สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การรถไฟฯ หายนะ เพราะใคร? การเมือง- สหภาพ- ผู้บริหาร หรือ ถูกทุกข้อ ?

100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว ผ่าอาณาจักรการรถไฟฯ แบกหนี้บักโกรก 5 หมื่นล้าน อุ้มพนักงาน 27,000 คน นักการเมืองเลว หรือ เน่าจากภายใน สหภาพการรถไฟฯแข็งโป๊ก หยุดเดินรถไฟ ลงโทษประชาชน เป็นว่าเล่น อะไรคือรากปัญหาที่แท้จริง " ประชาชาติออนไลน์" ตามไปเจาะมาให้อ่าน ( คลิกดู ... คลิปวีดีโอ. เวอร์ชั่นพิเศษ )

ภาพฝังใจของคนไทย   ที่มีการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.    ชั่วโมงนี้ ไม่ค่อยดีนัก
2 ปีที่แล้ว  สหภาพการรถไฟฯ เข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมือง กับพวกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  หยุดเดินรถไฟทั่วประเทศ


ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความพยายามปฎิรูปการรถไฟฯ  เพื่อล้างหนี้ 50,000 ล้าน  แต่ถูกคัดค้านอย่างหนัก  ถึงขั้นหยุดเดินรถไฟ เพื่อประท้วงแผนปฎิรูปการรถไฟฯ
  

สหภาพการรถไฟฯ อ้างว่า เป็นการขายสมบัติของชาติให้เอกชน
  

ทุกวันนี้  การรถไฟฯ แบกหนี้ 5-6 หมื่นล้าน มีพนักงานมากกว่า 27,000 คน  กล่าวกันว่า พนักงานขับรถไฟฯ อาวุโส รับค่าตอบแทนมากกว่า เดือนละ 60,000 บาท
  5 ตุลาคม พนักงานขับรถไฟ หลับใน รถไฟตกรางที่สถานีรถไฟ เขาเต่า หัวหิน   คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก 
   สหภาพการรถไฟฯ อ้างสาเหตุ รถไฟไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์  แล้ว ปัญหาที่สะสมมายาวนานก็ระเบิดออกมา
  

ล่าสุด  สหภาพการรถไฟฯ หยุดเดินรถไฟภาคใต้  70-80 ขบวน   5 วัน  เกิดความเสียหายวันละ 25 ล้านบาท  และขู่ว่าจะปิดหัวลำโพง
  

ในประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มกิจการรถไฟ หลังประเทศไทยด้วยซ้ำ
    วันนี้ ชินกันเซ็น  วิ่งเร็วเป็นจรวด แต่ รถไฟไทยมีสภาพสมบูรณ์  วิ่งบนรางได้ แค่ 140-150 คัน แถมยังวิ่งตกรางอยู่บ่อยๆ  มิหนำซ้ำ ยังไล่ผู้โดยสารลงรถเป็นว่าเล่น
   เบื้องหลัง ความสำเร็จของ ญี่ปุ่น คือ  การตัดกิจการการรถไฟฯให้บริษัท เอกชน รับไปดำเนินการ
   แต่บ้านเรา คำนี้ แสลงหู สหภาพการรถไฟฯ ถึงขั้น จับชาวบ้านเป็นตัวประกัน ?
   พวกเขาและพวกพ้อง พูดได้น่าฟังว่า  ประชาชน ควรเสียสละเพื่อองค์กรรถไฟฯ   (บ้าง)
   ประชาชาติ ออนไลน์  ตามไปค้นหาความจริงว่า หายนะของการรถไฟฯ มาจากน้ำมือของนักการเมือง หรือ สหภาพการรถไฟฯ หรือ ผู้บริหารที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ
   หรือ ถูกทุกข้อ ?
 


