สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก่อผนังอย่างไรไม่ให้ ร้าว (ตอนที่1)/คอลัมน์โฮมทิป

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ธเนศ วีระศิริ อ.พิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต thanesvee@yahoo.com:


ปัญหา ผนังก่ออิฐฉาบปูนแตกร้าวเป็นเรื่องที่พบเห็นกันบ่อยๆ ส่วนมากเป็นเพราะช่างไม่มีความชำนาญเพียงพอ และยังขาดความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำ บางคนเพิ่งทำงานได้ไม่นานก็ยกตนเป็นช่าง ไม่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้และงานฝีมือจากช่างอาวุโสเหมือนช่างในสมัย ก่อน ซึ่งกว่าจะได้ขึ้นมาเป็นช่างต้องผ่านการทำงานมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ผสมปูนให้เป็น จับแนวอิฐก่อ ก่ออิฐ จับเซี้ยม ฉาบปูน และบ่มปูน เรียกว่าเป็นลูกมือจนชำนาญและไต่เต้าขึ้นมาจนเป็นช่าง ปัญหาเรื่องผนังร้าวจึงไม่ค่อยมีให้เห็นเหมือนเช่นในปัจจุบัน

คงเป็นเรื่องยากอยู่ครับ...ที่เห็นหน้าช่างแล้วจะบอกได้ทันทีว่า ช่างคนนี้เป็นของแท้หรือไม่ เว้นเสียแต่ว่าจะเคยเห็นผลงานกันมาก่อนแล้ว ดังนั้นทางที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ท่านเจ้าของบ้านควรได้มีความรู้เรื่องการก่ออิฐฉาบปูนที่ถูกวิธีบ้างก็จะ เป็นการดี จะได้ช่วยตรวจสอบช่างที่ทำบ้านของเราว่าเป็นอย่างไร เห็นท่าทางไม่ดีจะได้แก้ไขหรือเปลี่ยนช่างคนใหม่เสียเลย งานที่ออกมาจะได้ไม่มีปัญหาให้ตามซ่อมในภายหลัง

ข้อควรปฏิบัติต่อไปนี้จะช่วยลดปัญหาผนังแตกร้าวลงได้มาก (การแตกร้าวที่กล่าวถึงนี้ไม่เกี่ยวกับการแตกร้าวที่เกิดจากปัญหาการทรุดตัว ของโครงสร้างหรือฐานราก)

- เลือกวัสดุที่มีคุณภาพ อิฐที่ใช้ก่อควรมีรูปทรงที่ดี ไม่บิดงอ อิฐแต่ละก้อนควรมีขนาดใกล้เคียงกัน มีความแข็งสม่ำเสมอทั่วทั้งก้อน ไม่เปราะหรือแตกหักง่ายเมื่อขนย้าย มีข้อให้สังเกตว่าเมื่อขนย้ายจากรถบรรทุกมา กองเก็บ ไม่ควรแตกหักเกิน 3% (จากหนังสือ “ก่อสร้างน่ารู้คู่มือชาวบ้าน” ของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย) นอกจากนี้ในกรณีที่ใช้ปูนก่อและปูนฉาบสำเร็จรูปควรเลือกยี่ห้อที่ระบุราย ละเอียดเกี่ยวกับการใช้งานให้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับว่าใช้ได้ดี

- นำอิฐแช่น้ำก่อนก่อ อิฐก่อที่วางทิ้งไว้จะมีผิวแห้งและอาจร้อนมากถ้ากองไว้กลางแดด สภาพเช่นนี้ถ้านำมาก่อทันที อิฐก่อจะดูดซับน้ำจากปูนก่อ เมื่อปูนก่อสูญเสียน้ำจะไม่ยึดเกาะอิฐ ด้วยเหตุนี้จึงควรนำอิฐมาแช่น้ำให้ชุ่ม การแช่น้ำจะช่วยล้างฝุ่นและสิ่งสกปรกออกจากอิฐก่อ ลดความร้อนและลดการดูดซับน้ำ

- วางผึ่งให้แห้ง เมื่ออิฐแช่น้ำจนชุ่มแล้วควรนำขึ้นมาผึ่งลมให้แห้ง เพราะถ้าอิฐชุ่มน้ำมากเกินไป ปูนก่อก็จะไม่ยึดติดกับอิฐด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ถ้าน้ำในอิฐก่อมากเกินไป ปูนฉาบก็จะหลุดล่อนได้ง่าย และมีปัญหาความชื้นตามมาภายหลัง ผนังจะขึ้นราและทาสีไม่ติด เมื่อนำอิฐขึ้นจากน้ำแล้ว จึงควรวางผึ่งในร่มให้แห้งก่อนก่อประมาณ 1 วัน

- ก่ออิฐสลับแนว การก่ออิฐควรให้ชั้นของอิฐก่อที่อยู่ติดกันวางอิฐเหลื่อมกัน วิธีนี้จะทำให้อิฐก่อยึดประสานได้ดี หากก่ออิฐไม่เหลื่อมกันจะทำให้แนวปูนก่อในแนวดิ่งทะลุถึงกันตลอดแนวความสูง ของผนัง จะเกิดรอยแตกร้าวตามแนวปูนก่อได้

- ความหนาของปูนก่อ หน้าที่ของปูนก่อ คือ ประสานอิฐแต่ละก้อนเข้าด้วยกัน ปูนก่อระหว่างชั้นของอิฐก่อไม่จำเป็นต้องหนามาก ความหนาทั่วไปไม่เกิน 1.5 ซม. ก็เพียงพอแล้ว การใช้ปูนก่อหนามากนอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว ยังทำให้เกิดผลเสีย เพราะปูนขณะแข็งตัวจะเกิดการหดตัว ดังนั้น ยิ่งก่อปูนมีความหนามากก็จะยิ่งหดตัวมากเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผนังแตก ร้าวได้ง่าย

ข้อนี้ควรระวังให้มาก เพราะช่างก่ออิฐที่ไม่มีความรับผิดชอบ มักจะใช้ปูนก่อหนาๆ เพื่อให้งานแล้วเสร็จเร็วๆ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา หรือบางทีอาจเป็นเพราะไม่ทราบเหตุผลในข้อนี้ด้วยซ้ำไป

- ไม่ควรก่ออิฐให้แล้วเสร็จในวันเดียว การก่ออิฐผนังแต่ละแผงไม่ควรทำให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว เพราะปูนก่อที่อยู่ชั้นล่างยังไม่ทันแข็งตัวจะแบกรับน้ำหนักไม่ไหว และการหดตัวของปูนก่อแต่ละชั้นเมื่อรวมกันแล้วจะเกิดขึ้นมากจนทำให้ผนังทั้ง แผงยุบตัวลงจนเกิดการแตกร้าวได้ แนะนำให้ก่ออิฐในแต่ละครั้งไม่เกินครึ่งหนึ่งของความสูงของผนัง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการก่อผนังยังไม่จบนะครับ ขอต่อในตอนถัดไปครับ

view