สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บวรศักดิ์ชี้ไทยขัดแย้ง สถาบันหลักสั่นคลอน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"บวรศักดิ์"เผย ความขัดแย้งการเมืองได้สร้างความเสียหายการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งยังลดความน่าเชื่อถือกับสถาบันหลักที่ไม่เคยมีมาก่อน

รัฐสภา -ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการเสริมสร้างและเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในทางการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แก่ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รุ่นที่ 2 ที่รัฐสภา มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมเป็นวิทยากรกล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง "โรงเรียนกับการส่งเสริมประชาธิปไตยและสังคมสันติสุข"

นายบวรศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ความขัดแย้งการเมืองในปัจจุบัน เป็นคู่ขัดแย้ง ตั้งแต่ปี 2549 ที่ได้สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ อีกทั้งยังลดความน่าเชื่อถือกับสถาบันหลัก ที่ต้องถูกตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์สั่นคอนนิติรัฐ ที่ใครก็ได้สามารถลุกขึ้นท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย โดยในความแตกแยกของชาติที่ร้าวลึก เกิดคำถามว่า ชาติไทยจะดำรงอยู่ได้นานเพียงใด

นายบวรศักดิ์ ระบุว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรของชาติอย่างไม่เป็นธรรม จะเห็นว่า ในสังคม มีคนรวยร้อยละ20 ได้ถือครองทรัพยากรชาติ 55 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนจนร้อยละ 60 ถือทรัพยากรชาติเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ และไม่เท่าเทียมของสังคม

"สาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองบนภูเขาน้ำแข็ง เกิดจากการแบ่งปันทรัพยากรของชาติอย่างไม่เป็นธรรม ผมเห็นว่า สังคมที่เป็นธรรม และมีความสันติสุข ต้องเป็นสังคมที่ยอมรับศักดิ์ศรี และความเป็นคนอย่างเท่าเทียม ที่เปิดให้เข้าถึงทรัพยากรของชาติอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม" นายบวรศักดิ์กล่าว

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ต้นเหตุวิกฤติการณ์สี ตอนนี้คือใคร จะเห็นว่า ผู้นำวิกฤติของสี ที่ออกมาเรียกร้องจะมีความต่างออกไปจากแกนนำเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่จะเห็นว่า เป็นกลุ่มนักศึกษา และปัญญาชนที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อเกิดความขัดแย้งปราบปรามกันขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแน่พระทัยว่า รัฐบาลจะฟังพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้น การเสด็จลงมาดับร้อนผ่อนเย็นนั้น จึงให้วิกฤติยุติ

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ สถานการณ์ต่างกัน ภาพคือประชาชนขัดแย้งกับประชาชนโดยมีผู้นำ 2 กลุ่มที่ใกล้วัยเกษียณ หรือพ้นวัยเกษียณแล้วเป็นผู้นำ คำถามคือ ถ้าทรงมีพระมหากรุณา ลงมาดับร้อนผ่อนเย็นอีก แล้วคนเหล่านั้นไม่ฟังพระราชกระแสอะไรจะเกิดขึ้น

"ดังนั้น เราไม่สมควรที่เราจะไปนึกไปดึงขอพระมหากรุณาลงมาเหมือนเมื่อก่อน เราต้องแก้กันเองเราต้องป้องกันกันเองว่า ไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งสุภาษิตไทยบอกว่า ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก ใครจะหวังดัดไม้แก่นอกจากจะหักหรือคนดัดก็คงจะเจ็บตัว ต้องคิดถึงไม้อ่อน คือเด็กและเยาชนทั้งหลายในวันนี้ ที่จะเป็นคนที่สร้างสังคมและชาติในอนาคต และจะไม่นึกถึงครูและผู้บริหาร ที่เป็นเหมือนพระพรหมที่สร้างเขาก็ไม่ได้"

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า สังคมที่เป็นธรรมและสันติสุข คนทุกคนต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นคน ต้องเท่าเทียมในกฎหมาย และโอกาสเข้าถึงทรัพยากรสิ่งจำเป็นในชีวิตทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าคน ๆ หนึ่งไม่สบายสามารถเข้าโรงพยาบาลและจ่ายเงินมหาศาลรักษาโรคตัวเองได้ แต่อีกคนต้องรอความตายอยู่ที่บ้านเพราะไม่มีเงิน แต่สังคมสันติสุข ชีวิตคนจนกับคนรวยต้องเท่ากัน เพราะมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ของคนในสังคม ต้องเป็นไปในแนวราบเสมอกัน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง ระหว่างผู้ที่เหนือกว่ากับผู้ที่ต่ำกว่าในระบบอุปถัมภ์ และต้องเป็นสังคมที่มีความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกัน คนมั่งมีมหาศาล ต้องพร้อมเฉลี่ยสุขช่วยคนที่ยากจน ซึ่งต้องใช้ประชาธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสันติ

