สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มาตรการ 6 แบงก์ชาติแค่ พาราฯ โลกตั้งตารอยาฆ่าเชื้อหนี้ยุโรป

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

อาจถือได้ว่าเป็นทั้ง “ข่าวดี” และ “ข่าวร้าย” ส่งท้ายปีไปพร้อมๆ กัน กับความร่วมมือของ 6 ธนาคารกลางใหญ่ระดับโลก นำโดยเฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางของอังกฤษ ญี่ปุ่น แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์ ที่เปิดสวอปไลน์ให้แบงก์พาณิชย์กู้ยืมเงินเหรียญสหรัฐจากแบงก์ชาติเหล่านี้ ได้ถูกลง โดยลดค่าธรรมเนียมกู้ยืมให้ 0.5% ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2011–1 ก.พ. 2013 และเปิดช่องให้กู้ยืมเงินสกุลอื่นได้ด้วยในกรณีที่จำเป็น เพื่อลดความตึงเครียดในระบบการเงินโลก จากวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในยุโรป

ข่าวดีก็คือ นี่เป็นสัญญาณชี้ชัดทางการเมืองว่า ประเทศการเงินขนาดใหญ่ทั่วโลกพร้อมที่จะจับมือกันเพื่อร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมดีกว่าการแก้ปัญหาแบบตัวใครตัวมัน

ทว่าข่าวร้ายที่ดูจะมีหลายข้อมากกว่าด้านดีก็คือ นี่เป็นสัญญาณชี้ชัดเช่นกันว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกวันนี้ “รุนแรงกว่าที่คาดไว้”

อาจเลวร้ายยิ่งกว่าแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส เมื่อปี 2008 และการจับมือกันเสริมสภาพคล่องของ 6 แบงก์ชาติครั้งนี้ ก็ยังเป็นเพียงมาตรการ “บรรเทา” เบื้องต้น ที่ยังถือว่า “ห่างชั้น” หากจะงัดมาเพื่อแก้วิกฤตการณ์หนี้ยุโรป

และหากมองในแง่ที่ว่าการจับมืออัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบของ 6 แบงก์ชาติครั้งนี้ ช่างเหมือนกับมาตรการในปี 2008 เพื่อแก้วิกฤตการณ์ทางการเงินสหรัฐหลังการล่มสลายของวาณิชธนกิจ เลห์แมน บราเธอร์ส ปัญหาหนี้ยุโรปในปลายปี 2011 ก็อาจนับได้ว่าเป็น “วิกฤตการณ์สินเชื่อครั้งที่ 2” (Credit Crunch II) ที่ลุกลามจากภาครัฐเข้าสู่ภาคการเงินทั้งระบบ

การให้พาราเซตามอล 2 เม็ด จึงทำได้แค่บรรเทาอาการปวด และไม่สามารถช่วยให้หายจากโรคได้เหมือนกับการให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นมาตรการแรงที่เหล่าแบงก์ชาติหรือรัฐบาลกลางยังไม่พร้อมจะเข้าแลก

ในเบื้องต้น ยาแก้ปวด 2 เม็ดนั้น สามารถช่วยให้ตลาดทุนหายปวดหัวเป็นปลิดทิ้งชั่วขณะ ตลาดหุ้นทั่วทั้งโลกพุ่งทะยานสูงสุดอย่างไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบกว่า 2 ปีมานี้ ดัชนี FTSE-100 ตลาดลอนดอน บวกได้ 3.16% ไปปิดที่ 5,505.42 จุด ดัชนี CAC-40 ปารีส บวก 4.22% ไปปิดที่ 3,154.62 จุด และ DAX-30 แฟรงก์เฟิร์ต บวกแรง 4.98% ปิดที่ 6,088.84 จุด

ฟากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์บวกได้ถึง 4.2% ไต่ไปถึงเกือบ 500 จุด ขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 12,045.68 จุด หรือขึ้นสูงสุดภายในวันเดียวในรอบ 2 ปีครึ่ง เช่นเดียวกับเอสแอนด์พี 500 ที่บวกได้ 4.3% และแนสแด็ก 4.2% ขณะที่ฝั่งเอเชียนั้นก็บวกกันได้ทุกตลาด โดยเฉพาะฮ่องกง ซึ่งดัชนีฮั่งเสงทะยานขึ้นไปถึง 1,012.91 จุด หรือบวก 5.63% ไปปิดตลาดที่ 19,002.26 จุด เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.

