สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เดินป่าหา ดาว ณ เชียงตุง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


โดย : เรื่อง/ภาพ : ปิ่นอนงค์ ปานชื่น

ดาว ไม่ว่าอยู่ที่ไหนย่อมส่องแสงประกายเจิดจ้าแม้อยู่บนยอดเขากลางป่าอันห่างไกล

ด้วย แรงดึงดูดของดาวเด่นแห่งสถาปัตยกรรมที่กล่าวขานกันว่างามระดับนางงามเลยที เดียว ทำให้เรามุ่งหน้าไปที่วัดบ้านแสน บนเส้นทางระหว่างเมืองเชียงตุงไปเมืองลา อาณาเขตของรัฐฉาน เมียนมาร์

เดิมทีเคยสงสัยว่าทำไมคนขับรถจะต้องแวะซื้อ เจ้าท่อนไม้ทรงสามเหลี่ยมมีมือจับ ระหว่างทางทางด้วยนะจะว่าเป็นเขียงก็ไม่ใช่ มาได้คำตอบเอาตอนที่ต้องเปลี่ยนพาหนะจากรถตู้มาเป็นรถกระบะเพื่อขึ้นดอยไป ชุมชนบ้านแสน เดินทางไปตามเส้นทางการค้าโบราณที่ตัดผ่านป่าเขาสูงชันไปเชื่อมกับเมืองยาง

" สบายครับ รถไปถึงแน่นอน" อาจารย์พลวัฒ ประพัฒน์ทอง สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บอกกับเราว่ามาคราวก่อนรถยนต์สามารถขับไปถึง วัดบ้านแสน ได้ เลย หากมาคราวนี้ถนนดินแดงแคบๆ(ไม่มีทางสำหรับรถสวน)ที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อขนาด วัว ควาย ลงไปนอนกลิ้งเกลือกได้สบาย ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกเช่นเคย แม้จะนำเอาเจ้าท่อนไม้สามเหลี่ยมมาหนุนล้อช่วยไม่ให้รถลื่นไหล พยายามเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล พลขับขอยอมแพ้ไปก่อน

แต่พวกเราหายอมไม่ มาแล้วยังไงก็ต้องไปให้ถึง เดินเป็นเดิน สู้สู้!!

นั่งรถตู้จากเชียงตุง 36 ไมล์ ใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง (ผิวถนนสะเทือนเลือนลั่นไม่ยิ่งหย่อนกว่าตรงหน้า) ร่างกายต้องการเอ็กเซอร์ไซส์พอดี คุณหลุยส์ผู้นำทางชาวเมียนมาร์ บอกว่าจากจุดเปลี่ยนรถนั่งรถกระบะไป  3  กม.ถึงหมู่บ้านแยกก่อนจากนั้นต่อไปอีก 3 กม. ก็ถึงบ้านแสน 6 กม. แค่นี้เดินเท้าสบายมาก แต่เดินเท่าไหร่ก็ไม่ยักกะถึงสักที จนขากลับคุณหลุยส์ถึงๆได้เฉลยว่า "ขอโทษครับความจริงระยะทางนับเป็นไมล์ต่างหาก"

เดินขึ้น 6 เดินลงอีก 6 เท่ากับ 12 ไมล์ เดินมาแล้ว 19.2 กม. มิน่าเล่า เดินลับเหลี่ยมเขาจนเลิกนับก็ยังไม่ถึงซะที ...แต่ในที่สุดภารกิจก็ลุล่วงโดยมีข้าพเจ้าเข้าเส้นชัยเป็นลำดับสุดท้าย ...ตามคาด

3  ไมล์พม่าแรก เราหยุดพักกันที่บ้านแยก...มีวัดเล็กๆทาสีทองอร่าม หลังคาซ้อนสองชั้นลาดต่ำคล้ายวิหารล้านนาที่ช่วยปิดกั้นอากาศหนาวได้เป็น อย่างดี ด้านเหนือประตูตกแต่งด้วยรูปทรงปราสาทจำลองฝีมือประณีต นี่เป็นเพียงนางงามประจำตำบลเท่านั้นนะ อาจารย์พลวัฒนส่งเสียงบอก ถ้านางงามประจำจังหวัดที่หมายของเราน่ะงามกว่านี้อีกหลายเท่า

เดินต่อไปยังเส้นทางเล็กๆหลังวัดบ้านแยก จะพบกับบ้านยาว หรือ  Long House ของชาวไตหลอย หรือ ตำมิละ ในกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ลักษณะบ้านมีความคล้ายคลึงกับชนเผ่าในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย

บ้านยาว ก็คล้ายๆกลับทาวน์เฮ้าส์สมัยนี้ ในบ้านหนึ่งหลังจะอาศัยกันประมาณสิบครอบครัว โดยภายในมีการแบ่งเป็นห้องๆละ 1 ครอบครัว ภายในบ้านยาวจะมืดมาก แม้ว่าจะมีการติดไฟเอาไว้ตลอด ทำให้มีควันไฟลอยขึ้นบนเพดานซึ่งเต็มไปด้วยพืชผลทางการเกษตร อาหารแห้ง ควันไฟจะช่วยรม บ่ม รักษาอาหารเอาไว้กินได้ยาวนาว

ด้านล่างเลี้ยงเป็ด ไก่ หมู ไกลออกไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกข้าว มองเห็นเมฆขาว ฟ้าสวย อากาศเย็นสบายจนต้องขอสูดลมหายใจนำอากาศบริสุทธิ์เข้าไปให้เต็มปอด แล้วค่อยเดินต่อกันอีก 3 ไมล์