"เพราะเผด็จการนั้น ผู้นำที่มีอำนาจจะตัดสินใจแทนราษฎร ที่มีฐานะเป็นผู้ตามเท่านั้น ไร้เสรีภาพ แม้จะมีความเห็นที่แตกต่าง แต่ไร้ทางเลือก เพราะผู้บริหารระบอบเผด็จการจะเป็นความลับ ความดำมืด การทุจริตจะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา นอกจากนั้น จะอยู่เหนือกฎหมาย ใช้อำนาจตามอำเภอใจ อย่างประเทศเพื่อนบ้านเราสองสามประเทศ บัญชาการอย่างไรศาลก็ฟัง ทุกคนต้องฟัง เป็นระบบอธรรมภิบาล และมันสร้างปัญหาให้กับราษฎรตาดำ ๆ ที่อาจจะอดอยากและอดตาย"

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบข้อเท็จจริง มีหลักฐานประจักษ์พิสูจน์ได้ว่า ประเทศประชาธิปไตยไม่เคยมีคนอดตาย ขณะที่ในประเทศเผด็จการ ไม่มีเสรีภาพเสนอข่าวสารให้ผู้นำและประชาชนรู้ว่า มีความอดอยาก ข่าวจะถูกกรอง จนเหลือแต่ข่าวที่ผู้นำอยากจะฟัง

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง แต่หากเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีคุณภาพ เพราะผู้ได้รับเลือกตั้งสามารถคุมผู้เลือกตั้งด้วยเงินหรือสินบนอื่น ถ้าเช่นนั้น ก็จะเข้ามาถอนทุน และกลับไปสู่ระบบอธรรมภิบาล เวลานี้พัฒนาแนบเนียนขึ้น อาจจะไม่ใช่ซื้อเสียงในเวลาเลือกตั้ง แต่ซื้อตอนที่เป็นรัฐบาล ก่อนเลือกตั้งลดแลกแจกแถมสารพัด แต่จะใช้เงินขณะเลือกตั้ง หรือใช้เงินวันนี้ วัตถุประสงค์อันเดียวคือสร้างการพึ่งพาพึ่งพิงให้ประชาชนผู้รับ ต่อนักการเมืองผู้ให้ เป็นความสัมพันธ์แนวตั้งแบบเดิม

"เพราะต้องให้ผู้นำการเมืองที่สูงกว่าตัดสินใจ เป็นประชาธิปไตยอุปถัมภ์ ที่ผู้มีอำนาจการเมืองอยู่เหนือราษฎร ที่เป็นผู้ตาม เป็นประชานิยม ที่ราษฎรส่วนใหญ่ จะเป็นราษฎร ไม่ได้เป็นพลเมือง ที่เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง ไม่เห็นเรื่องของบ้านเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น เป็นเรื่องของตัวเอง และต้องไม่รังเกียจการเมือง ใครที่รังเกียจการเมืองผู้นั้นไม่ใช่พลเมือง เพราะเมื่อไม่ใช่พลเมือง สังคมจะกลายเป็นสังคมงอมืองอเท้า ที่รอพึ่งพิงผู้ที่มีอำนาจ"
 เขาบอกว่า อิสรภาพประชาชนจะเกิดขึ้นจริง ต้องมีอิสรภาพทางเศรษฐกิจ คือพ้นจากความยากจน เข้าถึงทรัพยากรมีฐานะทางเศรษฐกิจ มีสิ่งจำเป็นตามสมควร โดยไม่ต้องพึ่งพานักการเมือง

ทั้งนี้ เขาและเพื่อนนักวิชาการจำนวนหนึ่ง เห็นว่า เราต้องแปลงประชานิยมของแต่ละรัฐบาล เป็นรัฐสวัสดิการที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องนึกไปถึงการจัดระบบภาษี ที่ให้คนมั่งมีเฉลี่ยสุขให้คนจน ทั้งภาษีเงินได้ที่ต้องให้ฐานกว้างขึ้น ภาษีมรดก ภาษีจาการซื้อขายหุ้น เป็นต้น โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลลดแลกหรือแจกแถม

"ประชานิยมไม่ดี เพราะเป็นการเอาเงินอนาคตมาใช้วันนี้ แต่ผลักภาระหนี้ให้อนุชนรุ่นหลัง ถ้าประชานิยมรุ่งเรืองจริง ดีจริง ประเทศละตินอเมริกา คงไม่ล่มสลายไปหลายประเทศ เพราะทำมาก่อนเรามาเป็นสิบปี ไม่ว่าจะเป็น อาร์เจนตินา ชิลี และเปรู เป็นต้น หากทำให้ราษฎรประชาชน เป็นพลเมืองมีจิตสำนึก มีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งหมด จะนำมาซึ่งความโปร่งใส สุจริต ความรับผิดรับชอบในการเมืองในทุกระดับ ซึ่งจะเป็นต้นทางของธรรมาภิบาลของสังคมคุณภาพได้" นายบวรศักดิ์ กล่าว

view