สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลับ ลวง พราง ฉบับอเมริกัน ตอน... ฮอตไลน์ พอลสัน-แบลงก์เฟน เปิดโปงเบื้องลึกอุ้มไอเอจีและที่มา Government Sachs

จากประชาชาติธุรกิจ



นับ จากวาณิชธนกิจรายนี้พาธุรกิจพ้นซากปรักหักพังของคู่แข่งร่วมวงการ ภายใต้สถานะใหม่ โฮลดิ้งธนาคารระดับแถวหน้าของประเทศ โกลด์แมน แซกส์ กำลังเป็นที่จับจ้องของสื่อ ทั้งในด้านบวกและลบ

โกลด์แมน แซกส์ เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินสหรัฐไม่กี่ราย ที่พลิกสถานการณ์จากย่ำแย่เจียนอับปาง มาเป็นธุรกิจที่มีรายได้และผลกำไรงดงามในไตรมาส 2 ของปี 2552 หลังจากมีรายได้ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และผลกำไร 2.3 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2551

ขุมกำลังของโกลด์แมน แซกส์ ยังคงแข็งแกร่งด้วยบุคลากรประจำหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ซื้อขายหุ้น ตราสารหนี้ และบริหารสินทรัพย์ ที่ถือครองในมือกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังเป็นการเติบโตในอุตสาหกรรม โดยแทบปราศจากคู่แข่ง เพราะถึงจะมีคู่แข่งหาญกล้ามาวัดบารมี ก็เป็นคู่แข่งที่ไม่เข้มแข็งและเหลือน้อยเต็มทน

ใต้เงาความโดดเด่น โกลด์แมน แซกส์ กำลังถูกกระหน่ำด้วยข่าวลือและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่ปัญหาด้านจริยธรรมไปจนถึงการครอบงำรัฐบาลอเมริกัน ไม่นับข้อกล่าวหาจิปาถะ เช่น การเอื้อผลประโยชน์แก่ลูกค้าขาใหญ่ การเล่นเกมทุกกระบวนท่า เพื่อให้ได้มาซึ่ง "เงิน เงิน เงิน"

นั่นยังไม่นับข้อกล่าวหาฉกรรจ์ของการเอาตัวรอดจากวิกฤต โดยมีอนาคตของธุรกิจอื่นเป็นสะพานให้ข้ามพ้นเหว

บางแง่บางมุมของข่าวลือและข้อกล่าวหาต่างๆ นานา ปรากฏอยู่ในเว็บบล็อกและบทวิเคราะห์วิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ชั้นนำระดับประเทศ

หนึ่ง ในจำนวนนั้นคือ นิวยอร์ก ไทมส์ ซึ่งได้เปิดโปงเรื่องราวบางประการเกี่ยวกับสายสัมพันธ์ระหว่าง เฮนรี พอลสัน สมัยยังนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง ควบคุมการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตของประเทศและสถาบันการเงินอีก 2 แห่ง คือ โกลด์แมน แซกส์ และ อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล

เดือนกรกฎาคมที่ผ่าน มา พอลสันในฐานอดีตขุนคลัง ถูกซักฟอกอย่างเผ็ดร้อนในรัฐสภา โดยพุ่งประเด็นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับโกลด์แมน แซกส์ อดีตสถาบันการเงินที่เขาเคยนั่งบัญชาการในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ก่อนจะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช จูเนียร์



แม้ พอลสันจะพยายามยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม หรือปัญหาด้านจริยธรรมใดๆ เกิดขึ้นในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรี แต่จากเอกสารข้อมูล ซึ่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ ได้มาหลังยื่นเรื่องขอเอกสารดังกล่าวมาตรวจสอบ ภายใต้กฎหมายเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information Act) พบว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤต และมีอนาคตของสถาบันการเงินหลายแห่ง รวมถึงเอไอจีเป็นเดิมพันอยู่นั้น พอลสันได้มีการติดต่อทางโทรศัพท์กับ ลอยด์ ซี แบลงก์เฟน ซีอีโอของโกลด์แมน แซกส์ บ่อยครั้ง

นิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า เฉพาะในสัปดาห์ที่รัฐบาลกำลังหาแนวทางช่วยเหลือเอไอจี พอลสันและแบลงก์เฟนมีการพูดคุยกันมากกว่า 20 ครั้ง ซึ่งบ่อยกว่าที่พอลสันติดต่อพูดคุยกับผู้บริหารคนอื่นๆ ในย่านวอลล์สตรีต

รายงาน ฉบับเดิมระบุว่า ในวันที่ 17 กันยายน ซึ่งพอลสันอ้างว่าเป็นวันที่เขาได้ทำเอกสารสำคัญ เพื่อรายงานการติดต่อระหว่างเขาและอดีตบริษัทต้นสังกัดเดิม พบว่าในวันดังกล่าว พอลสันมีการติดต่อพูดคุยกับแบลงก์เฟน 5 ครั้ง โดย 2 ครั้งในจำนวนนั้นเกิดขึ้นก่อนที่การยื่นเอกสารขออนุญาตจะได้รับการอนุมัติ

อย่าง ไรก็ตาม มิเชล เดวิส โฆษกของพอลสันชี้แจงแทนพอลสัน ซึ่งอ้างว่ากำลังวุ่นวายอยู่กับการทำหนังสือ และสำนักพิมพ์ได้ขอให้เขางดให้สัมภาษณ์ใดๆ ในช่วงที่ทำหนังสือ เพียงสั้นๆ ว่า เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนช่วยเหลือ ทางการเงิน รวมถึงการกำหนดวงเงินสินเชื่อให้กับเอไอจีไม่ใช่พอลสัน

แต่ นิวยอร์ก ไทมส์ อ้างข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาล 2 รายว่าพอลสันมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการตัดสินใจให้การช่วยเหลือแก่ เอไอจี

สถานการณ์ดังกล่าวถูกโยงมาถึงข้อมูลอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่ง เผยแพร่ใน นิวยอร์ก แมกาซีน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ต่ออย่างครึกโครมในเว็บไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่โกลด์แมน แซกส์ ได้รับจากการที่ รัฐบาลเข้าไปอุ้มเอไอจี ผ่านสกู๊ปเรื่อง Tenacious G ในเว็บไซต์ nymag.com

ใน สกู๊ปดังกล่าวบรรยายภาพการเชื่อมโยงของโกลด์แมน แซกส์ ใน 2 ลักษณะ โดยลักษณะแรก โกลด์แมน แซกส์ เป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของเอไอจี จากการซื้อสัญญาประกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (credit default swaps : CDSs) มาตั้งแต่ปี 2548 เป็นมูลค่ามากถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์

ก่อน เอไอจีเดินสู่หายนะ โกลด์แมน แซกส์ ได้เรียกเก็บเงินสดจากไอเอจี ตามพันธสัญญาในประกัน CDSs มาได้ราว 7.5 พันล้านดอลลาร์ แต่ยังเหลืออีกส่วนหนึ่งราว 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ยังไม่สามารถเรียกเก็บได้ เนื่องจากเอไอจีไม่อยู่ในฐานะที่จะจ่ายเงินได้อีกต่อไป

รายงานระบุว่า เงิน 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ อาจมากพอที่จะสั่นคลอนอนาคตของโกลด์แมน แซกส์ ในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน

จาก นั้น เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลัง ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ประจำนิวยอร์ก ได้จัดประชุมฉุกเฉินในวันที่ 15 กันยายน ซึ่งในการประชุมครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 40 คน นิวยอร์ก แมกาซีน บรรยายว่า หากไม่นับผู้บริหารจากธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ จะพบมีคนของ "โกลด์แมน แซกส์" อยู่ในทุกฟากฝั่งของผู้เข้าร่วมประชุม ตั้งแต่บุคลากรจากกระทรวงการคลัง ธนาคารกลาง ที่ล้วนแต่เป็นลูกหม้อเก่าของโกลด์แมน แซกส์ จนถึงตัวแทนของโกลด์แมน แซกส์เอง ในอดีตก็ทำงานใกล้ชิดกับรัฐมนตรีคลัง สมัยยังเป็นซีอีโอของวาณิชธนกิจรายนี้ทั้งสิ้น

