สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกฟ้า ล่า คนดี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ทีมข่าวจุดประกาย


 



อาจไม่ฮิตเท่า รายการเรียลลิตี้ แต่เวทีค้นหา "คนดี" ชักจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นไปได้หรือไม่ว่า สังคมไทยเข้าสู่วิกฤติการณ์ขาดแคลนคนดีแล้วจริงๆ

ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ปรากฎการณ์ค้นหา "คนดี" เกิดขึ้นถี่ยิบ


 ทั้งในรูปของโครงการค้นหา "คนดี" หมวดต่างๆ ซึ่งอาจจะใช้คำต่างไปบ้าง อย่าง คนต้นแบบ คนของแผ่นดิน คนดีของแผ่นดิน ...สุดแท้แต่จะตั้งกันไป

 ประเด็นสำคัญกว่า น่าจะเป็นการกลับมาย้อนตั้งคำถามว่า สังคมไทยกำลังขาดแคลน "คนดี" กันอยู่ใช่หรือไม่ ภารกิจตามหาพวกเขาจึงต้องจัดเป็นเวทีเอาจริงเอาจังกันถึงขนาดนี้

 ในทางกลับกัน ก็รับไม่ได้กับพฤติกรรม "ลวงโลก" ชนิดอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้...

 

ไม่มีคนดี 100 เปอร์เซ็นต์


 ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2552 สำนักเล็กๆ อย่างนิตยสาร รีดเดอร์ส ไดเจสท์ สรรสาระ (Reader Digest) ลุกขึ้นมาทำการสำรวจความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อบุคคลและสาขาวิชาชีพ

 ทางกองบรรณาธิการนิตยสารเล่มกระชับมือใช้หลัก เลือกจาก "กระแสข่าว" และคนที่มีผลงานให้เห็นในช่วงดังกล่าว จนได้รายชื่อออกมา 80 คนก่อนจะส่งไม้ต่อให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจความคิดเห็น  สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 750 คน อายุระหว่าง 20-50 ปีขึ้นไป ให้ลงคะแนนตั้งแต่ 1-10 และ 5 อันดับแรกคือ

 1.พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ , ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 2.พระอุดมประชาทร (พระอลงกต) ,เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ 3.ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ,เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา 4.พระพรหมคุณาภรณ์ , เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน  และ 5. ปัญญา นิรันดร์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)

 เกียรติสุดา สุริยยศ บรรณาธิการบริหารนิตยสารรีดเดอร์ส ไดเจส วิเคราะห์จากผลการสำรวจที่ออกมาว่า คนไทยเชื่อมั่น "คนดี" มากที่สุด มากกว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี หรือ คนที่มีหน้าที่ตำแหน่งอันสูงส่ง


 "คนดี คือ คนที่อุทิศตัวเองเพื่อสังคม เสียสละหรือตั้งใจทำอะไรเพื่อคนอื่นอย่างต่อเนื่อง และเป็นคนที่ทำแล้วเห็นผลงานชัดเจน สื่อนำเสนอ และ อยู่ในกระแสข่าว" เกียรติสุดา อยากจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความดีทำให้คนดีได้รับความนิยม

 มีบุคคลอยู่ 2 หมวดที่รีดเดอร์ส ไดเจส ตัดสินไม่เอามาไว้ในโพลล์สำรวจความเชื่อมั่นคือ นักการเมือง และ พระราชวงศ์

 "นักการเมือง หรือ การเมืองที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความแตกแยก และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกของกลุ่มคนที่เราสำรวจพอสมควร แต่ถ้าวันหนึ่งการเมืองนิ่งกว่านี้ เราอาจจะเอานักการเมืองเข้ามา" ส่วนราชวงศ์เป็นบุคคลที่อยู่นอกเหนือการวิจารณ์

 เกียรติสุดาบอกอีกว่า เหตุผลสำคัญของการทำโพลล์ครั้งนี้ คือ อยากรู้ว่าสังคมไทยกำลังต้องการคนแบบไหน ผลที่ได้มา สะท้อนสังคมได้ว่าอย่างไร

 คนอย่างคุณหมอพรทิพย์ที่ทะยานขึ้นมาเป็นอันดับ 1 นั้น หลายคนอาจกังขา และถามว่า วัดจากอะไร เพราะที่ผ่านมา คุณหมอเปรี้ยวเข็ดฟันคนนี้ได้ทั้งก้อนอิฐและดอกไม้จากสังคม ผ่านข่าวและกิจกรรมต่างๆ ที่เธอเข้าร่วมหรือไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ล่าสุดคือ จีที 200

