สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมชัย จิตสุชน ทีดีอาร์ไอวิพากษ์ รัฐบาลสอบตก แต่เพื่อไทยยังชนะ น้ำลด-เศรษฐกิจติดลบ ยิ่งลักษณ์ ยังอยู่

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สัมภาษณ์พิเศษ


เมื่อปัญหาน้ำท่วมกลายเป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อนักลงทุนเมินหน้าหนีน้ำ ไม่เชื่อมั่นความสามารถรัฐบาล

เมื่อ "ปม-ปัญหา" ถูกส่งต่อให้ "สุเมธ ตันติเวชกุล-วีรพงษ์ รามางกูร" เป็นแสงสุดท้ายในปลายอุโมงค์ของรัฐบาล

ในวาระที่ประเทศต้องจัดงบประมาณนับล้านล้าน นอกบัญชีรายจ่ายประจำ เพื่อฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด และป้องกันน้ำท่วมใหญ่ในปีหน้า

ปัญหาที่ว่า จะหาเงินมาจากไหน ลงทุนอะไรบ้าง รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ หัวใจในการกู้วิกฤตศรัทธาจากน้ำท่วม ต้องเริ่มด้วยมาตรการอะไร

"สมชัย จิตสุชน" แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีคำตอบ

- น้ำท่วมประเทศขนาดนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะไปรอดหรือไม่

เขา ต้องไปรอดนะ มันเป็นคำถามการเมืองนะ ในแง่หนึ่งคนที่ถูกกระทบจากน้ำท่วมไม่ใช่ฐานเสียงจากพรรคเพื่อไทย เพราะภาพใหญ่กลายเป็นคนกรุงเทพฯที่ไม่เลือกพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ฐานเสียงเขาคือคนเหนือกับอีสาน ที่ถูกน้ำท่วมไม่นานเท่ากรุงเทพฯ และคุ้นเคยกับน้ำท่วมดีอยู่แล้ว ดังนั้นไม่มีผลเลย

หากจะว่าน้ำท่วม ครั้งนี้ส่งผลเสียกับความนิยมในตัวคุณยิ่งลักษณ์ เมื่อฐานเสียงทางการเมืองยังแน่นอยู่ ต่อให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ เขาก็ยังกลับมา

หลังจากนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง 3 ระดับ อันแรกคือ หาแพะก่อนคือข้าราชการประจำ ดูก่อนว่าสังคมจะรับได้หรือไม่ หากจะปลดคนนั้นคนนี้ และปลดข้าราชการการเมือง ก็ต้องดูก่อนว่ากระแสรับหรือไม่ อย่างที่สองปรับ ครม. บางจุด แต่ถ้าจะไปถึงขั้นที่สามคือเปลี่ยนแปลงคุณยิ่งลักษณ์หรือไม่ อันนี้ผมไม่รู้ ก็คงแล้วแต่คนที่ดูไบมั้ง (หัวเราะ)

- ที่ผ่านมาแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล-ศปภ.เป็นอย่างไร

เป็น ผมให้สอบตกแน่นอน มันมีหลักฐานเยอะแยะไปหมด สิ่งที่แสดงว่าเขาบริหารไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสื่อสารที่สอบตกมาตลอด ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมากในภาวะวิกฤต มีภาพทีมโฆษกอย่างนี้ได้อย่างไร แสดงให้เห็นว่า การใช้คนนี่ใช้ไม่เป็นจริง ๆ มันเหมือนกับให้ตำแหน่งจากความสัมพันธ์ทางการเมืองมากกว่าความสามารถ

ในช่วง 5 วันแรก ใน ศปภ.มีแต่นักการเมืองเดินไปเดินมา ไม่มีใครรู้เรื่องน้ำเลย

- ในทรรศนะอาจารย์ถ้าเป็นรัฐบาลชุดที่แล้วอาจบริหารได้ดีกว่า

อาจ จะดีกว่า แต่คงไม่ดีกว่ามากมาย เป็นไปได้ว่าอาจเอานักวิชาการเข้ามาช่วยได้เร็วกว่า เพราะคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ได้เปรียบมาก เพราะปีที่แล้วเจอน้ำท่วมไปรอบหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งที่เจอไปแล้วคงจะเรียนรู้ นำข้อผิดพลาดมาแก้ไข แต่ดีกว่ามากไหมก็ไม่รู้ ต้องยอมรับว่ามวลน้ำมันมากจริง ๆ แต่อย่างน้อยเรื่องการสื่อสารผมว่าทำได้ดีกว่า

- เศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร

ปี นี้โดนกระทบแรงแน่นอน หลายคนประมาณการว่าเศรษฐกิจจะโตถึง 4% ผมยังไม่เชื่อ และที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาหั่นเหลือ 2.6% ผมก็ว่าจะต่ำกว่านั้นอีก คงต้องมีการปรับกันอีกรอบน่าจะเหลือสัก 2% เอาแค่ไตรมาส 4 ปีนี้ อาจติดลบสูงด้วย

ส่วนปีหน้าไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะมีเรื่องค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมฟื้นฟู และการดึงแรงงานให้กลับมาทำงาน หากมองในแง่จีดีพี คงฉุดขึ้นมาได้ หลังจากนี้รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่าทำถูกจุดและเหมาะสม ซึ่งยังพอช่วยลด ผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ดี

- หลังน้ำลด อะไรคือหัวใจสำคัญในการกู้วิกฤตครั้งนี้

มาตรการ ระยะยาวสำคัญที่สุด แต่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากความคิดที่ตกผลึก มีหลักวิชาการรองรับชัดเจน ถ้าผสมรวมกับตัวคนทำงานที่มีความ มุ่งมั่นทางการเมือง ไม่ใช่แค่ 5-6 เดือน แล้วก็เลิกกันไป ความเชื่อมั่นของประชาชน และนักลงทุนจะกลับคืนมา

- แผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวของรัฐบาล อาจต้องใช้เงินถึง 1 ล้านล้านบาท จะหาเงินจากไหน

วิธี แรกรัฐต้องกล้าขึ้นภาษี ตั้งเป้าไปที่กลุ่มคนรวย นักธุรกิจ บริษัทใหญ่ ๆ ก็จะได้เงินตรงนั้นเข้ามาเป็นของรัฐ ให้รัฐใช้จ่ายในการฟื้นฟูประเทศ ซึ่งวิธีนี้ควรจะทำมานานแล้ว เพราะเรามีโครงสร้างภาษีที่มีปัญหา ถ้าตั้งเป้าไป ที่คนรวยก็ต้องเริ่มต้นที่ภาษีทรัพย์สิน หากเก็บพวกนี้โดยไม่มีการลดหย่อน ผมประมาณไว้ว่าตัวนี้จะมีรายได้ปีละ 1 แสนล้านบาท

อีกตัวคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คนชอบคิดว่าทำร้ายคนจน แต่ที่ทีดีอาร์ไอเคยคำนวณแล้วพบว่า ภาระภาษีของคนรวยกับคนจนมันต่างกันไม่มาก คนจนที่เสียภาษีนี้มีอยู่แค่ 20% แรกเท่านั้น และเสียมากกว่าชนชั้นกลางไม่ถึง 1% หากทำตัวนี้จริง และแลกกับสวัสดิการดี ๆ หักลบกันแล้วคนจนจะกำไร แต่เงินจากคนรวยกับคนชั้นกลางจะทำให้รายได้เข้ารัฐเพิ่ม ซึ่งจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกปีละ 2 แสนล้านบาท

หากเราบอกว่าจะใช้งบฯ 1 ล้านล้าน มีแค่เงินเท่านี้ก็สามารถบริหารจัดการได้แล้ว เพราะว่าเงินก้อนใหญ่ไม่ได้ใช้ในปีเดียวหมด แต่ก็ใช้ในระยะ 5-6 ปี ส่วนไหนที่ขาดก็เอาไปกู้มา

วิธีที่สอง คือ ไม่ต้องเอาเงินของเอกชนในรูปแบบฐานภาษี แต่ชวนเขา มาร่วมลงทุน ยกตัวอย่างสร้างระบบระบายน้ำ อาจจะให้เอกชนเป็นเจ้าของ และเก็บค่าธรรมเนียมจากคนที่ได้ประโยชน์ ลักษณะเหมือนการทำทาง ด่วน แล้วคนที่ต้องเสียเงินก็คือกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม นี่ก็คืออีกระบบหนึ่งที่น่าสนใจ

- จะมีผลกระทบกับวินัยการเงินการคลังหรือไม่

ประเทศ ไทยมีเงิน ใช่ เพียงแต่ว่าเงินไม่ได้อยู่ในมือรัฐบาล ดังนั้นก็ต้องเอา 2 แนวทางนี้มาปรับใช้ มันจะไม่เสียวินัยการเงินการคลังเลย เมื่อรัฐใช้จ่ายเงินก้อนโตแล้วเก็บภาษีไปด้วย รัฐบาลก็ไม่เป็นหนี้ เพราะถือว่ายังมีรายได้ ส่วนอีกแนวทางเอกชนลงทุนเองก็ไม่เกี่ยวกับวินัยการเงินการคลังอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา

- แผนระยะสั้นจะดึงดูดนักลงทุนให้กลับมาอย่างไร

เรื่อง ความมุ่งมั่นทางการเมืองนี่ก็ช่วยได้ ความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างจริงจัง ทำให้เขาไม่ถอนฐานการลงทุน อย่างน้อยก็เห็นว่ามีการขยับตัว แต่แผนที่สองต้องทำอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่รีบทำแผนระยะสั้นก็ช่วยไม่ได้ และรัฐบาลฟื้นฟูได้เร็วทำได้ดี เขาก็ยังเชื่อมั่น แต่มาตรการที่ประกาศออกมา ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกใจเขาเท่าไร

- มาตรการฟื้นฟูควรเริ่มจากจุดไหน

ผม ให้ความสำคัญกับการจ้างงาน ต้องทำให้แน่ใจว่าคนตกงานแล้วมีงานทำ ต้องโยงไปถึงเรื่องนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องกู้ให้เร็ว ถ้าทำไม่ได้ต้องหาแหล่งงานสำรอง อะไรทำได้ก็ต้องทำ ตรงนี้จะช่วยได้มาก ส่วนเรื่องการฟื้นฟูซ่อมแซม จ่ายเงินชดเชยก็ทำไป

- สถานะของไทยในประชาคมอาเซียน หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

ต่อ ให้ไม่มีน้ำท่วมเราก็คงไม่ได้เป็นผู้นำ ยังมีสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่ล้ำหน้ากว่าเราเยอะ ไทยยังมีวิกฤตการเมืองอยู่เลย การลงทุนก็ยังต่ำอยู่ ต่อให้น้ำไม่ท่วม รัฐบาลก็คงไม่มีเงินไปลงทุน เพราะว่าโครงสร้างการเงินการคลังมีปัญหา ดังนั้นเมื่อไม่ลงทุน แผนพัฒนาก็คงไม่เกิด

ที่สำคัญที่สุดเราเอาเงินไปเสียกับประชานิยม ยิ่งไปกันใหญ่ ฉะนั้นก็คง ไม่มีเงินที่จะมาสร้างประเทศให้เราเป็น ผู้นำอาเซียน ที่เราทำได้ตอนนี้คือการ วิ่งไล่ตามหลังเขาก็แค่นั้น แต่เราก็ ต้องพยายามทำให้ได้ประโยชน์จากประชาคมอาเซียนมากที่สุด เช่น ระเบียบการย้ายแรงงานต้องทำให้ดีขึ้น

- นโยบายประชานิยมของรัฐบาลควรจัดการอย่างไร

ผม ก็บอกว่าเลิก แต่ไม่เป็นไรเขาคงไม่เลิก แต่หลายตัวไม่มีความจำเป็นเลย เขาใช้เงินไม่ถูกจุด เช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก นายกฯให้เหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นว่า รัฐบาลจะช่วยคนทุกกลุ่ม คนจนก็ต้องช่วย คนอยากมีบ้าน อยากมีรถก็ต้องช่วย มันฟังไม่ขึ้น เพราะคนที่อยากมีบ้าน อยากมีรถ อย่างไรก็ไม่ใช่คนจน ดังนั้นทำไมต้องเข้าไปช่วย คนจนตกงาน ยังมีอีกเยอะ ทำไมรัฐไม่เอาเงินมาช่วยเรื่องนี้ มันเป็นการตัดสินใจที่เป็นการเมืองสุด ๆ แย่มาก ๆ

อย่างโครงการจำนำ ข้าวแวดวงวิชาการพูดถึงกันเยอะ ครั้งนี้รัฐบาลคงรอดตัวใช้เงินไม่เยอะ เพราะข้าวเสียหายไปมาก ตรงนี้ทำให้การใช้จ่ายน้อยลงไป แต่นั่นหมายความว่าวันนี้มีชาวนาที่ข้าวเสียหายเยอะ ดังนั้นแทนที่จะรับจำนำข้าวราคาสูงให้กับชาวนาที่มีข้าวเหลืออยู่ แต่เอาเงินส่วนนี้เจียดมาช่วยชาวนาที่หมดตัวไปเรียบร้อยแล้ว รัฐควรจะเปลี่ยนลูกเล่นตรงนี้ นี่จะเป็นการใช้เงินที่ถูกต้องกว่า


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : สมชัย จิตสุชน ทีดีอาร์ไอวิพากษ์ รัฐบาลสอบตก เพื่อไทยยังชนะ น้ำลด เศรษฐกิจติดลบ ยิ่งลักษณ์

view