สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่ากองทุนฟื้นฟูเกษตรฯ เค้กใหญ่-เน่าใน-กลายพันธุ์(2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ประสิทธิ์ ไชยชมพู


 

กองทุนฟื้นฟูฯ มีศัตรูโดยธรรมชาติกับนายทุนที่กดหัว กลับยังช่วงชิงการนำ บ้างวิ่งหาอำนาจการเมืองยืมมือฟาดฟันกันเอง การแก้ปัญหาจึงไม่คืบหน้า

ตอน ๒. การเมืองแทรก-แกนนำวิ่ง-ชิงตำแหน่ง-แย่งเค๊ก

พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2544) ผ่านการใช้มาร่วม 10 ปีแล้ว 6 รัฐบาล 10 ประธาน 16 เลขาธิการ/รักษาการเลขาธิการ

 

 

นับแต่นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกองทุนฟื้นฟูฯ โดยตำแหน่ง นายกฯชวน หลีกภัย มอบให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รมว.มหาดไทย ทำหน้าที่แทน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 2 สมัย มอบให้รองนายกฯ กำกับดูแล ได้แก่  พิทักษ์ อินทรวิทยนันท์, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, สุวิทย์ คุณกิตติ, จาตุรนต์ ฉายแสง, พินิจ จารุสมบัติ สลับด้วย สุดารัตน เกยุราพันธุ์ ระยะสั้นๆ ส่วน พิทักษ์ กับ สมคิด สลับกันคนละ 2 สมัย

"ยุค คมช." พล.อ.สุรยุทธ์ มอบให้ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกฯ และ รมว.พัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ กำกับ

ล่าสุด นายกฯ อภิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ มอบอำนาจให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ จากพรรคชาติไทยพัฒนา แทน
 
เลขาธิการกองทุนฯ หรือผู้ใช้อำนาจแทน

1.นายธงชัย เพ็ชร์รัตน์                รักษาการเลขาธิการ
 2.นายอภิชัย การุณยวนิช           รักษาการเลขาธิการ
 3.นายนที ขลิบทอง                  เลขาธิการ
 4.นายไตรรัตน์ สุนทรประภัสสร์    รักษาการเลขาธิการ
 5.นายสุริยันต์ บุญนาคค้า           เลขาธิการ
 6.นายอโศก ประสานสอน          รักษาการเลขาธิการ
 7.นายสมาน เลิศวงศ์รัฐ             รักษาการเลขาธิการ
 8.นายผดุงศักดิ์ พื้นแสน             รักษาการเลขาธิการ
 9.นายอมร อมรรัตนานนท์           รักษาการเลขาธิการ
 10.นายสุริยันต์ บุญนาคค้า          เลขาธิการ
 11.นายสากล สถิตวิทยานันท์       รักษาการเลขาธิการ
 12.นายประสาน หวังรัตนปราณี     รักษาการเลขาธิการ
 13.นางจุฬารัตน์  นิรัศยกุล           รักษาการเลขาธิการ
 14.นายเสริมศักดิ์  ชื่นเจริญ          รักษาการเลขาธิการ
 15.นายนคร ศรีพิพัฒน์                 รักษาการเลขาธิการ
 16.นายสังศิต พิริยะรังสรรค์          รักษาการเลขาธิการ

เฉลี่ยคนละแค่ 7 เดือนเศษ ในรอบ 10 ปีของการประท้วงเป็นระยะๆ ท่ามกลางความขัดแย้ง ช่วงชิง ข้อครหาไม่โปร่งใส หมกเม็ด มุบมิบเงินแผ่นดิน

ใครเป็นใคร-ใครสายใคร

ธงชัย เพ็ชร์รัตน์, อภิชัย การุณยวนิช สองคนแรกมาสไตล์ประชาธิปัตย์ มอบให้อดีตรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ต่อมา พรรคชาติไทย เสนอคนนอก คือ นที ขลิบทอง ศิษย์เก่าสวนกุหลาบรุ่นเดียวกับ เนวิน ชิดชอบ เคยอยู่กรมส่งเสริมการเกษตร ก่อนผันตัวเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) และขึ้นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน มสธ. และรักษาการรองฯ ฝ่ายกิจการพิเศษ 2536-2543 ไปรักษาการ ผอ.องค์การส่งเสริมกิจการโคนมฯ และ ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.)

