สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

2 เนติ บวรศักดิ์-ธงทอง เทียบพระราชอำนาจกษัตริย์ไทย-อังกฤษ ในบริบท ความเหมือน ที่ แตกต่าง

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ในห้วงที่บ้านเมืองมีความแตกแยกทางความคิดระหว่างคนไทยด้วยกันสูงลิ่วปมปัญหาหนึ่งที่ถูกวิพากษ์ว่าเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งนั่นคือ“รัฐธรรมนูญ” ที่มีที่มาโดยมิชอบ พลันที่ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำรัฐบาล ได้จุดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาให้สังคมได้คิด และถกเถียงบางวาระ หลายโอกาส มีการตั้งคำถามอันแหลมคมไม่น้อยถึงพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมีนัก “เนติ”ไม่น้อยที่เห็นว่าต้องทำการปฏิรูป

 

ในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม “ศาลรัฐธรรมนูญ”ได้จัดการอภิปรายในหัวข้อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”กาลนี้ มี “ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า “ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ” เลขาธิการสภาการศึกษา ทั้ง 2 คน ล้วนเป็นมือ “เนติ” แถวหน้าที่ถูกเชิญมาอภิปรายครั้งนี้

 

 

“ดร.บวรศักดิ์” อภิปรายว่า“มีรัฐที่เข้าร่วมเป็นสหประชาชาติ 992 รัฐ มี 44 รัฐ มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข16 รัฐอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ ทำให้จริงๆ แล้วมีพระมหากษัตริย์ 28 ประเทศ นับว่าไม่มากหากเทียบกับ 992 ประเทศ และมีจำนวนไม่มากที่มีสถาบันพระมหาษัตริย์มาเป็นพันปี”

 

“พระเจ้าแผ่นดินพระราชอำนาจอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในแต่ละประเทศจะมีลักษณะแตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.อังกฤษ ญี่ปุ่น ที่มีธรรมเนียมโบราณมาแต่เก่าก่อน เช่นใน อังกฤษ พระราชอำนาจของกษัตริย์มีหน้าที่ พระราชทานคำปรึกษา ให้กำลังใจ และตักเตือน โดยสถาบันกษัตริย์จะคงอยู่ในประวัติศาสตร์พันปี เป็นสถาบันที่ลึกลับศักดิ์สิทธิ์ ไม่ปรากฏในที่สาธารณะ กลุ่มที่ 2. เช่นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย พระมหากษัตริย์ปฏิบัติเหมือนคนทั่วไป วางพระองค์แบบสมัยใหม่ ไม่แตกต่าง บางครั้งเราจึงเห็นพระมหากษัตริย์ทรงปั่นจักรยานไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ

 

“และ กลุ่มที่ 3 ประเทศไทย อยู่ระหว่างสองกลุ่มนี้ เห็นได้ว่าสถาบันกษัตริย์ของไทยสืบสานมาจากอารยธรรมไทยมาเป็นพันปี เรียกว่าเป็นสถาบันที่ผ่านคติต่างๆ มากมาย พ่อปกครองลูก ธรรมราชา เทพราชา แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยก็ไม่เหมือนกับอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือแถบสแกนดิเนเวีย เพราะสถาบันกษัตริย์ของไทยเป็นสถาบันที่สืบทอดอารยธรรม และเอกราชความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ซึ่งหาไม่ได้แล้ว นอกจากมิติทางอารยธรรม ความภูมิใจ ยังมีมิติที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่น เราจะไม่เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินประเทศไหนไปประทับอยู่บนพื้นดิน ทรงถือแผนที่ มีชาวบ้านนั่งอยู่บนพื้นดินเดียวกัน แล้วพูดกันด้วยภาษาสามัญ เพื่อแก้ไขปัญหาของราษฎร เป็นอันว่าพระมหากษัตริย์ไทยไม่เหมือนกษัตริย์ของประเทศอังกฤษหรือ ญี่ปุ่นที่ไม่เคยประทับผืนดินเดียวกับราษฎร”

 

หากจะเปรียบเทียบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขของไทย กับ ของต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ อันเป็นต้นแบบของระบอบนี้นั้น “ดร.บวรศักดิ์”บอกว่า จะยกไปเทียบไม่ได้

 

“เราจะเอาประชาธิปไตยไทยไปเทียบกับ ประชาธิปไตยของอังกฤษแบบร้อยเปอร์เซนต์ทำไม่ได้ เพราะเมื่อพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจะไม่ทรงมีดำริทางการเมือง นายกรัฐมนตรีที่ถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทำตาม ซึ่งเรื่องนี้ประเทศอังกฤษถือเคร่งครัดมาก พระมหากษัตริย์จะไม่ทำตามคำแนะนำอยู่น้อยมาก เห็นได้ชัดว่า คำพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์(อังกฤษ)ต้องให้นายกฯ และรัฐบาลเห็นชอบก่อน มีเพียง 2 กรณี คือ พระราชดำรัสคริสมาสต์ต่อเครือจักรภพอังกฤษ และรับสั่งกับเครือจักรภพเท่านั้นที่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐบาล แต่ถ้าตรัสกับประชาชนอังกฤษต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล และ นายกรัฐมนตรีก่อน แต่ประเทศไทยไม่เคยปฏิบัติเช่นนั้น”

