สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปริศนาคาใจฝั่งตะวันตกทำไมน้ำท่วม

จาก โพสต์ทูเดย์

ไขคำตอบกับคำถามคาใจ "น้ำท่วมฝั่งตะวันตก" ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ไม่ว่าจะเป็นปี2538 หรือ 2549

โดย...สิทธิณี ห่วงนาค

จากสถิติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 และปี 2549 ไม่เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ในฝั่งตะวันตกมาก่อน

พื้นที่น้ำท่วมจะจำกัดเฉพาะในพื้นที่ สุพรรณบุรี บางเลน นครชัยศรี อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ ไม่ลุกลามจนเกิดความเสียหายใหญ่หลวงอย่างที่กำลังปรากฏในปัจจุบัน

เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฝั่งตะวันตกตั้งแต่ จ.สุพรรณบุรี นนทบุรี กทม. ไล่ลงไปถึง จ.สมุทรสาคร ได้อย่างไร

นี่เป็นคำถามที่คาใจของหลายคนโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เพราะเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย

มันเกิดอะไรขึ้น !!!!

เมื่อมีคำถามคาใจก็ต้องตามล่าหาความจริงว่า น้ำมาจากไหน มาได้อย่างไร

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีนี้ เกิดปัญหาภัยแล้งระดับน้ำในเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำหล่อเลี้ยงการเกษตรกรรมหลายจังหวัด ลดต่ำลงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤตจนเห็นก้นอ่าง

แต่กลางเดือน มิ.ย. อากาศเริ่มแปรปรวน พายุไหหม่าพัดเข้ามาทางภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

อาทิ เขื่อนภูมิพล วันที่ 1 ก.ค. 2554 มีปริมาณน้ำเพิ่มเป็น 7,745 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 58% เขื่อนสิริกิติ์ 6,079 ล้าน ลบ.ม. หรือ 64%
หลังจากนั้นวันที่ 31 ก.ค. พายุนกเตนขึ้นประเทศไทย ทำให้ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ทางรถไฟในภาคเหนือหลายสายหยุดให้บริการ น้ำท่วม จ.ลำปาง แพร่และน่าน

จากนั้นประมาณต้นเดือน ส.ค. พายุหมุ่ยฟ้าตามเข้ามาอีกระลอก ประเทศไทยมีน้ำท่วมเป็นวงกว้างกว่า 40 จังหวัด ปริมาณน้ำทั้งหมดส่วนหนึ่งไหลลงเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ บางส่วนท่วมขังในพื้นที่บางระกำ และขณะนั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้ลงพื้นที่และผุดบางระกำโมเดล เกิดขึ้นเป็นโมเดลชุดใหม่ของไทย

พร้อมกันนั้นนายกฯ คนใหม่ก็ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ปริมาณน้ำในเขื่อนวันที่ 31 ส.ค. เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 10,436 ล้าน ลบ.ม. หรือ 78% น้ำเข้าเขื่อน 93 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 28 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 8,920 ล้าน ลบ.ม.หรือ 94%

จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทาน โดย วีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีขณะนั้น ได้คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำเหนือจำนวนมากลงมายังพื้นที่ภาคกลาง ประกอบกับต้นเดือน ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะมีฝนตกในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง จึงได้แจ้งเตือนผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ในภาคกลางทั้งหมด ตั้งแต่ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ให้เร่งเก็บเกี่ยวข้าวก่อนวันที่ 10 ก.ย. เนื่องจากฝนจะเริ่มตกตั้งแต่ 3 ก.ย. ฝนจะตกหนักผลผลิตจะเสียหาย

จากนั้นกรมชลฯ จะปล่อยน้ำเข้าทุ่ง โดยจะมีการพร่องน้ำจากเขื่อนประมาณวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเตรียมรับน้ำก้อนใหม่

แต่สถานการณ์ไม่เป็นตามคาด เพราะชาวบ้านบางส่วนเกี่ยวข้าวได้ บางส่วนเกี่ยวข้าวไม่ได้ การระบายน้ำลงทุ่งขยายเวลาออกไปอีกเกือบ 10 วัน ในขณะที่วันที่ 28 ก.ย.-5 ต.ค. มีพายุเข้าไทยติดกันถึง 3 ลูก คือ พายุไห่ถาง เนสาด นาลแก

