สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สังคมคุณธรรมแบบยั่งยืน/คอลัมน์ส่องความคิด

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร:


พอ เกิดวิกฤตขึ้นแต่ละครั้ง ก็จะทำให้เราหันกลับมามองตัวเองมากขึ้น นี่คงเป็นพฤติกรรมที่คงได้เห็นกันมากขึ้นใน ช่วงนี้ แต่นิสัยคนไทยลืมง่าย เจ็บแล้วไม่จำ ทำอย่างไรจึงจะสร้างสังคมคุณธรรมได้แบบ ยั่งยืน นี่คงเป็นคำถามที่คนประสบปัญหา มาแล้ว อยากได้คำตอบ

อย่างเรื่องซีเอสอาร์ หรือความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสังคม หลายองค์กรเริ่มทำมาพักใหญ่ และยิ่งในภาวะเช่นนี้ยิ่งทำมากขึ้น ซึ่งนักธุรกิจหลายคนมองว่าเป็นกระแสแห่งความดี ที่ไม่ใช่แค่แฟชั่นอีก ต่อไป แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังมอง ไม่เห็นและไม่ทำ

เพราะยิ่งเศรษฐกิจฝืดเคือง ยิ่งทำทุกอย่างเพื่อที่จะแข่งขัน แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งมีเงินน้อยนิดในกระเป๋าผู้บริโภคเป็นเป้าหมาย นั่นเป็นมุมมองของนักทุนนิยม ที่มองคนเป็นผู้บริโภคสินค้า ไม่ได้มองคนเป็นคน อย่างที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บอกว่า แม้แต่ ค.ฅน ที่แปลว่ามนุษย์หายไป เหลือแต่ ค.คน ที่ใช้ ค.ควาย เขียนแทน

วันนี้โลกทุนนิยมที่ล่มสลาย ที่มีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นตัวย่าง และประเทศไทยก็เคยเจอมาแล้วอย่างวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่เกิดจากตัวเราเอง ที่ฟุ้งเฟ้อ ลงทุนเกินจริง เกินตัว จนฟองสบู่แตก แถมด้วยการคอร์รัปชัน ที่ดูเหมือนจะฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย

วันนี้เราจึงควรกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นอะไร เป็นใคร เนื้อแท้ของความเป็นสังคมพุทธศาสนาที่ฝังรากลึก อยู่ในสังคมไทยนั้น เราได้นำหลักธรรมะมายึดถือปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน นี่คือคำถามแรกที่ควรนำมาคิด พิจารณา และถามตัวเองให้ถ่องแท้เสียก่อน

ทุกวันนี้เราสอนให้แข่งขันตั้งแต่ลืมตา ดูโลก เราต้องเกิดในที่ที่ดีที่สุด แพงเท่าไหร่ไม่ว่า เมื่อยามที่หลุดออกจากครรภ์มารดา เมื่อเริ่มพูดได้ ก็ถูกฝึกให้พูดได้หลายภาษา เพื่อวันข้างหน้า อนาคตที่จะก้าวไปอย่าง ไม่มีใครเทียบเทียม

เราไม่เคยรู้เลยว่า สิ่งที่เราทำคือความกดดันที่สร้างให้กับลูกตัวเอง บีบให้เขาต้องแข่งขัน เอาตัวรอด โดยลืมปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่ดี ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะอย่างนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่สังคมไทยอยู่ในภาวะวิกฤตทุกวันนี้ ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ

“เจ็บแล้วไม่เคยจำ” นี่คือคำที่ดร.สุเมธย้ำ และถ้าจำได้แล้ว ก็ควรนำมาปรับปรุงสร้างวิถีแห่งความเป็นสังคมไทย เมืองที่ ยึดถือหลักพระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง ความขัดแย้งก็ไม่เกิด ความแตกแยกก็ไม่มี และหากวันนี้ยังคิดไม่ได้ ก็อาจจะเห็นการแตกหักของคนในสังคมไทย

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย หลักการ ข้อหนึ่งของการเป็นสื่อ คือ ความกล้าหาญทางจริยธรรม ซึ่งคงไม่ใช่แค่วิชาชีพสื่อเท่านั้นที่ต้องยึดถือ แต่ควรเป็นหลักยึดของทุกคนในสังคม ที่ต้องมีความกล้าในการทำความดี ซึ่งประเด็นข่าวแบบนี้ก็มีให้เห็นน้อยมากในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นแค่ข่าวเล็กๆ หลบมุม

ถึงวันนี้หากกระแสสังคมต้องการเห็นการสร้างสังคมคุณธรรมที่ยั่งยืน ในเมืองไทย ทุกองคาพยพของสังคมคงต้องก้าวไปด้วยกัน ทำมาก ทำน้อย ขอให้ทำ อย่าท้อ อย่าถอย เราคงจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ก่อนที่ประเทศจะถึงคราวล่มสลายไปเสียก่อน

view