สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กว่าจะเป็น หมอยิปซี ของดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ กับรางวัล "แมกไซไซ" ปี 2552

จาก ประชาชาติธุรกิจ



เปิดใจ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ กว่าจะเป็น "หมอยิปซี" เภสัชกรหญิงคนแรกของประเทศไทย กับรางวัล "แมกไซไซ" ปี 2552 ที่เมืองไทยคนอาจรู้จักเธอแค่หยิบมือ แต่กับหลายประเทศในแอฟริกา เธอคือ"นางฟ้า"ของคนนิรนาม

     ช่องว่างของ "โอกาส" ที่ถูกความเหลื่อมล้ำทางฐานะการเงินและศักดิ์ศรีในสังคม กั้นขวางสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างไม่เท่าเทียมกัน ที่ "ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์" เภสัชกรหญิงคนไทยเพียงคนเดียว เฝ้าพยายามทำงานต่อสู้อย่างเงียบๆ ในมุมเล็กๆของเมืองที่น้อยคนจะรู้จัก ซึ่งตั้งอยู่บนอนุภูมิภาคซับซาอาร่าทวีปแอฟริกา ด้วยสมญานาม "หมอยิปซี"
    ดร.กฤษณา เภสัชกรหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการยกย่องจากองค์กรต่างประเทศด้วยเกียรติประวัติรางวัลมากมาย แต่สำหรับในบ้านเกิดของเธอ "ประเทศไทย" กลับมีคนรู้จักเธอและความสำคัญกับงานที่เธอทำเพียงหยิบมือ
     จน กระทั่งล่าสุด ดร.กฤษณา กลับประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปรับรางวัล "รามอน แมกไซไซ" ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ปลายเดือนสิงหาคมนี้
     นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ "หมอยิปซี" ได้นั่งลงคุยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" โดยปักหลักอาศัยล็อบบี้ของโรงแรมสยาม ซิตี้ เป็นห้องรับแขก
     "เหนื่อยกว่าทำงานซะอีก เหนื่อยแล้วก็ไม่ได้ยาออกมาสักเม็ดเลยด้วย" ดร.กฤษณา เปรียบเปรยคิวสัมภาษณ์ที่ยาวเหยียดด้วยอารมณ์ขัน
     ในประเทศไทย ดร.กฤษณา ได้รับการเชิดชูเกียรติว่าเป็นเภสัชกรผู้ทรงคุณค่า เปี่ยมด้วยเมตตา อุทิศชีวิตและงานให้กับคนยากคนจน
     แต่ในดินแดนทุรกันดารที่แอฟริกา เธอคือ "นางฟ้าของคนนิรนาม"
     "ความไม่เท่าเทียมกันของสังคมเป็นปัญหาสังคม ครอบครัวคุณมีคนติดเชื้อ HIV แต่คุณกลับรังเกียจ ทำเหมือนเขาเป็นคนเลว จริงๆแล้วเขาก็เป็นคนเหมือนกัน ทั้งๆที่คนที่คอร์รัปชั่นเลวกว่าผู้ป่วยเอดส์ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เด็กที่ติดจากแม่ เขาเลวไหม เราอยากต่อสู้ให้เห็นว่าเขาไม่ได้เป็นคนเลว คนติดเชื้อ HIV ก็เป็นคนเหมือนกัน แม้ว่าเขาจะจนเขาก็ต้องเข้าถึงยา"
     "ประชาชาติธุรกิจ" ซักถามความเป็น "หมอยิปซี" ในแง่มุมที่ได้เผื่อแผ่ความเมตตาต่อ "ความเป็นคน" โดยไม่แบ่งเชื้อชาติไว้อย่างน่าขบคิด
     ชื่อเสียง รางวัล ที่ได้รับทุกวันนี้ย่อมเกิดจากพื้นเพการถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวอันสุดแสนจะมหัศจรรย์
     และคติการดำรงชีวิตที่ยึดหลักพุทธธรรม ซึ่ง ดร.กฤษณา พกพาไปข้างกายเสมอแม้จะอยู่บนผืนแผ่นดินใดในโลกนี้  
     โปรดติดตาม โดยละเอียด ที่นี่ เร็วนี้  ...
