สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คู่คิดธุรกิจ : ฟาร์มไส้เดือน มิตรใหม่ เกาะกระแสรักษ์โลก เตรียมโกอินเตอร์

จาก โพสต์ทูเดย์

เมื่อผลตอบรับจากลูกค้าในประเทศดีแล้ว ฟาร์มมิตรใหม่ก็เตรียมส่งออก "ปุ๋ยหมัก-น้ำหมักมูลไส้เดือน" ไปขายต่างประเทศ...

โดย...จันทร์จิรา พึ่งวิริยะ

เยาวลักษณ์ ฉายะโอภาส เจ้าของฟาร์มไส้เดือนมิตรใหม่

“ภายในปีนี้ เราจะส่งออกปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน และน้ำหมักมูลไส้เดือน ไปเจาะตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป ภายใต้แบรนด์น้องเดือน” นี่คือแผนงานใหม่คร่าวๆ ของเยาวลักษณ์ ฉายะโอภาส เจ้าของฟาร์มไส้เดือน มิตรใหม่ฟาร์ม

หลังจากลูกค้าในประเทศให้การตอบรับผลิตภัณฑ์อย่างกว้างขวาง ตลอด 2 ปีที่บุกเบิกตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน น้ำหมักมูลไส้เดือนดิน (ได้จากฉี่ของไส้เดือน) ชุดเลี้ยงไส้เดือน และพ่อแม่พันธุ์ไส้เดือน

แรกเริ่มผลิตภัณฑ์ของมิตรใหม่ฟาร์ม ขายโดยไม่มีแบรนด์ แต่เมื่อเยาวลักษณ์ตั้งใจจะเดินหน้ารุกตลาดอย่างจริงจัง รวมทั้งขยายตลาดสู่การส่งออก ชื่อ “น้องเดือน” จึงถูกใช้เป็นแบรนด์ของทุกผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้ลูกค้าจดจำได้ในระยะยาว เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา

เยาวลักษณ์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จากไส้เดือนเป็นที่รู้จักและนิยมในตลาดต่างประเทศมานานแล้ว แต่คนไทยโดยมากจะคุ้นเคยเฉพาะการใช้ไส้เดือนเพื่อเป็นอาหารสัตว์ จึงเป็นโอกาสให้เธอได้หาช่องทางในการทำตลาดที่เกี่ยวเนื่องกับไส้เดือนมาก ขึ้น โดยเข้าอบรมหลักสูตรเลี้ยงไส้เดือนของภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ควบคู่กับการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในตลาดต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา และอินเดีย ที่มีการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยอยู่ก่อนแล้ว จึงนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดสู่การผลิตปุ๋ยจากมูลและฉี่ของไส้เดือน พร้อมกับแตกไลน์สินค้าสู่ชุดเลี้ยงไส้เดือน จำหน่ายให้กับครัวเรือนขนาดสมาชิก 34 คน ที่ต้องการช่วยโลกลดขยะ โดยได้ปุ๋ยหมักเป็นของแถมไว้ใช้บำรุงต้นไม้ในบ้าน

ฟาร์มไส้เดือน

ชุดเลี้ยงไส้เดือนราคาประมาณ 800 บาท ประกอบด้วย กล่องขนาดความกว้าง 1 ฟุตครึ่ง ยาว 2 ฟุตครึ่ง ใส่ไส้เดือนน้ำหนักรวมครึ่งกิโลกรัม วางเลี้ยงไว้บนมูลวัว หลังจากนั้น การให้อาหารไส้เดือนแต่ละวันจะเป็นเศษอาหารที่เหลือจากแต่ละมื้อ แทนที่จะทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็เทลงกล่องเลี้ยง เป็นอาหารไส้เดือนไป

ลักษณะการกินอาหารของไส้เดือนจะชอนไชลงด้านล่าง แล้วถ่ายมูลทิ้งไว้ด้านบน เจ้าของจึงสามารถเก็บมูลไส้เดือนไปบำรุงต้นไม้ได้ง่ายๆ

 

