สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อีลิทการ์ด แหล่งโกยผลประโยชน์กลุ่มการเมือง

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ทีมข่าวท่องเที่ยว:



“โครงการ ขนาด 60-70 ล้านบาท เด็กๆ คงทำเองไม่ได้ ต้องมีคนสั่ง และเชื่อว่าถ้าสาวเรื่องนี้กันไปก็จะเสียไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ เรื่องบางเรื่องก็อยากให้จบๆ กันไป เพราะโตๆ กันแล้ว”

เป็นคำกล่าวของ ธงชัย ศรีดามา รองอธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด สะท้อนได้ว่า รู้ความตื้นลึกหนาบางในแต่ละโครงการที่จัดทีพีซีจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงเรื่องราวยุ่งๆ ภายในนั้นเป็นอย่างดี

แต่น่าเสียดายที่ ธงชัย เองกลับไม่กล้าเชือดผู้ที่บงการ แต่กลับเลือกใช้วิธีเงียบเพื่อให้ทุกอย่างจบลง ซึ่งคนในวงการท่องเที่ยวต่างรับรู้มานานว่าตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของทีพี ซีร่วม 6 ปี เป็นแหล่งขุมทรัพย์การกอบโกยผลประโยชน์เข้าพวกพ้องนักการเมืองมาโดยตลอด

ทั้งๆ ที่ทุกโครงการมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน แต่บอร์ดทุกชุดที่เข้ามาบริหารจัดการกลับเพิกเฉยที่จะตรวจสอบ โดยเฉพาะบอร์ดชุดปัจจุบันได้รับการรายงานจาก เกษม สรศักดิ์เกษม นักกฎหมาย อิสระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายเพื่อตรวจสอบสัญญา ซึ่งชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้แต่งตั้งเข้ามาตรวจสอบให้ดำเนินการตรวจสอบในแต่ละโครงการ สรุปรายงานว่า แต่ละโครงการอย่างโครงการเช่าระบบไอทีกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เทคโนโลยี วงเงิน 77.3 ล้านบาท ที่มี ยอดชาย แก้วเพ็ญศรี รองผู้จัดการใหญ่สายงานสิทธิประโยชน์และสมาชิกสัมพันธ์ เป็น ผู้เซ็นอนุมัติโครงการ เมื่อสาวลึกลงไปในรายละเอียดพบว่า การทำสัญญานี้ทำให้ ทีพีซีเสียเปรียบบริษัทเอกชนอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม คำสั่งของรมว.ท่องเที่ยวฯ ที่ให้ระงับการทำสัญญาหรือธุรกรรมใดๆ ที่เป็นภาระผูกพันระยะยาวกับบริษัทตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้โครงการดังกล่าวต้องพับไป แต่เมื่อตรวจสอบ ข้อสัญญาพบว่า ทีพีซีต้องจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนเริ่มวางระบบเฉลี่ยเดือนละ 7 ล้านบาท เมื่อวางระบบแล้วเสร็จต้องจ่ายครบวงเงิน 77.3 ล้านบาท เมื่อดำเนินการอะไรต่อไม่ได้จึงขอยกเลิกสัญญา ผลพวงที่ตามมาคือ บริษัทคู่สัญญาสามารถฟ้องให้ทีพีซีชดใช้ค่าเสียหายวงเงิน 38 ล้านบาท โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น

น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าโครงการในลักษณะนี้สามารถผ่านความคิดเห็นของบอร์ดชุดที่ผ่านมาที่มี สรจักร เกษมสุวรรณ เป็นประธาน และมี สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย เป็นรักษาการผู้จัดการใหญ่ พ่วงด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาด้านจำหน่ายและการตลาดอย่าง ธชธร ทิมทอง ที่ สุรพงษ์ ว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในราคา ค่าตัวสูงลิ่วได้อย่างไร หรือการทำงานในครั้งนี้จะเป็นก๊วน เป็นขบวนการที่มีกลุ่มการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องถาม วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานททท. ที่ในตอนนั้นนั่งเป็นเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ว่ารู้เรื่องนี้หรือเปล่า

