สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเงินชุมชนในประเทศไทย บทบาท สถานะ และอนาคต (2) : ผลประกอบการด้านสังคม

จาก ประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ การเงินปฏิวัติ
โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org




ครั้ง แรกที่ผู้เขียนเขียนเรื่องการเงินชุมชนในประเทศไทยในคอลัมน์นี้ ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า เราสามารถแบ่งองค์กรการเงินชุมชนทั้งหมดในประเทศไทยออกได้เป็นสองประเภท คือองค์กรที่มุ่งจัดสวัสดิการเป็นหลัก กับองค์กรที่มุ่งปล่อยกู้เป็นหลัก (ต่อไปนี้จะใช้คำว่า "กลุ่ม" แทน "องค์กร" เพราะส่วนใหญ่ยังมีขนาดเล็กระดับหมู่บ้าน ใหญ่ที่สุดคือระดับตำบล)

กลุ่ม การเงินชุมชนทั้งสองแบบเหมือนกันตรงที่มี "เป้าหมายทางสังคม" เป็นเป้าหมายสูงสุด มิใช่การทำกำไรสูงสุดเหมือนกับสถาบันการเงินกระแสหลัก เป้าหมายดังกล่าวคือ การจัดสวัสดิการภาคประชาชนด้วยเงินออม และยกฐานะความเป็นอยู่ด้วยเงินกู้

จากการลงพื้นที่ทำวิจัยเบื้องต้น ในจังหวัดชัยนาทและนครศรีธรรมราช ผู้เขียนและคณะวิจัยพบว่ากลุ่มที่มุ่งจัดสวัสดิการมักทำประโยชน์สูงกว่า และดังนั้นจึงมีความสำคัญต่อชีวิตของชาวบ้านมากกว่ากลุ่มที่มุ่งปล่อยกู้ สาเหตุหลักไม่ใช่องค์กรที่ปล่อยกู้บริหารจัดการไม่ดี (ถึงแม้ว่าหลายกลุ่มก็บริหารจัดการไม่ดีและเป็น "ทุนนิยมพวกพ้อง" ระดับท้องถิ่นจริงๆ) แต่อยู่ที่ว่า ปัญหาของชาวบ้านที่ต้องการเงินกู้ส่วนใหญ่คือ "ปัญหาเชิงโครงสร้าง" ที่ลำพังเงินกู้ 2,000-20,000 บาท แก้ให้อย่างยั่งยืนไม่ได้ ทำได้เพียง "ผ่อนหนักเป็นเบา" เป็นครั้งคราวเท่านั้น

ยกตัวอย่าง เช่น ตราบใดที่เกษตรกรยังขาดทุนจากการทำนาหรืออย่างมากก็เท่าทุน ก็ยากที่จะใช้คืนเงินกู้ที่กู้มาลงทุน เช่น ซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ ได้ ไม่ว่ากลุ่มจะพยายามคิดดอกเบี้ยต่ำเพียงใด ซึ่งในความเป็นจริงก็คิดต่ำมากไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยงสูง

ในภาษา การเงิน ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมี "ความสามารถในการชำระหนี้" ต่ำมากหรือติดลบ ไม่ว่าเจ้าหนี้จะพยายามตั้งเงื่อนไขเงินกู้ให้ "เข้าข้าง" เพียงใด ลูกหนี้ก็จะมีปัญหาอยู่ร่ำไป เผลอๆ อาจต้องใช้วิธี "ผลัดผ้าขาวม้า" คือกู้เงินจากแหล่งอื่น เช่น เจ้าหนี้นอกระบบ มาใช้หนี้ก่อน ภาระหนี้สินโดยรวมแทนที่จะลดลงกลับเพิ่มขึ้น (จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น) เพียงแต่เลื่อนเวลาชำระคืนเงินต้นออกไปเท่านั้น

ตราบใดที่ยังจ่ายได้แต่ดอกเบี้ย หมุนเงินต้นไปเรื่อยๆ ลูกหนี้ก็ไม่อาจหวังว่าจะลืมตาอ้าปากได้