ส่วน ไตรรัตน์ สุนทรประภัสสร์ ลูกหม้อค่ายสื่อเดลินิวส์ คุมนสพ."สื่อธุรกิจ" ในเครือ เริ่มงานข่าวต่างประเทศรุ่นเดียวกับ แสงชัย สุนทรวัฒน์ผู้ล่วงลับ มีผลงานเขียนหนังสือคงได้แรงผลักดันจากพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ สุริยันต์ บุญนาคค้า เป็น 2 สมัย แต่ประวัติการทำงานแทบไม่ปรากฎในสื่อมวลชนเลย

มาถึงกลุ่มคนเดือนตุลา สายภูมิธรรม เวชชยชัย รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ดัน สมาน เลิศวงศ์รัฐ, ผดุงศักดิ์ พื้นแสน, อมร อมรรัตนานนท์ ขึ้นมาสืบเนื่อง

จากข้อเขียน "เบื้องลึก ศึกม็อบอีแต๋น"ของ "ประชา"(กรุงเทพธุรกิจ 13 มิ.ย.2551) ระบุว่า
นคร ศรีวิพัฒน์ สมัชชาเกษตรกรรายย่อยฯ อดีตสหายอีสานใต้ บุกเบิกงานชาวนายุคสิ้นเสียงปืน พร้อมกับ บำรุง คะโยธา, วีรพล โสภา และคำตา แคนบุญจันทร์ แต่ภายหลังแยกทางกันเดิน

จุฬารัตน์ นิรัติศยกุล อดีตสื่อมวลชน หน้าห้องรัฐมนตรีเกษตรฯประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กรรมการบริหารพรรคชาติไทย ผลักดันขึ้นมา

ส่วน ชรินทร์ ดวงดารา อดีตสหายอีสานใต้อีกคนหนึ่ง ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ซึ่งนำเคลื่อนไหวชุมนุมบ่อย ที่สุดในรอบ 4-5 ปีมานี้ มีสมาชิกส่วนใหญ่จากภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ สนิทกับ พินิจ จารุสมบัติ อดีตนายกองค์การนักศึกษารามคำแหง ปี 2515

บำรุง คะโยธา-วีรพล โสภา ดาหน้าอัดผู้นำจอมปลอม

อดีตผู้ร่วมขับเคลื่อนขบวนการตั้งกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ มาแต่ต้น บำรุง คะโยธา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ปัจจุบันนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง อ.นาคู กาฬสินธุ์ เปิดเผยกับ"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ว่าก็เหมือนกับ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่เคลื่อนไหวเรื่องชาวนา เมื่อกฎหมายสำเร็จ ก็ถอยออกมา

"ผมว่ามันไม่ไหว เห็นแกนนำเกษตรกรบางคน แยกตัว ไปพัวพันกับนักการเมือง ตั้งป้อมใส่กันเอง และทำตัวเป็นจักรพรรดิชาวนา  เรียกค่าโน้นค่านี้อ้างดำเนินงานขององค์กร แต่ 10 ปีมาแล้ว พี่น้องเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย" นักเคลื่อนไหวชาวนา ระบุ

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อแกนนำเหล่านี้ ใช้ฐานเสียงสมาชิกผ่านเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้แทนองค์กรในกรรมการบริหารกอง ทุนฯ ได้ประโยชน์อะไรบ้าง

ดังนั้น มาดูข้อมูลการเงินงบประมาณ แรกทีเดียวรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเป็นทุนประเดิม 1,800 ล้านบาท และจัดสรรงบดำเนินการ 183.5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,983 ล้าน 5 แสนบาท

แต่ 3 ปีแรกใช้งบดำเนินการกว่า 50 ล้านบาท ส่วนใหญ่หมดจ้างงานด้วยค่าตอบแทนสูงเกินตำแหน่ง แต่ด้อยความสามารถ

จากรายงานของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เฉพาะค่าเบี้ยประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 7 คน ปีงบประมาณ 2544 (ตุลาคม 43 - กันยายน 44) รวมทั้งสิ้น1,261,955 บาท

เฉพาะ กรกฎาคม 2544 เดือนเดียวใช้ถึง 267,800 บาท ผู้เบิกสูงสุด 4 อันดับแรก อักษร “อ" เป็นเงิน318,653 บาท, 234,188 บาท, 227,280 บาท ตามลำดับ และอักษร “น” เป็นเงิน 155,108 บาท