 

“ดร.บวรศักดิ์” ยกวิธิปฏิบัติในอังกฤษให้เห็นอีกหนึ่งตัวอย่างว่า“การแถลงนโยบายของประเทศ ไทยวันนี้ เราให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขึ้นไปยืนอ่านแถลงนโยบายหลายสิบหน้า 3 ชั่วโมงช่างน่าสงสารเหลือเกิน แต่ในประเทศอังกฤษคนที่แถลงนโยบายของรัฐบาลไม่ใช่นายกฯ แต่เป็นสมเด็จพระราชินีนาถ ทรงแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันเปิดสมัยประชุมสภา เสด็จเข้ามาในที่ประชุมสภาขุนนาง ขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี เข้าในสภาขุนนางไม่ได้ เพียงแต่เกาะราวประตูอยู่หน้าห้อง แล้วสมเด็จพระราชินีนาถทำการอ่านแถลงนโยบายต่อหน้าสภาขุนนาง ซึ่งประเทศไทยเคยทำแบบนี้มาแล้ว ในสมัยรัชกาลปัจจุบันที่ในหลวงทรงแถลงนโยบายตามแบบประเทศอังกฤษ แต่มายกเลิกเมื่อปี 2500”

 

สำหรับพระราชอำนาจในการออกรัฐธรรมนูญนั้น เป็นของพระมหากษัตริย์เช่นกัน “ดร.บวรศักดิ์” เล่าว่า เหตุที่สถาบันของกษัตริย์ไทยไม่เหมือนกับของฝรั่งนั้น เพราะเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่ว่าปฏิวัติหรือประชาธิปไตย ล่าสุดปี 2550 ผ่านประชามติ รัฐธรรมนูญก็ผ่านการลงพระปรมาภิไธยหรือย้อนหลังไปที่ ธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2475 ในหลวง รัชกาลที่ 7 ก็ทรงตราขึ้นโดยพระราชอำนาจของพระองค์เอง ไม่มี “คณะราษฏร” คนใดเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ หรือใช้อำนาจคณะปฏิวัติตราธรรมนูญออกใช้เอง

 

“ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญไทยทุก ฉบับหลังการยึดอำนาจทุกครั้ง ถ้าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกอะไรได้ทั้งหมดจริงแล้วไซร้ก็ต้องออกรัฐธรรมนูญได้ด้วย แต่ไม่เคยเป็นเช่นนั้น มีการนำธรรมนูญชั่วคราว หรือ รัฐธรรมนูญถาวร ขึ้นทูลเกล้าให้ทรงลงปรมาภิไธยทุกครั้ง”

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคหนึ่งการเมืองไทยมีรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง แม้อำนาจการเมืองจะตกไปอยู่ในมือของทหารที่จับอาวุธ แต่ก็ยังมีการปล้นอำนาจระหว่างกัน ครั้งนั้น จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ทำรัฐประหารร่วมกับ จอมพลผิน ชุณหะวัณ เมื่อก่อการสำเร็จได้ร่างธรรมนูญชั่วคราวโดยนำรัฐธรรมนูญปี 2475 มาปรับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อทูลเกล้าให้ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ปรากฏว่าในหลวงได้ทรงวิจารณ์การทูลเกล้ารัฐธรรมนูญนั้น

บันทึกพระราชวิจารณ์ครั้งนั้นระบุว่า

 

“ได้ตรวจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมที่ส่งมานี้แล้วเห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นหลักสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จำต้องกระทำด้วยความพินิจ พิจารณาสุขุมรอบคอบ ประกอบด้วยมีเวลาให้เพียงพอที่จะใช้ดุลพินิจให้ถี่ถ้วนเรียบร้อย การเร่งรัดรีบด่วนเกินไปย่อมมีขาดตกบกพร่องไม่สมบูรณ์ตามความปรารถนา จึงขอให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกันพิจารณาและร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จงร่วมกันสมัครสมานเพื่อมุ่งหวังความเจริญให้แก่ประเทศชาติด้วยดี”

 

พร้อมกับมีการแนะนำให้คณะรัฐประหารนั้นแก้ไขในบทบัญญัติสิทธิเสรีภาพ รวมถึงอายุของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองด้วย

 