ด้วย เหตุนี้ การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืนจึงหมายถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เป็นธรรมในสนามแข่งขัน (เช่น เกษตรกรรายย่อยขาดแคลนข้อมูลที่ถูกต้องและถูกพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบ) และปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ (ซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น โครงการรับจำนำของรัฐบิดเบือนแรงจูงใจให้คนไม่ต้องสนใจประสิทธิภาพการเพาะ ปลูก เงื่อนไขธนาคารไม่เอื้ออำนวย "สายตาสั้น" ของข้าราชการ คอร์รัปชั่นในระบบชลประทาน ฯลฯ)



จึง ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่สถาบันการเงินขนาดจิ๋ว หรือไมโครไฟแนนซ์ทุกแห่งในโลกที่ประสบความสำเร็จ เช่น ธนาคารกรามีนในบังกลาเทศ ธนาคารอคลีดาในกัมพูชา หรือ CARD ในฟิลิปปินส์ จะไม่ได้ทำแค่ปล่อยกู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายจิ๋ว บางครั้งด้วยการจัดหาตลาด ให้คำแนะนำด้านการผลิต และจัดซื้อปัจจัยการผลิตให้ในราคาถูก

ปัจจุบันกลุ่มการเงินชุมชนไทย ยังปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกรายละไม่มาก เช่น กองทุนหมู่บ้านจำกัดเงินกู้ไว้เพียงรายละ 20,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 10 หรือต่ำกว่าของหนี้ ธ.ก.ส. ที่มีกันคนละ 150,000-200,000 บาท สินเชื่อจากกลุ่มการเงินชุมชนจึงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราว เป็นทุนหมุนเวียนหรือเงินกู้กรณีฉุกเฉิน ไม่ใช่กลไกที่จะช่วยปลดหนี้ทั้งหมด

ส่วน กลุ่มการเงินชุมชนที่มุ่งจัดสวัสดิการเป็นหลัก เช่น กลุ่มออมทรัพย์และสัจจะสะสมทรัพย์ต่างๆ ที่จัดสวัสดิการแบบ "เกิด แก่ เจ็บ ตาย" (คือสมาชิกจะได้รับเงินเมื่อมีบุตร ล้มป่วยจนนอนโรงพยาบาล เบี้ยเลี้ยงยามชราภาพ และค่าฌาปนกิจศพ) ก็เป็นหัวใจที่ขาดไม่ได้ในชุมชนที่ยังไม่มี "ตาข่ายสังคม" รองรับอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะสวัสดิการค่าฌาปนกิจ ซึ่งครอบครัวสมาชิกจะได้รับเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสน

สิ่งที่คณะ วิจัยพบจากการลงพื้นที่คือ ความคิดพื้นฐานของกลุ่มส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ "มีเงิน รักษาเงินได้" คือมุ่งรักษาเงินทุนขององค์กร โดยเฉพาะเงินสัจจะที่สมาชิกสมทบรายเดือน ยังไม่มุ่งแสวงหากำไรหรือคำนึงถึงประสิทธิภาพในการใช้เงิน มิพักต้องพูดถึงการนำเงินไปปรับปรุงคุณภาพชีวิตของสมาชิก

บางกลุ่ม ที่พัฒนาถึงระดับหนึ่งและมีเงินกองทุนมาก จะเริ่มคำนึงถึงการใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก แต่ยังขาดองค์ความรู้และเครื่องมือบริหารจัดการเงินที่จะทำให้บรรลุวัตถุ ประสงค์ดังกล่าว

