สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับฐานะบุคคลสำคัญของโลก

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย:


ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีทั้งคนรักและคนเกลียด ซึ่งท่านเคยปรารภกับหลายๆ คนว่า ถ้าจะเขียนถึงท่าน ขอให้เขียนถึงท่านแบบคนธรรมดา คือ มีผิดมีถูก มีชอบมีชัง และมีเด่นมีด้อย

โดย เฉพาะคนที่รักท่านก็อย่าสรรเสริญกันมากไปจนไม่ใช่คน สำหรับคนที่รักท่านนั้นให้ใช้สรรพนามถึงท่านแล้วแต่ฐานะที่ชื่นชอบ เช่น พ่อสำหรับคนที่ยกท่านเป็นพ่อครูทางศิลปะโขนละคร อาจารย์หรือท่านอาจารย์สำหรับลูกศิษย์ลูกหาและคนที่ชื่นชมผลงานของท่าน คุณชายหรืออาจารย์หม่อมสำหรับคนที่มองว่าท่านเป็นคนพิเศษ แต่อย่าเรียกว่าหม่อมเฉยๆ เพราะท่านไม่ได้เป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามของใคร

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวกับคนใกล้ชิดถึงฉายาที่ท่านได้รับจากวงการต่างๆ ว่า จำได้แรกสุดก็คือฉายาที่กลุ่มนักเรียนไทยในยุโรปตั้งให้ว่า “หนุ่มเท่” ด้วยความที่ท่านแต่งตัวดี พูดคุยสนุก มีเสน่ห์ เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนนักเรียนทั้งหลาย แต่ก็มีนักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งเรียกท่านว่า “หม่อมน้อง” เพราะเป็นน้องของท่านอาจารย์ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่มาเรียนอยู่ที่อังกฤษก่อนหน้านั้นและมีชื่อเสียงพอควร เพราะเรียนเก่งจนเป็นที่เลื่องลือ และชื่อหม่อมน้องนี้ก็ติดตัวท่านมาจนถึงเมืองไทย เพราะครั้งแรกที่ท่านเล่นการเมืองในปี 2489 หนังสือพิมพ์ก็ใช้ชื่อนี้เป็นฉายาประจำตัวท่าน แต่ท่านไม่ค่อยชอบฉายานี้เลย เพราะดูเหมือนถูกควบคุมด้วยหม่อมพี่อยู่ตลอดเวลา

จากนั้นตลอดชีวิตของท่านก็เต็มไปด้วยฉายาต่างๆ นานา จากทั้งคนที่รักและชังดังกล่าว ซึ่งก็สะท้อนความจริงที่ว่า บุคคลคนนั้นต้องมีเรื่องราวให้ผู้คนกล่าวถึงอย่างมากมาย ที่ตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองใช้คำว่า “หลากรส” ที่ได้สร้างสีสันไม่ใช่เฉพาะที่เกิดกับตัวท่านเอง แต่รวมถึงที่เกิดกับคนอื่นๆ และสังคมในส่วนต่างๆ นั้นด้วย นั่นก็คือชีวิตของท่าน ไม่ได้ส่งผลต่อตัวท่านให้เป็นที่จดจำของคนทั้งหลายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนอื่นๆ และสร้างประวัติศาสตร์ให้เป็นที่จดจำของคนทั้งหลายนั้นด้วย

การที่ชีวิตของท่านอาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีความโดดเด่น และผลงานของท่านสร้างคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองอยู่มาก ในโอกาสที่ท่านจะมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2554 รัฐบาลไทยจึงเสนอชื่อท่านไปยังองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เพื่อให้ประกาศเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ซึ่งก็มีข่าวดีสำหรับคนที่รักท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า บัดนี้ยูเนสโกเห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาลไทย และพิจารณาให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลก เพื่อให้คนไทยและประเทศสมาชิกของยูเนสโกได้ตระหนักรับรู้ รวมทั้งจะได้มีการเฉลิมฉลองกันตามสมควรต่อไป

เรื่องนี้สาระที่ว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สำคัญอย่างไร ก็เป็นประเด็นที่สำคัญส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าหรือสำคัญที่สุดก็คือ จุดมุ่งหมายในกิจกรรมนี้ดำเนินการโดยยูเนสโก ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์หรือใครๆ จะได้รับเกียรติยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ก็ไม่มีความสำคัญเท่ากับจิตปรารถนาหรืออุดมการณ์ของยูเนสโก ที่ประสงค์จะให้การชื่นชมบุคคลสำคัญของชาติต่างๆ เป็นพลังในการสร้างสันติสุขและความเจริญก้าวหน้าให้แก่มนุษยชาติ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดขององค์การสหประชาชาติที่เป็นร่มใหญ่ของยูเนสโก และเป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในระบบนานาชาติ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสถาปนาสันติภาพและความรุ่งเรืองให้แก่โลกมาตั้งแต่หลัง สงครามโลกครั้งที่ 2