เพราะอย่างน้อยที่สุด การลดค่าธรรมเนียมกู้ยืมจากแบงก์ชาติลง 0.5% มาอยู่ที่ราว 0.6% ก็ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในตลาดการเงินให้แบงก์พาณิชย์ทั้งในยุโรป และสหรัฐได้ในระดับหนึ่ง โดยช่วยให้สามารถเข้าถึงเงินได้ง่ายขึ้น จากสภาพปัจจุบันที่การปล่อยสินเชื่อเป็นไปอย่างตึงตัว ทั้งการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจ หรือการปล่อยกู้ระหว่างแบงก์พาณิชย์ด้วยกันเอง

เอพีรายงานว่า การปล่อยกู้ของบรรดาแบงก์ยุโรปให้แก่ภาคธุรกิจในไตรมาส 3 ลดลงถึง 16% และเริ่มมีสัญญาณมาช่วงหนึ่งแล้วว่า แบงก์ในสหรัฐปล่อยกู้ให้แบงก์ในยุโรปน้อยลง เพราะจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนว่า บรรดาแบงก์พาณิชย์ทั้งรายใหญ่และรายย่อยทั่วยุโรป “จะขาดทุน” จากการถือครองตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลที่มีปัญหาหนี้มากเท่าไร

ส่วนการระดมทุนจากการออกตราสารหนี้ต่างๆ ก็ทำได้ยากขึ้น เพราะทุกวันนี้ตราสารหนี้กลายเป็นสิ่งที่นักลงทุน “ไม่เชื่อมั่น” มากที่สุดอย่างหนึ่งไปแล้ว

หากยังปล่อยให้ตลาดสินเชื่อตึงตัวเช่นนี้ต่อไป นักลงทุนอาจตัดสินใจเทขายหุ้นทิ้งครั้งใหญ่เหมือนที่เคยทำมาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งจะกลายเป็นจุดเริ่มของวิกฤตการณ์ภาคการเงินครั้งใหญ่ตามมา ทั้ง 6 แบงก์ชาติจึงต้องออกมาตรการเบื้องต้นเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของตลาดทุน ซึ่งถือเป็นมาตรการร่วมกันทั่วโลกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การประกาศลด อัตราดอกเบี้ยพร้อมเพรียงกันเมื่อเดือน ต.ค. 2008 ก่อนที่จะทยอยแก้ปัญหากันต่อไป

และสิ่งที่นักลงทุนต้องการเห็นมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ มาตรการช่วยซื้อพันธบัตร (Bonds Purchasing) เหมือนกับที่เฟดตัดสินใจทำมาก่อนหน้านี้ เพื่อแก้วิกฤตซับไพรม์

ทว่าอีซีบี ซึ่งมีรูปแบบและอำนาจหน้าที่ที่ต่างไปจากเฟด ไม่สามารถเข้าซื้อพันธบัตรจากรัฐบาลที่มีปัญหาโดยตรงได้ จะซื้อได้ก็จากตลาดรอง (Secondary Market) เท่านั้น และยังกังวลว่าหากอัดฉีดเงินมากเกินไป จะกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อ และยิ่งบีบให้รัฐบาลต่างๆ ต้องรัดเข็มขัดตัดลดงบประมาณหนักขึ้นไปอีก ซึ่งมาตรการรัดเข็มขัดเป็นเสมือนดาบ 2 คม ที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังยิ่งในเวลานี้

สิ่งที่หลายฝ่ายต้องจับตาดูต่อไป ก็คือการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ ว่าจะมีมาตรการอย่างไรต่อไป หลังจากที่การประชุมรัฐมนตรีคลังก่อนหน้าไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการเพิ่ม วงเงินกองทุนรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) ให้ถึงเป้าที่เคยตั้งไว้ 1 ล้านล้านยูโร และแม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ถูกโยนให้เข้าช่วยด้วย ก็กระเป๋าแฟบมีเงินเหลืออยู่ในขณะนี้แค่ 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

และโลกก็คงต้องเตรียมรับมือความผันผวนของตลาดทุนหลังจากนี้อย่างไม่มีทางเลือก


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : มาตรการ 6 แบงก์ชาติ พารา โลก ตั้งตารอ ยาฆ่าเชื้อ หนี้ยุโรป

view