ถึงแม้ว่าการบริหารจัดการกลุ่มการเงินระดับหมู่บ้าน หรือตำบลที่ยังไม่มุ่งแสวงหากำไรอาจฟังดูง่าย ในความเป็นจริงแค่ระดับนี้ก็มีความท้าทายไม่น้อย เช่น จะสร้าง "สมดุล" อย่างไรระหว่างอัตราเงินปันผลที่จ่ายรายปี กับรายจ่ายสวัสดิการ (ยิ่งจ่ายเงินปันผลในอัตราสูง ก็จะมีเงินไปจัดสวัสดิการน้อยลง) เพราะสมาชิกที่ยังหนุ่มสาวมักจะต้องการเงินปันผลรายปีสูงๆ เป็นหลัก ในขณะที่สมาชิกผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวมักจะให้ความสำคัญกับเงินจ่ายค่า สวัสดิการ อาทิ ค่านอนโรงพยาบาล และค่าฌาปนกิจ มากกว่าเงินปันผล

ข้อ กังวลที่เราได้รับฟังจากกลุ่มการเงินชุมชนส่วนใหญ่ คือด้านการบริหารสินเชื่อ แต่กลุ่มส่วนใหญ่ก็อาศัย "ทุนทางสังคม" ของความเป็นชุมชน (เช่น ความรู้จักมักคุ้นกันเป็นส่วนตัว) ในการสร้างวิธีการที่จะป้องกันการเกิดหนี้เสียได้ค่อนข้างดี เช่น ใช้วิธีปรับลดขนาดเงินกู้สำหรับคนที่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ การใช้คนรู้จักค้ำประกัน การโอนลอยหลักทรัพย์ การใช้แรงกดดันของสมาชิกคนอื่นในกลุ่ม การประจาน เป็นต้น

กรรมการ สถาบันการเงินชุมชน (ยกระดับจากกองทุนหมู่บ้าน) แห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่า จะประจานชื่อสมาชิกที่ผิดนัดบนกระดานก่อนถ้าผิดนัดชำระนาน 3 เดือน ถ้าผิดนัดเกินไปอีก 3 เดือนก็จะประจานชื่อคู่สมรส ถ้านานกว่านั้นก็จะประจานชื่อบิดามารดาด้วย

จุดอ่อนหรือข้อจำกัด สำคัญที่เราพบในกลุ่มการเงินชุมชนจากการลงพื้นที่ คือความสามารถในการบริหารจัดการบัญชี พบแม้แต่ในกลุ่มองค์กรการเงินซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า "เข้มแข็ง" เช่น ทำบัญชีของ "กองทุนสวัสดิการ" กับ "กลุ่มออมทรัพย์" ที่บริหารจัดการกองทุนนั้นแยกกันเป็นสองบัญชี ทำให้มองไม่เห็นภาระทางการเงินและต้นทุนที่แท้จริงของกลุ่ม เกิดความเข้าใจผิดว่ากลุ่มมีกำไรเกินจริง ทำให้จ่ายเงินปันผลมากกว่าที่ควรจะจ่าย (ถ้าจ่ายปันผลสูงเกินกว่ารายจ่ายสวัสดิการ เงินกองทุนสวัสดิการก็จะร่อยหรอ)

อีก ปัญหาหนึ่งที่เราได้ยินกรรมการกลุ่มบ่นให้ฟังค่อนข้างมาก คือปัญหาการขาดแคลนกรรมการและคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อจากกรรมการชุด แรก ซึ่งก็เป็นปัญหาโลกแตกที่เข้าใจได้ เพราะเนื่องจากกลุ่มมีขนาดค่อนข้างเล็กและกำไรน้อยหรือไม่มีเลย กรรมการกลุ่มจึงได้ค่าตอบแทนต่ำมาก อย่างมากเพียงคนละไม่กี่พันบาทต่อปี แต่ต้องรับภาระหนี้แทนสมาชิกที่ "ชักดาบ" ตรวจบัญชี กลั่นกรองสินเชื่อ เรียกประชุม พิจารณาแก้เงื่อนไขสวัสดิการ ฯลฯ

