สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดนตรี = สมองยกกำลังสอง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา


แฟนเพลงเลดี้ กาก้า อาจค้านหัวชนฝา แต่ผลวิจัยพิสูจน์แล้วว่า เพลงคลาสสิกเพิ่มพลังสมองได้จริง ลองโหลดเพลงมูนไลท์ โซนาต้ามาฟังดูสิ

พูดกันปากต่อปากว่า เปิดเพลงดนตรีคลาสสิกให้ลูกในท้องฟัง ช่วยเพิ่มพัฒนาการสมองให้กับทารกตั้งแต่ยังไม่อุแว้ออกมาดูโลก


 ถ้าคุณพลาดโอกาสฟังมโหรีของอะมาดิอุส วูลฟ์กัง โมสาร์ท ตอนขดตัวอยู่ในท้องมารดาก็ยังไม่สายเกินไป มาสดับฟังกันตอนโตก็ช่วยเพิ่มศักยภาพความคิดได้เหมือนกัน

 ในภาคอวตาร ภควัต ทวีวรเดช สวมบทเป็นประธานชมรมดนตรีสบายสบาย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกแล้วกว่า 70 คน ที่มักจะรวมตัวกันขับกล่อมดนตรีด้วยเครื่องดีด สี ตี เป่า ที่แต่ละคนถนัด แต่ชีวิตจริงของเขาคือ นักศึกษาจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ เอกพฤกษศาสตร์


 สำหรับตัวเขาเอง มีเสียงดนตรีซึมซาบอยู่ทุกอณู ถึงจะเลือกเรียนวิทย์ แต่งานอดิเรกของเขาคือ เล่นดนตรี เหตุผลไม่มีอะไรมากไปกว่ามันช่วยผ่อนคลายสมองจากตำรา

 “เรียนวิทยาศาสตร์ค่อนข้างหนักอยู่แล้ว แต่ได้เพลงนี่แหละมาช่วย บางทีก็เล่นดนตรี เบรกตำราไว้ชั่วคราว ช่วยให้สมองกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ดนตรีช่วยให้เรียนรู้ดีขึ้น ผมเชื่อ” ภควัต เล่าจากประสบการณ์ตรง

 นักวิจัยฝรั่งเศสนาม ดร. อัลเฟรด เอ.โทมาทิส กล่าวถึง "โมสาร์ท เอฟเฟค" ไว้เมื่อ 2534 ในหนังสือชื่อ Pourquoi Mozart? เขาใช้ดนตรีโมสาร์ทเพื่อ "ฝึกทักษะ" หู และเชื่อว่า เพลงคลาสสิกที่มีท่วงทำนองหลายย่านความถี่ช่วยเพิ่มพัฒนาการแก่สมอง และยังช่วยบำบัดอาการป่วยได้ด้วย

 ต่อมา รอสเชอร์ ชอว์ และกีย์ นักวิจัยอีกลุ่มหนึ่งได้ทดสอบเพื่อพิสูจน์พลานุภาพของเพลงของโมสาร์ท โดยดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสมอง โดยให้ผู้เข้าร่วมทดสอบฟังเพลงโซนาต้าของโมสาร์ท พบว่าประสิทธิภาพของเพลงโมสาร์ทช่วยสมองผ่อนคลายได้เพียงระยะเวลาหนึ่ง ช่วยให้สมองกระฉับกระเฉงขึ้นราว 15 นาที

 ในมุมมองของ ดร.นัยพินิจ คชภักดี อุปนายกสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชีววิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล สนใจพลังลึกลับที่ซ่อนอยู่ในดนตรี ไม่เฉพาะแต่การเพิ่มพลังสมองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุนทรียภาพด้วย

 “ผลการวิจัยโดยอ้างอิงทฤษฏีวิทยาศาสตร์หลายครั้ง ชี้ให้เห็นว่า ดนตรีมีส่วนช่วยเพิ่มพลังสมอง” ดร.นัยพินิจ ยืนยันผลพลอยได้จากดนตรี ที่เป็นมากกว่าความบันเทิง

 ไม่ใช่แต่มนุษย์เท่านั้น ที่ร้องเพลงและแต่งดนตรี หากลองฟังเสียงธรรมชาติ เรายังได้ยินเสียงสัตว์หลายชนิด "ร้องเพลง" อย่างเช่น นกคานารีที่ใช้เสียงเพลงขับกล่อมหลอกล่อให้ตัวเมียสร้างรัง ไม่เว้นแม้แต่แมลงอย่างจิ้งหรีด ที่สามารถสร้างบทเพลงเองได้ เป็นเสียงดนตรีจากธรรมชาติอย่างแท้จริง


 เสียงแรกที่มนุษย์ได้ยินคือเสียงหัวใจเต้นเมื่ออยู่ในท้อง แม่ เสียงหัวใจเต้นตุบๆ เป็นจังหวะที่ขับกล่อม ให้ทารกนอนหลับสบาย ช่วงเวลานั้นสมองเริ่มสร้างกลไกการรับรู้จากจังหวะที่ได้ยิน