 .... นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มกิจการรถไฟมาตั้งแต่ พ.ศ.2439 ปัจจุบันการรถไฟฯยืนตระหง่านรับใช้คนไทยมาแล้วถึง 113 ปี     วันนี้    "การรถไฟแห่งประเทศไทย"   กลายเป็น ม้าเหล็ก  ที่มีอาการป่วยอย่างสาหัส   ขาที่เคยยืนอย่างตระหง่านมา 113 ปี กำลังเป็น ขาที่พิการ    นายช่างใหญ่จากโรงงานมักกะสัน ฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย   เปิดใจว่า ปัญหาของการรถไฟฯคือ การที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงใจที่จะพัฒนาระบบการ จัดการให้ดีขึ้น   ประชาชาติออนไลน์  บุกเข้าไป สำรวจ   ภายในอาณาบริเวณกว่า 435 ไร่ ของโรงงานมักกะสัน ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2453 พื้นที่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ได้ถูกจัดให้เป็นอาคารโรงงาน และบริเวณต่อเนื่องของคลังพัสดุอะไหล่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือใช้ จะเป็นย่านสับเปลี่ยนรถ เก็บรถจักร รถพ่วง ที่รอการซ่อม และรอตัดบัญชีเลิกการใช้ ซากหัวรถจักรหลายหัวที่ถูกพิจารณาแล้วว่าต้องซ่อมหนักนอนนิ่งสงบในอู่ ปะปนไปด้วยคราบและกลิ่นคละคลุ้งของน้ำมันตามรายทางเดิน รางระยะสั้นๆ ที่ทอดผ่านกองเหล็ก กองเครื่องยนต์ กับหลังคาโปร่งซึ่งน้ำรั่วในวันที่ฝนตกหนัก ดูช่างจะแร้นแค้นเหลือเกินกับ "คนรถไฟ"


  "รัฐบาลที่ผ่านมาทุกสมัยไม่สนับสนุนการรถไฟฯ ทั้งๆ ที่เรามีรถจักรดีเซลเป็นประเทศแรกในเอเชีย แต่กลับไม่ให้ความสำคัญ โดยละทิ้งระบบราง ทำให้ทุกวันนี้รถไฟต้องหากินเอง จะทำรางก็ต้องเอาเงินรถไฟ ไม่เหมือนกับรถบัสรถทัวร์ที่รัฐบาลทำถนนให้ เพียงแค่เอารถมาวิ่งบนถนนเท่านั้น"   นายช่างใหญ่ กล่าวอีกว่า เรื่องทรัพยากรบุคคลก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา เนื่องจากพนักงานที่เกษียณอายุออกไปไม่มีการรับคนใหม่เข้ามา ทำให้งานกับคนไม่สอดคล้องกัน ลูกจ้างที่รับเข้ามาก็ไม่มีความรู้ในวิชาชีพเฉพาะ จึงไม่สามารถสร้างคนใหม่เพื่อมาทดแทนคนเก่าที่เกษียณออกไปได้   "เราอยู่ตรงนี้มาเกือบ 100  ปีแล้ว เวียดนาม พม่า ก็ยังต้องมาดูงานบ้านเรา ในฐานะที่เราเป็นผู้บุกเบิกคนแรกในเอเชีย มีอยู่ครั้งหนึ่งการรถไฟเวียดนามมาดูงานเสร็จ เขาพูดกับผมว่า เขาจะแซงหน้าเราในอีก 10 ปีข้างหน้า ผมยัวะมาก ผมเพิ่งพาคุณไปดูแล้วคุณมาพูดอย่างนี้ต่อหน้าผมได้อย่างไร แต่วันนี้เขาทำได้แล้ว พนักงานการรถไฟเวียดนามเข้าแถวตอนเช้าตรู่ ตะโกนปฏิญาณตนก่อนทำหน้าที่ ยกมือ เป็นระเบียบ คือเขาสร้างคนให้มีจิตสำนึกต่องานได้แล้ว แต่เรา...ไม่ใช่เลย"   นายช่างใหญ่ซึ่งคร่ำหวอดอยู่กับการทำงานในการรถไฟฯมาแล้ว 36 ปี ให้ความเห็นเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่า หากบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินกิจการสามารถทำได้จริง จะเป็นเรื่องที่ดี "หากแปรรูปแล้วทำได้จริงไม่ว่าเลย ให้รัฐบาลคิดว่าจะแปรรูปต้องไปทำการบ้านเรื่องการตลาด ไปสำรวจตลาดก่อน พ่อค้าข้างนอกสามารถสนับสนุนได้จริงหรือเปล่า ถ้าได้จริงก็โอเค หรือจะพบกันครึ่งทางระหว่างการรถไฟฯกับรัฐบาล คือ รัฐบาลต้องสร้างระบบรางให้เรา ส่วนเรื่องบริการเราจะดูแลเอง จะหารถมาวิ่ง ส้วมอย่าเหม็น ตรงต่อเวลา"  


