สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฮอตด็อกร้อนๆ จ้า

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :เรื่อว ปณิฏา สุวรรณปาล / ภาพ อฐิณป ลภณวุษ:


เปลี่ยนอารมณ์จากของกินไฮโซตามโรงแรมทั้งหลาย มาชิมของกินง่ายๆ หาได้ใกล้ๆ บ้านบ้างดีกว่า...
“ฮอตด็อก” ไม่ใช่สุนัขร้อนๆ (ฮาสักหน่อย) แต่เป็นไส้กรอก (ส่วนใหญ่จะใช้ชนิดแฟรงก์เฟิร์ตเตอร์ แฟรงก์ วีเนอร์ หรือวีนี) ที่ไม่ว่าจะรมควันหรือย่างให้สุก นำมาปรุงให้นุ่มลงด้วยซอสต่างๆ เพื่อเพิ่มหน้าตาให้สวยงามและเพิ่มความอร่อย

ส่วนใหญ่จะนิยมเสิร์ฟร้อนๆ ภายในขนมปังทรงยาวๆ อาจเสิร์ฟเฉพาะซอสเนื้อ ซอสเนื้อชนิดชีลี่ หรือใส่ส่วนผสมอื่นๆ เช่น มายองเนส ชีส ซอสมะเขือเทศ หัวหอมใหญ่หั่นเต๋า และอื่นๆ ตามสูตรฮอตด็อกของแต่ละที่ เช่นเดียวกับหลายแห่งที่นึกสนุก เปลี่ยนเอาไส้กรอกฉบับออริจินัลเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีในท้องถิ่น เช่น โบโลนยา หรือไส้กรอกบอกเวิร์ธขนาดบิ๊กเบิ้มของเยอรมัน รวมทั้งในประเทศมุสลิมก็มีการดัดแปลงใช้เนื้อฮาลาลที่ทำจากเนื้อวัว เนื้อไก่ หรือไก่งวง ขนาดฮอตด็อกเจก็ยังมีคนคิดขึ้นมาตอบสนองกลุ่มคนรับประทาน

ฮอตด็อกต่างจากไส้กรอกชนิดอื่นๆ ที่สามารถกินหรือขายให้แบบดิบๆ ได้ ทว่าสำหรับฮอตด็อกจะต้องกิน ต้องเสิร์ฟแบบร้อนๆ เท่านั้น

สำหรับที่มาของฮอตด็อกนั้นยากจะชี้เช่นเห็นชัดไปได้ว่า ใครกันแน่เป็นรายแรกที่คิดค้นเจ้าไส้กรอกจานร้อนนี้ขึ้นมา เพราะว่าต่างออกมาอ้างกันมากมายว่าข้าพเจ้านี่เองคือเจ้าของสูตรไส้กรอกใน ขนมปังตัวจริงเสียงจริง

หากลองพิจารณาดูชนิดของไส้กรอกที่มักจะเลือกใช้แฟรงก์เฟิร์ตเตอร์ (Frankfurter) ใส่ลงในขนมปัง นั่นก็อาจเป็นไปได้ว่าฮอตด็อกมีจุดเริ่ม ณ เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ขณะที่วีเนอร์ (Wieners) ก็หมายถึงกรุงเวียนนาของประเทศออสเตรีย ซึ่งในภาษาเยอรมันเรียกเมืองหลวงของประเทศนี้ว่า Wien แปลความว่า “บ้านแห่งไส้กรอก”

คนเวียนนาเรียกฮอตด็อกว่า วีเนอร์ หรือวีเนอร์ เวิร์สเชน (หมายถึงไส้กรอกเล็กๆ) ขณะที่คนสวิสฝั่งพูดภาษาเยอรมันเองก็เรียกฮอตด็อกว่า วีเนอร์ลี (Wienerli)

ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอตด็อกจึงลงมติว่า น่าจะเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งใน 2 เมืองนี้ (แฟรงก์เฟิร์ตและเวียนนา) แน่ๆ ที่เป็นต้นกำเนิดของฮอตด็อก โดยที่แฟรงก์เฟิร์ตอ้างว่าพวกเขานั้นผลิตไส้กรอกไซส์บิ๊กชนิดที่มีชื่อเดียว กับเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1480 โดยเป็นการคิดอาหารพิเศษขึ้นมาเพื่อฉลองในโอกาสที่พระเจ้ามักซิมิเลียนที่ 2 จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันทรงขึ้นครองราชย์ ขณะที่ฮอตด็อกเป็นหัวคิดของโยฮัน จอร์จ ลาห์เนอร์ พ่อค้าเนื้อจากเมืองโคบูร์ก แคว้นบาวาเรีย ในราวศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งมีบันทึกเอาไว้ว่า ได้คิดค้นเมนูทำจากไส้กรอกชื่อว่า “ดัชชุนด์” (dachshund) หรือ “ลิตเติลด็อก” ขึ้นมา