 “มนุษย์เราเรียนรู้มาตั้งแต่แรกเกิด คนเราเริ่มฉลาดได้ด้วยดนตรี” อดีตนักเรียนทุนปริญญาเอกของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ สาขาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ สหรัฐอเมริกา กล่าว

 เขาบอกว่า ทุกวันนี้ ว่าที่คุณแม่หลายคนเปิดดนตรีคลาสสิกให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือคุยกับลูกพร้อมสัมผัส แม้ว่าเด็กในท้องจะยังไม่เข้าใจความหมายของเสียงที่ได้ยินก็ตาม


 “ขณะที่เราได้ยินเสียงสมองจะเริ่มวิเคราะห์คลื่นความถี่ มันเกิดขึ้นรวดเร็วมาก เพื่อเปรียบเทียบและดูว่าเป็นเสียงอะไร เป็นช่วงเวลาที่สมองเริ่มต้นทำงาน” เขาอธิบาย

 สมองประกอบไปด้วยหลายส่วน มีหน้าที่เฉพาะแตกต่างกัน เช่น สมองในซีกการเรียนรู้ คณิตศาสตร์ ตรรกวิทยา และสมองซีกที่รับรู้ทำนอง ดนตรี อารมณ์ ศิลปะซึ่งการทำงานของสมองทั้ง 2 ส่วนจะช่วยควบคุมอารมณ์ให้ทำงานดีขึ้น

 

กล่อมวิทย์ด้วยดนตรี


 โดยส่วนตัวแล้ว ดร.นัยพินิจ เป็นนักฟังดนตรี และยอมรับว่ามันช่วยให้ความคิดของเขาบรรเจิด เวลาท่องหนังสือเขาเลือกฟังเพลงที่มีจังหวะ ไม่โลดโผนเกินไป หรือจืดชืดจนเกินไป ทุกครั้งที่เปิดเพลงคลอช่วยให้การอ่านหนังสือดีขึ้น แทนที่อ่านหนังสือแล้วจะง่วงนอน

 “ครั้งหนึ่งเคยเลคเชอร์วิชาเซลล์ไบโอ หรือชีววิทยาระดับเซลล์ให้นิสิตฟัง แล้วรู้สึกว่าเครียดมาก เลยตัดสินใจพัก โดยเปลี่ยนบรรยากาศมาร้องเพลงกัน ก่อนที่จะกลับมาเริ่มต้นทบทวนเนื้อหาอีกครั้ง ผลปรากฏว่าบรรยากาศดีขึ้น"

 เขาบรรยายว่า เพลงที่มีสุนทรียะ คือเพลงที่มีจังหวะคล้องจอง การกระจายคลื่นเสียง สเปกโตแกรม เพลงเป็นภาษาที่สละสลวย จังหวะและท่วงทำนองที่ซับซ้อนของดนตรีคลาสสิกจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ส่วนที่เกี่ยวกับการคิด วิเคราะห์เหตุผลเชิงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ

 สมองส่วนดังกล่าวเป็นส่วนที่สำคัญต่อการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว จังหวะ เสียงสูงต่ำ และความถี่ของเสียงดนตรีคลาสสิกยังอาจช่วยพัฒนาความสามารถในการเรียนภาษาให้ ดีขึ้น

 เพลงที่ช่วยให้อ่านหนังสือคล่องต้องยกให้กับ โมสาร์ท ที่ช่วยให้ความสามารถในการคิดแก้ไขปัญหาดีขึ้น ผลการวิจัยดังกล่าวได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร เนเจอร์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์หันมาสนใจศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น

 งานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า ดนตรีมีความสามารถช่วยขับกล่อมอารมณ์เด็กเล็ก ที่มีนิสัยมุทะลุ ดุดัน ก้าวร้าว รุนแรง ให้อารมณ์เย็นลง หลังจากใช้เสียงดนตรีช่วยบำบัด

 ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามหาเทคโนโลยี หรือเครื่องมือที่จะช่วยค้นหาคำตอบเหล่านั้น เช่น เทคโนโลยีช่วยเปรียบเทียบนิวตรอน หรือสัญญาณประสาท ชี้ให้เห็นการทำงานของเซลล์ของคลื่นสมองได้ชัดเจนขึ้น

 ระยะหลังมีผลการวิจัยมากมายสนับสนุนว่า ดนตรีคลาสสิกเป็นสภาพแวดล้อมหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านสมอง พัฒนาสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งผลให้การเรียนรู้ดีขึ้นด้วย

 “ทุกวันนี้ดนตรีบำบัดถูกนำไปใช้รักษาเด็กสมาธิสั้น ใช้บำบัดผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต โดยเปิดเพลงคลาสสิคให้ฟัง เพื่อลดการใช้ยากดประสาท ขณะที่เพลงถูกจัดให้เป็น 1 ใน การทดสอบไอคิว ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด”  เขายกตัวอย่าง

