สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รำลึก 35 ปี 6 ตุลา เสียงเพรียกจากญาติวีรชนที่ยังไม่มี คำตอบ

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

35 ปีก่อน ระเบิดเอ็ม 79 ลอยละลิ่วเป็นวิถีโค้งกลางอากาศ มาพร้อมกับเสียงวี๊ดยาวๆ ข้ามตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนตกลงเกือบกึ่งกลางสนามฟุตบอล วินาทีนั้นควันสีขาวลอยฟุ้งกระจายนักศึกษาต่างหมอบราบ ตามที่ได้นัดแนะไว้เมื่อได้ยินเสียงอาวุธ ไม่มีใครคิดว่าพิษร้ายของอาวุธที่ลอยมานั้น จะสังหารเพื่อนนักศึกษา และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ชุมนุมกันโดยสงบรวดเดียว 4 คน เป็นการเปิดฉาก “ไทยฆ่าไทย” กลางพระนครที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในรุ่งสางวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519

 

เหตุการณ์วันนั้น มีนักศึกษามากมายที่ต้องสังเวยชีวิต ท่ามกลางเสียงกระสุนที่กรีดกรายพุ่งเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาหลายคนพยายามหนีลงแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหลังตึกโดม เพื่อเดินเลาะริมตลิ่งไปทางท่าพระจันทร์ บางคนหนีขึ้นไปหลบตามตึก ทั้งตึกคณะบัญชีฯ ตึกคณะวารสารฯ ความเป็น ความตายของเขา และ เธอจึงแขวนอยู่บนเส้นด้าย

 

หลายคน “ตาย” แต่หลายคน “ถูกจับ” บทสรุปช่วงเช้าวันนั้น กลายเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชในช่วงเย็น

 

35 ปีต่อมา หนุ่มสาวปัญญาชนในวันนั้น วันนี้แปรสภาพสู่ช่วงวัยกลางคน ต่างมุ่งหน้ามารวมตัวยังลานปฏิมากรรมบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ ที่ที่เขา และ เธอ เคยวิ่งหลบหนีตายจากวิถีกระสุน และความบ้าคลั่งของฝูงชนที่ถูกล้างสมองมาเพื่อจัดการกับนักศึกษา ในงาน “สัปดาห์รำลึก 35 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยประชาชน” บางคนลางานมาเพื่อร่วมงานนี้เพียงคนเดียว บางคนพาครอบครัวย้อนรอยรำลึกความหลัง

 

บรรยากาศในช่วงเช้าดำเนินไปอย่างเรียบง่าย รอยยิ้มปรากฏอยู่บนหน้าของผู้ร่วมเหตุการณ์เมื่อ 35 ปีก่อน

“สุธรรม แสงประทุม” สมาชิกบ้านเลขที่ 111 พรรคไทยรักไทย อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในกาลนั้น เดินทักทายคนที่มาร่วมงานหลายคน ก่อนมาหยุดคุยกับ “ธงชัย วนิจจะกุล” อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ผู้รับหน้าที่เป็นโฆษกบนเวทีเพียงคนเดียว ในห้วงเวลาที่มีการกราดยิงนักศึกษา

 

ก่อน “สุธรรม” คนเดิมจะเดินไปโอบกอดทักทาย “จินดา ทองสินธุ์” พ่อที่พลิกแผ่นดินตามหาลูกชาย “จารุพงษ์ ทองสินธุ์” นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ คนที่พยายามเร่งให้เพื่อนักศึกษารีบออกจากตึกคณะนิติศาสตร์ ไปหลบยังตึกคณะวารสาร ด้วยความหวังอันริบหรี่เป็นเวลาถึง 10 ปี กว่าจะรู้ว่าลูกชายอันเป็นความหวังของครอบครัวได้จากโลกนี้ไปแล้ว

 

“วันนั้นข่าวมันช้ากว่าจะรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็นานแล้ว ผมไปตามหารายชื่อตามสถานีตำรวจ สน.ชนะสงคราม แม้ตอนนั้นจะพบแค่บัตรนักศึกษาก็ดีใจแล้ว” จินดาเอ่ยเสียงเรียบๆ

 

“เหตุการณ์นั้นมันไม่ได้รับความเป็นธรรม อยากให้ลูกชายของผมเป็นคนสุดท้าย แต่ก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ประชาธิปไตยที่ได้มา ก็ได้มาแค่ชื่อเท่านั้น นักการเมืองไม่ว่ายุคไหนก็นึกหาประโยชน์ของพวกพ้อง ไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนจริงๆ จำงๆ มีผลประโยชน์แอบแฝงทั้งนั้น” เขาระบายความอัดอั้นออกมา แม้เหตุการณ์จะผ่านไปกว่า 30 ปี

 

“เหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มีผู้วางแผนผู้กระทำ อยากให้รัฐบาลช่วยให้ความกระจ่างแก่เราด้วย สุดท้ายขอให้ประเทศไทยปรองดองกัน จะเป็นจริงหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ขอให้จบแค่นั้น ให้หยุดกันได้แล้ว อยากให้ทุกฝ่ายจับมือกัน ประเทศไทยจะได้สมบูรณ์แบบ มีประชาธิปไตย มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นเสียที”

 

ความรู้สึกนี้ไม่ต่างจาก “เล็ก วิทยาภรณ์” มารดาของ “มนู วิทยาภรณ์” นักศึกษาธรรมศาสตร์อีกคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อสังเวยชีวิตให้กับการแย่งชิง อำนาจทางการเมืองไทย “อิฉันรักลูกมากที่สุด แล้วก็มาเข่นฆ่าลูกอิฉัน แล้วยังมาแถมโลงศพให้อีกใบหนึ่ง โลงศพใบนี้อิฉันไม่ต้องการ”

 

“คนไหนไม่ซื่อตรง ไม่ซื่อสัตย์ คิดเข่นฆ่าลูกอิฉัน เวลานี้เริ่มเห็นกฎแห่งกรรมลางๆ แล้ว คนที่ฆ่าลูกอิฉันก็ถูกคนอื่นเข่นฆ่าเช่นกัน ขอฝากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ว่า 6 ตุลา ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้ช่วยสะสางด้วย” เธอกล่าวในฐานะกรรมการญาติวีรชน

 

ทั้งสองคือตัวแทนของญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ในเช้าตรู่วันนั้น สูญเสียลูกที่รักยิ่งเหมือนกัน อายุล่วงเลยเข้าสู่บั้นปลายเช่นเดียวกัน ทั้งคู่กำลังรอคอยคำตอบทั้งที่รู้ว่าจะไมมีเสียงใดสะท้อนกลับมา แต่ “พ่อจินดา” กับ “แม่เล็ก” ก็ยังรอคอย

 

--รายงานโดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ ผู้สื่อข่าวการเมือง นสพ.ประชาชาติธุรกิจ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : รำลึก 35 ปี 6 ตุลา เสียงเพรียก ญาติวีรชน คำตอบ

view