สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขยะดาวเทียมโหม่งโลก ระทึกหายนะจากฟากฟ้า

จาก โพสต์ทูเดย์

ชาวโลกต้องตกอยู่ในอาการอกสั่นขวัญผวาลุ้นระทึกสุดขั้วหัวใจอีกครั้ง เมื่อต้องเผชิญกับมหันตภัยครั้งใหม่ที่ประทานมาจากฟากฟ้า...

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

ชาวโลกต้องตกอยู่ในอาการอกสั่นขวัญผวาลุ้นระทึกสุดขั้วหัวใจอีกครั้ง เมื่อต้องเผชิญกับมหันตภัยครั้งใหม่ที่ประทานมาจากฟากฟ้า...
มัน อาจพุ่งเข้ามาในสภาพลูกไฟมฤตยูขนาดใหญ่ยักษ์หรืออาจมาในสภาพชิ้นส่วนเศษ เหล็กบุโรทั่งที่แตกกระจายออกเป็นเสี่ยงๆ ร่วงหล่นโหม่งดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่ชาวโลกอาศัยอยู่ พร้อมจะกระชากวิญญาณสิ่งมีชีวิตทุกตัวตนที่ขวางหน้า

ดวงดาวมฤตยูดวงนี้มีชื่อว่า ดาวเทียมสำรวจบรรยากาศชั้นสูง หรือ “ยูอาร์ส” (Upper Atmosphere Research Satellite : UARS) ขนาด 4.5x11 เมตร น้ำหนักตัวเกือบ 6 ตัน ซึ่งองค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐ (นาซ่า) คาดการณ์ว่าจะร่วงลงสู่พื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงเช้าวันที่ 24 ก.ย. (ตามเวลาประเทศไทย) จากเดิมคาดไว้ว่าน่าจะเป็นช่วงวันที่ 22-24 ก.ย.

ก่อนหน้านี้นาซ่าได้แถลงไว้เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ว่า มีโอกาส 1 ใน 3,200 หรือ 0.03% ที่ชิ้นส่วนดาวเทียมจะตกใส่คน ถึงขั้นทำให้บาดเจ็บหรือล้มตายได้ เพราะมันเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 107 เมตร/วินาที หรือ 385 กม./ชม.

ช่วงเวลาที่ดาวเทียมยูอาร์สพุ่งตัวผ่านชั้นบรรยากาศของโลก จะเกิดแรงเสียดสีจนเผาไหม้และแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนับร้อยชิ้น โดยจะมีชิ้นส่วนขนาดใหญ่ประมาณ 26 ชิ้น ชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดจะมีน้ำหนักราว 160 กิโลกรัม และจะดิ่งลงถึงพื้นโลกระหว่างละติจูดที่ 57 องศาเหนือ และละติจูดที่ 57 องศาใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรโลกอาศัยอยู่ โดยจะรู้แน่ชัดว่าจะตกลงในพื้นที่ใดในช่วงราว 25 นาทีก่อนที่จะตกถึงพื้น หรือเมื่ออยู่ห่างจากพื้นโลกราว 1.2 หมื่นกิโลเมตร

ทว่าในข่าวร้ายเขย่าขวัญสั่นประสาทก็ยังพอปรากฏข่าวดีให้ได้ยินอยู่บ้าง เมื่อนาซ่าทำนายว่า มีความเป็นไปสูงที่ชิ้นส่วนดาวเทียมจะตกในทะเล และแม้จะตกบนพื้นดินก็มีโอกาสน้อยมากที่จะตกใส่คน แต่หากตกใส่คนจริงก็จะเป็น “ประวัติศาสตร์อัปยศ” ครั้งแรกในรอบ 50 ปีของยุคอวกาศ

ความหวาดวิตกเข้าครอบงำมนุษย์โลกทันทีที่รับรู้ข่าวดาวเทียมพุ่งชนโลก โดยเว็บไซต์ฟอกซ์ นิวส์ ได้เปิดช่องทางให้ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของดาวเทียมดวงนี้แบบเรียลไทม์

ขณะเดียวกัน บรรดานักพนันก็ฉวยจังหวะนี้สร้างความหรรษา โดยเว็บไซต์รับพนันแพดดี้ พาวเวอร์ ดอตคอม ประเทศไอร์แลนด์ เริ่มมีการพนันกันว่าชิ้นส่วนจะตกที่ไหน

วรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ปรากฏการณ์ขยะอวกาศที่ล่องลอยอยู่ในห้วงบรรยากาศทุกวันนี้ ย่อมมีเศษชิ้นส่วนหลุดร่วงลงสู่พื้นโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องแตกตื่นแต่อย่างใด

“ขยะอวกาศส่วนใหญ่ที่ตกถึงพื้นโลก จะถูกชั้นบรรยากาศเผาไหม้ และส่วนใหญ่ตกลงในมหาสมุทร เนื่องจากพื้นที่โลก 70% เป็นน้ำ ฉะนั้นความเสี่ยงจากการตกลงสู่พื้นโลกและสร้างความเสียหายจึงมีน้อยมาก” วรเชษฐ์ กล่าว

- ขยะอวกาศหล่นใส่หัว...ใครรับผิดชอบ?

