สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยคมโฉมใหม่ ไม่มีเอี่ยวทักษิณ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : นเรศ เหล่าพรรณราย


บนความเคลือบแคลงของสังคมว่าอยู่เบื้องหลัง “คนเสื้อแดง” จนนำไปสู่การลาออกอย่างกะทันหันของ “ดร.ดำรงค์ เกษมเศรษฐ์” หนึ่งใน “คนสนิท” อดีตนายกฯ

เมื่อภารกิจถูกส่งมอบถึงซีอีโอคนใหม่ “อารักษ์ ชลธาร์นนท์” ลูกหม้อเครือชินคอร์ปฯ สิ่งแรกที่เขาประกาศคือขอ “ลบภาพ” อดีตผู้ถือหุ้นและตระกูล “ชินวัตร” ออกจาก “ไทยคม”

“จริงๆ แล้วผมไม่ใช่คนใหม่ของที่นี่เสียทีเดียว แม้จะเคยอยู่แค่สามเดือนก่อนย้ายไปอยู่ที่ชินคอร์ปฯ แต่ก็ถือว่าเป็นพนักงานกลุ่มแรกๆ ของที่นี่” อารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม พูดถึงความรู้สึกที่ต้องมานั่งแท่นซีอีโอคนใหม่ของไทยคม

อารักษ์ถือเป็นลูกหม้อคนหนึ่งของกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น เพราะมาร่วมงานกับเครือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ทั้งเคยนั่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของไทยคมช่วงปี 2534 -2535

ตำแหน่งของเขาก่อนขยับมาเป็นซีอีโอไทยคม คือ ประธานกรรมการบริหารสายธุรกิจใหม่และสื่อโฆษณา กลุ่มชิน คอร์ป

อารักษ์บอกว่าซีอีโอคนก่อน (ดร.ดำรงค์ เกษมเศรษฐ์) บริหารไว้ดีมาก โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นของการบุกเบิกดาวเทียมไอพีสตาร์ ทำให้เมื่อเขามานั่งบริหารในช่วงท้ายของการบุกเบิกจึงทำได้ง่ายกว่า

“ถ้าให้ผมเปรียบเทียบกับดร.ดำรงค์ 100 ส่วน ผมคงเทียบได้แค่ 10 ส่วนเท่านั้นในตอนนี้ เพราะผมยังใหม่กับที่นี่มาก อีกอย่างต้องให้เครดิตดร.ดำรงค์อย่างมากที่พิสูจน์ตัวเองจนสามารถขายสัญญาณ ไอพีสตาร์ให้กับประเทศที่พัฒนากว่าได้”

โดยขณะนี้ ไอพีสตาร์เปิดให้บริการไปแล้วในประเทศออสเตรเลีย จีน นิวซีแลนด์ เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย  กัมพูชา และเมียนม่าร์

ในการบริหารองค์กรซึ่งเต็มไปด้วย “หัวกะทิ” ระดับดอกเตอร์จำนวนมาก อารักษ์ตอบทันทีว่า “ไม่กลัว” เพราะถือว่าทุกคนเท่าเทียมกัน และจะใช้สไตล์การบริหารแบบ "หัวหน้าชั้นเรียน" มากกว่าเป็นหัวหน้างาน

"มันจะดูนิ่มนวลกว่าและง่ายต่อการที่จะให้คนอื่นมาคิดเหมือนกับเรา"

เรื่องหนักอกของเขาอยู่ที่ตรงไหน เขาค่อยๆ แย้มพรายจากการสนทนา

สองเดือนที่เข้ามาบริหาร อารักษ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงภายในมากนัก แค่เพียงปรับคนให้มีหน้าที่ชัดเจนเท่านั้น โดยหลักๆ งานตรงหน้าของเขาจะมุ่งเน้นไปที่หน่วยงานไอพีสตาร์ สายธุรกิจดาวเทียมซึ่งสร้างรายได้หลักให้บริษัท โดยผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2552 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจบริการดาวเทียมและเกี่ยวเนื่อง 1,081 ล้านบาท ส่วนรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ประกอบด้วย รายได้จากธุรกิจบริการโทรศัพท์ในกัมพูชาและลาว 591 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตและสื่อ 86 ล้านบาท

