์ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อ บังคับ

ด้าน ต่อพงศ์ เสลานนท์ อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้ยกร่างให้คณะอนุกรรมการยกร่าง เกี่ยวกับผู้ประกอบการโทรทัศน์ และวิทยุ โดยในร่างใหม่นี้ได้กำหนดให้มีรายการสำหรับเด็กได้ 30 นาทีต่อ 1 วัน ระหว่าง 16.30–20.00 น.

ดังนั้น หากองค์กร หรือเครือข่ายใดมีความประสงค์จะเสนอให้เรื่องใดก็ขอให้รีบเข้าไปพบเพื่อยื่น ข้อเสนอดังกล่าว ประกอบกับมีการคาดว่าร่างดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ราวกลางปีหน้า ซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นอีกหรือไม่ หากต้องการให้ทุกอย่างดำเนินการไปโดยเร็ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรรีบดำเนินการตั้งแต่บัดนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นทางด้านโทรทัศน์ หรือเคเบิลทีวี เนื่องจากพ.ร.บ.กิจการวิทยุโทรทัศน์ฉบับเดิมถูกยกเลิก และยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขึ้นมาดำเนินงานดูแล ประกอบการเนื้อในข้อกฎหมายมีความกำกวมจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหา ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

view