สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กทม.เข็น บีอาร์ที ต่อ...เมิน คดี ฮั้ว ไม่ ฮั้ว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เรื่องโดย สุกัญญา สินถิรศักดิ์


บีอาร์ที ฮั้ว หรือ ไม่ฮั้ว ประมูลยังไม่ตัดสิน แต่กทม.ประกาศชัด เดินหน้าต่อแน่ ซื้อรถบีอาร์ทีไม่ได้ เช่าแทนไปก่อน หวั่นซ้ำรอยโฮปเวลล์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เชิญท่านผู้อ่านร่วมรับรู้ความคืบหน้าของโครงการบีอาร์ทีและเชิญแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาทางออกไม่ให้ซ้ำรอยโฮปเวลล์

หลังจากมีกระแสข่าวว่า โครงการรถเมล์โดยสารประจำทางด่วนพิเศษ "บีอาร์ที" ดูแลโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่กรุงเทพมหานครถือหุ้น 100% อาจเข้าข่าย "ฮั้ว" ประมูลตัวรถบีอาร์ที ไม่โปร่งใสในกระบวนการประกวดราคาจัดซื้อ ในราคาคันละ 7 ล้านบาท แพงกว่าราคาในท้องตลาดที่ขายกันอยู่ที่ 4 ล้านบาท และกำหนดสเปคไว้สูงเกินกว่าที่บริษัทรถยนต์ชั้นนำทั่วไปจะสามารถผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็น ทีโออาร์ที่กำหนดเกี่ยวกับระบบเบรก และความสูงของรถยนต์ที่กำหนดให้พอดีกับชานชาลา ซึ่งเรื่องดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ

ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร "ฮั้ว" หรือ "ไม่ฮั้ว" คงไม่มีใครทราบได้จนกว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนของผู้ที่เกี่ยวข้องเปิดเผยออก มา แต่ ณ เวลานี้ หลายคนคงมีคำถามขึ้นในในว่า แล้วโครงการบีอาร์ที จะเป็นเช่นไรต่อไป? เดินหน้าต่อได้หรือไม่? หรือต้อง "หยุด" โครงสร้างตัวสถานีที่แล้วเสร็จเกือบ 100% จะถูกปล่อยทิ้งร้าง ซ้ำรอยประวัติศาสตร์โครงการ โฮปเวลล์อีกครั้งหรือไม่? วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ขอไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกับการพูดคุยกับ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง

นายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้ที่ดูแลโครงการดังกล่าว กล่าวยืนยันว่า "กทม.จะเดินหน้าโครงการบีอาร์ทีต่ออย่างแน่นอน เพราะไม่อยากให้ประชาชนเสียประโยชน์ และมันเสียเวลามามากแล้ว ไม่ควรให้ประชาชนเสียโอกาส"

เขายังเล่าให้ฟังถึงกระบวนการหลังจากนี้ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่ รถบีอาร์ที ที่จัดประกวดราคาถูกมองว่า ไม่โปร่งใส ดังนั้นตามกระบวนการแล้ว รถบีอาร์ทีที่ ถูกมองว่าไม่โปร่งใสก็ไม่สามารถใช้ได้ แต่โดยตัวโครงสร้างไม่ได้มีปัญหาอะไร จึงสามารถที่จะเปิดดำเนินการได้ต่อ เพียงแต่ รถที่จะนำมาวิ่งนั้น กทม.อยู่ ระหว่างพิจารณาว่า เบื้องต้นอาจจะเช่ารถมาวิ่งก่อนในจำนวนที่ใกล้เคียงกับที่ต้องซื้อ จนกว่าจะได้ข้อสรุปว่าความไม่โปร่งใสของการจัดประกวดราคาของรถบีอาร์ทีนั้นจริงหรือไม่ หากมีความผิดจริงก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น แต่หากไม่ผิด ก็นำรถมาใช้ตามปกติ ซึ่งลักษณะของรถบีอาร์ทีจะพิเศษกว่ารถเมล์ปกติ สเปกของรถที่จะเช่ามาใช้ก็ต้องสอดคล้องกันด้วย