อิทธิฤทธิ์ของพายุทั้งสามลูกนี้ ทำให้ จ.เชียงใหม่ เกิดน้ำท่วมในคืนเดียว ปริมาณน้ำทั้งหมดเข้าเขื่อนภูมิพลวันละ 150-200 ล้าน ลบ.ม. พบว่าวันที่ 16 ก.ย. น้ำเขื่อนภูมิพลเพิ่มเป็น 11,663 ล้าน ลบ.ม. หรือ 87% เขื่อนสิริกิติ์ 9,078 ล้าน ลบ.ม. หรือ 96%

และในวันที่ 1 ต.ค. น้ำในเขื่อนภูมิพลเพิ่มเป็น 12,554 ล้าน ลบ.ม. หรือ 93% ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนวันละ 115 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 9,394 ล้าน ลบ.ม. หรือ 99% น้ำเข้าเขื่อน 50 ล้าน ลบ.ม. และเกิดฝนตกในพื้นที่ภาคกลางส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนและน้ำเขื่อนท่วมพื้นที่ภาค กลางใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมาเกือบทั้งหมด ในขณะที่เชียงใหม่ฝนตกเพียงคืนเดียวท่วมตัวเมืองเชียงใหม่

วันที่ 30 ก.ย. มีการระบุว่า ปริมาณน้ำเหนือที่จะลงมา กทม. มีจำนวนมหาศาลมากกว่าปี 2549 หากบริหารจัดการไม่ได้หรือไม่ดี น้ำอาจท่วมถึงยอดเจดีย์เกาะเกร็ด แต่วันต่อมากรมชลฯ ออกข่าวแก้ไขว่า น้ำจะท่วมถึงยอดเจดีย์ไม่เป็นความจริง

วันที่ 5 ต.ค. เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเต็ม 100% ต้องปล่อยน้ำวันละ 100 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มจากที่ปล่อยวันละ 80 ล้าน ลบ.ม. ต่อเนื่องประมาณ 6 วันก่อนลดปริมาณหลังจากน้ำเข้าเขื่อนลดลง

ระหว่างที่น้ำเหนือกำลังทยอยลงมา ทุกจังหวัดท้ายเขื่อนเตรียมรับมือ สถานการณ์ความขัดแย้งของมวลชนที่แพร่ขยายต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ย. จากภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เจ้าพระยาหลายจังหวัดเริ่มรุนแรงขึ้น จังหวัดใต้เขื่อนเจ้าพระยาอย่าง ชัยนาท สิงห์บุรี เกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เรียกร้องให้กรมชลฯ เปิดประตูระบายน้ำพลเทพเพื่อให้รับน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีนเพิ่ม โดยเหตุการณ์เกิดต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือน ก.ย.

จนถึงวันที่ 26 ก.ย. ประชาชนส่วนหนึ่งเข้ารื้อคันประตูระบายน้ำพลเทพ เพื่อให้น้ำเข้าไปในพื้นที่สุพรรณบุรีเพิ่ม ทำให้พิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดังต้องไปเป็นเจ้าภาพห้ามศึก แม้เบื้องต้นจะยุติ แต่ปัญหาก็ไม่ได้คลี่คลาย

ระหว่างนี้เกิดปัญหาน้ำท่วมหลายจังหวัดใต้เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ประชาชนเรียกร้องให้กรมชลฯ เปิดประตูระบายน้ำพลเทพเพื่อรับน้ำเข้ามาแม่น้ำท่าจีน และประตูระบายน้ำบรมธาตุเพื่อรับน้ำเข้าแม่น้ำน้อย มีการประท้วงกรมชลฯต่อเนื่อง โดยมี สส.สุชาติ ลายน้ำเงินและ สส.พายัพ ปั้นเกตุ เป็นแกนนำ เรียกร้องต่อเนื่องและก่อวิวาทะระหว่างพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) และพรรคเพื่อไทย

ในขณะนั้นกรมชลฯ เปิดประตูระบายน้ำพลเทพที่ระดับ 170 ลบ.ม.ต่อวินาที จากความสามารถในการรับน้ำ 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ต่อเนื่องมาหลายวันแล้ว และเพราะมีฝนตกในพื้นที่ และกรมชลฯ ยืนยันว่าระบายเข้าไปเพิ่มมากไม่ได้ เพราะแม่น้ำท่าจีนมีข้อจำกัด นอกจากสุพรรณบุรีจะท่วมแล้ว ยังมี จ.นครปฐม สมุทรสาคร และพื้นที่ปลายน้ำได้รับผลกระทบ แต่คำชี้แจงดังกล่าวไม่เป็นผล

วันที่ 3 ต.ค. พายัพได้ยื่นหนังต่อนายกฯ ที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการซ่อมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี เรียกร้องให้นายกฯ ระบายน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีนเพิ่ม เพราะพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ยังแห้ง