ข้อสังเกตในสกู๊ปของ นิวยอร์ก แมกาซีน สอดคล้องกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงอิทธิพลของโกลด์แมน แซกส์ ในรัฐบาลสหรัฐ ถึงขนาดตั้งสมญานามกันอย่างเอิกเกริกว่า "รัฐบาลของโกลด์แมน แซกส์"

ฉายานี้เด่นชัดมาในช่วงรอยต่อ ที่เฮนรี พอลสัน ยังนั่งตำแหน่งใหญ่เป็นรัฐมนตรีคลัง คุมทีมปลดชนวนวิกฤตการเงินโลก สื่อมวลชนในสหรัฐได้ตั้งสมญานามให้กับรัฐบาลว่า Government Sachs หรือรัฐบาลมีแต่คนของโกลด์แมน แซกส์ เต็มไปหมด

เริ่มตั้งแต่ตัว "เฮนรี พอลสัน" เอง ที่ก่อนจะมาเป็นรัฐมนตรีคลัง ก็เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโกลด์แมน แซกส์ มาก่อน รวมถึงทิโมธี ไกธ์เนอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ประจำนิวยอร์ก ในช่วงเวลานั้น ก็ถือว่ามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับอดีตวาณิชธนกิจรายนี้ไม่ใช่น้อย เนื่องจากทำงานใกล้ชิดอยู่กับ โรเบิร์ต รูบิน อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งก็เป็นผู้บริหารคนสำคัญของโกลด์แมน แซกส์ เช่นกัน

ไม่เพียงแค่ นี้ นีล คาชการี อดีตรองประธานบริหารโกลด์แมน แซกส์ ก็ถูกดึงมานั่งบริหารกองทุนบรรเทาสินทรัพย์ที่มีปัญหา (TARP) ดูแลการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารสหรัฐ

แม้แต่เมื่อ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เข้ามาบริหารประเทศแล้ว คนของโกลด์แมน แซกส์ ก็ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานต่อและแต่งตั้งเพิ่มเติม อาทิ หัวหน้าคณะทำงานของไกธเนอร์ ชื่อมาร์ค แพตเตอร์สัน ในอดีตก็เป็นล็อบบี้ยิสต์ของโกลด์แมน แซกส์

นอกจากนี้ยังมี สตีฟ แชฟรัน ลูกหม้อคนโปรดของ พอลสัน และ บิล ดัดเลย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซกส์ ปัจจุบันมีตำแหน่งใหญ่ในธนาคารกลางสหรัฐ ประจำนิวยอร์กไปแล้ว เอ็ดวาร์ด เอ็ม ลิดดี ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานและซีอีโอของอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป หรือเอไอจี ก็เป็นผู้บริหารระดับสูงของโกลด์แมน แซกส์ ที่เกษียณตัวเองมากุมบังเหียนเอไอจี หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐทุ่มเงินเข้าพยุงกิจการ

จริงๆ แล้วตำนานสายสัมพันธ์ระหว่างโกลด์แมน แซกส์ และรัฐบาลสหรัฐดำเนินมาอย่างยาวนานมาก โดยอาจตั้งต้นตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ซึ่งช่วงเวลานั้น ซิดนี ไวน์เบิร์ก ประธานโกลด์แมน แซกส์ ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้แก่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (Great Depression)

นับ จากนั้นผู้บริหารระดับสูงของโกลด์แมน แซกส์ ก็มักจะไปได้ดิบได้ดี มีตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลในวอชิงตันอยู่เป็นประจำ อาทิ จอห์น ไวต์เฮด อดีตประธานร่วมของ โกลด์แมน แซกส์ ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ข้ามห้วยไปอยู่วอชิงตันในสมัยรัฐบาลของ ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ก่อนจะมาเป็น โรเบิร์ต รูบิน และ เฮนรี พอลสัน ในยุคของ บิล คลินตัน และประธานาธิบดีบุชสมัยที่ 2

view