สำหรับประเด็นนี้ ผู้สื่อข่าวได้ถามต่อว่า จะใกล้เคียงกับสเปกเดิมหรือไม่? นายจุมพลก็ตอบว่า ต้องมีลักษณะที่คล้ายกัน เพราะระบบรางของบีอาร์ทีจำเป็นต้องใช้รถลักษณะพิเศษจริงๆ

หากใกล้เคียงจากสเปกเดิม หลายคนคงสงสัยว่า รถบีอาร์ทีสเปก เดิมยังมีปัญหา รถเช่าสเปกใกล้เคียงกัน จะไม่มีปัญหาได้อย่างไร? นายจุมพล ตอบว่า ก็จะต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใสมากที่สุด ใช้ทุกวิถีทางที่จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส อะไรที่เป็นจุดอ่อนของปัญหารอบที่แล้วก็จะพยายามปิดจุดอ่อนที่จะก่อให้ข้อ สงสัยถึงความไม่โปร่งใสได้ ซึ่งจุดอ่อนที่กล่าวถึงนั้น ดีเอสไอ หรือป.ป.ช.ผู้ที่ดูแลคดีนี้จะเขียนรายงานส่งมายังกทม.ว่า รถบีอาร์ทีมี กระบวนการที่ส่อเค้าให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสอย่างไรบ้าง พอเราทราบแล้ว ทุกอย่างก็ต้องดำเนินไปตามกระบวนการ และหากมีการดำเนินการใหม่ เราก็จะไม่ให้เกิดความผิดพลาด บกพร่องอีก

"ที่ผ่านมาเรามั่นใจว่าได้ดำเนินการทุกอย่างตามกระบวนการอย่าง ถูกต้อง ถ้าพิสูจน์ว่าบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดในฐานะผู้ที่ดูแลโครงการนี้ บกพร่อง ไม่โปร่งใสก็ต้องมาดูว่าบกพร่องที่บุคคลหรือว่าส่วนไหน ก็ให้ดำเนินการตามนั้น"

สำหรับสเปกของรถบีอาร์ทีคร่าวๆ นั้น นายจุมพล เล่าให้ฟังว่า รถบีอาร์ทีมีความแตกต่างจากรถเมล์ประจำทางทั่วไปมาก โดยรถบีอาร์ทีจะ ต้องมีเครื่องยนต์ที่แรงกว่า ความเร็วสูงกว่า ระบบเบรกดีกว่า เพื่อจอดให้ตรงกับป้าย พื้นล้อกับชานชาลาต้องเสมอกัน มีระบบ GPS เพื่อเชื่อมต่อกับสัญญาณไฟจราจร ให้สิทธิรถบีอาร์ทีได้ไปก่อน และเชื่อมต่อกับป้ายประจำทางที่สถานี เพื่อให้ผู้โดยสารรับทราบว่าในอีกกี่นาทีรถบีอาร์ทีจะมาถึงสถานี เดินรถทุก 3-4 นาที

ส่วนเรื่องการเดินรถ นายจุมพล อธิบายให้ฟังว่า เดิมมีมติครม.ออกมาว่า ให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) เป็นผู้มีสิทธิในการเดินรถประจำทางสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ แต่เพียงผู้เดียว แต่ถ้าผู้ประกอบการเอกชนมีความสนใจจะร่วมเดินรถในบางเส้นทางด้วยนั้น สามารถทำได้ใน 2 รูปแบบ ดังนี้ 1. ดำเนินการในลักษณะรถร่วมของขสมก. คือ อยู่ภายใต้การดูแลของขสมก.เหมือนรถร่วมของเอกชนที่พบเห็นในปัจจุบัน และ 2. ดำเนินการขอยกเว้นมติครม.เพื่อเป็นหนึ่งในผู้เดินรถด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับกรณีของรถประจำทาง เมโทรบัส ที่ขอยกเว้นมติครม.เป็นผู้เดินรถด้วยตัวเอง จำนวน 34 เส้นทาง ไม่ใช่รถร่วม