    แต่ ชั่วโมงนี้ เราอยากให้ท่านผู้อ่านได้ ศึกษา หมอยิปซี ผ่าน  คำยกย่องสรรเสริญ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์   ในพิธีมอบรางวัลรามอน แม็กไซไซ  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2552 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
   ..ในวันนี้คนทั่วโลกจำนวน 38 ล้านคนดำรงชีวิตอยู่กับโรคร้ายแรง คือ โรคเอดส์อย่างเงียบๆ และที่ยิ่งน่าสะพรึงกลัวไปกว่านั้น ในระยะเวลาไม่ถึง 30 ปีที่ผ่านมา คนจำนวนกว่า 25 ล้านได้เสียชีวิตลงแล้วเพราะโรคเอดส์ ความพยายามแก้ไขปัญหาไม่ให้โรคเอดส์ติดต่อและระบาดในวงกว้างจำเป็นต้องเกิด ข้นจากการมียาต้านโรคเอดส์ราคาถูก และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่ปัญหานี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในประเทศกำลัง พัฒนา ที่ซึ่งผู้ติดเชื้อเฮชไอวีและป่วยเป็นโรคเอดส์จำนวน 9 ใน 10 คนอาศัยอยู่ ในประเทศเหล่านี้ผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนยังต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความเสี่ยง เนื่องจากกฎหมายสิทธิบัตรยา และการขาดแคลนยาชื่อสามัญต้านโรคเอดส์ ทั้งสองปัจจัยส่งผลให้ยาต้านโรคเอดส์ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากมีราคาแพง เกินไปที่ผู้ป่วยจะสามารถซื้อหาได้ เภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ จึงทำงานด้วยปณิธานที่แน่วแน่ที่จะแก้ไขวิกฤตนี้
   ดร.กฤษณามีความเห็นว่า ช่องว่างในการเข้าถึงยาระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและประเทศยากจนเป็น "อาชญากรรมต่อมนุษย์ชาติ และการฆ่าล้างคนจน" เธอจึงอุทิศชีวิตของเธอเพื่อลดช่องว่างนี้โดย ดร.กฤษณามีบทบาทสำคัญในความสำเร็จของประเทศไทย ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่พลิกผันสถานการณ์การระบาดอย่าง รุนแรงของโรคเอสด์ในหมู่ประชาชนได้ ดร.กฤษณาไม่ได้หยุดความสำเร็จของเธอไว้เพียงแค่นั้น แต่ได้นำวิชาความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความเมตตาของเธอไปถ่ายทอดและเผื่อแผ่แก่ชาวต่างชาติในภูมิภาคอื่นของโลก
 ดร.กฤษณา เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเภสัชเคมีจากมหาวิทยาลัยบ๊าท ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.2526 ดร.กฤษณาเข้ารับราชการที่องค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผลิตยา เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐและสถานีอนามัยในประเทศไทยในฐานะผู้ อำนวยการของสถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม ดร.กฤษณาเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม และเป็นผู้นำบุกเบิกการผลิตยาชื่อสามัญรักษาโรคจำนวนมาก รวมทั้งโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานด้วย
 เมื่อประเทศไทยประสบปัญหา โรคเอดส์ระบาดรุนแรง ดร.กฤษณาตัดสินใจทำการวิจัยยาต้านโรคเอสด์ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์และการโจมตีจากบุคคลจำนวนมากในวงการสาธารณสุข และต้องต่อสู้กับการถูกฟ้องร้องทางกฎหมายจากบริษัทยาในปี พ.ศ.2538 ภายหลังจากใช้เวลานานนับเดือนในห้องทดลองที่ปราศจากหน้าต่างและต้องทดลองใช้ สารเคมีที่มีอันตรายด้วยตนเองเพียงคนเดียว ดร.กฤษณาได้คิดค้นสูตรยาชื่อสามัญต้านโรคเอดส์ของยาชื่อเอแซดที (ซีโดวูดีน) ซึ่งใช้รักษาโรคเอดส์และลดโอกาสการติดเชื้อโรคเอดส์จากแม่สู่ลูก ยาชนิดนี้เข้าสู่ตลาดในราคาเพียงหนึ่งในสี่ของราคาผลิตภัณฑ์ยาที่มียี่ห้อ และกลายเป็นยาชื่อสามัญต้านโรคเอดส์ชนิดแรกที่ผลิตขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาใน ขณะนั้น
