สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จริยธรรมธุรกิจ สอนกันได้ไหม สอนอย่างไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ดร.วรภัทร โตธนะเกษม

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด



ในยุคที่โลกกำลังมี ปัญหา เรื่องจริยธรรมของนักธุรกิจได้เสื่อมลงอย่างมากนั้น วงการการศึกษาก็เร่งขับเคลื่อนให้มีการสอนวิชาจริยธรรมธุรกิจอย่างกว้างขวาง เช่นกัน

ผมอยู่ในวงการการศึกษาวิชาบริหารธุรกิจมาเป็นเวลานาน และผมบอกได้เลยว่าการสอนวิชาจริยธรรมธุรกิจในประเทศไทยเรา สอนกันมาหลายสิบปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น หลังจากที่ต้มยำกุ้งได้หกราดลงบนพื้นผิวประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๔๐ ซึ่งทำให้เราพบว่านักธุรกิจไทยจำนวนมาก ช่างอ่อนด้อยจริยธรรมของวิชาชีพเสียเหลือเกิน จำเป็นต้องเร่งรัดสร้างธรรมาภิบาลกันยกใหญ่

ส่วนอเมริกา ก็เป็นต้นแบบของหลักสูตรการศึกษา MBA ของโลก และเขาเริ่มสอนวิชาจริยธรรมธุรกิจก่อนเราเสียอีก แต่วิกฤตการณ์การเงินของโลกครั้งนี้ ก็เริ่มจากอเมริกาและเป็นผลมาจากความละโมบของนักธุรกิจการเงินอเมริกัน

พูดง่ายๆ ก็คือวิชาจริยธรรมธุรกิจนั้นได้สอนกันมานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผล

ความจริงการจัดหลักสูตรวิชาจริยธรรมธุรกิจ นับว่าเป็นเรื่องที่ยากตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว คือการหาอาจารย์ผู้สอนที่น่าเชื่อถือ เพราะคนเรียนเขาก็ประเมินเหมือนกันว่า คนที่สอนวิชานี้นั้นมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะสอนเขาได้หรือเปล่า และคนธรรมดาทั่วไปอย่างท่านหรืออย่างผม ต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีกิเลส บกพร่อง และผิดพลาดในชีวิตไม่มากก็น้อย คนเรียนก็อาจจะไม่สนิทใจนักว่า คนที่ยืนอยู่หน้าห้อง นั้น เป็นคนที่ ดีพอ ที่จะสอนวิชานี้ หรือเปล่า

ถ้าเป็นพระสงฆ์องค์เจ้า ก็อาจจะพอฟังกันได้ แต่เมื่อต้องเป็นฆราวาส ก็หาลำบากเหมือนกัน ผมเองเคยสอนวิชานี้อยู่ครั้งหนึ่ง ก็ยังต้องบอกกับคนเรียนไว้ก่อนว่า ผมไม่ได้มีความพร้อมหรือดีงามเท่าใดหรอกนะ เอาเป็นว่าฟังสิ่งที่ผมพูดหรือวิเคราะห์ก็แล้วกัน เพราะสิ่งที่ผมทำอาจจะมีความบกพร่อง ในฐานะที่เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง

ความยากประการที่สองก็คือ คนเรียน  ก็มีอายุอานามใกล้สามสิบปีเข้าไปแล้ว  เป็นไม้แก่ที่อาจจะดัดยาก เช่นกัน การเรียนเพื่อสอบให้ได้คะแนนอาจจะทำได้ แต่เพื่อให้ได้ผลจริงๆ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แล้วเนื้อหาวิชานี้เขาสอนกันอย่างไร คำตอบก็คือส่วนใหญ่ ใช้วิธี กรณีศึกษา ซึ่งมักจะลำดับเรื่องราว ให้มีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมธุรกิจและผู้บริหารจะต้องตัดสินใจ ซึ่งก็ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดอย่างชัดเจน จะเลือกทางใดก็ได้แล้วแต่เหตุผล ความเชื่อ และภูมิหลัง ของคนที่ตัดสินใจ นั้นๆ

การอภิปรายถกเถียงในกรณีศึกษา ให้เหตุผลสนับสนุน และรับฟังเหตุผลของกันและกัน จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะให้คนเรียนได้มีโอกาสคิด และได้ฟังมุมมองที่แตกต่างของคนอื่นบ้าง โดยหวังว่าจะเป็นการพัฒนาทัศนคติ ความเชื่อ และจิตสำนึกที่ดี เผื่อว่าเมื่อถึงวันที่ตนเองอาจจะต้องตัดสินใจกับสถานการณ์ทำนองเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันในอนาคตจะได้มี “กรอบ” ความคิดที่ชัดเจน ว่าควรจะต้องพิจารณาปัจจัยอะไรบ้างก่อนตัดสินใจลงไป