ปิดท้าย “ดร.บวรศักดิ์” สรุปว่า “ที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีปัญหาการเมืองเกิดขึ้น และมีผู้เข้าทูลขอนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 คือ นายกฯพระราชทาน แต่พระองค์ได้ทรงปฎิเสธทุกครั้ง ทรงไม่มีพระราชดำริทางการเมือง และบอกทุกครั้งที่มีการขอว่าทำไม่ได้ จึงอยากให้ระลึกอยู่เสมอว่าพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นของวิเศษ 2 ประการของประเทศ คือ เป็นตัวแทนทางอารยธรรม ทางวัฒนธรรม ความมีเอกราช ประวัติศาสตร์อันยาวนาน และที่สำคัญคือ ทำให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและ ไม่มีใช้อำนาจแต่เพียงพระองค์เดียวแต่ทรงใช้อำนาจร่วมกับประชาชน”

 

ด้าน “ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง” กล่าวถึงการใช้พระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัวว่า “การ ใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ในเรื่องการยับยั้งร่างกฎหมาย 60 ปีที่ผ่านมาถือว่ามีน้อยมาก ไทยมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ มีนายกรัฐมนตรีหลายคน และมีกฎหมายที่ต้องให้ในหลวงลงทรงพระปรมาภิไธย โดยในกรณีที่พระองค์ท่านมีพระบรมราชวินิจฉัยที่แตกต่างจากที่รัฐบาลเสนอก็ ส่งให้รัฐบาลนำกลับไปพิจารณาให้รอบคอบ และหากกฎหมายฉบับใดที่พระองค์ท่านไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยกฎหมายนั้นก็จะตกไป”

 

ครั้งหนึ่งช่วงร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมัชชาสนามม้า ปี 2517 เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญนั่นคือ เหตุการณ์ 14ตุลา ปี 2516 การทำรัฐธรรมนูญคราวนั้นมีเรื่องกรณีว่าใครจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งวุฒิสภา มีการถกเถียงว่าใครจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่สุดท้ายหันซ้ายหันขวาไม่มีตัวเลือก จึงเสนอให้ประธานองคมนตรีเวลานั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

“แต่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ไม่ได้ทรงยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ขณะเดียวกันมีบันทึกพระราชกระแสรับสั่งอย่างเป็นทางการว่า ไม่ทรงเห็นด้วยที่ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้เซ็นรับสนองพระบรมราชโองการ เพราะตำแหน่งประธานองคมนตรีเป็นตำแหน่งที่พระองค์ทรงเลือกเองตามพระราช อัธยาศัย การที่ประธานองคมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการด้วยการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เพื่อไปทำหน้าที่ทางการเมืองโดยชอบ ก็เท่ากับให้ประธานองคมนตรีอยู่ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงภัยต่อ การแต่งตั้งวุฒิสภา สุดท้ายปัญหานั้นก็จะกลับมาสู่พระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้แต่งตั้งองคมนตรี อยู่ดี เพราะขัดต่อหลักการกฎหมาย”

 

“ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง” ปิดท้ายว่า “การใช้พระ ราชอำนาจพระมหากษัตริย์ในเมืองไทยของเรา มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างว่าการเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ รัฐธรรมนูญที่แท้จริงเป็นอย่างไร ความจงรักภักดีความเลื่อมใสที่มีต่อในหลวงมีล้นเหลือในหัวใจคนไทยทุกคน ท่ามกลางความสับสนอลหม่านทางการเมืองในไทยเวลานี้ อาจทำให้บางคนต้องการหาที่พึ่ง โดยน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายให้พระราชอำนาจของท่านเพิ่มพูนขึ้น แต่ท่านทรงระมัดระวัง และปฏิเสธโดยสิ้นเชิง

 

เช่นเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญปี 2517ครั้งนั้น ที่เป็นประจักษ์พยานว่าท่านยึดมั่นประชาธิปไตยอย่างไร คำถามที่สำคัญพวกเราคนไทยทั้งหลายยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และเข้าใจฐานะของท่านในระบอบประชาธิปไตยมากแค่ไหน เพราะเห็นว่าหลายคนพยายามเข้าใจในแบบที่ตัวเองอยากเข้าใจ เรื่องนี้จึงต้องระมัดระวังและรอบคอบ สถาบันพระมหากษัตริย์มีเกียรติศักดิ์ศรี สง่า และการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองปี 2475คณะราษฎรก็ทรงเลือกแล้วก็ยังเห็นไม่ต่างกับเราในครั้งนี้ ว่าสถาบันของเราเป็นศรีสง่าของบ้านเมืองยิ่งกว่าประมุขของประเทศอื่นใด”

 

ทั้งหมดเป็นข้อสรุปในเวทีสัมมนาวันนี้ ถึง “พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”ภาย ใต้รัฐธรรมนูญที่เห็นชัดเจนว่า แม้ประเทศอังกฤษ กับ ไทย จะปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมือนกัน หากแต่ทางขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมในสังคมกัน จึงกลายเป็น “ความเหมือน”ที่ “แตกต่าง” กันในเชิงบริบท

 

Tags : 2 เนติ บวรศักดิ์ ธงทอง พระราชอำนาจกษัตริย์ไทย อังกฤษ บริบท ความเหมือน แตกต่าง

view