ดาวเทียมมฤตยูดวงนี้ได้ออกปฏิบัติการสำรวจอวกาศมานานกว่า 20 ปี เป็นผลผลิตขององค์การนาซ่าที่นำไปปล่อยในอวกาศเมื่อเดือน ก.ย.2534 โดยบรรทุกไปกับกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี่

ภารกิจของดาวเทียมยูอาร์สคือ การสำรวจบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ บนความสูงเหนือพื้นโลกประมาณ 580 กิโลเมตร กระทั่งเมื่อภารกิจสิ้นสุดนาซ่าจึงเขี่ยทิ้ง กลายเป็นเศษขยะอวกาศที่ย้อนกลับมาโหม่งพื้นโลก

“จากรายงานขององค์การนาซ่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีการระบุชัดว่า มีชิ้นส่วนขยะอวกาศใดที่สร้างความเสียหายในวงกว้าง” วรเชษฐ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุระทึกขวัญครั้งสำคัญที่ต้องมีการประกาศเตือน เมื่อชิ้นส่วนสถานีอวกาศสกายแล็บ น้ำหนักราว 80 ตัน ตกในบริเวณประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2522

ขณะที่เว็บไซต์แอโรสเปซ ระบุว่า เมื่อปี 2540 เคยมีสตรีรายหนึ่งในรัฐโอคลาโฮมา โชคร้ายสุดๆ ถูกชิ้นส่วนจรวดขนาด 6 นิ้ว กระแทกเข้าที่ไหล่ แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ

แม้ดาวเทียมมฤตยูดวงนี้จะมีโอกาสหล่นใส่ศีรษะคนน้อยมาก แต่คำถามก็คือ เจ้าของเศษขยะอวกาศเหล่านี้ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ที่มักเอาเปรียบ ผู้คนบนโลกอยู่เสมอ จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรหากเกิดโศกนาฏกรรมไม่คาดฝันขึ้น

“เหตุการณ์สกายแล็บตกที่ประเทศออสเตรเลีย ครั้งนั้น องค์การนาซ่าได้แสดงความรับผิดชอบด้านความเสียหายอย่างเต็มที่ เพราะถือว่าเป็นสมบัติขององค์กร ขณะที่ชิ้นส่วนเล็กๆ ก็มีการตกอยู่บ่อยครั้ง แม้กระทั่งในประเทศไทยก็มีรายงานว่า ประชาชนใน จ.เชียงใหม่ เคยเห็นชิ้นส่วนขยะอวกาศที่กำลังลุกไหม้อยู่ในท้องฟ้าเมื่อเดือน มิ.ย.2553 แต่ก็ไม่พบการตก เพราะถูกเผาไหม้ไปหมดก่อนตกถึงพื้นโลก" วรเชษฐ กล่าว

อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา

ด้านอาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นระบบการลงจอดยานอวกาศบนดาวอังคาร ร่วมกับองค์การนาซา กล่าวว่า แต่ละปีมีขยะดาวเทียมจำนวนมากที่ตกลงมาสู่พื้นโลก ส่วนใหญ่จะเสียดสีจนลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศหมด หากมีหลุดรอดมาได้ส่วนใหญ่จะตกลงบนทะเล โดยโอกาสที่จะตกบนแผ่นดินมีอยู่ที่ 30% เท่านั้น

อาจอง กล่าวว่า ทุกประเทศมีโอกาสถูกขยะดาวเทียมตกใส่ทั้งสิ้น และไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าจะตกในจุดไหนจนกว่าจะเห็นการลุกไหม้เสียก่อน แต่ในประเทศไทยและประเทศบริเวณเส้นศูนย์สูตรมีโอกาสเสี่ยงน้อย เพราะดาวเทียมที่โคจรตามเส้นศูนย์สูตรส่วนใหญ่เป็นดาวเทียมสื่อสาร ซึ่งจะลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศจนหมด

“หากโชคไม่เข้าข้าง สะเก็ดดาวเทียมตกลงมาใส่คนจริง ก็ขึ้นอยู่กับความเมตตาของประเทศเจ้าของดาวเทียมว่าจะรับผิดชอบหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ ที่ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งในทางกฎหมายแล้วเจ้าของดาวเทียมจะไม่รับผิดชอบเลยก็ได้” อาจอง กล่าว

Tags : ขยะดาวเทียม โหม่งโลก ระทึกหายนะ ฟากฟ้า

view