สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทัพยุง3สายพันธุ์ถล่มกรุง ผวา ไข้เลือดออก ตัวใหม่

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

"ผอ.โรคติดต่อนำโดยแมลง"เผย ภาวะน้ำท่วมขังต่อเนื่องนาน ส่งผลพื้นที่ต่างๆ ต้องเผชิญกองทัพยุงที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว เตือน ปชช.ระวัง"ยุงลาย-ยุงรำคาญ"ก่อโรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วยตั้งแต่ต้นปีรวมกว่า 6 หมื่นราย เสียชีวิตแล้ว 56 ศพ "สธ."เฝ้าระวังตามศูนย์พักพิง หวั่นระบาด ด้าน "ผอ.โรคทางสมอง จุฬาฯ"ห่วงไวรัสไข้สมองอักเสบ-ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่แพร่เข้าไทย

นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ ต้องประสบกับน้ำท่วมขังต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้ทุกพื้นที่ในขณะนี้เกิดปัญหายุงแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว และสร้างความดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก สำหรับยุงที่พบในประเทศไทยนั้นมี 4 ชนิด ประกอบด้วย 1.ยุงรำคาญ พบมากกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากยุงชนิดนี้จะบินไกลถึง 1-2 กิโลเมตร และสามารถจำแนกยุงรำคาญที่มักพบในไทยได้ 3 ชนิด คือ 1.ยุงรำคาญ Culex gelidus มักพบตามท่อน้ำ ชอบบินข้างหู กัดเจ็บ แต่ไม่นำโรค แม้ในบางประเทศเคยมีรายงานการติดเชื้อไข้สมองอักเสบจากการถูกยุงชนิดนี้กัด แต่ในไทยยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยเป็นไข้สมองอักเสบจากยุงชนิดนี้ 2.ยุงรำคาญ Culex quiquefasciatus เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง แต่พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 1 และ 3.ยุงรำคาญ Culex Tritaeniorhynchus เป็นพาหะนำเชื้อไข้สมองอักเสบ เจอี แต่เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรการในการให้วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบชนิดนี้ อยู่แล้ว จึงไม่พบการระบาดของโรคนี้ โดยยุงชนิดนี้มักพบตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ม้า เป็นต้น

นพ.วิชัยกล่าวต่อว่า ยุงชนิดที่ 2.ยุงลายพบประมาณร้อยละ 10 ลูกน้ำยุงลายสามารถเติบโตได้ในแหล่งน้ำนิ่ง และเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก แต่ธรรมชาติของยุงลายจะบินไม่ไกล 100-200 เมตร ดังนั้น จึงไม่ควรมีแหล่งน้ำขังอยู่ภายในบ้าน หากเลี่ยงไม่ได้ควรหาทางลดการสัมผัสกับยุง โดยการจุดยากันยุง นอนกางมุ้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันยังเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทำให้ประชาชนที่ประสบ อุทกภัยต้องไปพักที่ศูนย์พักพิงจำนวนมาก จึงอาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ ทางสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงจึงมีการเฝ้าระวังตามศูนย์พักพิงต่างๆ ขณะนี้พบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากขึ้น แต่ยังอยู่ในจำนวนที่น้อย ยังไม่ถือเป็นนัยสำคัญทางสถิติ แต่ยังจำเป็นต้องแนะนำวิธีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามศูนย์พักพิง ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

"ส่วนยุงชนิดที่ 3 และ 4 คือ ยุงเสือ และยุงก้นป่อง โดยยุงทั้ง 2 ชนิดนี้รวมกันมีรายงานการพบไม่ถึงร้อยละ 10 โดยในส่วนของยุงเสือจะพบตามผักตบชวา เป็นพาหะทำให้เกิดโรคเท้าช้าง แต่ยังถือว่ามีในจำนวนที่น้อยมาก ขณะที่ยุงก้นป่องมีรายงานว่าพบตามแหล่งน้ำทิ้งบ้าง แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการระบาดของโรคมาลาเรีย เพราะโรคนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อยุงก้นป่องไปกัดคนที่เป็นมาลาเรียแล้วไปกัดคน อื่นต่อเท่านั้น" นพ.วิชัยกล่าว

นพ.วิชัยกล่าวต่อว่า ในช่วงน้ำท่วมต้องระวังยุงรำคาญและยุงลาย โดยเฉพาะยุงลาย ก่อโรคไข้เลือดออก แม้ขณะนี้ตัวเลขยังไม่มาก แต่ต้องระวัง โดยเฉพาะในศูนย์พักพิงที่หากมีผู้ป่วยติดเชื้อเด็งกี่ อาจแพร่ไปยังคนอื่นได้ จึงต้องนอนในมุ้ง ทายากันยุงป้องกัน ขณะที่โรคจากยุงรำคาญจะเป็นไข้สมองอักเสบ เท้าช้าง แต่น้อยมาก อย่างไข้สมองอักเสบ ไม่ต้องกังวล เพราะมีการฉีดวัคซีนป้องกันแต่เด็กๆ แล้ว เพื่อป้องกันยุงเหล่านี้ นักวิจัยของกรมควบคุมโรคได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) ศึกษาเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง พบว่าเมื่อนำมาใส่ไว้ในภาชนะใส่น้ำฝน มีลักษณะเป็นน้ำใสจะฆ่าลูกน้ำยุงลายได้ จึงมีการศึกษาต่อว่าจะสามารถนำมาใช้ในแหล่งน้ำท่วมขังได้หรือไม่ และพบว่าใช้ได้ เช่นกัน โดยหากนำมาพ่นในแหล่งน้ำในขอบเขตที่จำกัดจะสามารถฆ่าลูกน้ำยุงรำคาญได้ภายใน 3 วัน แสดงว่าแบคทีเรียชนิดนี้จะกำจัดลูกน้ำยุงทั้งสองชนิดได้ ทำให้ป้องกันได้ทั้งโรคไข้เลือดออก และไข้สมองอักเสบ