 "เราคงไม่พูดว่าคนที่ได้รับเลือกเหล่านี้ดี 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำแล้วคนอื่นเห็น เพราะความดีวัดกันยากจริงๆ ภาพคุณออกมาดี สวยงาม แต่จริงๆ เราไม่รู้ " แต่ถ้าถามถึงคนที่เชื่อมั่น เกียรติสุดา อธิบายว่า เป็นคนมีความรู้ ความสามารถ นำมาสร้างประโยชน์ให้สังคม  "อย่างนี้จะเรียกว่าคนดีได้หรือไม่" เธอย้อนถาม ในสังคมนี้หรือสังคมไหน ไม่มีใครที่

 

ขาวสุดขั้ว หรือ ชั่วสุดขีด

 
 ด้าน ทิวา สาระจูฑะ ให้ความเห็นกับบุคคลที่คนไทยเชื่อมั่นอันดับ 1 ไว้ว่า น่าจะมาจากบุคลิกอันโดดเด่น บวกกับรสนิยมของคนที่เปลี่ยนจากนิยมดารา มาเป็นคนดังในข่าว ซึ่ง ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีชื่ออยู่ในสื่อต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน


 เช่นเดียวกับ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ที่ไม่แปลกใจกับผลสำรวจที่ออกมาเช่นนี้


 "คนในสังคมยุคนี้ คนที่จะต้องรับความนิยมชมชอบต้องเป็นผู้ที่คนรู้จักด้วย ไม่ใช่เพราะทำความดีเพียงอย่างเดียว หมอพรทิพย์อาจถูกมองว่าสร้างภาพ จากคนอีกกลุ่มที่คลางแคลงใจในตัวเธอ หากมองภาพรวมที่ออกมาในแง่ดี เช่น ช่วยผู้ประสบภัยสึนามิ นำความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์มาสืบหาความจริง ผลสำรวจถือว่าเป็นเรื่องที่ดี พอจะสะท้อนได้ว่า คนในสังคมยังใฝ่ดีกันอยู่เยอะ"


 และเมื่อพิจารณาจาก อันดับที่ลดหลั่นลงมา อย่าง พระอลงกต พระพรหมคุณาภรณ์ หรือ ดร.สุเมธ จะพบว่า ผลงาน  และ ภาระหน้าที่ในปัจจุบัน ล้วนเป็น ตัวแทนแห่งคุณงามความดีจากหลากหลายวงการ

 นอกเหนือจาก 5 อันดับแรก ยังมี สุธาสินี น้อยอินทร์ หรือ แม่ติ๋วแห่งบ้านโฮมฮัก กับ นวลน้อย ทิมกุล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนบ้านครูน้อย ที่เพิ่งมีข่าวคราวเรื่องหนี้นอกระบบไป ทั้งสองสุภาพสตรีนี้ก็เกาะขบวนมาในอันดับที่ 9 และ 8 ตามลำดับ


 ทั้งหมดนี้คือ "คนดี" ที่สังคมไทยขาดแคลนและกำลังตามหาอยู่หรือไม่?

 

ไม่ดีเพราะไม่ดัง?


 แม้จะไม่ติดอยู่ในลิสต์บุคคลที่คนไทยเชื่อมั่น แต่เชื่อเถอะว่า โลโก้ของผู้ชายหน้าโหดคนนี้ คือ "คนดี"

 โดยเฉพาะรายการสารคดีที่ตัดสะดือมากับมืออย่าง คนค้นคน ที่ชอบค้นคนเล็กๆ ทำอะไรดีๆ  ต้องถือว่า สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ กรรมการผู้จัดการบริษัททีวีบูรพา จำกัด มีส่วนจุดประกายเรื่องนี้ไม่น้อย


 "ผมไม่คิดว่าประเทศไทยขาดแคลนคนดี เพียงแต่คนดีวันนี้ไม่ได้มี โอกาสได้แสดงตน ไม่ได้อยู่ในบทบาทหน้าที่ที่มีสปอตไลท์ดวงไหนๆ จับเข้าไป"


