สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมืองไทยไม่เหมือนเดิม

จากประชาชาติธุรกิจ

คนเดินตรอก

วีรพงษ์ รามางกูร

 

ตลอดเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ คนไทยไม่ว่าจะเป็นผู้คนในระดับใด เมื่อพบกันก็มักจะถามไถ่กันว่าบ้านเมืองเราจะไปทางไหน จะจบลงอย่างไร

 

คำถามยอดนิยมอันนี้ไม่มีใครตอบได้ เพราะเป็นคำถามที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าบ้านเมืองของเรายังปกติสุขอยู่ ผู้คนมีความเชื่อมั่นในระบอบการปกครอง เชื่อมั่นว่ารัฐของเรามีกลไกที่จะทำให้เกิดความสงบสุข ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการดูแลให้เป็นที่ยอมรับได้กับทุกฝ่าย

 

เหมือนกับเราขับรถอยู่บนทางหลวง แม้จะเป็นทางหลวงที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ไม่ได้เทคอนกรีต หรือลาดยาง เพียงแต่โรยด้วยหินลูกรัง ฝนตกก็เป็นหลุมเป็นบ่อ แต่เราก็ยังคาดได้ว่าเราต้องไปถึงเชียงใหม่ เชียงราย หรือไปถึงอุดรธานี หนองคาย หรือไปถึงปัตตานี สตูลแน่ เพียงแต่จะไปถึงเมื่อไหร่

 

แต่เมื่อไม่ทันใจ เราจึงต้องตัดสินใจขับรถลงข้างทางวิ่งไปบนท้องไร่ท้องนา แล้วบัดนี้เมื่อมีคนมาถามว่า แล้วเราจะไปจบลงที่ใด เมื่อไหร่ คำถามดังกล่าวเป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ ถ้าใครตอบได้ก็เก่ง

 

เมื่อก่อนก็มีคำพูดอย่างที่รัฐมนตรี กรณ์ จาติกวณิช กล่าวว่า ถ้าไม่มีปฏิวัติก็คงจะจัดการกับคอร์รัปชั่นไม่ได้อย่างที่ทำไปแล้ว แต่เมื่อทำไปอย่างที่ทำไปแล้ว จนกระทั่งมีคำพิพากษายึดทรัพย์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ก็คงจะนึกกันโดยทั่วไปในหมู่คนชั้นสูงว่า เรื่องคงจะจบ เพราะให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินบางส่วน เหลือคืนบางส่วน ประชาชนคงพอใจ แต่การณ์ไม่เป็นเช่นนั้น เป็นการประเมินความรู้สึกของคนชั้นล่างผิดพลาด

 

เมื่อการณ์เป็นเช่นนั้น ผู้คนชั้นสูงกลับไม่มีความเชื่อมั่น กลับกลายเป็นว่าคำตัดสินแทนที่จะทำให้ปัญหายุติ กลายเป็นเรื่องที่ทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้นกว่าเดิม จนไม่ทราบว่าจะจบลงที่ไหน จะจบลงเมื่อใด จบอย่างไร

เมื่อเกิดเรื่องขึ้นใหม่ ๆ ในปี 2540 ใคร ๆ ก็นึกว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างคน 2 คน ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นเรื่องบานปลายใหญ่โต จนกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่เปลี่ยนคนไทยไปจนจำหน้าจำตาไม่ได้เสียแล้ว

 

วงการวิชาการก็เละเทะ วิพากษ์วิจารณ์กันไปคนละทางสองทาง แล้วแต่ใครจะมีอารมณ์ไปทางไหน เพราะสังคมไทยย่อยเรื่องที่เป็นนามธรรม มองภาพรวม มองแนวโน้มของสังคมซึ่งมีจิตวิญญาณ มีชีวิตจิตใจ และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ มองได้แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรม มองสังคมอย่างสิ่งของที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีวิญญาณ อยู่คงที่ไม่เคลื่อนไหว ตลอด 3-4 ปีมานี้จึงคาดการณ์ผิดพลาดอยู่ตลอดเวลา เพราะใช้การคาดการณ์ตามอารมณ์ของคน มากกว่าการวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ของชาติเราและชาติอื่น ไม่ใช้เครื่องมือหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทางสังคมและการเมือง ใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์เป็นหลัก

