สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความรับผิดเพื่อละเมิดจากน้ำท่วม : น้ำท่วมไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยเสมอไป

ความรับผิดเพื่อละเมิดจากน้ำท่วม : น้ำท่วมไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยเสมอไป

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




จากการเกิดน้ำท่วมและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหันต์ในประเทศไทยในขณะนี้ ประชาชนที่ได้รับความเสียหายมากมาย
หลายคนกำลังเตรียมจะฟ้องร้องผู้มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น การฟ้องเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต้องฟ้องฐานละเมิดตามมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี  อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน”  และถ้าจะฟ้องหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งใด มีประเด็นที่ต้องพิจารณาด้วยว่า เป็นคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม และจะฟ้องหน่วยงานหรือจะฟ้องบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ 
 

ในส่วนที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลนั้น ถ้าเป็นการทำที่เรียกกันว่าการละเมิดทางปกครอง คือผู้ทำละเมิดหรือผู้ต้องรับผิดอย่างอื่นเป็นหน่วยงานทางปกครองซึ่งได้แก่ กระทรวงทบวงกรม ส่วนราชการต่างๆ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 (3) ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 จะต้องฟ้องที่ศาลปกครอง    เช่นคดี ที่เทศบาลจ้างเอกชนขุดลอกคูคลอง อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของเทศบาล โดยเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเป็นผู้ควบคุมงาน เอกชนผู้รับจ้างกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รั้วบ้านของชาวบ้านพังเสียหาย เทศบาลต้องชดใช้ ความเสียหายให้ชาวบ้าน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.308/2553) แต่ถ้าไม่ใช่การละเมิดทางปกครองคือไม่เข้าข่ายตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 9 (3) ก็จะเป็นการละเมิดทางแพ่งต้องฟ้องที่ศาลยุติธรรม เช่นคดีที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐขับรถยนต์ในการปฏิบัติตามหน้าที่ไปชนผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ การขับรถยนต์ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจใดๆ และไม่เป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 9 (3) การชนผู้อื่นบาดเจ็บจึงเป็นการละเมิดทางแพ่งต้องฟ้องที่ศาลยุติธรรม
 

ส่วนการจะฟ้องหน่วยงานหรือจะฟ้องบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับรับผิดชอบ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้หน่วยของรัฐจะต้องรับผิดในการทำ ละเมิดของเจ้าหน้าที่ไว้  มีสาระสำคัญคือ หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลการทำละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้จะต้องฟ้องเฉพาะหน่วยงานเท่านั้น จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ แต่หน่วยงานของรัฐนั้นอาจไปไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ได้ ถ้าการละเมิดนั้นเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่ถ้าการละเมิดนั้นไม่ใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่นั้นต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต้องฟ้องเจ้าหน้าที่เท่านั้น จะฟ้องหน่วยงานไม่ได้ 
 

การเกิดเหตุการณ์ท่วมในครั้งนี้ มีผู้อ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัย บางท่านก็อ้างว่าเป็น  Acts of God เพื่อยกเป็นเหตุที่ไม่ต้องมีผู้รับผิด คำว่า “เหตุสุดวิสัย” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หมายความว่า "เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้บุคคลต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น" ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกันกับ คำว่า Force Majeure ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดล่วงหน้าได้ และเป็นเหตุการณ์นอกเหนือการควบคุมของคู่สัญญา ที่ทำให้คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่หรือพันธะตามสัญญาได้ เช่น ภัยธรรมชาติที่เรียกกันว่า Acts of God เป็นต้นว่าแผ่นดินไหว น้ำท่วม แต่การเกิดน้ำท่วม หรือความเสียหายจากน้ำท่วม บางกรณีก็ไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็น Acts of God เสียที่เดียว แต่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ หรือเป็นผลที่มนุษย์มีส่วนทำให้เกิดขึ้นด้วย เช่น จากข่าวการเกิดน้ำท่วมในเมืองชื่อ Somerville  Mass. สหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว ที่มีการสอบสวนว่าน้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากความผิดของเจ้าหน้าที่ที่ควรจะต้องเปิดประตูเขื่อนกั้นน้ำเพื่อระบายน้ำออกไปก่อนฝนตก แต่ก็ไม่กระทำ มาเปิดประตูระบายน้ำหลังจากฝนตกแล้ว น้ำจึงท่วมเมืองก่อให้เกิดความเสียหาย หรือกรณีพายุเฮอร์ริเคน Katrina ถล่มรัฐมิสซิสซิปปีและรัฐลุยเซียนา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2548 เมืองที่เสียหายและมีคนเสียชีวิตมากที่สุดคือเมืองนิวออร์ลีนส์ เนื่องจากเขื่อนกั้นน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำแตก น้ำจึงทะลักไหลบ่าทำให้ทั้งเมืองจมอยู่ใต้น้ำ   การสอบสวนพบว่าเขื่อนที่แตกเกิดจากความบกพร่องในการก่อสร้างของมนุษย์ หรือตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด รวมทั้งท่อระบายน้ำด้วย ปรากฏว่า ฝนตก น้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคาร เนื่องจากท่อระบายน้ำอุดตัน และท่วมห้องของโจทก์เสียหาย ถือว่านิติบุคคลอาคารชุดกระทำละเมิด เนื่องจากเลินเล่อปล่อยให้ท่อน้ำอุดตัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 4493/2543)
 

จากกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและคดีตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ไม่มีใครเถียงหรือโต้แย้งว่า การเกิดพายุและฝนตกไม่ใช่ปรากฏการณ์ของธรรมชาติ หรือไม่ใช่ Acts of God แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ การเกิดน้ำท่วมหรือน้ำท่วมเสียหายหนักขึ้นจากที่ควรจะเกิด ส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วย กรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในขณะนี้ ก็เช่นกัน พายุที่กระหน่ำเข้าประเทศไทยและทำให้ฝนตกหนักช่วงที่ผ่านมา ไม่มีใครเถียงว่าไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติหรือไม่ใช่ Acts of god แต่การเกิดน้ำท่วมอย่างมากมายเป็นวงกว้าง ไม่ว่าในแง่ของพื้นที่โดยรวม หรือพื้นที่เฉพาะจุด เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น บางแห่งมีน้ำท่วมหนักและนานกว่าที่ควรจะเกิด บางแห่งไม่น่าจะท่วมก็ท่วม ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการใน การปิดเปิดเขื่อนไม่ว่าเขื่อนเล็กเขื่อนใหญ่และประตูน้ำต่างๆ เพื่อการกัก กั้น หรือระบายน้ำ ผิดพลาด รวมทั้งการไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในการป้องกันแก้ไขปัญหา ตลอดถึงการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดแก่ประชาชน เช่นยืนยัน สถานที่บางแห่งน้ำจะไม่ท่วมแต่ผลที่สุดน้ำก็ท่วม ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนอย่างมากมายเป็นวงกว้าง เข้าข่ายเป็นการทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนที่จะต้องมีหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิด คดีหลักน่าจะเป็นการละเมิดทางปกครอง ส่วนจะมีกรณีละเมิดทางแพ่งและมีกรณีที่เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวด้วยอย่างไรหรือไม่คงจะต้องพิจารณารายละเอียดเฉพาะกรณีประกอบด้วย
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ความรับผิด ละเมิดจากน้ำท่วม น้ำท่วม ไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย

view