ขออธิบายถึงวิธีการทำงานของยูเนสโกในกระบวนการสรรหาบุคคลดีเด่นของ โลก ให้เห็นถึงความพิถีพิถันและความเอาจริงเอาจังในการคัดสรร อันสะท้อนถึงจุดมุ่งหมายข้างต้นว่า จะต้องได้บุคคลที่คนทั่วโลกยอมรับคือ ให้เกียรติยกย่องได้จริงๆ หรือหากจะมีความเห็นแย้งก็ต้องมีให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะความเห็นแย้งที่จะเกิดขึ้นในประเทศของผู้ที่ส่งชื่อบุคคลสำคัญมา ร่วมการคัดสรร คือกระบวนการต้องเป็นไปอย่าง “สันติ” ในทุกขั้นตอน อันหมายถึงการยอมรับร่วมกันตั้งแต่ระดับประเทศมาจนถึงระดับโลก ทั้งนี้ด้วยกระบวนการเช่นนี้ก็จะนำความชื่นชมมาสู่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความชื่นชมหรือพลังของการให้เกียรติแก่กันและกัน ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่ความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์หรือที่เรียกว่า สันติภาพนั้นได้

กิจกรรมในการคัดสรรบุคคลสำคัญของโลก โดยยูเนสโกเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2499 เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักขององค์กรนานาชาติแห่งนี้ กิจกรรมอื่นๆ ก็คือ การส่งเสริมให้มีการศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้ และเผยแพร่เกี่ยวกับการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม หรือที่โด่งดังมากก็คือ การพิจารณาคัดเลือกสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกไว้เป็น “มรดกโลก” ส่วนกิจกรรมคัดสรรบุคคลสำคัญของโลกนี้เดิมทีมีขึ้นเพื่อร่วมฉลองโอกาสอัน สำคัญๆ ของประเทศต่างๆ ที่มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Celebrating แต่เนื่องจากในเหตุการณ์สำคัญๆ นั้นมักจะมีตัวบุคคลเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ในที่สุดก็มีการผสมผสานวาระที่บุคคลเหล่านั้นมีชีวิตผ่านพ้นเป็นช่วงๆ เป็นต้นว่า วาระการเกิดบุคคลดังกล่าวเข้าด้วยกันกับการเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญทาง ประวัติศาสตร์ของประชาชาตินั้นๆ กลายเป็นการเชิดชูผลงานและเกียรติยศของบุคคลดังกล่าวร่วมด้วย

เกณฑ์และวิธีการของการคัดสรรมีบัญญัติไว้อย่างละเอียดในข้อบัญญัติ ที่รับรองโดยที่ประชุมใหญ่ของยูเนสโก โดยเริ่มจากประเทศและองค์กรสมาชิก (ปัจจุบันมีจำนวน 193 ประเทศและองค์กร) ต้องไปดำเนินการคัดสรรบุคคลสำคัญที่มีองค์ประกอบ 7 ประการคือ

1.มีชื่อเสียงและผลงานอย่างโดดเด่นทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และการสื่อสาร (ด้านใดด้านหนึ่งหรือมากกว่าก็ได้)

2.ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกิดขึ้นหรือการสถาปนารัฐ รวมทั้งการประกาศเอกราชหรือเปลี่ยนระบอบการปกครอง ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการทหารหรือสงคราม จึงไม่อยู่ในข่ายของการพิจารณา

3.มีผลงานและชื่อเสียงระดับโลก หรืออย่างน้อยในระดับภูมิภาค ที่สะท้อนอุดมคติ คุณค่า และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่เป็นแนวคิดอันเป็นสากลของยูเนสโก

4.เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี 100 ปี หรือจำนวนทวีคูณของวาระดังกล่าว แต่อาจจะยืดหยุ่นได้ถ้ามีเหตุผล (ความสำคัญของบุคคลและเหตุการณ์) เพียงพอ

5.วาระการเฉลิมฉลองต้องเป็นงานระดับชาติ หรือเป็นที่สนใจและมีผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง

6.ถ้าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ของหลายชาติ (ประเทศ) ก็ต้องได้รับการยอมรับจากผู้คนในทุกชาตินั้นด้วย

7.ไม่พิจารณาประเด็นผลงานและชื่อเสียงที่ยังเป็นข้อโต้แย้งหรือขาด หลักฐานอ้างอิง เช่น คำบอกเล่า หรือข้อสันนิษฐานต่างๆ รวมทั้งเรื่องที่ไม่อยู่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์