กัดฟันเดินจนแทบยกขาไม่ไหว  ครั้นพอได้เห็นวิหารสีทองหลังใหญ่ปรากฏอยู่ที่ตรงหน้า แขนขาไร้เรี่ยวแรงกลับมีพลัง หยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมาเก็บภาพที่เห็นเป็นอัศจรรย์ สมคำร่ำลือจริงๆ

วิหารของวัดบ้านแสนประกอบด้วยอาคาร 3 หลังติดกัน โดยมีวิหารหลวงขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ด้านซ้ายเป็นวิหารพระเจ้าตนหลวง (ตั้งชื่อตามพระประธานที่ประดิษฐานภายใน) และ วิหารพระเจ้าไม้จันทน์ด้านขวา ส่วนด้านหน้าของวิหารมีอาคารโถงหลังเล็กคล้ายศาลาจตุรมุข นั่นก็คือ โบสถ์ สถานที่สำหรับประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์

การให้ความสำคัญกับวิหาร สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกันระหว่างพระภิกษุกับฆราวาส มากกว่าโบสถ์นั้นเป็นแบบแผนที่นิยมกันในสมัยล้านนา สุโขทัย และอยุธยาตอนต้น ถ้าเราสังเกตจะพบว่าวัดในสมัยดังกล่าวมีวิหารที่ใหญ่โตมาก หากที่วัดบ้านแสนนี้ขนาดของโบสถ์เล็กแทบจะกลายเป็นศาลาไปเลย

คงามงดงามของรูปแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งนั้น เชื่อกันว่ามีลักษณะร่วมทางศิลปะระหว่างล้านนากับศิลปะเชียงตุง โดยมีศิลปะจีนเข้ามาผสมผสานด้วย

เกรียงไกร เกิดศิริ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนไว้ใน "วัดและชุมชนบ้านแสน : ลมหายใจของบุพกาลกลางป่าเมืองเชียงตุง"  ในวารสารเมืองโบราณ ปี 2550 สันนิษฐานว่าวัดบ้านแสนคงสร้างเร็วที่สุดไม่เกินสมัยพญากือนา (ราวพุทธศตวรรษที่ 20) ช่วงเวลานั้นเชียงใหม่ขยายอำนาจอย่างกว้างขวางทั้งทางด้านการเมืองและศาสนา ด้วยการอุปถัมภ์ศาสนาและการบวชพระสงฆ์จากเมืองต่างๆ ตลอดจนส่งผ่านการใช้ตัวอักษรสุโขทัยไปยังเมืองเชียงตุงด้วย

ผนังด้านหน้าของวิหาร มีความงดงามตระการมาก ตั้งแต่พื้นไปจนจดหลังคาไม่มีพื้นที่ว่างเปล่าให้เห็นเลย ตรงประดูอลังการมากด้วยการออกแบบให้เป็นซุ้มประตูทรงปราสาทไม้แกะสลักปิดทอง ในบทความของ เกรียงไกร เกิดศิริ อธิบายไว้ว่าเป็นการแสดงสัญลักษณ์ของการผ่านพ้นไปยังมิติที่สูงขึ้นไปสู่ สวรรค์วิมานและพระนิพพาน หรือ แสดงถึงซุ้มสุวรณคูหาอันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้ ซุ้มประตูนี้คล้ายกับรูปปราสาทพระอินทร์ในรอยพระพุทธบาทประดับมุกที่สร้างใน สมัยพญาติโลกราชมาก

ภายนอกวิจิตรโอฬารมากแล้ว ภายในก็อลังการไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นดาวเพดานที่มีลวดลายหลากหลายสีสันยังแจ่มชัด เช่นเดียวกับจิตรกรรมประดับฝาผนัง ด้านบนมีการเก็บเกี้ยว และตู้พระธรรมฝีมือประณีตมากมาย

ขอบคุณความห่างไกล และธรรมชาติที่กลายเป็นปราการสำคัญที่ป้องกันปกปักรักษาความงามของ สถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุอันล้ำค่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชมเป็นบุญตา

เราใช้เวลาอยู่ในวัดบ้านแสนด้วยความอิ่มเอมใจ จนกระทั่งเย็นย่ำต้องถึงเวลาลาจาก คุณหลุยส์เร่งให้เรารีบลงเขาเพื่อขึ้นรถตู้กับเมืองเชียงตุงให้ทันก่อนด่านปิดหกโมงเย็น

6 ไมล์ 9.6 กม. เท่านั้น !! เหลือบดูเข็มนาฬิกามีเวลาชั่วโมงเดียวจะทันหรือเปล่าหนอ เดินไปจนเกือบท้อ แต่ก็ได้ลูกฮึดจากกองเชียร์จนท้ายที่สุดก็ขึ้นไปนั่งอยู่บนรถตู้เดินทางถึง ด่านได้สำเร็จ ยกนาฬิกาข้อมือมาดูอ้าว...ลืมไปว่านี่เป็นเวลาเมืองไทย ที่เมียนมาร์ช้ากว่าเราอีก 1 ชม. ที่รีบมาตลอดนึกว่าจวนเจียนที่แท้ก็เหลือเฟือ

6 กม.กลายเป็น 6 ไมล์ แถมเวลายังช้ากว่าเมืองไทยอีก 1 ชม. เมียนมาร์งง มาถึงไทยงง ก็จบลงด้วยประการฉะนี้

view