สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สตง.แกะรอย ชุมชนพอเพียง พบ คนใน ต้องสงสัยทุจริต!

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



"เคยเตือนรัฐบาลแล้วว่าทำโครงการแบบนี้ต้องระวัง เพราะอาจซ้ำรอยเอสเอ็มแอล"

เป็นเสียงเตือนจาก คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่เคยผ่านงานตรวจสอบการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน/ชุมชน หรือ เอสเอ็มแอล ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาแล้วอย่างเข้มข้น

เพราะผลการตรวจสอบพบเงื่อนงำทุจริตในขั้นตอนต่างๆ ของโครงการอย่างมากมาย...

ฉะนั้น เมื่อโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน หรือ "โครงการชุมชนพอเพียง" ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มตกเป็นข่าวฉาว คุณหญิงจารุวรรณ จึงไม่แปลกใจ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการฯ ทำหนังสือถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการนี้

"ได้บอกคุณกอร์ปศักดิ์ไปว่ามาให้ทางนี้ตรวจ สั่งไม่ได้นะ มีแต่เดินหน้าลูกเดียว ถอยหลังไม่ได้ หยุดไม่ได้ คุณกอร์ปศักดิ์ก็ยืนยันให้ สตง.ดำเนินการได้เลย เพราะเขาเชื่อมั่นว่าเขาสะอาดพอ และไม่มีส่วนร่วมกับข่าวการทุจริตที่เกิดขึ้น" คุณหญิงจารุวรรณ เล่าถึงบทสนทนากับรองนายกรัฐมนตรี

และจากประสบการณ์ในฐานะ "มือสอบทุจริต" มานานปี โดยเฉพาะกับโครงการเอสเอ็มแอล ทำให้ คุณหญิงจารุวรรณ ฟันธงว่า "คิดว่าจะเจอแบบเอสเอ็มแอลแน่นอน"

"จากการวิเคราะห์โครงการในเบื้องต้น พบว่าเจตนาของรัฐบาลต้องการมอบอำนาจให้ประชาชนร่วมกันใช้ภูมิปัญญาของชุมชน มาสร้างงานสร้างรายได้ให้พออยู่พอกิน ต้องการพัฒนาความสามารถของชุมชนอย่างยั่งยืน สรุปว่าเริ่มต้นดี มีเจตนารมณ์ที่ดี ทั้งยังเตรียมการค่อนข้างดี มีการจัดทำคู่มือการบริหารจัดการส่งลงไปในทุกชุมชน แต่พอถึงเวลาผู้บริหารโครงการอาจจะพลาดพลั้งจนเกิดปัญหาขึ้น"

จุดอ่อนแรกที่พบ คุณหญิงจารุวรรณ บอกว่า คือ การไม่สามารถสื่อสารความถูกต้องลงไปให้ถึงระดับชุมชน

"รัฐบาลจัดทำเป็นหนังสือ อธิบายถึงการเปิดบัญชีของชุมชน การจัดทำบัญชีรับจ่าย ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ แต่การดำเนินการทั้งหมดเป็นเพียงหนังสือ ไม่มีคนเข้าไปถึงชุมชนเพื่ออธิบายรายละเอียดให้ชาวบ้านฟัง จุดนี้อาจทำให้ประชาชนไม่เข้าใจว่าทำอะไรได้ หรือทำอะไรไม่ได้บ้าง"

"เท่าที่ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บข้อมูล ทราบว่าเวลาซื้อสินค้า ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมเลย บางชุมชนมีคนบอกให้เตรียมสถานที่ไว้ เดี๋ยวจะมีสินค้ามาลงให้ ไม่ต้องจ่ายสตางค์ บางชุมชนได้เงินมา 5 แสนบาท สามารถซื้อตู้ทำน้ำเย็นราคา 1 แสน ส่วนอีก 4 แสน นำไปลงทุนอย่างอื่นได้เยอะแยะ แต่พอถึงเวลาจริงๆ กลับทำไม่ได้ เพราะราคาสินค้าอาจจะแพงเกินไป"

ประเด็นต่อมาที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ คุณหญิงจารุวรรณ อธิบายว่า คือเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างว่าได้ดำเนินการในราคาที่เหมาะสมหรือไม่ ซื้อผ่านช่องทางที่ถูกต้องหรือเปล่า

"ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสัมภาษณ์รายหมู่บ้าน รายชุมชน ว่าการดำเนินการตามโครงการเป็นมติของชุมชนจริงหรือไม่ เพราะหลักการที่ถูกต้องจะต้องเป็นการจัดซื้อตามความต้องการของชาวบ้านจริงๆ จากนั้นก็ต้องดูว่าสินค้าที่ซื้อมีคุณภาพเพียงพอเหมาะสมกับเงินที่เสียไป หรือไม่ เช่น รับประกันกี่เดือน มีประกันซ่อมอะไหล่หรือไม่ ผู้ขายคือใคร ที่สำคัญการจัดซื้อต้องถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ไม่ใช่อยากซื้ออะไรจากบริษัทไหนก็ซื้อเลย ต้องมีการสอบราคา ตรวจดูประวัติสินค้าและบริษัทผู้ขายด้วย"

ข้อมูลทั้งหมดคงต้องรอเจ้าหน้าที่ที่ลงชุมชนส่งรายงานกลับมา แต่ปมที่ สตง.พบความผิดปกติแล้วก็คือโครงสร้างการบริหารจัดการโครงการชุมชนพอเพียง ซึ่งนอกจากจะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ ยังมีคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นอีกหลายชุด เพื่อเป็นมือไม้ในการทำงาน

รายชื่อคณะอนุกรรมการบางชุด บางคน คุณหญิงจารุวรรณ บอกว่าเห็นแล้วสะดุด...

"ตัวบุคคลบางคนมีประวัติที่ต้องพิสูจน์ อาจจะเคยทำอะไรที่เคยเป็นปัญหามาก่อน และถ้าพบทุจริตก็ต้องส่งให้ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ไต่สวนต่อไป" คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวพร้อมเปิดรายชื่ออนุกรรมการบางคนที่ทำไฮไลต์ไว้ว่ากำลังอยู่ระหว่างการ ตรวจสอบให้ดู

"ช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ วัฒนธรรมการทุจริตแข็งแรงมาก มีระบบการสร้างตัวแทน การกำหนดราคากลางซ่อน เพื่อให้ราคาจัดจ้างสูงกว่าความเป็นจริง การตรวจสอบจึงต้องใช้ความรอบคอบสูงมาก แต่ก็เชื่อว่าจะหาตัวคนผิดได้อย่างแน่นอน" ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

ได้เวลานับถอยหลังกระชากหน้ากากคนโกง!

view