สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค่าของจรรยาบรรณธุรกิจ (ตอนที่1) : ธุรกิจก้าวไกลใส่ใจธรรมาภิบาล

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ยุทธ วรฉัตรธาร ที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้านการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน:



ระยะ แรกที่คำว่า “บรรษัทภิบาล” หรือ “ธรรมาภิบาล” เริ่มเป็นที่คุ้นหู คนทั่วไปมักจะนึกถึงคำว่า “จรรยาบรรณ” ไปด้วย เพราะเข้าใจว่า การมีบรรษัทภิบาลที่ดีก็คือการทำอะไรก็ตามต้องมีจรรยาบรรณ ซึ่งมีความหมายเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าเป็นการทำอะไรที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ อีกที่มาหนึ่งที่คนทั่วไปคุ้นเคยกับคำว่า จรรยาบรรณ ก็คือบรรดาจรรยาบรรณของวิชาชีพต่างๆ เช่น วิชาชีพแพทย์ ทนายความ วิศวกร นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เป็นต้น คำว่า “จรรยาบรรณ” จึงมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพต่างๆ และต่อการสร้างบรรษัทภิบาลที่ดีเท่ากับว่าการประกอบธุรกิจก็ควรจะต้องมี จรรยาบรรณด้วย แล้ว “จรรยาบรรณธุรกิจ” ที่แท้จริงคืออะไร? เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง?  

ความหมายของจรรยาบรรณธุรกิจ

ตามความเข้าใจของผมโดยอิงตามพจนานุกรม คำว่า “จรรยา” หรือ “จริยา” หมายถึงความประพฤติหรือกิริยาที่ควรประพฤติปฏิบัติในหมู่คณะ ส่วนคำว่า “บรรณ” มีความหมายว่า หนังสือ ผมจึงเข้าใจว่า จรรยาบรรณ คือแนวประพฤติปฏิบัติที่ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ในพจนานุกรม คำว่า “จรรยาบรรณ” หมายถึง “ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างที่กำหนดขึ้นเพื่อ รักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้” ดังนั้น หากจะประยุกต์คำว่า “ประกอบอาชีพการงาน” เป็น “ประกอบธุรกิจ” จรรยาบรรณธุรกิจก็น่าจะมีความหมายว่าเป็นแนวประพฤติปฏิบัติ หรือประมวลความประพฤติที่จัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรได้

อีกคำหนึ่งที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือจริยธรรมทางธุรกิจ ซึ่งน่าจะมีความหมายว่า แนวประพฤติปฏิบัติทางธุรกิจที่มีคุณธรรมหรือมีคุณงามความดี โดยทั่วไปแล้ว แนวปฏิบัติในจรรยาบรรณเป็นแนวปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง (Doing The Right Thing) จึงไม่แปลกใจที่บางครั้งมีการใช้คำว่า “จริยธรรมทางธุรกิจ” เลยไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะภาษาอังกฤษมีการใช้ 2 คำ ซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่ามีความหมายเดียวกันคือ “Code of Conduct” หรือ “Code of Business Conduct” และ “Code of Ethic” หรือ “Code of Business Ethic” สรุปแล้วผมว่าทั้งหมดน่าจะมีความหมายเดียวกัน คงไม่มีบริษัทไหนเขียนแนวประพฤติปฏิบัติเยี่ยงโจรในจรรยาบรรณให้พนักงานยึด ถือใช้ปฏิบัติ ต่อไปนี้ผมจึงขออนุญาตใช้คำว่า “จรรยาบรรณธุรกิจ” กับเนื้อหาและเรื่องราวที่ผมจะนำเสนอต่อๆ ไป

มีอะไรในจรรยาบรรณธุรกิจ?

ในอดีตจรรยาบรรณของบริษัทส่วนใหญ่จะแฝงอยู่ในหมวด “วินัยของพนักงาน” ในระเบียบข้อบังคับการทำงาน น้อยบริษัทที่มีการจัดทำจรรยาบรรณเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นกิจจะลักษณะแยก ออกมาต่างหากจากระเบียบการพนักงาน เมื่อ 6-7 ปีก่อน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เกือบ 500 บริษัท มีเพียงประมาณ 20% ที่มีการจัดทำจรรยาบรรณเป็นกิจจะลักษณะ ปัจจุบันมีถึง 90%

โดยทั่วไปแล้ว หลักของเนื้อหาในจรรยาบรรณธุรกิจมี 2 แนวทางคือ แนวทางปฏิบัติของพนักงานต่อองค์กรหรือบริษัท และต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) และแนวปฏิบัติของบริษัทต่อพนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ขออนุญาตยกตัวอย่างเนื้อหาของจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทที่ถือว่ามีมาตรฐานดี มาก บริษัทหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 6 หมวด ดังนี้

1.พันธะต่อความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของจรรยาบรรณ ใครคือผู้ที่ต้องยึดถือปฏิบัติ ใครมีหน้าที่ควบคุมดูแลใคร ไม่ทราบ ไม่เข้าใจเนื้อหาในจรรยาบรรณ ควรติดต่อใครเพื่อให้ความกระจ่างและให้ความช่วยเหลือ ที่สำคัญมากในส่วนนี้คือ มีการตอกย้ำให้ทุกคนต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง

2.สุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม เน้นเป็นหน้าที่ของบริษัที่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ทำลายหรือ บั่นทอนสุขภาพของพนักงาน ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต มีมาตรการดูแลสุขภาพพนักงาน คำนึงความปลอดภัยของพนักงานทุกคนรวมถึงความปลอดภัยของบุคคลภายนอกที่มา ติดต่อธุรกิจการงานกับบริษัท นอกจากนี้ ทั้งพนักงานและบริษัทต้องไม่สร้างมลภาวะอันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและบุคคล ภายนอก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมมีความเห็นว่ามีธุรกิจอยู่ 2 ค่าย ค่ายหนึ่งพยายามทำธุรกิจให้มีกำไรมากๆ โดยดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานเท่าที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ใช้ความกดดันให้พนักงานผลิตผลงานโดยไม่สนใจสุขภาพจิตของพนักงาน อีกค่ายหนึ่งมีแนวคิดว่าสุขภาพที่ดีคือ ความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่และสร้างผลผลิตได้เต็มที่ จึงให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพพนักงาน เพราะเชื่อว่าได้ผลคุ้มค่ากว่า พนักงานมีขวัญกำลังใจดีกว่า ภาพลักษณ์บริษัทก็ดีกว่า ค่ายไหนดีกว่ากัน ช่วยตัดสินให้ด้วยครับ

3.พนักงาน หมวดนี้เป็นเรื่องการให้ความสำคัญต่อพนักงาน ไม่มีการกีดกัน แบ่งแยกเพศ สีผิว ศาสนา ทุกคนมีโอกาสเติบโตก้าวหน้าเท่าเทียมกันภายในกฎกติกาความก้าวหน้าตามผลงาน และความพร้อม ทั้งบริษัทและพนักงานต้องมีความเคารพซึ่งกันและกัน บริษัทต้องให้ความสำคัญต่อความเป็นส่วนตัวและความลับของพนักงาน ต้องดูแลให้สถานที่ทำงานให้ปราศจากภัยคุกคามใดๆ ต่อทั้งพนักงานและผู้ติดต่อธุรกิจการงานกับบริษัท เช่น ภัยคุกคามทางเพศ เป็นต้น

โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า

view