ว่ากันว่า ที่ฮอตด็อกต้องเสิร์ฟร้อนๆ ก็เพราะอากาศที่เยอรมนีและออสเตรียหนาวจัด ก็คนยังต้องสวมแจ็กเกตกันหนาว ไส้กรอกก็เลยต้องสวม (ขนมปัง) บ้าง แถมขนมปังยังให้ความอบอุ่นได้มากกว่าเสิร์ฟเพียงไส้กรอกอย่างเดียว

ฮอตด็อกข้ามมายังฝั่งอเมริกา ที่ถนนเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ที่เริ่มมีร้านขายฮอตด็อกตั้งแต่ปี 1880 โดยเจ้าของร้านเป็นหญิงสาวชาวเยอรมัน อันโตนอยเน ฟอยชต์วันเงอร์ ลูกค้าทุกๆ คนจะต้องสวมถุงมือสีขาวเวลากิน เพื่อที่ฮอตด็อกจะไม่ลวกมือ ขณะที่อันตัน ลุดวิก ฟอยชต์วันเงอร์ สามีของเธอซึ่งเป็นคนขายไส้กรอกจากบาวาเรีย ก็ได้มาเสิร์ฟไส้กรอกในขนมปังที่เรียกว่าฮอตด็อก ในงานแสดงสินค้าเวิลด์แฟร์ในชิคาโก ปี 1893 และที่ลุยเซียนา ปี 1904 – เล่ากันว่า มีลูกค้าจิ๊กถุงมือที่ใช้ในการกินฮอตด็อกไปเป็นที่ระลึกจำนวนมาก

หลังจากฮอตด็อกได้เดินทางเข้ามาในอเมริกาในปลายศตวรรษที่ 19 นั่นเอง ก็เริ่มเข้ามามีความผูกพันกับสนามเบสบอล และสวนสนุก โดยมีคริส ฟอน เดอร์ อะเฮ ผู้อพยพชาวเยอรมันเป็นผู้บุกเบิกวิธีคิด และก่อตั้งร้านเซนต์หลุยส์ บราวน์ของเขาขึ้นมา ก่อนที่แฮร์รี เอ็ม สตีเวนส์ ที่เป็นผู้จัดการแข่งขันกีฬาต่างๆ มาตั้งแต่ปี 1889 ก็เริ่มนำเอาฮอตด็อกมาเป็นหนึ่งในรายละเอียดของอีเวนต์ต่างๆ

ฮอตด็อกกลายเป็นเรื่องฮอตๆ ขึ้นมา ในปี 1916 เมื่ออดีตลูกจ้างของเฟลต์แมน ชื่อว่า เนธาน แฮนด์เวอร์เคอร์ นำเอาเซเลบริตีอย่าง เอดดี แคนเตอร์ และจิมมี ดูรันเต มาโปรโมตแบรนด์ฮอตด็อก เพื่อที่จะต่อสู้กับแบรนด์ของอดีตนายจ้าง พร้อมๆ ไปกับการหั่นราคาขายลงครึ่งหนึ่ง แถมยังดูแลภาพลักษณ์ สุขอนามัยในร้านอย่างที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน เช่น นอกจากจะมีถุงมือให้สวมใส่ตามธรรมเนียมนิยมในการเสิร์ฟฮอตด็อกแล้ว ยังมีการแจกผ้ากันเปื้อนให้ลูกค้าอีกด้วย

ไม่เพียงเฉพาะโยฮัน จอร์จ ลาห์เนอร์ ที่ตั้งชื่อไส้กรอกในขนมปังของเขาว่า ดัชชุนด์ ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในที่มาของคำว่า “ด็อก” ทว่าเมื่อสืบความไปในหลายแห่งของยุโรป อย่างเช่นที่อัมสเตอร์ดัม ในเนเธอร์แลนด์ เรียกไส้กรอกว่า “ด็อก” มาตั้งแต่ปี 1884 แล้ว เนื่องมาจากเคยมีความเข้าใจผิดว่าไส้กรอกทำมาจากเนื้อสุนัขตั้งแต่ปี 1845