และที่ขอไปซึ่งจะมีการพิจารณารับรองคือ (2553) นายเอื้อ สุนทรสนาน และ (2554) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ในอดีตการดำเนินการเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เมื่อมีการตั้งกระทรวงใหม่ๆ ขึ้นในปี 2545 ปัจจุบันงานนี้จึงมาอยู่ในความดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งและเอาใจใส่ด้วยดี เริ่มจากการค้นหาตัวบุคคลในช่วงเวลาต่างๆ อย่างในกรณีของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 เพราะการส่งรายชื่อให้คณะกรรมการบริหารของยูเนสโกคัดเลือกนั้น ต้องส่งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยที่กระทรวงวัฒนธรรมต้องจัดเตรียมข้อมูลเป็นอย่างดี เรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษที่สละสลวย ทั้งนี้กระทรวงได้มีการประชุมในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ผ่านการกลั่นกรองของคณะทำงานเฉพาะเรื่องนี้ของยูเนสโกเสียก่อน ซึ่งก็ทราบผลในเบื้องต้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่จำเป็นจะต้องรอการรับรองของคณะกรรมการบริหารยูเนสโกชุดใหม่ ที่เพิ่งจะมีการเลือกตั้งกันไปเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2552 ซึ่งทราบว่าจะมีการประชุมกันในวันที่ 22 ต.ค.นี้ (คณะกรรมการบริหารยูเนสโกประกอบด้วยผู้แทนของแต่ละประเทศจำนวน 58 คน ที่เลือกจากประเทศสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ ซึ่งจะประชุมกันทุกๆ 2 ปี ส่วนคณะกรรมการบริหารจะมีการประชุมเพียงปีละ 2 ครั้ง)

ในเอกสารแบบฟอร์มที่กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำและเสนอไป ได้เสนอผลงานของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ใน 4 ด้านด้วยกัน คือ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และการสื่อสาร ปรากฏว่าได้ผ่านการพิจารณาทุกด้าน ซึ่งจากข้อมูลวงในทราบว่าเป็นครั้งแรกและคนเดียวของโลกที่ได้รับการพิจารณา ถึง 4 ด้าน และผ่านการพิจารณามาในลำดับต้นๆ จากจำนวนของชื่อบุคคลที่เสนอมาในรอบนี้ 91 ชื่อ และผ่านการพิจารณาเพียง 54 ชื่อ

ที่จริงอยากจะนำเอกสารการขอรับการพิจารณาให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่จัดทำโดยกระทรวงวัฒนธรรมมาแปลให้ทุกท่านได้อ่าน แต่ก็มีข้อขัดข้องอยู่ 2 เรื่องคือ 1.มีรายละเอียดและความยาวค่อนข้างมาก และ 2.ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ห้ามไว้สำหรับคนที่รักในตัวท่าน ว่าอย่าสรรเสริญกันจนเกินเหตุ แน่นอนว่าสำหรับคนที่เกลียดท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็คงคิดว่างานนี้ต้องมีการใส่สีใส่ไข่เยินยอกันจนเกินความจริง แต่สำหรับคนที่รักท่านก็อาจจะมองว่าเท่าที่ได้รับการยกย่องเพียง 4 ด้านนี้ยังไม่เพียงพอ

คนไทยจะแตกแยกแตกคอกันในเรื่องนี้อย่างไรก็ตามที แต่ถ้าพิจารณาจากความพิถีพิถันของยูเนสโกที่เป็นหน่วยงานของนานาชาติ มีสมาชิกคือประเทศต่างๆ ทั่วโลก ใช้เวลาพิจารณาถึง 3 ปี ผ่านขั้นตอนมากมาย และที่สำคัญบุคคลที่ได้รับเกียรตินี้ ทุกประเทศต้องร่วมรับรู้และยกย่องให้เกียรติด้วย อันถือเป็นน้ำจิตน้ำใจที่สูงสุดของมวลมนุษยชาติ

ใครก็ตามถ้ายังชังท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่ในเรื่องใด ซึ่งส่วนใหญ่คงเป็นเรื่องส่วนตัว ก็ขอให้ละวางความรู้สึกนั้นเสียสักครู่ แล้วมองเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องส่วนรวมที่คนไทยคนหนึ่งได้รับเกียรติที่สูง สุดของโลก ซึ่งคนทั่วโลกยังชื่นชม และสิ่งที่คนไทยไม่ควรลืมก็คือ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลคนหนึ่งที่มีคุณูปการอย่างมากมายกับคนไทยและ ประเทศไทย ยังจำได้ว่าในครั้งที่ ขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ใหญ่ของเครือมติชน ขนานนามท่านว่า “เสาหลักประชาธิปไตยไทย” เมื่อมีคนไปถาม ท่านหัวเราะหึๆ แล้วว่า “เสาพ่อเสาแม่งเหรอ” แต่ในไม่ช้านี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็จะเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวของโลกในขณะ นี้ ที่องค์การยูเนสโกยกย่องเชิดชูให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในฐานะปราชญ์ถึง 4 สาขา คือ ด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และการสื่อสาร อันเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง

view