นพ.วิชัยกล่าว ด้วยว่า สำหรับตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปี 2554 ถึงปัจจุบันพบมีจำนวน 64,000 ราย เสียชีวิต 56 ราย ขณะที่ปี 2553 พบผู้ป่วย 100,000 ราย เสียชีวิต 100 ราย ซึ่งไม่แตกต่างหรือน่ากังวลนัก

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังก่อให้เกิดฝูงยุงในที่ต่างๆ จำนวนมหาศาล หลายคนอาจจะคิดไปว่ายุงดุขึ้น กัดเจ็บมากขึ้น คนแพ้พิษมากขึ้น เรื่องเหล่านี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ยืนยันทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน แต่สิ่งที่เป็นความจริงคือ เมื่อมีน้ำท่วมขัง ยุงมีโอกาสวางไข่ได้มากขึ้น ปริมาณยุงก็มากขึ้น โอกาสที่คนจะถูกกัดมีมากขึ้นตามลำดับ

"ส่วนที่ รู้สึกกันว่ายุงกัดเจ็บมากขึ้น ดุมากขึ้นนั้น อธิบายตามความเป็นไปได้คือ ยุงที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ความต้องการอาหาร คือเลือด ไม่ว่าจะเป็นของคนหรือสัตว์ ก็ย่อมมีมากขึ้น ในเมื่อหากัดกินเลือดสัตว์ไม่ได้ก็ต้องมากินเลือดคน โอกาสจะถูกกัดก็มีสูงมากกว่าปกติที่ผ่านมา เพราะระบบป้องกันตัวเองมีน้อย ส่วนที่รู้สึกว่าพิษยุงที่กัดแล้วเป็นผื่นคัน ไม่นับเรื่องการเผยแพ้เชื้อโรคมีมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะคนอยู่กับน้ำที่ไม่สะอาด อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ไม่พึงปรารถนา สุขภาพจิตเสื่อม ความต้านทานในโรคก็ต่ำลง เมื่อถูกยุงกัด ผิวหนังและร่างกายที่มีภูมิต้านทานต่ำกว่าช่วงเวลาปกติ จึงแสดงออกมาโดยการบวมแดง และหายช้าลงนั่นเอง" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นกังวลมากในเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องของการแพ้พิษยุง แต่เป็นเรื่องของเชื้อโรคที่มียุงเป็นพาหะ โดยเฉพาะโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากยุงรำคาญ และไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ล่าสุด ที่เพิ่งจะมีรายงานเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา คือปกติแล้วไข้เลือดออกจะมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการของวงการแพทย์ของแอฟริกาและมาเลเซียว่าพบคน ไข้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากยุงลายที่มีสายพันธุ์มาจากป่า (sylvatic) เดิมยุงชนิดนี้จะกัดและปล่อยเชื้อเฉพาะในสัตว์ป่า เช่น ลิง เท่านั้น ยังไม่มีใครทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่า ผู้ป่วยในแอฟริกาและมาเลเซีย ซึ่งมีจำนวนหนึ่ง ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจากยุงที่มีสายพันธุ์จากป่า ได้อย่างไร เป็นเรื่องของวิวัฒนาการของยุงที่กลาย พันธุ์หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์กำลังสงสัยและเร่งหา คำตอบอยู่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว อีกว่า ยุงรำคาญจะเป็นพาหะของโรคไข้สมองอักเสบ โดยที่ผ่านมาเชื้อชนิดนี้จะพบมากในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มากคือ เด็ก และ ผู้สูงอายุ ล่าสุด มีการศึกษาพบว่าจากความเชื่อที่ว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันเจอี ที่ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ นอกจากจะป้องกันโรคไข้สมองอักเสบได้แล้ว หากถูกยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด โอกาสที่จะเกิดโรคไข้เลือดออกมีน้อย หรือไม่มีเลยนั้น ไม่เป็นความจริง และกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามคือ มีโอกาสจะเกิดโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงมากขึ้นด้วย

"ที่กังวลเรื่อง สุดท้ายคือ ไวรัสไข้สมองอักเสบพันธุ์ใหม่ ที่เกิดจากยุงรำคาญที่ชื่อ เวสต์ ไนล์ ไวรัส (west nile virus) เริ่มระบาดครั้งแรกประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1999 และหลังจากนั้นภายในเวลา 3 ปี ก็ลุกลามทั่วสหรัฐ กระทั่งเวลานี้ได้เริ่มระบาดเข้ามาในภูมิภาคเอเชียแล้ว กลัวว่าช่วงเวลาที่จำนวนยุงรำคาญเพิ่มขึ้นสูง อาจจะมีกลไกบางอย่างที่เรายังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ทำให้ไข้สมองอักเสบพันธุ์ใหม่ระบาดเข้ามาในไทยช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองได้เตรียมแผนเพื่อรองรับการระบาดของทั้งสองโรคนี้ เอาไว้แล้ว" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว


(ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 พ.ย.2554)


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ทัพยุง 3สายพันธุ์ ถล่มกรุง ไข้เลือดออกตัวใหม่

view