ส่วนผสมที่มักจะหาได้ในไส้กรอก ประกอบด้วย เนื้อสัตว์ ไขมัน ถ้ามีการเติมรสชาติก็มักจะเพิ่มเกลือ พริก หรือกระเทียมลงไป ถ้ามีส่วนผสมอื่นๆ ด้วยมักจะเพิ่มเติมคำว่า Link เข้าไปเพื่อบ่งบอกว่าเริ่มจะมีการกลายพันธุ์ไปจากสูตรดั้งเดิมของไส้กรอก

ฮอตด็อกส่วนใหญ่จะใช้ไส้กรอกเนื้อหมูหรือเนื้อวัว แต่ถ้าราคาถูกลงมาหน่อยจะเป็นเนื้อไก่หรือไก่งวง คุณค่าทางอาหารของฮอตด็อกฉบับดั้งเดิมจะอุดมไปด้วยโซเดียม ไขมัน และไนเตรตสูง ปัจจุบันที่หลายคนหันมาใส่ใจสุขภาพจึงทำให้ฮอตด็อกเนื้อไก่ ไก่งวง และมังสวิรัติเป็นทางเลือกที่นอกจากราคาถูกกว่าแล้วยังดีต่อสุขภาพมากกว่า

ทั่วโลกมีการเสิร์ฟฮอตด็อกมากมายหลายรูปแบบ บ้างก็เสิร์ฟมาพร้อมมัสตาร์ด มะเขือเทศ ผักดอง โคลสลอว์ หอมซอย มายองเนส มะเขือเทศ เนย พริก ฯลฯ แต่ที่แน่ๆ คือต้องเสิร์ฟมาในขนมปัง จากผลสำรวจในอเมริกาปี 2005 มัสตาร์ดเป็นส่วนผสมยอดฮิตในฮอตด็อก ตามมาด้วยซอสเนื้อสับที่เรียกว่าชีลี่ และหัวหอมสับ ตามลำดับ โดยชาวใต้จะนิยมรสชาติจัดจ้าน ขณะที่ชาวมิดเวสต์จะเลิฟรสชาติของซอสมะเขือเทศมากกว่า

ชาวชิคาโกจะมีฮอตด็อกในสไตล์ตัวเอง นอกจากตัวไส้กรอกจะมีขั้นตอนพิเศษ คือ ต้องผ่านการอบไอน้ำหรือนำไปต้มแล้ว ยังต้องเลือกแบบเป็นเนื้อวัวล้วนๆ และเสิร์ฟพร้อม “บัน” หรือขนมปังที่มีเมล็ดป๊อปปี้ แต่งหน้าด้วยมัสตาร์ด หอมซอย ผักดอง ซอสรีลิช (ซอสปรุงรสสีเขียวใส) มะเขือเทศ พริกดอง แต่จะไม่มีการใส่ซอสมะเขือเทศเด็ดขาด หลายคนเรียกฮอตด็อกสไตล์ชิคาโกว่า เป็นฮอตด็อกลุยสวน เนื่องจากมีพืชผักสวนครัวมากมายหลายชนิดนั่นเอง

ฮอตด็อกริมทางชื่อดังในอเมริกามีมากมายหลายเจ้า ส่วนใหญ่จะเป็นเครือข่ายใหญ่ยักษ์มีร้านสาขามากมาย เช่น โซนิก ไดรฟ์-อิน (Sonic Drive-In) ด็อก เอ็น ซัดส์ (Dog n Suds) ฮาร์ดีส์ (Hardee’s) แดรี่ ควีน (Dairy Queen) เอ แอนด์ ดับเบิลยู (A&W) เนธานส์ เฟมัส (Nathan’s Famous) ฯลฯ

ในภัตตาคาร ฮอตด็อกมักจะอยู่ในเมนูสำหรับเด็ก เพราะว่าเมนูนี้ได้กลายเป็นเมนูง่ายๆ สำหรับเวลาไปชมกีฬาหรือเดินเล่นในสวนสนุก ไม่ก็เพื่อประทังหิวระหว่างการเดินทาง

จะว่าไป ได้ร้อนๆ สักชิ้นก็ดีนะ...

view