สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อดี-ข้อเสีย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชั่งน้ำหนักประกาศกู้น้ำท่วม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

พลิกดู พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รายมาตรา ชั่งน้ำหนัก "ข้อดี-ข้อเสีย" ประกาศกู้วิกฤติน้ำท่วม

กลายเป็นกระแสแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือเรียกสั้นๆ ว่า "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ซึ่งถึงวันนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก

เสียงเรียกร้องขยายวงจากสื่อมวลชนบางแขนง ฝ่ายค้าน ไปจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัด เช่น ปทุมธานี เพราะคุมสถานการณ์ไม่อยู่จริงๆ โดยเฉพาะการรวมตัวชุมนุมและบุกทลายคันกั้นน้ำที่ อ.สามโคก

แต่รัฐบาลก็ยังยื้อไม่ประกาศ และมีเสียงสนับสนุนพอสมควรเหมือนกัน เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ซ้ำยังกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศ ที่สำคัญ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการรับรู้ของคนไทยคือกฎหมายที่ใช้ต่อสู้กับการก่อการร้ายและสถานการณ์ความไม่สงบซึ่งใช้มานานกว่า 6 ปีในภาคใต้ และเคยใช้สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

อย่างไรก็ดี หากพลิกดูเนื้อหามาตราต่างๆ ของกฎหมายฉบับนี้ จะพบว่ามีหลายส่วนอยู่เหมือนกันที่ออกแบบมาสำหรับรับมือ "พิบัติภัยสาธารณะ" ซึ่งน่าจะรวมถึงภัยธรรมชาติอย่าง "น้ำท่วมใหญ่" ด้วยเหมือนกัน

มาตรา 4 ใน พ.ร.ก. นิยามคำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ว่าหมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

นอกจากนั้น ในมาตรา 6 ที่กำหนดให้มี "คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน" คอยตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศที่อาจเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีนั้น ก็มี "อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย นอกจากเหนือจากกระทรวงด้านความมั่นคงและผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่าทัพ

ประโยชน์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ฝ่ายสนับสนุนให้ประกาศเห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็คืออำนาจตามมาตรา 5 ที่ให้นายกรัฐมนตรีใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมกันป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนได้ โดยนายกฯสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือบางท้องที่โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือจะประกาศไปก่อน แล้วค่อยขอความเห็นชอบจาก ครม.ภายใน 3 วันก็ได้

ผลของการประกาศจะทำให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือหลายกระทรวง หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายใดก็ตาม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับ บัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯเป็นการชั่วคราว เพื่อให้การสั่งการและการแก้ไขสถานการณ์เป็นไปโดยมีเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ (มาตรา 7)

กระนั้นก็ตาม ยังมีเนื้อหาบางมาตราที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างมากจนอาจ "หลอน" อยู่ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่เคยอยู่ใต้บังคับของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะในภาคใต้และการชุมนุมทางการเมืองทั้ง 2 สีที่ผ่านมา นั่นก็คืออำนาจตามมาตรา 9 และ 11 เช่น มาตรการเคอร์ฟิว ห้ามชุมนุมมั่วสุม ห้ามเสนอข่าว และอำนาจจับกุม-ควบคุมตัวโดยไม่ต้องขอหมายจากศาล โดยบางอำนาจสามารถใช้ได้เฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการก่อการร้ายเท่านั้น

ทว่าบางอำนาจก็น่าจะมีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาภัยพิบัติ เช่น ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามใช้อาคาร หรือให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด (มาตรา 9 วงเล็บ 4-6)

นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประโยชน์ของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็คือนายกฯในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารสามารถบูรณาการทั้งกำลังคนและงบประมาณจากหน่วยราชการทุกหน่วยได้เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างมีเอกภาพ และจะยิ่งมีประโยชน์มากขึ้นในการระงับยับยั้งการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ อย่างทันท่วงที ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นแล้วในขณะนี้

ส่วน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเคยติดตามการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในภาคใต้อย่างใกล้ชิด กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก.มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือสามารถบูรณาการอำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าบางเรื่องยังมีข้อติดขัด ต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวของหัวหน้าหน่วยงาน แม้จะไม่ส่งผลเสียหรือเป็นเรื่องใหญ่อะไรมาก แต่ก็ถือว่ามีอุปสรรคอยู่จริง ส่วนข้อเสียของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็คือกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศและส่งผลทางจิตวิทยาต่อการลงทุนจากต่างชาติ

"ต้องยอมรับว่าต่างประเทศก็ประกาศกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งตามกฎหมายมีวิธีประกาศเฉพาะเรื่องได้ ฉะนั้นจะไม่เหมือนกรณีที่ใช้ในภาคใต้หรือการชุมนุมทางการเมืองแน่นอน" นายชาญเชาวน์ ระบุ
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเสียงจากบางฝ่ายที่มองด้วยความเป็นห่วงว่า สถานการณ์น้ำท่วมเป็นเรื่องความเดือดร้อน ความเท่าเทียม ความรู้สึกเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข หากใช้กฎหมายเข้าไปกำกับบังคับอีก จะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นหรือไม่

เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ!


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ข้อดี-ข้อเสีย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชั่งน้ำหนัก ประกาศกู้น้ำท่วม

view