 

สังคมไทยในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมากลายเป็นสังคมปิดอย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารถูกจำกัดเนื้อหา ความหลากหลายทางความคิดหายไปอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่สังคมไทยเคยเป็นสังคมเปิดด้านข้อมูลข่าวสาร เมื่อเทียบกับบรรดา

 

ประเทศทั้งหลายในภูมิภาคที่กลายเป็น สังคมปิด ไม่ใช่ว่าคณะรัฐบาลทหารที่ปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะทำการตรวจข่าวหรือห้ามการออกข่าว แต่บรรยากาศในสังคมกลายเป็นบรรยากาศแห่งความกลัวเป็นบรรยากาศแห่งอคติ บรรยากาศแห่งความเกรงใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์สังคมและประเทศชาติของตนเอง แม้จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตและสร้างสรรค์ก็ตาม เพราะถ้าขืนทำก็จะถูกกล่าวหาทันทีว่าเป็นสีนั้นสีนี้ ซึ่งนำความหงุดหงิดหัวใจมาให้ทันที หลายคนก็เลยงดออกความคิดความเห็น นำพาให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมอคติไปอย่างรวดเร็ว

แต่การงดการออกความคิดความเห็นก็ทำให้ กลายเป็นสังคมที่อัดอั้น เป็นสังคมที่เหมือนน้ำที่อยู่ในหม้อต้มที่ปิดฝาไว้แน่น ที่ตั้งไว้บนเตาไฟแล้วน้ำก็เดือด ไอน้ำไม่มีทางออก เมื่อความดันในกาน้ำถึงขีดหนึ่ง กาน้ำที่ไม่มีรูระบาย ไอน้ำก็จะหาทางเปิดออก เหมือนกับที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

 

การปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยเคยต่อต้าน แต่เมื่อคราวที่แล้ว สื่อมวลชนไทยให้การต้อนรับเป็นอย่างดีเป็นปรากฏการณ์ใหม่ หลายคนเคยหวังผลว่าเมื่อมีปฏิวัติไล่รัฐบาลที่มาจากการซื้อเสียง รัฐบาลที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงออกไป เอา ′คนดี′ มาบริหารบ้านเมือง เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพื่อปัดกวาดสิ่งสกปรกทั้งหลายให้สิ้นซากไป ให้ความรู้แก่ประชาชน แล้วก็จัดการเลือกตั้งใหม่ ผลการเลือกตั้งก็ออกมาเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

 

ขจัดขับไล่รัฐบาลของพรรคที่ชนะการเลือก ตั้งออกไปแล้ว ฟ้องร้องให้ยุบพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งออกไปเป็นครั้งที่สองก็แล้ว ผลก็ยังออกมาเหมือนเดิม

 

แบ่งแยกพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งออก เป็นเสี่ยงเสี้ยว แล้วชักชวนพรรคเล็กให้มารวมกันเข้า ให้พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล เรื่องก็น่าจะเรียบร้อย เพราะเป็นไปตามแบบฟอร์มของประชาธิปไตยในสภา จนสามารถจัดตั้ง ′รัฐบาลผสม′ ขึ้นมาได้ ′การเมืองภาคประชาชน′ ที่ไม่ชอบรัฐบาลก่อน ๆ ก็สงบลงแล้ว แต่บ้านเมืองก็หาได้เรียบร้อยไม่ เกิดขบวนการ ′การเมืองภาคประชาชน′ อีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมา

 

กลายเป็นขบวนการคนเสื้อแดงขึ้นมา แล้วก็ดำเนินการทุกอย่างลอกแบบขบวนการคนเสื้อเหลือง จัดตั้งขบวนการนอกรัฐสภา เรียกว่าเป็นการเมืองภาคประชาชน ประกาศชุมนุมขับไล่รัฐบาล ประกาศให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จัดตั้งสถานีโทรทัศน์อิสระ ฝ่ายเสื้อเหลืองจัดตั้งสถานีเอเอสทีวีและได้รับการคุ้มครองชั่วคราว ฝ่ายเสื้อแดงก็จัดตั้งทีวีช่องประชาชน หรือดี.สเตชั่น เพียงแต่ยังไม่ยึดสถานที่ราชการ เช่น ทำเนียบรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง

 

ใครจะว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็ว่าไม่ถนัด เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็ทำอย่างเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลใช้สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุของทางราชการเป็นกระบอกเสียง อีกฝ่ายหนึ่งก็ใช้วิทยุชุมชนซึ่งยังไม่มีกฎหมายควบคุม เพราะมัวโอ้เอ้ในการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมระดับชาติ ทั้งสองฝ่ายต่างฝ่ายต่างก็กล่าวหาซึ่งกันและกัน ความแตกแยกทางความคิดจึงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดูจะไม่มีวันจบ

 

การประกาศชุมนุมกันที่มีผู้คนเข้ามาร่วม มากขึ้น มากขึ้น จึงเป็นอาการของไอน้ำเดือดของสังคมไทยในปัจจุบัน การวินิจฉัยสมมติฐานของโรคก็ทำได้ด้วยความยากลำบาก ไม่เหมือนที่อื่นซึ่งเป็นสังคมเปิด ที่ว่าเป็นสังคมปิดก็เพราะการสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการพูดจากัน เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่ เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยข่าวลือ แต่ข่าวลือก็อาจจะสร้างความเสียหาย และทำลายผู้คนได้อย่างสาหัส

 

สมัยก่อนเคยมีการพูดกันว่า คนในชนบทเป็นคนตั้งรัฐบาล แต่คนในกรุงเทพฯเป็นคนล้มรัฐบาล ออกมากล่าวเป็นทฤษฎี ′สองนคราประชาธิปไตย′ ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แต่บัดนี้ดูเหมือนสังคมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะกลายเป็นคนกรุงเทพฯตั้งรัฐบาล แต่จะถูกคนชนบทเป็นฝ่ายล้มรัฐบาลไปเสียแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทฤษฎีการเมืองไทยอาจจะต้องเริ่มบทใหม่

 

ครึ่งหลังของเดือนมีนาคม 2553 จึงเป็นครึ่งเดือนที่น่าห่วงว่าประวัติศาสตร์การเมืองของเราจะหักเหไปทางไหน ไม่มีใครตอบได้ รู้แต่เพียงว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความยุ่งยาก รู้แต่ว่าเป็นผลพวงที่มาจากขบวนการทางการเมืองที่สืบเนื่องกันตลอด 3-4 ปีนี้ และจะยุ่งยากต่อไปอีกหลายปี นักวิชาการบางคนเดาว่าต้องยุ่งยากไปอีก 3 ปี 5 ปี ซึ่งก็จะน่าเป็นไปได้

 

เป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายทุกระดับมีส่วนร่วมกันในการสร้างมันขึ้นมา แล้วก็ไม่มีทางออก ในที่สุดเหตุการณ์ก็คงดำเนินไปตามทางของมันอย่างที่ไม่มีใครบังคับได้ คนที่เป็นผู้ให้กำเนิดขึ้นมาก็บังคับไม่ได้ เพราะคนไทยเปลี่ยนไปมากแล้วโดยที่เขาไม่รู้ตัว

 

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่มีอยู่ กับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่ใหญ่โตลึกซึ้งเกินกว่าที่รัฐบาล รัฐสภา หรือแม้แต่ฝ่ายตุลาการจะแก้ไขอะไรได้

 

ทุกวันนี้ ในวงสนทนาจึงไม่ไปถึงไหน วนเวียนอยู่กับคำถามเดิม ๆ ที่ไม่มีคำตอบ ว่าบ้านเมืองของเรากำลังมุ่งหน้าไปทางไหน ลักษณะของประเทศจะเป็นอย่างไร คนกรุงเทพฯกับคนชนบทจะมีบทบาทเปลี่ยนไปหรือไม่ เมื่อไหร่จะได้เห็นแสงสว่างของปัญหา คำถามเหล่านี้ก็คงจะเป็นคำถามต่อไปอีกหลายปี

คงไม่มีใครตอบได้ หรือไม่ก็ไม่มีใครอยากตอบ

view