ราว 23 เดือน เจ้าของต้องเปลี่ยนกล่องเลี้ยงใหม่ ส่วนไส้เดือนอายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1 ปีครึ่ง จึงค่อยซื้อไปเติมเพิ่ม ราคาไส้เดือนอยู่ที่กก.ละ 1,2001,500 บาท แต่ในระหว่างที่ไส้เดือนยังมีชีวิตจะวางไข่ทุกสัปดาห์ สามารถเก็บไข่หรือตัวอ่อนที่ฟักตัวแล้วไปเป็นอาหารปลา เป็ด ไก่ หรือจะเลี้ยงขยายพันธุ์ต่อๆ ไปก็ได้ ตามสะดวก

หากไม่ต้องการซื้อทั้งชุด จะซื้อเฉพาะไส้เดือนมาเลี้ยงทำปุ๋ยหมักเองก็ได้ สัดส่วนของการเลี้ยง ควรใช้พื้นที่ 1 ตารางเมตรต่อไส้เดือน 1 กก.
ใครไม่สะดวกเลี้ยง แต่อยากซื้อปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ที่ผลิตสำเร็จแล้ว หรือน้ำหมักมูลไส้เดือนดินไปใช้ ก็สั่งซื้อได้ที่ฟาร์ม โดยปุ๋ยหมักขายอยู่ที่กก.ละ 60 บาท ส่วนน้ำหมักขนาดขวด 40 มล. ราคา 45 บาท

เปรียบเทียบกับราคาในต่างประเทศขายเป็นขีด ราคาขีดละ 1 เหรียญสหรัฐ ถ้าส่งออกได้เมื่อไหร่ สินค้าของเยาวลักษณ์ก็จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นทันที

เยาวลักษณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำหมักมูลไส้เดือนดิน เป็นน้ำที่ขับถ่ายผ่านลำตัวไส้เดือน ในขณะที่กำลังกินอาหาร เป็นน้ำที่ได้จากการเน่าสลายของเศษขยะอินทรีย์ที่ใช้เป็นอาหารของไส้เดือน น้ำหมักจึงมีธาตุอาหารพืชเจือจาง แต่จะมีจุลินทรีย์หลากหลายชนิดในปริมาณมาก รวมถึงฮอร์โมนพืชที่เป็นประโยชน์หลายชนิด

ผลิตภัณฑ์น้องเดือน

ขณะที่ ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน เป็นเศษซากอินทรีย์วัตถุต่างๆ ทั้งดินและจุลินทรีย์ที่ไส้เดือนกินเข้าไป ผ่านกระบวนการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุภายในลำไส้ แล้วจึงขับถ่ายเป็นมูลออกมาทางรูทวาร มูลที่ได้จะมีลักษณะเป็นเม็ดสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม มีธาตุอาหารพืชอยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ในปริมาณเพียงพอ และมีจุลินทรีย์ด้วย

ปัจจุบันสายพันธุ์ของไส้เดือนที่เลี้ยงมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่
1. พันธุ์แอฟริกัน
2. พันธุ์ลายเสือ
3. พันธุ์สีน้ำเงิน
4. พันธุ์ขี้ตาแร่

ทั้ง 4 สายพันธุ์นี้ ทนต่อสภาพแวดล้อม กินเก่ง ให้ลูกดก เหมาะแก่การเลี้ยงในไทย เฉพาะของมิตรใหม่ฟาร์ม เน้นขายพันธุ์แอฟริกัน และพันธุ์ลายเสือ

เยาวลักษณ์ ทิ้งท้ายว่า การทำตลาดน้องเดือน จากนี้ไปยังอาศัยช่องทางผ่านงานแสดงสินค้าที่รัฐจัดขึ้น เนื่องจากได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ทั้งในแง่ของการทำตลาดขายปลีก และแนวโน้มในการบุกตลาดส่งออก เพราะมีต่างชาติสนใจเข้ามาสอบถามสินค้าอยู่ตลอด รวมถึงการขายผ่านฟาร์มของตัวเอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยนิมิตรใหม่ 34 ถนนนิมิตรใหม่ แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ และเปิดเว็บไซต์ให้ผู้สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม สอบถามข้อมูล โดยเชื่อว่าแนวโน้มตลาดดังกล่าวยังไปได้สวย เนื่องจากเข้ากระแสรักษ์โลก

view