นอกจากนี้ ระบบแบบราชการยังทำให้การบริหารงานของการรถไฟฯ เป็นไปอย่างลำบาก เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ใช้เวลานาน โดยเฉพาะการประกาศหาผู้ประมูลเพื่อซ่อมหรือติดตั้งระบบ "ทุกครั้งมักจะมองว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องโกงก่อน เลยไปสร้างระเบียบมา แล้วระเบียบนั้นล่าช้ามาก เอาง่ายๆ ว่าอย่างแจกซองประมูลอีกกี่วันถึงจะเปิด อะไหล่หรือระบบบางอย่างก็มีคนขายในตลาดแค่รายเดียว เราจะทำเรื่องซื้อโดยตรงก็ไม่ได้ ต้องเสียเวลามากมายไปตามขั้นตอน สุดท้ายพอประมูลมา (มัน) ก็เป็น (???) รายนั้น (แหละ) จริงๆ แล้ว น่าจะมีการตั้งสำนักงานจัดซื้อจัดจ้างขึ้นมาโดยเฉพาะ รถไฟจะได้ไม่ต้องมาทำเรื่องตรงนี้ เพราะผมก็ไม่อยากจะเข้าไปยุ่งเลย งานก็ไม่ได้ นายก็เร่ง"   นายช่างใหญ่   วิเคราะห์จุดเปลี่ยนที่ทำให้ การรถไฟฯทรุดลง เกิดขึ้นจากปัญหาการเมือง เนื่องจากประเทศไทยเคยวางแผนที่จะเป็นผู้ผลิตรถไฟเพื่อใช้เอง และอาจพัฒนาเป็นผู้ผลิตรถไฟส่งออกได้ "


รัฐบาลไม่มีโนว์ฮาว เราเคยคิดที่จะสร้างรถไฟขึ้นเอง เป็นรถไฟดีเซลราง หลายสิบปีที่เราเป็น ผู้สร้างเพราะเรามีศักยภาพที่จะประกอบได้เองแล้ว ผมพูดเลยว่า นายมนตรี พงษ์พานิช เป็นคนที่ทำให้นโยบายนี้ตกไป จนวันนี้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ซ่อมรถไฟอย่างเดียว แทนที่จะเป็น ผู้ผลิต"   จากจุดเปลี่ยนจุดนี้ การรับบทเป็นผู้ซ่อมรถไฟ จึงทำให้วันนี้ประเทศไทยมีรถไฟเก่าที่สุด ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2507 วิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่ ทั้งๆ ที่รถเก่าต้องเลิกใช้ โดยประเทศไทยรถจักรมีอยู่ 400 คัน หากต้องนำเข้าหัวรถจักรจากต่างประเทศ หัวรถจักร 1 คัน ราคาอยู่ที่ 90-100 ล้านบาท ส่วนตัวเครื่องยนต์ ราคา 35 ล้านบาท   หัวรถจักรแต่ละคันวิ่งไป 24,000 ชั่วโมง จะต้องเข้าตรวจเช็กสภาพครั้งใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคันจะมีอายุใช้งานนาน 50 ปีเท่านั้น หัวรถจักรที่ใหม่ที่สุดของเราอายุ 12 ปี "อย่างหัวรถจักร ดาเวนพอร์ต ก็ใช้มาแล้ว 48 ปี หัวรถจักร GEA, GE (K), ฮิตาชิ, อันสตอร์ม ฯลฯ บางรุ่นอะไหล่เขาเลิกผลิตแล้ว แต่เรายังวิ่งอยู่" นายช่างใหญ่กล่าว   "เรื่องระบบรางบ้านเราก็เป็นปัญหา เพราะรางแบบมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก มีความกว้างอยู่ที่ 1.43 เมตร แต่บ้านเรา 1.00 เมตร