 ดร.กฤษณารณรงค์ต่อสู้ร่วมกับองค์กรอิสระเรียกร้องให้มีการลด ราคายา เธอต้องต่อสู้กับการถูกฟ้องร้องทางกฎหมาย เพื่อผลิตยาชื่อสามัญต้านเอดส์ที่มีชื่อว่า ดีดีไอ (ดีดาโนซีน) และคิดค้นสูตรยา "ค้อกเทล" หรือที่รู้จักกันว่า จีพีโอ-เวียร์ ที่มีราคาถูกลงถึง 18 เท่า และรวมจำนวนยาหลายเม็ดเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ป่วยเอดส์ทานยาน้อยลงในแต่ละวัน ในขณะนี้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาต้านโรคเอดส์จำนวน 7 ชนิด และมีกำลังผลิตเพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วยจำนวน 150,000 คนต่อปีในประเทศไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม
 ในปี พ.ศ.2545 ดร.กฤษณาได้เดินทางนำความรู้ความเชี่ยวชาญของเธอไปยังอนุภูมิภาคซับซาฮาร่า แอฟริกา ดินแดนที่มีการระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์มากที่สุดในโลก เธอตระหนักดีว่าผู้ป่วยเพียงร้อยละ 1 จากจำนวนทั้งหมด 4 ล้านคน สามารถเข้าถึงยาต้านโรคเอสด์ได้ ในครั้งนี้ ดร.กฤษณาต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานับประการ อาทิ การทำงานในแดนสงคราม การเดินทางไปยังชนบทที่ห่างไกล และต้องปรับเปลี่ยนการทำงานในสภาพที่ขาดแคลนสถานที่และอุปกรณ์สิ่งของที่จำ เป็นในทุกด้าน ดร.กฤษณาได้ช่วยก่อสร้างโรงงานผลิตยาเพื่อผลิตยาสามัญต้านโรคเอดส์ในประเทศ สาธารณรัฐประชาชนธิปไตยคองโกที่มีการสู้รบรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลานานได้ภาย ในเวลา 3 ปี ดร.กฤษณาได้ช่วยปรับปรุงโรงงานผลิตยาที่เก่าและทรุดโทรมมากให้ผลิตยารักษา โรคมาลาเรียและยาต้านโรคเอสด์ที่มีราคาไม่แพงในประเทศแทนซาเนีย ดร.กฤษณาได้ก้าวเข้าไปในทวีปแอฟริกาอย่างเต็มตัวในการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของเธอสอนบุคลากรท้องถิ่นด้านสาธารณสุขในประเทศแอฟริกาอีก 13 ประเทศ ให้พวกเขาสามารถผลิตยารักษาโรคมาลาเรียและยาต้านโรคเอดส์คุณภาพดีราคาถูกได้ ในประเทศ
 ดร.กฤษณาผู้กล้าหาญมีความสงสาร เข้าใจและเข้าถึงผู้ป่วยโรคเอดส์ได้อย่างง่ายดาย เธอยอมรับว่า "ดิฉันทราบว่าตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ดิฉันก็มีความละเอียดอ่อนทางจิตใจ เมื่อดิฉันพบเห็นความทุกข์ทรมาน จะรู้สึกเสียใจ และต้องการทำสิ่งบางอย่างเพื่อช่วยเหลือ" ดังนั้น ดร.กฤษณาจึงได้ถ่ายทอดวิธีการผลิตยาชื่อสามัญที่คิดค้นขึ้น และยังสอนนักเคมีและช่างเทคนิคขั้นตอนและกรรมวิธีในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ยา หลายครั้งเธอใช้เงินของเธอเองทำงานนี้ เธอกล่าวว่า "การช่วยให้คนจนเข้าถึงยารักษาโรคได้ในราคาไม่แพง คือหลักแห่งความยุติธรรมในสังคม" และ "สิ่งนี้ คือเหตุผลที่ดิฉันต้องการสอนให้คนท้องถิ่นผลิตยา เพื่อพวกเขาจะได้พึ่งพาตนเองได้"
 ในการคัดเลือก ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นบุคคลผู้ได้รับรางวัลรามอน แม็กไซไซ ประจำปี พ.ศ.2552 คณะกรรมการของมูลนิธิแม็กไซไซขอยกย่องในการนำความรู้ความสามารถทางด้าน เภสัชกรรมของเธอมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย โดยการอุทิศตัวและทุ่มเทชีวิตอย่างกล้าหาญและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผลิตยาชื่อสามัญรักษาโรคที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในประเทศไทยและในประเทศ อื่นทั่วโลก ................. ชีวประวัติของเภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา  ไกรสินธุ์ ดร.กฤษณาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี พ.ศ. 2530 ถึง 2545  ปัจจุบัน ดำรงตำรงตำแหน่งคณบดีเกียรติคุณนานาชาติของคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศาสตราจารย์พิเศษ (Visiting Professor) ด้าน Oriental Medicine ของมหาวิทยาลัย Harbin Institute of Technology ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
  
ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นที่ปรึกษาด้านเภสัชกรรม เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเภสัชกรรมขององค์กรให้ความช่วยเหลือด้านยาของ เยอรมนี ชื่อว่า action medeor ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนดำเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการผลิตยาในท้องถิ่นและการลำเลียงส่งยาให้กับประเทศในภูมิภาค แอฟริกาโดยไม่คิดกำไร ระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึง ปี พ.ศ. 2550 ในขณะเดียวกัน ดร.กฤษณายังเป็นที่ปรึกษาด้านเภสัชกรรมในการผลิตยาต้านโรคเอดส์และยารักษา โรคมาลาเรียในแอฟริกาอีกด้วย
  
ดร.กฤษณาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ประเทศไทยในปี พ.ศ.2518 ระดับปริญญาโทด้านเภสัชวิเคราะห์ (Pharmaceutical Analysis) จากมหาวิทยาลัย Strathclyde สหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2521 และระดับปริญญาเอกด้านเภสัชเคมี (Pharmaceutical Chemistry) จากมหาวิทยาลัย Bath สหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2524  ในช่วงระยะเวลา 27 ปีที่ผ่านมา ดร.กฤษณาทำงานในอุตสาหรรมยาในหลายบทบาท อาทิ การควบคุมคุณภาพยา การผลิตยา การวิจัยและพัฒนายา การพัฒนาธุรกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีและผลิตภัณฑ์เภสัช ธรรมชาติ
  
เมื่อเริ่มรับราชการในองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2530 ดร.กฤษณาเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม เพื่อวิจัยและผลิตยาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ให้คนไทยได้ใช้ทั้งประเทศกว่าหนึ่งร้อยชนิด ทำให้มียาคุณภาพดีทัดเทียมกับต่างประเทศออกสู่ตลาดมากขึ้นและมีราคาถูกลง ผลงานอันโดดเด่น คือ การพัฒนาสูตรตำรับและศึกษาเภสัชชีวสมบูณณ์ของยาต้านเอดส์ชนิดต่างๆ ได้แก่ ยาสามัญเอแซดที (AZT) ป้องกันการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก จากแรงบันดาลใจที่ต้องการช่วยผู้หญิงและเด็กที่ติดเชื้อเอดส์ และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม ยาสูตรผสมรวมเม็ดต้านเอดส์ หรือจีพีโอเวียร์ (GPO - VIR) และยาต้านเอดส์ชนิดอื่นอีก 5 ชนิด ส่งผลให้ประเทศไทยเป็น ประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่สามารถผลิตยาต้านเอดส์ที่มีคุณภาพดี ราคาถูกกว่ายานำเข้าจากต่าง ประเทศ  5 ถึง 20 เท่า (ขึ้นอยู่กับราคาต้นทุนวัตถุดิบจากแหล่งต่าง ๆ) ช่วยชีวิตผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยจำนวน 100,000 คน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพขององค์การเภสัชกรรมในการผลิตยาต้านเอดส์ ส่งออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งนี้ ยาจีพีโอเวียร์ถูกบรรจุในโปรแกรมการให้ยาต้านเอดส์แห่งชาติฟรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ได้ทำงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านโรคเอดส์และยารักษาโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในทวีปแอฟริกา พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้และฝึกสอนบุคลากรของโรงงานผลิตยา โรงพยาบาล และสถาบันวิจัยและควบคุมคุณภาพยาแห่งชาติในประเทศแอฟริกา 15 ประเทศ ให้สามารถผลิตยาต้านเอดส์และยารักษาโรคมาลาเรีย ช่วยชีวิตผู้ป่วยชาวแอฟริกาหลายล้านคน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรของไทยผลิตยาสมุนไพรไทยจำนวน 4 ตำรับ ใช้รักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพของคนไทยในท้องถิ่นธุรกันดาร และก่อตั้งหน่วยฝึกอบรม เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่ศึกษาด้านเภสัชศาสตร์และชาวแอฟริกาเดินทาง มาเรียนรู้และฝึกงานการผลิตยาในขั้นอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาเภสัชศาสตร์อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยด้านสมุนไพร รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์และเพื่อนร่วมอาชีพในวงการเภสัชกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในประชาคมระหว่าง ประเทศ ผลงานทั้งหลายจึงเป็นที่ประจักษ์และยอมรับทั้งผลงานด้านวิชาชีพ ด้านวิชาการ ด้านบทความ งานวิจัย และงานด้านมนุษยธรรม ผลงานเหล่านี้ทำให้บุคคลที่เจ็บป่วย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถหายจากความทุกข์ทรมานและโรคร้าย กลับมามีชีวิตที่เป็นสุข พึ่งตนเอง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติของตน มีผลงานที่โดดเด่นดังนี้   ผลงานด้านวิชาชีพในประเทศไทย