ซึ่งทั้ง 4 คนเป็นผู้แทนเกษตรกรในชุดกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ รวมถึงกรรมการฯ ในขณะนั้น รวมค่าเบี้ยประชุมคณะทำงานที่เบิกจ่ายในช่วงเดียวกัน 17 คน เป็นเงิน 1,114,877.50 บาท

ก่อน นั้น ตุลาคม 2543 เบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุม 254,458 บาท มากสุดอักษร "ต" 149,649 บาท และอักษร"ฉ" 143,163 บาท ซึ่งทั้งสองคนก็เป็นผู้แทนเกษตรกรในชุดกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ

เงินเบี้ยประชุมจำนวนสูง น่าจะเป็นแรงจูงใจให้คนที่เคยได้และคนใหม่ที่อยากได้ กระหายช่วงชิงให้ชนะเลือกตั้งเข้ามา...เฉพาะเงินเดือนประจำกรรมการบริหารกอง ทุนฯ ก็ไม่น้อย ยกตัวอย่าง เลขาธิการกองทุนฯ เงินเดือน 1 แสนบาท 

6 ปีผ่านไป (2548) ถลุงงบประมาณไปร่วม 400 ล้านบาท แต่ดำเนินงานกลับขลุกขลัก ขัดแย้ง ล้มเหลวแทบสิ้นเชิง จึงไม่ผิด...องค์กรถูกมองมีปัญหาขาดธรรมาภิบาล

วีรพล โสภา ชาวนานักเคลื่อนไหวรุ่นเก่าอีกคนหนึ่งบอกว่า ตอนนั้น อโศก ประสานสอน กับ สไกร พิมพ์บึง เลขาธิการมูลนิธิเกษตรกรไทย ยังไม่แตกกัน เดิมตกลงกัน 10 องค์กรเพื่อลงไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร รวบรวมรายชื่อ 5 หมื่นชื่อ เพื่อใช้สิทธิเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ นัดฤกษ์ 24 มิ.ย.2541

"ผมเป็นเลขาธิการคณะกรรมการประสานงาน องค์กรภาคอีสาน หรือ คปอ. เป็นองค์กรกลางรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นเสนอกฎหมาย แต่ 1สัปดาห์จะถึงวันที่ 24 มิ.ย. นายอโศก กับสไกร ในนามมูลนิธิเกษตรกรฯ ไม่ยอมส่งรายชื่อ เท่านั้นยังไม่พอ ไปออกโทรทัศน์ช่อง 11 กับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ตอนนั้นรัฐมนตรีมหาดไทย อ้างว่าไม่มีความจำเป็นต้องยื่นเสนอกฎหมาย เพราะรัฐบาลได้ตั้งกองทุนหมู่บ้านช่วยแล้ว แต่เราก็สามารถรวบรวมรายชื่อได้ครบ และเข้ายื่นพร้อมร่างพ.ร.บ. ต่อรัฐบาล ฝ่ายค้าน และต่อสภา โดยประกาศว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง พรรคใดพรรคหนึ่ง ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่าใครจะเสียประโยชน์ ขอให้ทุกท่านทำเพื่อเกษตรกร"

วีรพล ย้อนเกร็ดให้ฟังด้วยว่า เนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ นำเรื่องนี้ไปปรับปรุงเพื่อให้เป็นร่างเสนอโดยรัฐบาล และช่วงนี้เอง อโศก ประสานสอน ถือหนังสือของ มท.1 มาแสดงตัวขอมีส่วนร่วมในกมธ. ก็ได้เป็น

กระทั่ง ผลักดันกฎหมายสำเร็จ แต่ถึงกระนั้น ฉบับแรกยังไม่สมบูรณ์ มีแต่ส่วนฟื้นฟูเกษตรกร ไม่มีส่วนแก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งทางวีรพล ได้ยืนยันก่อนหน้านั้นแล้วว่า จะต้องมีส่วนแก้ไขหนี้สิน แต่เถียงไม่ชนะประธานฯ จากนั้นจึงต้องชุมนุมกดดันให้อนุมัติเงินออกมาซื้อคืนหนี้เกษตรกรที่กำลัง ที่ดินจะหลุดมือ