 ดนตรีคลาสสิกบางผลงานส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาและความคิดสร้าง สรรค์ของทารกและเด็กได้ โดยเพิ่มขีดความสามารถด้านคำพูด อารมณ์ พัฒนาสมาธิและความทรงจำ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองซีกขวา ซึ่งใช้ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งดนตรีคลาสสิกอาจส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ดีขึ้น และสามารถจดจำสิ่งที่ตนเรียนรู้ได้ดี เข้าใจเหตุผลของความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

 โมสาร์ท เอฟเฟค ได้รับการพิสูจน์แล้วทั้งในหนูทดลองและในคน ซึ่งพิสูจน์ว่าหนูทดลองที่ได้ฟังดนตรีคลาสสิกสามารถหาอาหารที่วางอยู่ในเขา วงกต ผ่านเส้นทางเดินที่คดเคี้ยวได้รวดเร็วกว่าหนูทั่วไปซึ่งไม่ได้ฟังเพลง

 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากดนตรี แม้จะไม่ใช่คนที่พูดมาก พูดไม่เก่ง สมองควบคุมการพูดไม่ดีจนหลายคนคิดว่าเขาเป็นออทิสติก  ครูไม่สามารถสอนได้ แต่แม่ของไอน์สไตน์ได้เล่นเปียโนบรรเลงเพลงโมสาร์ท ไปพร้อมกับสอนหนังสือให้ไอน์สไตน์ ทำให้อัจฉริยะของโลกมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น จนกระทั่งเกิดทฤษฎีต่างๆ มากมาย ซึ่งล้วนมาจากรากฐานแนวคิดของสุดยอดนักฟิสิกส์ผู้นี้
 

“ไอน์สไตน์ มักพูดอยู่เสมอว่า เวลาที่เขาคิดอะไรไม่ออกมักจะหยิบไวโอลินตัวโปรดขึ้นมาสีเสมอ ขณะที่สีไวโอลีน มีคลื่นความคิดใหม่ที่ช่วยให้หลุดออกจากความคิดเก่าออกไปสู่ความคิดใหม่ที่ ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน”

 ตัวอย่างของไอน์สไตน์ อาจเป็นข้อพิสูจน์หนึ่งที่ทำให้เห็นว่าดนตรีคลาสสิกมีส่วนสำคัญในการพัฒนา สมอง โดยเฉพาะในส่วนของการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล เนื่องจากสิ่งที่ไอน์สไตน์ค้นพบเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนเกินกว่าคนธรรมดา ทั่วไปจะคิดได้


 ความชัดเจนในเรื่องนี้ปรากฏขึ้นเด่นชัดทันทีที่มีการศึกษาสมองของ ไอน์สไตน์โดยละเอียดหลังจากที่เขาได้เสียชีวิตแล้ว จนกระทั่งได้รู้ว่า จริงๆ แล้วไอน์สไตน์ ไม่ได้มีสมองที่ใหญ่กว่ามนุษย์คนอื่นเลย สมองบางส่วนกลับเล็กด้วยซ้ำ แต่ก็มีสมองบางส่วนของเขาที่ใหญ่กว่าคนอื่นจริง โดยเฉพาะสมองด้านที่เกี่ยวกับตรรกวิทยา กาลเวลา สถานที่ ทำให้เขามีความสามารถรับรู้และเข้าใจในทฤษฎีสัมพันธภาพที่มนุษย์ทั่วไปมอง ไม่เห็นมาก่อน ทำให้เขาเป็นอัจฉริยะในด้านนั้น

 แต่ถ้าถามว่าไอน์สไตน์จีบผู้หญิงเป็นไหม ทำอาหาร หรือแม้แต่ปั่นจักรยานได้ดีไหม เก่งไหม คำตอบก็คือ ไม่

 ดร.นัยพินิจ ให้มุมมองต่ออีกว่า การที่คนเราจะชอบดนตรีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก ทุกวันนี้เชื่อว่าผลพวงของนวัตกรรมทางดนตรีจากญี่ป่นอย่าง คาราโอเกะ จะทำให้ดนตรีแพร่หลายไปในวงกว้าง ทำให้คนทั้งโลกหันมาร้องเพลงกันมากขึ้น สามารถทำให้คนญี่ปุ่นซึ่งแต่ก่อนขึ้นชื่อว่าร้องเพลงไม่เป็นเลยกลับมาร้อง เพลงได้

 "เพลงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เพลงบางอย่างผสมกับกลิ่น ไฟ เครื่องดื่ม กลายเป็นสะกดจิต ให้รางวัลกับสมองสูงมาก แต่ถ้าขาดเมื่อไหร่อาจนำพาความเสื่อมมาสู่สมองได้เช่นกัน”

 เชื่อแล้วว่า เพลงมีพลังประดุจปรมาณูจริง

view