นอกจากนี้ ธงชัย ยังบอกอีกว่า การทำสัญญาร่วมกับบริษัทแอดวานซ์ฯ ที่เกิดขึ้น มองว่าไม่มีสัญญาใดในโลกนี้ที่หน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจทำแล้วจะถูก ราษฎรเอาเปรียบ ซึ่งส่วนใหญ่ภาครัฐจะต้องเป็นผู้ได้เปรียบเอกชนเสมอ ยิ่งตอกย้ำภาพการฮั้วกันได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเช่าซื้อป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งผ่านนายหน้าบริษัท เจซี เดอโก ในราคาที่แพงกว่าเท่าตัว ซึ่งโครงการนี้มีรายงานข่าวว่า ทีพีซีได้ติดต่อกับบริษัท คิง เพาเวอร์ เจ้าของการเช่าสัมปทานพื้นที่กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) โดยตรง แล้วได้ราคาค่าเช่าพื้นที่ระยะเวลา 12 เดือน ในพื้นที่สามารถเลือกได้ตามความต้องการ วงเงินเพียง 10 ล้านบาท ขณะที่ผ่านบริษัท เจซี เดอโก โครงการจะมีมูลค่า 24 ล้านบาท แถมตำแหน่งการตั้งป้ายอยู่ในมุมอับ โดยโครงการนี้ลือกันว่าบิ๊กในทีพีซีเป็น คนสั่งการ

รวมถึงโครงการเช่ารถยนต์คัมรี่ ที่ฝ่ายบริหารได้สั่งให้ทีพีซีปรับราคาค่าเช่าเองเพื่อนำเงินส่วนต่างเข้า กระเป๋า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่พนักงานในองค์กรต่างรู้ดี แต่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้

อย่างไรก็ตาม การยกตัวอย่างโครงการทุจริตที่เกิดขึ้น สามารถให้คำตอบถึงสาเหตุหลักที่ทำให้องค์กรแห่งนี้อยู่ในอาการโคม่า เพราะต้นเหตุหลักไม่ใช่เรื่องการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือการจำหน่ายบัตรได้น้อยแต่อย่างไร

แต่ปัจจัยหลักที่เป็นบอนไซให้ทีพีซีจะล้มครืนคือ การทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งๆ ที่มีเงินหมุนเวียนในระบบที่เกิดจากการจำหน่ายบัตรสมาชิกกว่า 2,700 ล้านบาท และเงินที่ได้จากภาษีประชาชนตาดำๆ อีก 500 ล้านบาท ให้กลุ่มก๊วนที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์กัดกินจนปัจจุบันเงินเหลือเพียง 376 ล้านบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ ในช่วงที่บอร์ดทีพีซีเองไม่กล้าลงลึกสืบค้นเรื่องการทุจริต เพราะเกรงจะเจอตอขนานใหญ่ ด้านการบริหารที่กระแสสะพัดว่า อุดม เมธาธำรงค์ศิริ ที่ปรึกษาผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะรักษาการผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบัน เตรียมถูกเด้งจากตำแหน่ง ในข้อหาทำงานไม่ได้ดั่งใจเจ้ากระทรวง โดยลือกันว่ามีเด็กปั้นอย่าง เมธาวี ตันวัฒนะพงษ์ กรรมการบอร์ดทีพีซี และกรรมการบอร์ดททท. ที่รมว.ชุมพล เอ็นดูอย่างมาก มานั่งในตำแหน่งรักษาการผู้จัดการใหญ่แบบถาวร

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ 27 ส.ค.นี้ ผู้บริหารททท. เตรียมเรียกประชุมด่วนเพื่อถกเรื่องดังกล่าว โดย อุดม ย้ำว่ายังไม่ทราบเรื่องดังกล่าวอย่างแน่ชัด

ขณะที่ ณัฐพล เดชวิทักษ์ รองผู้จัดการใหญ่สายงานการจำหน่ายและการตลาด ผู้ที่จ่อถูกปลดออกจากงานในโครงการเออร์ลี รีไทร์ เล่าว่า พนักงานบางส่วนเตรียมยื่นขอศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากบริษัทจะดำเนินโครงการเออร์ลีฯ ในลักษณะการชี้ตัวให้ออก โดยไม่มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานใดๆ ที่ชัดเจน ซึ่งพนักงานมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีความยุติธรรม เพราะธุรกิจที่ไม่สามารถเดินหน้าได้ในทุกวันนี้เพราะคำสั่งของรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่เพราะการบริหารจัดการ หรือการจำหน่ายบัตรบกพร่องแต่อย่างใด

ปัญหาความวุ่นวายเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ รัฐบาลควร หาคำตอบที่ชัดเจนมี ที่มาที่ไปให้กับสังคม เพราะบริษัทแห่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะภาษีของประชาชนผู้มีรายได้ ต้องจ่ายได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเชื่อได้ว่าไม่มีใครต้องการจ่ายเพื่อให้เงินดังกล่าวหมุนเวียนเป็นท่อ น้ำเลี้ยงให้กับก๊วนการเมืองที่มุ่งหาผลประโยชน์แบบไม่จบสิ้น

view