ในที่สุด จึงนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2544 บรรจุเรื่องแก้ไขปัญหาหนี้สินในระบบ และนอกระบบสถาบันการเงินด้วย

ลิเกสลับฉาก- เลขาธิการ/รักษาการ วัดพลังกัน

เกิดการวัดพลังระหว่างองค์กรเกษตรกร เกิดการงัดกับฝ่ายการเมืองมาตลอด 10 ปี จนนำไปสู่การร้องคณะกรรมการกฤษฎีกา และฟ้องต่อศาลปกครองนัวเนีย

เช่น ในรัฐบาลขิงแก่(ชุดรักษาการ) ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รักษาการรองนายกฯ ประธานคกก.กองทุนฯ ซึ่งคกก.สรรหาเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ ลงคะแนนให้ “นคร”  กับ “จุฬารัตน์” เท่ากัน 17 ต่อ 17 

ไพบูลย์ ในฐานะประธานสรรหา จึงใช้สิทธิชี้ขาด เลือก “นคร” แทน “จุฬารัตน์” ซึ่งรักษาการเลขาธิการฯ เกือบ 2 ปีรวมตามสัญญาจ้างอีกเป็น 6 ปี

แต่เรื่องไม่จบ เพราะ ชรินทร์ ดวงดารา ทำเรื่องประท้วงการแต่งตั้ง นคร อ้างว่า บริหารไม่โปร่งใสตั้งแต่สมัยแรก

มาถึงรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทาง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานกองทุนฯ ก็ได้เลือก ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ขึ้นมารักษาการเลขาธิการกองทุนฯ

แต่เรื่องก็ไม่จบอีก เมื่อ 25 พ.ค.2552 ชรินทร์ นำการชุมนุมคัดค้าน สังศิต โดยไปร้องต่อศาลปกครอง ข้ออ้างคือ ยังเป็นพนักงานของรัฐ สังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จึงขัดกับระเบียบ

โครงสร้างองค์กรกองทุนฟื้นฟูฯ ตามกฎหมายวางไว้ 3 ส่วน

1.คกก.กองทุนฟื้นฟูฯ 41 คน  ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน, รมว.เกษตรและสหกรณ์ รองประธาน และข้าราชการระดับกำหนดนโยบายรวม 9 คน ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง ครม.แต่งตั้ง 11 คน ผู้แทนเกษตรกร 20 คน เลขาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ 1 คน

2.คกก.กองทุนฟื้นฟูฯ โดยบอร์ดใหญ่แต่งตั้ง 7 คนอยู่ในกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ 3 คน 2 ใน 3 ต้องเป็นผู้แทนเกษตรกร, ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 เลขาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ 

3.คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ 21 คน เป็นขรก.ประจำเสีย 5 คน รวมผจก.ธนาคาร ธกส. และผู้แทนสมาคมธนาคารไทย อีก 2 คน ผู้แทนเกษตรกร 9 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน กับ เลขาธิการกองทุนฯ และ ผอ.สน.จัดการหนี้ เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ 

3 ปีหลังใช้กฎหมาย เลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรทั่วประเทศ 20 คน 2 ครั้งวาระ 4 ปี (ล่าสุด จะเลือกตั้งใหม่ 13 ก.ย.52)

3 ปีแต่งตั้ง คกก.กองทุนฯ, แต่งตั้ง คกก.บริหารกองทุนฯ รวม 4 ชุด แต่งตั้งเลขาธิการฯ 7 คน
กฎหมาย ฉบับนี้มีอุปสรรคแต่เริ่มต้น และก็สะดุดมาตลอดทางด้วยปัญหาหลายอย่าง ส่วนหนึ่งจากฝ่ายการเมือง ส่วนสำคัญเกษตรกรแตกคอ ชิงการนำ หวังผลประโยชน์เฉพาะหน้า
ฝ่ายการเมือง ยุครัฐบาลชวน หลีกภัย 2 สมัย เคยตีวัวกระทบคราด ผลิตวาทกรรม เช่น หากินกับคนจน (เขื่อน)ราษีไศลบริโภค

มาถึงรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ก็ผลิตซ้ำ ตีองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ที่ร่วมเคลื่อนไหวกับเกษตรกรเป็น "นายหน้าค้าความจน" 