1.พัฒนาสูตรตำรับและศึกษาเภสัชชีวสมบูรณ์ของยาต้านเอดส์ชนิดต่างๆ อาทิ ยาสามัญเอแซดที
(AZT) ป้องกันการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก (พ.ศ. 2535) ยาสูตรผสมรวมเม็ดต้านเอดส์ หรือจีพีโอเวียร์ (GPO - VIR) (พ.ศ. 2545) และยาต้านเอดส์ชนิดอื่นอีก 5 ชนิด  ช่วยชีวิตผู้ป่วยเอดส์ของไทยจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คน 2.เป็นผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่สามารถผลิตยาต้านเอดส์ ที่มีคุณภาพดี ลดค่าใช้จ่ายยาต้านเอดส์ของผู้ป่วยเอดส์จากเดือนละ 20,000ถึง 30,000 บาทต่อคนต่อเดือน เหลือเพียง 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน และองค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาสูตรผสมเป็นยาที่อยู่ในคำแนะนำขององค์การ อนามัยโลกในการรักษาโรคเอดส์ (WHO′s treatment
guideline for HIV/AIDS patients) 3.ระหว่าง ปี พ.ศ. 2530 ถึง ปี พ.ศ. 2545 พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสำหรับใช้เป็นยา อาหาร และเครื่องสำอาง จำนวน 64 รายการ 4.ระหว่าง ปี พ.ศ. 2530 ถึง ปี พ.ศ. 2545 พัฒนาและผลิตยาแผนปัจจุบันจำนวนมาก อาทิ ยารักษาโรคเบาหวาน ยาลดความดัน ยาลดโคเลสเตอรอล และยาสำหรับเด็ก ทำให้มียาคุณภาพดีออกสู่ตลาดมากขึ้นและมีราคาถูกลง 5.เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2552  ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรของไทยและร่วมมือกับคณะ เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลิตยาสมุนไพรไทยที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมจำนวน 4 ตำรับ ทั้งในรูปแบบยาเม็ดและยาหอม เพื่อใช้รักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง 6.สร้าง องค์ความรู้และก่อตั้งหน่วยฝึกอบรมที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้เป็นสถานที่เรียนรู้และฝึกงานการผลิตยาในขั้น อุตสาหกรรมแก่นักศึกษาไทยและชาวแอฟริกา ในต่างประเทศ  
1.ระหว่าง ปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2548 ก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านเอดส์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และฝึกสอนพนักงานของโรงงาน Pharmakina ที่เมือง Bukavu ในการผลิตยาต้านโรคเอดส์และควบคุมคุณภาพยาในขั้นอุตสาหกรรม สำเร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 เพื่อใช้รักษาคนงานที่ติดเชื้อเอดส์ของโรงงานและชาวคองโกที่ติดเชื้อเอดส์ จำนวน 30,000 คน 2.ระหว่างปี พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2548 ก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านเอดส์และยารักษาโรคมาลาเรียในประเทศสหสาธารณรัฐ แทนซาเนียและฝึกสอนพนักงานของโรงงาน Tanzania Pharmaceutical Industry (TPI) เมือง Arusha ในการผลิตยาต้านโรคเอดส์ ยาเม็ดและยาผงสำหรับรักษาโรคมาลาเรียสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก สำเร็จเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 ช่วยชีวิตผู้ป่วยเอดส์ 60,000 คน และผู้ป่วยโรคมาลาเรียหลายล้านคน 3.ระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2550 ถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรมบุคลากรชาวแอฟริกาในการผลิตและควบคุมคุณภาพยารักษา โรคมาลาเรีย ชนิดเม็ดและยาเหน็บ สำหรับผู้ใหญ่และเด็กในประเทศแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ เบนิน เซเนกัล มาลี แกมเบีย และบูร์กินาฟาโซ ในแอฟริกาตะวันออก อาทิ แทนซาเนีย เคนยา เอธิโอเปีย และยูกันดา แอฟริกากลาง อาทิ บุรุนดี และแอฟริกาใต้ อาทิ แซมเบีย
  