ด้วยบุคลิกที่เป็นคน “เปิดเผย” และตรงไปตรงมา เมื่อเอ่ยถึง “ภาพลักษณ์” ของไทยคมที่ ถูกโยงเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” คนตระกูล “ชินวัตร” กระทั่งกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ต่างชาติ "เทมาเส็ก" อารักษ์ยืนยันว่าในแง่การบริหารไทยคมฯ ยังเป็นบริษัทของ “คนไทย” แน่นอน

แม้จะมีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติแต่ก็ไม่ทั้งหมด

“เทมาเส็กส่งบอร์ดบริหารมานั่งแค่คนเดียว และไม่มีอำนาจการบริหารเหนือคนไทยแน่นอน แค่เข้ามาดูแลเรื่องผลประโยชน์การลงทุนเท่านั้น เขาก็มีสิทธิ์ที่จะออกความเห็นเหมือนกับผู้ถือหุ้นรายย่อยคนไทยทั่วไป และทางนั้นก็ไม่เคยตั้ง Commitment เรื่องเป้าผลประกอบการกับเราด้วย”

หนึ่งใน “ลูกหม้อ” เครือชินคอร์ปยืนยันว่า การมีอำนาจทาง “การเมือง” ไม่ได้มีส่วนเอื้อผลประโยชน์ให้กับธุรกิจดาวเทียมแม้แต่น้อย

เขาเพียงแต่ยอมรับว่า การที่บริษัทเติบโตมาได้จนถึงวันนี้อดีตนายกฯทักษิณมีส่วนอย่างมาก

อารักษ์ย้อนอดีตว่าสมัยที่ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ไม่ได้ช่วยให้บริษัทขายสัญญาณดาวเทียมเท่าไรเลย

สำหรับคดีที่ คตส.มีมติฟ้องอดีตนายกฯทักษิณ เรื่องปล่อยเงินกู้ 4,000 ล้านบาทให้กับรัฐบาลพม่าซื้ออุปกรณ์ดาวเทียมซึ่งอาจเอื้อผลประโยชน์ให้กับ บริษัทชินแซทเทลไลต์ (ชื่อเดิม) ส่วนตัวเขามองว่าเป็นเพียงการปล่อยกู้ตามปกติ ถ้าเป็นลูกค้าชั้นดีธนาคารก็อยากจะปล่อยกู้ให้

ที่สำคัญเงินจำนวนนั้นมาซื้อของกับบริษัทฯเพียงแค่ 10% ไม่ใช่ทั้งหมด

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ช่วง “สงกรานต์เดือด” ที่ไทยคมถูก ตั้งข้อสงสัยว่าถูกกดดันจากผู้ที่ไม่อยู่ในประเทศ อารักษ์เล่าอย่างหมดเปลือกว่าทางผู้ถือจาก “สิงคโปร์” ไม่เข้ามาก้าวก่ายการตัดสินใจ “ปิดสถานี” อย่างแน่นอน และขณะนั้นผู้บริหารก็ไม่มีใครอยู่ที่กรุงเทพฯ

สถานการณ์ตอนที่คนเสื้อแดงยกขบวนมาปิดล้อมสถานี บริษัทฯในฐานะ “คนกลาง” ก็ทำอะไรไม่ถูก

“เป็นคุณจะทำยังไง ถ้าเราปิดก็โดนเลย เราจึงต้องขอให้รัฐบาลช่วยมาป้องกันเราด้วย คำสั่งปิดที่มาตอนแรกไม่มีเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เราก็ตัดสินใจถูกแล้วเพราะเรายังต้องทำสัญญากับภาครัฐอยู่เลยต้องทำตาม

คนเสื้อแดงเขาก็เข้าใจ ยืนยันว่าเราไม่ Take Side (เลือกข้าง) เรายืนอยู่ข้างรัฐบาลแน่นอน แต่คำสั่งน่าจะมาเป็นลายลักษณ์อักษรหน่อย”

ส่วนความเกี่ยวข้องกับสถานีโทรทัศน์ “คนเสื้อแดง” ซีอีโอคนใหม่ยืนยันว่าบริษัทไม่ได้ให้บริการโดยตรง แต่สถานีดีสเตชั่นได้อัพลิงค์สัญญาณต่อจากลูกค้าอีกรายซึ่งอยู่ประเทศลาวอีก ที เช่นเดียวกับ การ “โฟนอิน” ของอดีตนายกฯ ก็ไม่เคยผ่านดาวเทียมไทยคม แต่ใช้ดาวเทียมจากต่างประเทศ