ว่าไปไม่อ้อมค้อม พฤติการณ์ดังว่าก็มีอยู่จริง ดังที่นักเคลื่อนไหวชาวนาด้วยกันตั้งข้อสังเกต ล่าสุด เป็นข่าวเมื่อ 25 พ.ค.2552 ตำรวจ สภ.ทุ่งเสลี่ยม สุโขทัย จับนายเสน่ห์ เขื่อนทา ข้อหาฉ้อโกงประชาชน โดยแสดงตัวเป็นหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรทำนา เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า ของอ.ทุ่งเสลี่ยม ที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูฯ

"นายเสน่ห์ได้หลอกลวงเอาเงินจากสมาชิกกลุ่มไปจำนวนหลายราย รวมทรัพย์สินที่เสียหายจากการนี้ประมาณ 577,700 บาท"

ก่อนนี้ เมื่อปลายกรกฎาคม 2551 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ.2552 สรุปความเห็น ข้อเสนอแนะ ต่อกองทุนฟื้นฟูฯ ว่า การเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร ใช้เงินเฉลี่ยปีละ 30 ล้านบาท แต่การดำเนินงานไม่ได้ตามคาดหวัง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อยู่บนความขัดแย้ง และควรยุบกองทุนแห่งนี้

รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเบื้องต้นไว้ว่า

"แม้หลักการดี แค่ไหน แต่ยังขาดมืออาชีพ อีกอย่างความคิดแบบชาวบ้านก็ไปกันไม่ได้กับมืออาชีพ กับผู้แทนเกษตรกรบางคนที่ไปขึ้นกับนักการเมือง ถูกชี้นำ ทำตัวเป็นหัวคะแนน หาเสียงให้แต่กลุ่มตัวเอง จึงทำให้แก้ปัญหาอะไรไม่ได้"

อาจารย์ณรงค์ กล่าวด้วยว่า "มองอาจารย์สังศิต คงบริหารลำบาก เพราะผู้แทนเกษตรกร องค์กรเกษตรกรใหญ่ๆ ไม่ต้องการสังศิต เพราะกลัวจะมาเปิดโปงอะไร ซึ่งมีมานาน"

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ *คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ได้ตีความว่า รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ขาดคุณสมบัติรักษาการเลขากองทุนฟื้นฟูฯ เพราะเป็นข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทเกษม ควบอยู่ด้วย

--------------------------

*กฤษฎีกาชี้สังศิต หมดสิทธิรักษาการเลขาฯ กองทุนฟื้นฟู

ข้อมูล ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2544 ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูฯ 38,723 องค์กร สมาชิก 4,381,028 คน


กฤษฎีกาชี้สังศิต หมดสิทธิรักษาการเลขาฯกองทุนฟื้นฟู

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
คกก.กฤษฎีกาคณะพิเศษ ชี้"สังศิต พิริยะรังสรรค์"ขาดคุณสมบัติรักษาการเลขากองทุนฟื้นฟูฯ เหตุควบขรก.ราชภัฏจันทเกษม แต่ไม่ต้องคืนเงินเดือนนับแสน

รายงานจาก คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ(คณะที่ 2 และ 7 ) ได้วินิจฉัยว่า รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ขาดคุณสมบัติ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) เนื่องจากเป็นข้าราชการสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (บันทึกเรื่องเสร็จ 5321/2552) แต่ไม่ต้องคืนเงินเดือนที่รับกว่า 130,000 บาท

กรณีดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำหนังสือหารือสรุปความได้ว่า ด้วยประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาเสนอความเห็น กรณีมีการร้องเรียนกล่าวหาว่า ดร.สังศิต เป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเข้าดำรงตำแหน่งผู้รักษาการใน ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามมาตรา 26 (4) แห่ง พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 ดังต่อไปนี้

1. ข้อเท็จจริง
   1.1. รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ 9 สังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามคำสั่งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ 8/2551 ลงวันที่ 24  กรกฎาคม2551

 1.2 รศ. ดร.สังศิต ได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุน ฟื้นฟูฯ เดือนละ 136,878  บาท ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯครั้งที่ 27/2551 เมื่อวันที่  13 สิงหาคม 2551

คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่ 7)  มีความเห็นดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง การที่ รศ.ดร.สังศิต ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมได้รับแต่งตั้งให้ดำรง ตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯหรือไม่

 เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 26(1)  แห่งพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ นั้น นอกจากจะได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไว้ เป็นการเฉพาะแล้ว ยังได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไว้เช่นเดียวกับกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนและผู้แทนเกษตรกรตามมาตรา 14 ด้วย

 ย่อมแสดงให้เห็นว่า กฎหมายมุ่งประสงค์จะให้ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมี คุณสมบัติและลักษณะเฉพาะอันเหมาะสมกับการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและ ลูกจ้างของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯละรับผิดชอบการบริหารกิจการของสำนักงานกอง ทุนฟื้นฟูฯให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการและคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯกำหนด 

อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯกำหนดเพียงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯโดยมิได้กำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลให้ ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรว่า จะต้องนำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามดังกล่าวมาใช้บังคับด้วยหรือไม่ จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไปว่า ผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารกิจการของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯเพียงใด

เมื่อกรณีที่หารือนี้ปรากฏข้อเท็จจริง ว่า คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ มีคำสั่งแต่งตั้งรศ. ดร.สังศิต โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ ที่กำหนดไว้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯทุกประการ ย่อมแสดงว่าคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯประสงค์จะให้รศ.ดร.สังศิต มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ในการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ

ดังนั้น ผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯจึงต้องมีคุณสมบัติและ ไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุน ฟื้นฟูฯ ทั้งนี้ ตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่ 7) ซึ่งได้เคยให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 792/2548  และเรื่องเสร็จที่ 499/2551

เมื่อ รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ยังคงมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดม ศึกษา สังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จึงมีลักษณะอันต้องห้ามมิให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกอง ทุนฟื้นฟูฯ

ประเด็นที่สอง เมื่อ รศ. ดร.สังศิต  จะสามารถรับเงินค่าตอบแทนในการเข้าดำรงตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯอีกทางหนึ่งได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า รศ. ดร.สังศิต   มีลักษณะอันต้องห้ามมิให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

ดังนั้น การดำรงตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการของ รศ. ดร.สังศิต จึงมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวตามมาตรา28  แห่งพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ และเป็นผลให้ รศ.ดร.สังศิต ไม่สามารถได้รับเงินค่าตอบแทนในการเข้าดำรงตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯได้ 

อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวมิได้ส่งผลกระทบต่อการใดที่ รศ.ดร.สังศิต ได้กระทำไปในฐานะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งมีลักษณะต้องห้ามอันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19  แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  ว่า บรรดาการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทาง ปกครองซึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วย กฎหมาย อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไป ตามอำนาจหน้าที่

ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ได้กำหนดให้ รศ.ดร.สังศิต ได้รับค่าตอบแทนในการดำรงตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกอง ทุนฟื้นฟูฯเป็นรายเดือน โดยที่ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดกำหนดห้ามมิให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดม ศึกษามีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนอื่น

ดังนั้น การที่ รศ. ดร.สังศิต ได้รับค่าตอบแทนจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ใน ฐานะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯย่อมไม่ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการรับไปโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย 

ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.สังศิต จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนในการเข้าดำรงตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯได้ โดยไม่จำต้องคืนเงินค่าตอบแทนที่เคยได้รับแก่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้รับเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ด้วยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ปัญหาข้อหารือของกระทรวงเกษตรฯป็นปัญหาข้อกฎหมายที่มีความสำคัญที่จะต้องมี การพิจารณาวินิจฉัยโดยรอบคอบ จึงจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2 ) และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7)ซึ่ง มีความเห็นเช่นเดียวกันคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 7ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯในการประชุม ครั้งที่ 5/2548 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2548 กำหนดให้การแต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับเลขาธิการ อันแสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯได้เคยกำหนดหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งผู้รักษาการใน ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯไว้แล้วว่า ต้องแต่งตั้งจากบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับ เลขาธิการ

เมื่อ รศ.ดร.สังศิต ยังคงมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา สังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมจึงมีลักษณะอันต้องห้ามมิให้เป็นผู้ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ

ประเด็นที่สอง รศ.ดร.สังศิต จะสามารถรับเงินค่าตอบแทนในการเข้าดำรงตำแหน่งผู้รักษาการใน ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯอีกทางหนึ่งได้หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 และคณะที่ 7) มีความเห็นเช่นเดียวกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่ 7)

view