ประเด็นหนึ่งที่น่า สนใจคือ ลักษณะการบริหารจัดการองค์กรการเงินชุมชนที่เข้มแข็งบางกลุ่มใช้กลไกการ จัดการในระดับหมู่บ้าน แต่มีเครือข่ายระดับตำบล บทบาทสำคัญของเครือข่ายระดับตำบลคือกลไกสนับสนุนต่างๆ เช่น จัดการความรู้ ตรวจสอบบัญชีซึ่งกันและกัน ขยายวงเงินกู้ผ่านการกู้ยืมระหว่างกลุ่ม และรวมกองทุนสวัสดิการและฌาปนกิจเข้าด้วยกัน

ประโยชน์ขององค์กรการ เงินชุมชนไทยที่สำคัญ ได้แก่ เป็นการเพิ่มช่องทางการออม เพิ่มความคล่องตัวในการใช้เงินหมุนเวียนให้แก่สมาชิก ลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ (แต่มักเพิ่มภาระหนี้สิน) และได้เงินสวัสดิการ

ถ้า นำกลุ่มการเงินมาพลอตเป็นแผนภูมิ ตามระดับ "ความมั่นคงด้านการเงิน" (ผลตอบแทนด้านการเงิน) และ "คุณภาพชีวิต" ของสมาชิก (ผลตอบแทนด้านสังคม) โดยคร่าวๆ ของแต่ละกลุ่ม เราก็น่าจะได้แผนภูมิดังต่อไปนี้

ในแผนภูมิ นี้ กลุ่มการเงินชุมชนตัวอย่าง 5 กลุ่ม มีตั้งแต่กลุ่มที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง แต่นำส่งประโยชน์ด้านคุณภาพชีวิตต่ำ (เช่น ตั้งอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสูงๆ จนได้กำไรเยอะ แต่สมาชิกมีปัญหาในการผ่อนจ่าย ละเลยการจ่ายเงินสวัสดิการ) ไปจนถึงกลุ่มที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกได้สูงมาก แต่มีความมั่นคงทางการเงินต่ำ (เช่น จ่ายเงินค่าสวัสดิการสูง ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชน แต่มีปัญหาในการติดตามหนี้และเรียกเงินสัจจะรายเดือน เงินกองทุนร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ)

การลงพื้นที่วิจัยของเรายังไม่พบ กลุ่มการเงินชุมชนที่มีผลงาน "เป็นเลิศ" คือมีทั้งความมั่นคงทางการเงินสูง และช่วยให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมมาก แต่อย่างไรก็ตาม เราพบว่ากลุ่มที่เข้มแข็งบางกลุ่มมีศักยภาพที่จะขยายขนาดและพัฒนาไปสู่จุด นั้นได้ หากต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาควิชาการ หรือแม้แต่ภาคการเงินกระแสหลักที่สนใจจะช่วยพัฒนา โดยเฉพาะในด้านองค์ความรู้ทางบัญชี เครื่องมือบริหารจัดการเงิน ระบบการกลั่นกรองสินเชื่อที่ไปไกลกว่าการอาศัยคนรู้จัก และการส่งเสริมให้กลุ่มการเงินต่างๆ สามารถกู้ยืมเงินระหว่างกันได้

ผู้ เขียนเชื่อว่าวงการ "การเงินขนาดจิ๋ว" หรือ "ไมโครไฟแนนซ์" ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสที่จะหยั่งรากและเติบโตในชนบทไทยได้ดีไม่แพ้ที่อื่นใดในโลก สถาบันการเงินกระแสหลักที่สนใจจะทำธุรกิจด้านนี้น่าจะลองศึกษาแนวโน้มการ เป็นพันธมิตรหรือแหล่งทุนของกลุ่มการเงินชุมชนไทย เพื่อต่อยอดและขยับขยายจากสิ่งที่ชาวบ้านทำกันเองได้ดีแล้วระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเครื่องมือทางการเงินสองชนิดที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับชาว บ้าน - ประกันขนาดจิ๋ว (microinsurance) และการโอนเงินขนาดจิ๋ว (micropayment)

view