“เราให้บริการกลุ่มคนเสื้อแดงเหมือนลูกค้าทั่วไป และเราก็ปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง”

ส่วนที่เคยมีนักการเมืองผู้ใกล้ชิดออกมาพูดว่าอดีตนายกฯมีความผูกพันกับ ไทย คมเป็นพิเศษเพราะเป็นธุรกิจที่เริ่มสร้างชื่อเสียงและฐานะ และถ้ามีโอกาสก็จะกลับมาซื้อคืนจากเทมาเส็ก อารักษ์กล่าวว่า ส่วนตัวเดาว่า ท่าน(ทักษิณ) รักทุกบริษัทในเครือทั้งหมดมากกว่า ไม่น่าจะทำแบบนั้น

ดังนั้นหน้าที่อีกอย่างนอกเหนือจากงานด้านบริหาร อารักษ์มีแผนที่จะสร้าง “ภาพลักษณ์” องค์กรใหม่ จากนี้จะเห็นกิจกรรม CSR ของบริษัทมากขึ้น เพราะเห็นว่า ธุรกิจที่ทำสัญญาสัมปทานกับภาครัฐน่าจะต้องมีการตอบแทนคืนสู่สังคม

โดยกิจกรรมดังกล่าวของบริษัทไทยคมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของ “มูลนิธิไทยคม” ที่มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และ “พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา” ประธานกรรมการไทยคมบริหารอยู่ แม้จะใช้ชื่อเดียวกันก็ตาม

“ไม่อยากให้ไทยคมไปผูกกับผู้ถือหุ้นเก่า ตั้งแต่ท่าน(ทักษิณ ชินวัตร) ขายหุ้นออกไปก็ไม่เคยมายุ่งด้วยเลยแม้แต่นิดเดียว”

นั่นคือเป้าหมายเฉพาะกิจของอารักษ์

ส่วนเป้าหมายในเชิงธุรกิจ อารักษ์เปิดเผยว่าเขาคงมีเวลาอยู่ที่นี่ไม่นาน เพราะปัจจุบันอายุ 59 ปีแล้ว เท่ากับว่าเหลือเวลาก่อนเกษียนแค่ 1 ปี

สิ่งที่ต้องทำคือวางรากฐานให้ไทยคมฯ เติบโตในธุรกิจหลักคือให้บริการดาวเทียม และต้องหาธุรกิจอื่นมาเสริม เพราะการทำธุรกิจสัมปทานภาครัฐมีความ “ไม่แน่นอน” สูง

“ตอนนี้อายุสัมปทานเราเหลือแค่ 12 ปี ภารกิจของไทยคมต่อ จากนี้คือต้อง Diversify ธุรกิจอื่นมาเสริม แต่จะเกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมและการสื่อสารเหมือนเดิม แต่ไม่ใช่ผมคนเดียวที่คิด พนักงานทุกคนต้องช่วยกันคิดร่วมกัน”

เขายังมองว่าธุรกิจดาวเทียมยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต นี่คือสาเหตุว่าทำไมถึงมี "ผู้เล่น" หน้าใหม่เกิดขึ้น

ไทยคมเองก็เริ่มมีนายทุนทั้งไทยและต่างประเทศมาเจรจาขอร่วมธุรกิจด้วย แต่ถ้าถามถึงความจำเป็น ก็ต้องตอบว่า "ไม่"

“สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่จำเป็น แต่ถ้าได้พาร์ทเนอร์ดีๆ ที่ช่วยเหลือเราได้เรื่องความรู้หรือการเงินก็ไม่แน่เราก็ยินดีคุยด้วย”

ส่วนคู่แข่งใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เขาบอกว่าอาจจะมี แต่...

"ต้องบอกว่าธุรกิจดาวเทียม “ยาก”  ยิ่งกว่าทำมือถืออีก"

เพราะเครือข่ายมือถือค่อยๆ โตและทยอยลงทุนได้ แต่ดาวเทียมต้องลงทุนใหญ่เพียงครั้งเดียว ซึ่งมีตั้งหลายกลุ่มที่คิดจะทำ แต่พอเจอเงื่อนไขนี้ก็ต้องหยุดไป

“ใครคิดจะมาทำธุรกิจนี้รับรองไม่หมู ถ้าไม่อยู่ก็ตายไปเลย”

view