ขณะที่ ชพน.ได้แถลงชี้แจงว่า สุพรรณบุรีท่วมหลายพื้นที่แล้ว ซึ่งต่อมาวันที่ 5 ต.ค. ประภัตร โพธสุธน แกนนำ ชพน. ลงทุนพาผู้สื่อข่าวไปดูว่าสุพรรณบุรีน้ำได้ท่วมมานานแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำท่วมมาก่อนหน้า 2 เดือน แต่ไม่เป็นข่าว ซึ่ง บรรหาร ศิลปอาชา เองก็ไม่พอใจต่อข่าวดังกล่าว ทำให้ในการประชุมคณะกรรมการบริหารน้ำที่กรมชลฯ บรรหารถึงกับเอ่ยให้พายัพลงไปดูพื้นที่จริงก่อนพูด เพราะสุพรรณบุรีท่วมเกือบทุกพื้นที่ ยกเว้นที่ดอนและในเมืองที่เทศบาศดูแลดีทำพนังกั้นน้ำอย่างดี

ความขัดแย้งของสองพรรคยุติลง หลังพี่ชายนายกฯ โทร.มาเคลียร์ใจและห้ามลูกพรรคพูดจาให้เกิดความขัดแย้งกัน

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้นนักวิชาการในศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) แนะนายกฯ ว่า ควรจะบริหารน้ำออกไปทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพราะกรมชลฯ ยังบริหารน้ำไม่เต็มที่

แต่หากเข้าไปดูสถิติการระบายน้ำของกรมชลฯ ผ่านระบบบริหารน้ำฝั่งตะวันตก จะพบว่าตั้งแต่เหตุการณ์พายุเข้าไทยกลางเดือน ส.ค.เป็นต้นมา ก็จะพบว่ามีการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ เพื่อผ่านแม่น้ำท่าจีน และประตูระบายน้ำบรมธาตุผ่านแม่น้ำน้อยไปออกทะเลอย่างต่อเนื่อง ในระดับ 200-226 ลบ.ม.ต่อวินาที

ในขณะที่ความสามารถในการรับน้ำของประตูระบายน้ำพลเทพอยู่ที่ 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ประตูระบายน้ำบรมธาตุที่มีกำลังรับน้ำประมาณ 230 ลบ.ม.ต่อวินาที มีการระบายผ่านประมาณ 40-136 ลบ.ม.ต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ประท้วงและมีการยื่นหนังสือให้ปล่อยน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีน เพิ่ม ประตูระบายน้ำพลเทพได้มีการระบายน้ำเพิ่มตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. เป็น 360 ลบ.ม.ต่อวัน เพิ่มเป็น 2 เท่าของความสามารถในการรับน้ำ

และที่ประตูระบายน้ำบรมธาตุในช่วงเวลาเดียวกันได้มีการระบายน้ำในปริมาณ 41 ลบ.ม. และเพิ่มเป็น 85 ลบ.ม. 136 ลบ.ม. เป็น 171 ลบ.ม. ต่อเนื่องตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ ซึ่ง ประภัตร กล่าวว่า สุพรรณบุรีพร้อมน้ำท่วม อยากใส่น้ำก็ให้ใส่เข้ามา

ผลจากการระบายน้ำเข้าไปเกินความสามารถของลำน้ำ ทำให้พื้นที่บริเวณแม่น้ำท่าจีนเกิดน้ำท่วมต่อเนื่องเป็นบริเวณกว้างไล่ลงไป ถึง อ.บางเลน จ.นครปฐม และขณะนี้กองทัพน้ำก็เข้าถล่มถนนพระราม 2 เพื่อหาทางไหลลงสู่ทะเล

จากการไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ได้คำตอบชัดเจนว่า ปริมาณน้ำนับหมื่นล้าน ลบ.ม. ที่ไล่ถล่มฝั่งตะวันตกนั้นมีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ เป็นน้ำจากฟ้าแต่เพราะขาดการจัดการที่ดี ทำให้น้ำจากฟ้ากลายเป็นน้ำเน่า กวาดเซาะเอาความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำที่สะสมมาหลายรัฐบาล ออกมาประจานให้เห็นว่าไม่มีใครให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาน้ำอย่างจริงจัง จนทำให้ความเสียหายบานปลายอยู่จนถึงขณะนี้

***ผังปริมาณน้ำในทุ่งฝั่งตะวันตกเจ้าพระยาตอนล่าง***

 


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ปริศนาคาใจ ฝั่งตะวันตก ทำไมน้ำท่วม

view