 เขาแสดงความเห็นต่อว่า ถ้าการรับรู้ของสังคมมาจากข่าวสาร สิ่งที่สื่อมวลชนเสนออยู่ทุกวันนี้ มีแต่เรื่องราว บทบาท ของคนที่ตรงกันข้ามกับคนดีเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ พ่อค้า หรือ แม้กระทั่งผู้ปกครองประเทศ ก็เต็มไปด้วยสิ่งที่ทำให้คนคลางแคลงในเรื่องความดี เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่เรื่องราวของคนที่พยายามแสวงหาประโยชน์ส่วนตนในทุก วิถีทาง


 ถ้าพูดในแง่ของปริมาณ หัวเรือใหญ่แห่งทีวีบูรพาเชื่อว่าคนดีมีไม่น้อย แต่คนดีที่มีบทบาท อำนาจ และ พละกำลังที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้นั้น ต้องยอมรับว่ามีอยู่ไม่มาก มองอย่างผิวเผินจึงเหมือนว่า คนดีมีน้อย


 "ตราบใดที่ระบบมันเป็นอย่างนี้ ต่อให้คนดีมีมากกว่าคนชั่ว แต่เมื่อคนชั่วมีบทบาทในการทำงานแทนคนส่วนใหญ่ในประเทศ ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะกลไกสังคมไทยไม่ได้ถูกออกแบบให้เอาความดีนำ"


 อาจจะด้วยปัญหาในเชิงระบบ ยากที่จะเปลี่ยนแปลง คนดีที่โนเนมจึงเริ่มหันไปสร้างความดีเล็กๆ ของตัวเอง


 "ในเมื่อหวังที่จะมีสังคมอุดมคติจากกลไกหลักไม่ได้ ก็ต้องเชื่อในทางที่ตัวเองเลือกเดิน เลือกที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ในส่วนฐานล่างขึ้นไป"


 ทัศนคติเรื่อง "ความดี" ของผู้คนวันนี้ จึงลดขนาดลงเหลือแค่ "ความดีแต่ตามลำพัง" สุทธิพงษ์หมายถึงความดีที่ไม่เอาตัวไปแปดเปื้อนกับความชั่ว


 "ถามว่า นี่คือ "ดี"  หรือไม่..  ก็ใช่ นี่ก็เป็นความดี แต่ถามว่าความดีเท่านี้มากพอที่จะไปกอบกู้อะไรที่มันไม่ดีได้หรือไม่.. ก็ต้องบอกว่า ได้ แต่อาจจะได้น้อย หรือ ไม่เพียงพอ"

 แต่สิ่งที่เขากังวลมากกว่าเรื่อง ประเทศไทยขาดคนดี ก็คือ วิธีคิดในการคัดเลือกหรือสรรเสริญคนดีที่มีอยู่วันนี้นั้น ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน


 "ขนาดหน่วยงานราชการยังสามารถยกให้นาธานโอมานเป็นเยาวชนดีเด่นแห่ง ชาติได้โดยไม่ต้องตรวจสอบอะไร ก็เป็นเรื่องสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการคิดสรรเสริญ หรือ เชิดชูคนดีบ้านเรากำลังมีปัญหาหรือเปล่า"

 

หน้าตาดีต้องมีสาระ


 นอกเหนือไปจากคนดีอันดับต้นๆ ที่พอจะอนุมานได้ว่า สังคมไทยกำลังขาดอะไรแล้ว

 จากอันดับรองๆ ลงไปในสาขาอาชีพต่างๆ มีสัญญาณดีๆ บางอย่างเกิดขึ้นกับทัศนคติและมุมมองของคนไทย
 ไม่ต้องอื่นไกล ในอันดับ 5 ปัญญา นิรันด์กุล ซึ่งอาจมาพร้อมกับคำถามปนค้านในใจว่าเพราะอะไร

 "เพราะเขาฉลาดในการแสวงหา ไม่มุ่งหวังผลกำไรจนน่าเกลียด มีรายการที่ทำเพื่อสังคมคละเคล้ากับรายการบันเทิงล้วน เมื่อเทียบกับนักธุรกิจอื่นๆ จึงให้ภาพความสำเร็จที่งดงามมากกว่า"ความเห็นจาก ปริญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมจิตปัญญา เพื่อพัฒนาพฤติกรรมศาสตร์ สอดคล้อง กับทิวา บรรณาธิการนิตยสารสีสันที่ว่า "รายการของปัญญามีสาระให้ความรู้ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้คนเชื่อมั่นในตัวเขา"