ดังนั้น รถไฟที่นำเข้ามาก็ใช้ไม่ได้ เพราะแคร่ (ช่วงความกว้างของล้อ) ใช้กับรางที่บ้านเราไม่ได้ ก็หมายความว่าต้องสั่งทำเพื่อให้ตรงสเป็ก แล้วประเทศที่เขาผลิตก็ไม่เฉพาะเจาะจงที่จะผลิตมาเพื่อประเทศเราประเทศ เดียว" "หากจะรื้อรางเก่าเพื่อวางรางที่มีความกว้างเท่ากับสากล ก็มีปัญหาอยู่ที่รถไฟวิ่งตลอด ขนาดว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงที่ทันสมัยที่สุด รางก็ยังกว้าง 1 เมตรเหมือนเดิม"  


ทั้งนี้ นายช่างใหญ่  ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการขนส่งทางรถไฟ เพราะเป็นการขนส่งที่จะสามารถช่วยประหยัดการใช้เชื้อเพลิง พลังงาน "รถไฟใช้เครื่องยนต์เดียว 1,500 แรงม้า หรือไม่ก็ 2,400 แรงม้า สามารถลากตู้ขบวนได้หลายสิบตู้ ประหยัดน้ำมันกว่า น่าจะคิดเรื่องโลจิสติกส์ (logistics) ตรงนี้ด้วย" นายช่างเลือดรถไฟกล่าว   ทุกวันนี้ หัวรถจักรที่ใช้งานมานานมีสภาพไม่ต่างจากคนแก่ ป่วยทีซ่อมที แค่ประคองให้พ้นผ่าน เพราะอย่างน้อยต้องมีรถไฟวิ่งบนรางในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 140-150 หัวรถจักร แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โลกหมุนเร็วขึ้น ทำให้คนใช้บริการรถไฟน้อยลง หันไปเดินทางด้วยวิธีอื่น เพราะแม้จะขึ้นชื่อว่าปลอดภัยไร้กังวล แต่ปัญหาภายในหลายอย่างทับถมให้การบริการถดถอย   น้อยคนนักจะรู้ว่าค่ารถไฟจากสถานีดอนเมืองไปหัวลำโพงวันนี้ ราคา 5 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่เก็บเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ไม่มีเปลี่ยนแปลง  


ซากปรักหักพังของกองเหล็ก กลายเป็นอนุสาวรีย์ของอดีตแห่งความภาคภูมิใจ สะท้อนความจริงที่ว่า หากวันนั้นเราเปลี่ยนไปเป็นผู้สร้าง ผู้ผลิต อาณาจักรแห่งนี้อาจรุ่งเรืองกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 


เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยเริ่มมีรถไฟดีเซลเป็นประเทศแรกในเอเชีย ก่อนประเทศญี่ปุ่นเสียอีก แต่วันนี้ประเทศญี่ปุ่นใช้รถไฟความเร็วสูง ชินกันเซ็น แต่รถไฟไทยกำลังเข้าสู่เวลาพระอาทิตย์ใกล้ตกดินในยามสนธยา   ใครบางคน เคยพูดว่า คนไทยมีนิสัยเสีย 4 อย่าง คือ ขี้เกียจ  ขี้โอ่   ขี้อิจฉา และขี้โกง  เชื่อหรือไม่ว่า ในอาณาจักรแห่งนี้ในรอบร้อยปี    มีครบทุกอย่าง !!!!

view