เมื่อพิจารณาถึง 2 แนวทางแล้ว กทม.มอง ว่าจะเลือกรูปแบบที่ 2 คือ การขอยกเว้นมติครม.และเป็นผู้เดินรถเองเฉพาะเส้นทางเหมือนกับเมโทรบัส โดยการเดินรถในเส้นทางสายแรก จากช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ระยะทางรวม 16.5 กิโลเมตร ได้ผ่านขั้นตอนของการขอยกเว้นมติครม.ให้เป็นผู้เดินรถได้เองเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการใบอนุญาตเดินรถ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนการก่อสร้างสถานีต่างๆ แล้วเสร็จไปกว่า 90% แล้ว คาดว่าภายใน 2 เดือนงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จทั้งหมด พร้อมเปิดใช้บริการจริง วางแผนที่จะทดลองวิ่งในช่วงต้นปี 2553 และเปิดใช้จริงในเดือนพ.ค. 2553 โดยมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่มีกทม.ถือหุ้น 100% เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด

ทั้งนี้ รายละเอียดของรถเมล์โดยสารประจำทางด่วนพิเศษ "บีอาร์ที" บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลจัดหารถบีอาร์ที จำนวน 45 คัน ภายใต้งบประมาณ 387 ล้านบาท เฉลี่ยคันละ 7 ล้านบาท นายจุมพล กล่าวว่า ถ้าถามว่าราคาสูงกว่าที่ขายกันในท้องตลาดไหม อาจจะสูงกว่า เพราะเป็นรถแบบพิเศษ อีกทั้ง กทม.ตั้ง สเปกให้นำเข้ามาประกอบในประเทศ เพื่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ หากจะซื้อยกคัน หรือนำเข้ายกคันก็เป็นไปได้ เพราะตอนนี้ภาษีนำเข้ารถเมล์สาธารณะถูกลงแล้ว นำเข้า หรือประกอบในประเทศไม่แตกต่างกัน ไม่เหมือนในอดีตที่การนำชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศจะถูกกว่านำเข้ารถทั้งคัน แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่า กทม.ต้องการให้เกิดการจ้างงานในประเทศ จึงกำหนดเงื่อนไขให้นำชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศมากกว่าซื้อเป็นรถทั้งคัน

นายจุมพล กล่าวต่ออีกว่า ในหลายประเทศเลือกใช้บีอาร์ทีเป็นรถประจำทางสาธารณะ บางประเทศไม่ใช้รถไฟฟ้าเลย เพราะใช้บีอาร์ทีแทน โดยเฉพาะประเทศออสเตรเลียถือว่าประสบความสำเร็จมากกับการใช้บีอาร์ที หรืออย่างอเมริกาใต้ โคลัมเบีย ก็ยอมรับการใช้บีอาร์ที และสำหรับในกรุงเทพฯ บีอาร์ทีจะ เป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้โดยสารในการเดินทางเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งมวลชน ประเภทอื่นๆ โดยจะคิดค่าบริการตามระยะทางเช่นเดียวกับรถปรับอากาศของขสมก. เริ่มต้นที่ 12 บาท

ไม่ว่าจะอย่างไรแล้ว นายจุมพล กล่าวทิ้งท้ายว่า กทม.มั่นใจว่าจะเปิดให้บริการรถเมล์บีอาร์ทีได้อย่างแน่นอน

โครงการรถเมล์โดยสารประจำทางด่วนพิเศษ "บีอาร์ที" เป็นโครงการที่หลายคนอาจจะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ ณ วันนี้ เงินงบประมาณของกทม. ภาษีของประชาชนได้ถูกใช้ไปกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่น้อยแล้ว หากไม่สามารถเปิดให้บริการได้ คงน่าเสียดายไม่น้อย ซึ่งบีอาร์ที ไม่ใช่โครงการแรกที่ต้องตกอยู่ในภาวะ "สูญญากาศ" เช่นนี้ ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่หน่วยงานรัฐประกาศว่าทำเพื่อประชาชน แต่ก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง เพราะตรวจพบเจอการ "คอร์รัปชั่น" ความไม่โปร่งใสในกระบวนการต่างๆ

เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว ทางออกของโครงการบีอาร์ทีจะ เป็นอย่างไร จะเปิดใช้ได้ตามที่ "คนกทม." ประกาศกร้าวหรือไม่? หรือทางออกควรเป็นอย่างไร? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ขอเชิญท่านผู้อ่านร่วมแสดงความคิดเห็น ได้ที่นี่

view