3.1 พัฒนาศักยภาพ ฝึกสอน และอบรมของบุคลากรของโรงงาน l′Usine Malienne de Produits Pharmaceutiques หรือ U.M.P.P. ของมาลี ซึ่งเป็นโรงงานของรัฐบาลมาลี จนมีความสามารถและความเชี่ยวชาญในการผลิตตัวยารักษาโรคมาลาเรีย ชื่อ artesunate and amodiaquine tablets แยกเม็ดในแผงบรรจุเดียวกัน และยาผสมของยาสองชนิดนี้ในเม็ดเดียวกัน ซึ่งเป็นประเทศแอฟริกาประเทศแรกในโลกที่สามารถผลิตยาที่มีคุณภาพนี้ได้อย่าง ประสบความสำเร็จ
  
3.2 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 ดร.กฤษณาได้เดินทางไปยังโรงพยาบาล  Saint Camillus Hospital เมืองการุงกู ประเทศเคนยา ตามคำเชิญของบาทหลวง Emilio Balliana ผู้อำนวยการของโรงพยาบาล เพื่อฝึกสอนบุคลากรของโรงพยาบาลให้ผลิตยาเหน็บรักษาโรคมาลาเรีย 4.ระหว่างปี พ.ศ. 2551 ถึง ปี พ.ศ. 2552 ก่อสร้างโรงงานยาและถ่ายทอดความรู้ฝึกสอนบุคลากรท้องถิ่นในประเทศสาธารณรัฐ บุรุนดี ในการผลิตและควบคุมคุณภาพยาเม็ดรักษาโรคมาลาเรียสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก 5.ปี พ.ศ. 2552 ก่อสร้างโรงงานผลิตยา และก่อตั้งหน่วยงานวิจัยด้านด้านพืชสมุนไพร รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ด้านเภสัชกรรมให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัย Harbin Institute of Technology ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผลงานวิชาการ (ตำราและบทความ)
1.เภสัชเคมีควบคุมคุณภาพ
2.บทความทางวิชาการกว่า 100 เรื่อง เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพ (Infrastructural needs for
production and quality control of pharmaceuticals.) การพัฒนายาจากสมุนไพร (Status of Medicinal and Aromatic Plants in Cambodia, Laos, Philippines, Thailand and Vietnam.)   การผลิตยาจากสมุนไพรในขั้นอุตสาหกรรรม (Industrialization of Medicinal and Aromatic Plants.)  การพัฒนาสูตรตำรับยาต้านเอดส์ (Generic Production of HIV-AIDS-related Drugs in Thailand.) การเข้าถึงยา (Increasing Access Towards a Sustainable HIV/AIDS treatment.) ประโยชน์ของยาสามัญรักษาโรคมาลาเรียและอุปสรรคในการผลิตและควบคุมคุณภาพใน แอฟริกา (The Importance of Generic Drugs Applicability of ICH guidelines for artemisinin-based antimalarial production in Africa: Benefits or Barriers.) และอื่นๆ งานวิจัย
ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ทำงานวิจัยด้านเภสัชกรรมด้วยตนเอง และร่วมในการทำงานวิจัยต่างๆ จำนวนมากกว่า 100 เรื่อง
  
รางวัล 
1. ปี พ.ศ. 2544 รางวัล A Gold Medal at Eureka 50th World Exhibition of Innovation, Research and New Technology ซึ่งจัดขึ้นที่กรุง Brussel ประเทศเบลเยียม 2. ปี พ.ศ. 2547 รางวัล Global Scientific Award from The Letten Foundation เพื่อเป็นการชื่นชมและยอมรับผลงานด้านวิทยาศาสตร์ดีเด่นในด้านการศึกษาวิจัย และรักษาโรคเอดส์  3. เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัย Mount Holyoke College สหรัฐอเมริกา ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ 4. เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 ดร.กฤษณาได้รับรางวัล Reminders Day AIDS Award 2005 (ReD Awards) ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี  5. เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มอบปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 6. เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 มหาวิทยาลัย Strathclyde  สหราชอาณาจักร ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านวิทยาศาตร์ให้แก่ ดร.กฤษณา  ไกรสินธุ์ 7. ดร.กฤษณาได้รับการคัดเลือกให้เป็น 2007  Speaker for the Chancellor′s Distinguished Lectureship Series จากมหาวิทยาลัย Louisiana State University ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
8. เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ดร.กฤษณาได้รับการคัดเลือกจากนิตยสาร Reader′s Digest ให้เป็น Asian of the Year 2007 และนิตยสารฉบับดังกล่าวได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับประวัติชีวิตการทำงานของ ดร.กฤษณาเป็นหลายภาษาใน 26 ประเทศทั่วโลก 9. คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีได้คัดเลือกให้ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม ประจำปีพุทธศักราช 2551  10. เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มอบรางวัลพลเมืองคนกล้า (Citizen Hero) ให้แก่ดร.กฤษณา ยกย่องการอุทิศตนทำงานเพื่อสังคมและส่วนรวม 11. เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 สมาคมเภสัชกรโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้ยกย่องผลงานความดีและความเสียสละเพื่อมนุษยชนของ ดร.กฤษณา โดยมอบรางวัลเภสัชกรเกียรติคุณ ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศ มอบทุก 2 ปี ให้แก่เภสัชกรที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม 12. เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัย Bath ได้มอบรางวัล Honorary Degree of Doctor of Science ให้แก่ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ผลงานที่ปรากฏในสื่อมวลชน
ประสบการณ์การทำงานของดร.กฤษณา ได้รับการถ่ายทอดสู่สาธารณชนโดยสื่อมวลชนและสำนักพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศในหลายรูปแบบ อาทิ -Swine Palace and the Louisiana State University (LSU) Performing Arts ได้เปิดการแสดงละครเวทีเรื่อง "Cocktail" ซึ่งเป็นละครชีวิตประวัติการทำงานผลิตยาต้านโรคเอดส์ของดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกท่ามกลางปัญหาความไม่สงบและระเบิด เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 และสำนักพิมพ์ Silkworm Books ได้ตีพิมพ์บทละครดังกล่าวเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552  นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดแสดงละครเรื่อง "นางฟ้านิรนาม" จากบทละครเรื่อง "Cocktail" ซึ่งได้แปลเป็นภาษาไทย ที่โรงละครหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นละครประจำปีของภาควิชา และเป็นกิจกรรมในโครงการระดมทุน เพื่อสมทบมูลนิธิมหาจักรีสิริธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ - สถานีโทรทัศน์ TV5 ฝรั่งเศสได้จัดทำสารคดีเรื่อง "Labo: La Loi du Profit" ซึ่งเป็นการทำงานของดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ในทวีปแอฟริกา และเผยแพร่ทั้งในฝรั่งเศส แคนาดา และประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสในทวีปแอฟริกา ในปี พ.ศ. 2549 - สถานีโทรทัศน์เยอรมันได้จัดทำสารคดีเรื่อง " A right to live" และนำแพร่ภาพในวันเอดส์โลก ( 1 ธันวาคม พ.ศ. 2549) ทั่วประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส
  
- ดร.กฤษณาได้บันทึกเรื่องราวและความทรงจำเกี่ยวกับการทำงานในสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยคองโก แทนซาเนีย และประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกเป็นหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่ เภสัชกรยิปซี ตอนที่ 1  เภสัชกรยิปซี ตอนซิมบาจิเคพิชิตคีลีมันจาโร และเภสัชกรยิปซี ตอนมนตราซาเฮล ตามลำดับ
  
- ดร.กฤษณาและคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทยได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง "กาบแก้ว บัวบาน ตำนานสมุนไพร" ถ่ายทอดองค์ความรู้และประโยชน์ของสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ให้สาธารณชนชาวไทยได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมสุขภาพกายและใจ

view