 กระทั่งนักแสดงที่ติดโผเข้ามา อย่าง แอน ทองประสม (อันดับที่ 35) และ เคน ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ (อันดับที่ 36) ก็แสดงให้เห็นว่า ความนิยมชมชอบในตัวดาราก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน


 คือ คนไม่ได้ชมชอบเพียงความสวยหล่อ หรือ ความสามารถด้านการแสดง แต่ยังให้ความสำคัญต่อการวางตัวของนักแสดง ผู้ที่มีภาพลักษณ์ดี และ ไม่มีข่าวด้านลบ มักจะได้คะแนนจากแฟนๆ เยอะกว่า

 ในงานด้านสังคม พระนางคู่นี้ยังเป็นทูตพิเศษเพื่อเยาวชนองค์การยูนิเซฟ (กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ) ตั้งแต่ปี 2551

 ตอนหนึ่งของบทวิเคราะห์จากโพลล์สำรวจชุดนี้ คือ "คนไทยให้ความเชื่อมั่นกับบันเทิงที่มีสาระมากกว่า" เนื่องจากในอันดับล่างๆ ลงมา มีชื่อ พิษณุ นิลกลัด (อันดับที่ 42) และ กิตติ สิงหาปัด (อันดับ 44) รวมถึง นักเขียนซีไรต์สองสมัย วินทร์ เลียววารินทร์ (อันดับ 47) ติดเข้ามาด้วย

 "นักเขียนและพิธีกรข่าวนำเสนอสาระที่มีประโยชน์จึงมีความเชื่อมั่น มากกว่า" ทิวา เจ้าของประโยคดังกล่าว ยังบอกอีกว่า อย่างไรก็ตาม คนไทยยังให้ความนิยมคนบันเทิงที่มีภาพลักษณ์ดีมากกว่าคนที่พยายามสร้างภาพ

 "บางคนพยายามทำตัวให้เป็นข่าว การเป็นข่าวออกสื่อบ่อยๆ อาจทำให้ดังขึ้นมาได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะได้รับความนิยมเสมอไป" อีกข้อสังเกตจาก ทิวา

 เราจึงเห็นคนที่ตายเพราะข่าวมานักต่อนัก โดยเฉพาะการสร้างข่าวจากความรับรู้ที่ว่าประชาชนคนดู "ไม่มีความรู้"
 ผล จากพฤติกรรม "ลวงโลก" จึงโหดร้ายและหนักหน่วงอย่างนี้...  

...................................................................................

(หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนหนึ่งจากนิตยสารรีดเดอร์ส ไดเจส ฉบับมีนาคม 2553)
 

 

รวมมิตรเวทีค้นหาคนดี

- โครงการค้นหาคนดี "ดีแทคค้นคนดี" จากดีแทคและรายการ คนค้นคน (ปี 2550)

- โครงการค้นหา 76 คนดี นำทาง แทนคุณแผ่นดิน โดย บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (ตั้งแต่ปี 2549 - ปัจจุบัน)

- โครงการแผนที่คนดี เรื่องดี แกะรอยแผนที่ตามหาคนดี โดย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปี 2550)

- โครงการคนดีของแผ่นดิน โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ บ.ทีวีบูรพา (กุมภาพันธ์ 2553)

- โครงการพลังภาพยนตร์ ชวนค้นคนดี : ชวนเยาวชนผลิตหนังสั้น สารคดี โดยเครือข่ายพุทธิกา และ  สสส.(กันยายน 2552)

 

ชอบแต่ไม่เชื่อหมอดู , ดูข่าวแต่ไม่ไว้ใจนักการเมือง

ในโพลล์สำรวจความเชื่อมั่นชุดนี้ มีการสำรวจอาชีพที่คนไทยเชื่อมั่นมากที่สุด 40 อันดับ  5 อันดับแรกได้แก่

1.แพทย์ 2.ครู,อาจารย์ 3.นักบิน 4.ผู้พิพากษา 5.ทันตแพทย์

และอาชีพที่ได้รับความเชื่อมั่นน้อยที่สุด คือ

36.คนขับรถแท็กซี่ 37.มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 38.ตัวแทนขายประกัน 39.หมอดู,นักโหราศาสตร์ และ 40. นักการเมือง
view