จากประสบการณ์ของผมนั้น วิชาในลักษณะนี้มักจะเป็น วิชารอง ไม่ใช่ วิชาหลัก  ตอนที่ผมไปเรียนวิชากฎหมายภาคบัณฑิต ด้วยการซื้อตำรามาอ่านเองนั้น ผมจำได้ว่าวิชากฎหมายแต่ละวิชาก็มี ๓ หน่วยกิต ทั้งนั้น แต่วิชา “จริยธรรมวิชาชีพนักกฎหมาย” มีเพียง หน่วยกิตเดียวเท่านั้น แต่ก็ยังดีที่เป็นวิชาบังคับ

ผมอ่านหนังสือตำราเล่มนั้นด้วยความสนใจอย่างยิ่ง และท้ายเล่มได้อ่านภาคผนวก ซึ่งบรรจุสุนทรพจน์ของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ท่านได้กล่าวกับเนติบัณฑิตในโอกาสสำเร็จการศึกษา ซึ่งผมยังจำคำกล่าวของท่านได้จนถึงทุกวันนี้

ท่านบอกว่ามนุษย์เรานั้น ใครๆ ก็อยากมีบ้าน อยากมีรถยนต์ อยากให้ภรรยามีแหวนเพชร กันทั้งนั้น และเมื่อมองดูเพื่อนที่อยู่ในวิชาชีพอื่น เช่นนักธุรกิจ หลายคนเขาก็มีสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด แต่เราก็มีได้นะ เพียงแต่บ้านหลังเล็กหน่อย รถยนต์เก่าหน่อย แหวนเพชรเม็ดเล็กหน่อย และอาจจะมีช้ากว่าคนอื่น เช่นอาจจะมีครบตอนใกล้เกษียณอายุ แล้วเป็นต้น

ท่านบอกว่า สมัยที่ท่านออกไปเป็นผู้พิพากษาใหม่ในต่างจังหวัดนั้น มีคดีที่ต้องตัดสินเยอะมาก สำนวนคดีก็หนา และต้องอ่านกันดึกๆ ดื่นๆ บางครั้งเหน็ดเหนื่อย ง่วงนอน อ่อนล้า สติปัญญา ไม่ค่อยอยากจะรับรู้อะไรอีกแล้ว อยากจะรีบอ่าน รีบตัดสิน จะได้ไปนอนพักผ่อน แต่เมื่อฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า คำตัดสินของเรา มีผลอย่างมาก ต่อชีวิตของคู่คดี และต่อญาติพี่น้องของพวกเขา ก็เลยต้องลุกไปล้างหน้า ให้หายง่วง แล้วกลับมาตั้งสติอ่านสำนวนอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะพิพากษาอย่างยุติธรรม ผมคิดว่าที่ท่านกล่าวไว้นั่นแหละ คือตัวอย่างของจริยธรรมวิชาชีพที่แท้จริง

วกกลับมาที่ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ของเรา ซึ่งทุกวันนี้ ต่างเน้นย้ำ ว่าจะสร้างคนดี มีความรู้ คู่คุณธรรม กันทั้งนั้น ซึ่งนับว่าเป็นความมุ่งมั่นที่ดียิ่ง และก็คงจะได้ผลบ้าง แม้จะไม่สมบูรณ์นักก็ตาม

กว่ายี่สิบปีมาแล้ว ที่ผมเคยสอนวิชาจริยธรรมธุรกิจที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้กรณีศึกษา เป็นประเด็นอภิปราย ตอนใกล้จบ นักศึกษาคนหนึ่งถามผมว่า “อาจารย์มาสอนเรื่องนี้ ตอนพวกผมอายุเกือบจะสามสิบปีแล้ว จะได้ผลหรือครับ เรื่องอย่างนี้ ผมควรจะเรียนรู้ ตั้งแต่ยังเป็น เจ้าตัวน้อย อยู่ที่บ้านไม่ใช่หรือครับ”

ผมตอบว่าเขาพูดถูกต้องแล้ว เรื่องอย่างนี้ก็ต้องเริ่มต้นกันที่บ้านนั่นแหละ แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็คงไม่เสียหายอะไร ที่จะตอกย้ำกันในระดับปริญญาตรี หรือ โท เพื่อให้เกิดสติ และเตือนจิตสำนึกของตนเองอยู่เสมอ เพราะวันหนึ่งข้างหน้าพวกคุณหลายคนคงจะได้เป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของ องค์กร และจะต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ รวมทั้งต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีของพนักงานด้วย

อย่าลืมว่า ภาษาไทย กล่าวไว้ว่า “ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก” .....ส่วน ภาษาอังกฤษ ก็มีประโยคที่ไพเราะกินใจคล้ายๆ กัน ทีเดียว นั่นคือ “The fish rots from the head”  แปลว่า...... “ปลา เน่าจากหัว” ครับ

view