สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กฎหมายการพัสดุ หัวใจการซื้อการจ้างภาครัฐ : นักกฎหมายโครงการ

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :วิโรจน์ พูนสุวรรณ:



นโยบาย ไทยเข้มแข็งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ วิธีเดียวกันกับนโยบายนิวดีลของสหรัฐเมื่อ 80 ปีมาแล้ว ที่อดีตประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ นำมาใช้อย่างได้ผล เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่สุดของสหรัฐ และประธานาธิบดีโอบามายึดถือเป็นต้นแบบนำมาใช้ในปัจจุบัน ทฤษฎีนี้ก็คือทุ่มเทเงินจำนวนมหาศาลลงไปให้ถึงมือประชาชนทั่วประเทศให้มาก ที่สุด โดยผ่านทางกระบวนการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคให้แพร่กระจายไปแทบจะทุก ชุมชน 

จึงเป็นที่มาของเม็ดเงินจำนวนหลายแสนล้านบาทที่หน่วยงานราชการไทย จะเริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2552 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของปีงบประมาณใหม่ เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ 3 ปี

งบลงทุนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เฉพาะหน้า คือ ให้ชาวบ้านมีงานทำสร้างรายได้มาจับจ่ายซื้อของ ส่วนผลพลอยได้ระยะยาวจะได้สิ่งอำนวยความสะดวกเป็นฐานรองรับการผลิตของทั้ง ภาครัฐและเอกชนให้เติบโตขึ้นไปในภายหน้า โครงการสาธารณูปโภคที่จะลงทุนจึงมีมากถึงกว่า 6,000 โครงการ ทั้งโครงการขนาดใหญ่ระดับนานาชาติและโครงการขนาดเล็กระดับหมู่บ้าน

ได้แก่ โครงการรถไฟเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำอื่นๆ โครงการชลประทาน โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการขยายสนามบิน โครงการสร้างและซ่อมแซมทางหลวงแผ่นดิน ไปจนถึง โครงการสร้างและซ่อมแซมถนนปลอดฝุ่น สร้างและซ่อมแซมโรงเรียนโรงพยาบาล และสิ่งก่อสร้างสาธารณะอื่นๆ

เอกชนรับเหมาก่อสร้างไม่ใช่ร่วมลงทุน : ศึกษาจากกระบวนการแก้กฎหมายที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้แล้ว ภาคเอกชนคาดหวังได้ยากว่าจะมีแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังใดๆ มาเร่งผลักดันการยกเลิกพ.ร.บ.ร่วมกิจการงาน ที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนอย่างสูง เพราะเหตุนี้การจัดหาเงินทุนภาคเอกชนมาช่วยสร้างโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ที่เป็นแนวคิดอันเป็นที่นิยมทั่วโลก ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในบ้านเรา นักลงทุน ทำได้เพียงเข้าร่วมลงทุนได้ประปรายในโครงการขนาดเล็กไม่กี่โครงการ จากจำนวนโครงการทั้งหมดที่ประกาศตามนโยบายไทยเข้มแข็ง

ภาคเอกชนที่จะได้ประโยชน์เต็มที่จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งเข้าร่วมได้ในฐานะผู้รับจ้าง ไม่ใช่ในฐานะนักลงทุน โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้จ่ายค่าจ้างในฐานะผู้ว่าจ้าง

การจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบดั้งเดิมนี้ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ซึ่งประกาศใช้เป็นกฎหมายปีเดียวกันกับพ.ร.บ.ร่วมกิจการงาน กฎหมายพัสดุฉบับนี้ใช้แทนที่กฎหมายเกี่ยวกับพัสดุฉบับเดิมๆ มากมายหลายฉบับ

ยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง : กฎหมายพัสดุเป็นกฎหมายที่ทันยุค ทันเหตุการณ์ แก้ไขล่าสุดเมื่อปี 2545 กฎหมายระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการ จัดซื้อจัดจ้างไว้ถี่ยิบ มีวิธีการซื้อการจ้างหลายวิธี แต่เน้นที่วิธีการประกวดราคา

กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะรักษาผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก และป้องกันการสูญเสียเงินงบประมาณโดยไม่จำเป็น แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความเป็นธรรมและโปร่งใสแก่ผู้เข้าร่วมประมูล นอกจากนี้กฎหมายพัสดุเขียนขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่สุจริต การสมยอมกันระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการ กับผู้รับจ้าง และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาคอร์รัปชัน วิธีการประกวดราคาจึงเป็นการซื้อการจ้างที่กฎหมายบังคับ เว้นแต่การจ้างที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษหรือการซื้อการจ้างที่มีขนาด เล็กมากๆ

เนื่องจากกฎหมายมุ่งที่จะพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชน จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่าทำไมเอกสารประกวดราคา ที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุและสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นชอบด้วยแล้ว จึงระบุเงื่อนไขส่วนใหญ่ให้รัฐได้เปรียบและเอกชนเสียเปรียบ

ในหลักการของกฎหมาย ผลกำไรของผู้รับจ้างภาคเอกชนย่อมมาทีหลัง ผลประโยชน์ของรัฐเสมอ ผู้เสนอราคาที่ชนะการประมูลไม่ควรคาดหวังส่วนต่างของกำไรที่สูงลิบลิ่ว แต่ก็พอจะหวังได้ว่าจะได้รับค่าตอบแทนที่เพียงพอในการดำเนินการตามสัญญาจ้าง แบบ “คุณภาพดี ราคาถูก”

การคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้น : หน่วยงานราชการหลายหน่วยไม่ได้ เปิดโอกาสให้ใครก็ได้มีสิทธิเข้าประมูล แต่จะจำกัดเฉพาะผู้มีความสามารถ ผ่านกระบวนการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น ที่ประกาศให้ประชาชนทราบโดยเปิดเผย ตามหลักเกณฑ์ที่ยื่นไว้กับคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้กับทั้งการซื้อและการจ้าง

ในการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น ทางราชการจะประกาศเชิญชวนทางหนังสือพิมพ์ให้ผู้สนใจสมัครเพื่อรับ คัดเลือก และอาจส่งใบประกาศเชิญชวนไปให้ผู้มีอาชีพขายหรือรับจ้างในงานประเภทนั้นโดย ตรงก็ได้

ใบประกาศจะระบุรายละเอียดของ ที่ต้องการซื้อหรือประเภทงานที่ต้องการจ้าง วงเงิน คุณสมบัติของผู้สมัคร ประสบการณ์ในอดีต ความสามารถทางเทคนิค ความพร้อมของเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลอดจนฐานะทางการเงินของผู้สมัคร

การคัดเลือกจะดำเนินการโดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้มี คุณสมบัติเบื้องต้น ประกอบด้วย ข้าราชการระดับกลาง 5 ท่าน แต่งตั้งโดยหัวหน้าส่วนราชการเจ้าของโครงการ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ 1 ท่าน

รายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นจะได้รับการประกาศ ให้ทราบโดยทั่วกัน และได้รับการขึ้นบัญชีประจำหน่วยงานนั้นทุก 3 ปี หน่วยราชการจะตรวจสอบรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหล่านี้ พร้อมทั้งทบทวนหลักเกณฑ์การคัดเลือกใหม่

การประกวดราคานานาชาติ : วิธีประมูลงานนานาชาติสำหรับการซื้อการจ้างโครงการขนาดใหญ่ในประเทศ มัก จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งของเงินกู้ที่รัฐกู้จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และไจกา

เงินกู้แสนล้านบาทของโครงการไทยเข้มแข็งก็มาจากสามสถาบันนี้ การ คัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับ การเข้าประมูลงาน การพิจารณาผลการประกวดราคา และการเข้าทำสัญญาจ้าง ในกรณีการประกวดราคานานาชาตินี้ จะไม่นำกฎเกณฑ์ในกฎหมายพัสดุมาใช้ แต่ให้ไปใช้หลักเกณฑ์ของแต่ละสถาบันการเงินดังกล่าว

การคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นนานาชาติ จะเป็นไปตามระบบการให้คะแนนมาตรฐานในแต่ละหัวข้อ เพื่อ ให้ได้ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลที่มีประสบการณ์และฐานะการเงินตามมาตรฐานของ สถาบันการเงิน คุณสมบัติดังกล่าว จะใช้เฉพาะการจ้าง จะไม่ใช้กับการซื้อ

บางสถาบันการเงินก็จะเปิดรับสมัครคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น เฉพาะจากประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่สถาบันการเงิน อื่นก็มิได้จำกัดประเทศของผู้สมัคร ผู้มีธุรกิจรับจ้างจากประเทศไหนก็สมัครได้

การปฏิบัติตามกฎในสาระสำคัญ : การเข้าเสนอราคาทั้งในการประมูล ในประเทศและการประมูลนานาชาติ ผู้ประมูลต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของเอกสารประกวดราคาในสาระสำคัญ การยื่นเสนอราคาจะมีผลเป็นข้อเสนอตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ จะไม่กลายเป็นสัญญาซื้อหรือสัญญาจ้างจนกว่าจะได้มีการลงนามในสัญญาอย่างเป็น ทางการตามกฎหมายพัสดุ

ข้อเสนอที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ในเอกสารประกวดราคา จะมีผลทางกฎหมายเป็นข้อเสนอใหม่ที่คณะกรรมการพิจารณาผลการประมูลต้องปฏิเสธ

แม้ว่ากฎหมายพัสดุจะระบุให้แนบร่างสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของเอกสาร ประกวดราคาด้วย ร่างสัญญานี้ยังเจรจาได้เสมอและไม่จำต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพียงแต่ขอให้ปฏิบัติตามในสาระสำคัญ

ปัญหาว่าแก้ร่างสัญญาแล้วถือว่า ผิดเงื่อนไขในสาระสำคัญหรือไม่ ก็ขึ้น อยู่กับว่าผู้เข้าประมูลพร้อมที่จะรับร่างสัญญาทั้งฉบับโดยไม่มีการแก้ไขได้ หรือไม่ หากข้อเสนอขอแก้ไขร่างสัญญาถูกทางราชการปฏิเสธ

และเมื่อจะขอแก้ไขร่างสัญญาก็ต้องมีข้อความเขียนไว้ เพื่อป้องกันมิให้การ ขอแก้ไขกลายเป็นข้อเสนอใหม่ที่ผิดเงื่อนไขในสาระสำคัญ ข้อความดังกล่าวต้องเป็นข้อความที่หน่วยราชการยอมรับได้ และเมื่อระบุข้อความดังกล่าวไว้แล้ว ผู้เข้าประมูลก็อาจขอแก้ไขร่างสัญญาได้หลายข้อ โดยที่ไม่ทำให้สถานะในการเป็นผู้เสนอราคาเสียไป

view