สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เลิกทะเลาะก่อนเสื่อม

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

พสกนิกรต่างปลาบปลื้มที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคม ณ มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และมีพระราชดำรัสแก่คณะรัฐมนตรี สส. สว. ข้าราชการ ประชาชนคนไทย เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธ.ค. 2554

พระราชดำรัสแก่ผู้มาเฝ้า ความตอนหนึ่งว่า “ขณะนี้ ประชาชนกำลังเดือดร้อนลำบากจากน้ำท่วม จึงขอ จึงชอบที่จะร่วมมือกัน ปัดเป่าแก้ไขให้ผ่านพ้นไปโดยเร็ว และจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน อย่างเช่น โครงการต่างๆ ที่เคยพูดไปนั้นเป็นการแนะนำไม่ได้สั่งการ แต่ถ้าเป็นการปรึกษากันแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ คุ้มค่า และทำได้ก็ทำ ข้อสำคัญจะต้องไม่ขัดแย้ง แตกแยกกัน หากจะต้องให้กำลังใจ ซึ่งกันและกันเพื่อให้งานที่ทำบรรลุผลที่มีประโยชน์ เพื่อความผาสุกของประชาชน และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ”

เป็นความห่วงใยของพระเจ้าแผ่นดินต่อวิกฤตอุทกภัยในรอบ 50 ปี ที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างทุกข์สาหัสตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา บางพื้นที่ในต่างจังหวัดยังแช่น้ำนานกว่า 3 เดือน

ในปัญหาเรื่องน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระทัยและให้ความสำคัญมายาวนาน โดยเฉพาะพระราชดำรัสเมื่อปี 2538 ที่ทรงเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องวางแผนจัดการน้ำตั้งแต่ครั้งนั้น แต่ไม่ได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลในแต่ละยุค จนที่สุดเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เป็นความสูญเสียมหาศาลจากยอดผู้เสียชีวิตกว่า 600 ราย และความเสียหายทางทรัพย์สินของประชาชนทะลุ 1 ล้านล้านบาท

แม้ว่าหลายพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย มีกิจกรรมบิ๊กคลีนนิงเดย์ รวมพลังชุมชนทำความสะอาด แต่ก็อีกหลายพื้นที่ทั้งฝั่งตะวันตกและตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังคงท่วมขังนาน ส่งผลให้น้ำเน่าเหม็น หลายคนทุกข์ยาก สิ้นหวัง ไม่ได้รับการเยียวยา และไม่เห็นสัญญาณว่า จะได้กลับบ้าน ใช้ชีวิตตามปกติเมื่อไร อีกนานแค่ไหนน้ำจะลด หากจะรอให้ระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาหรือลงทะเลก็ต้องเลยไปถึงปีใหม่

ภาพที่เกิดขึ้นตลอดเดือนกว่าที่ผ่านมา ผู้ประสบภัยต้องพึ่งตัวเอง เมื่อทางการไม่เหลียวแลใส่ใจเท่าที่ควร ชาวบ้านต้องออกมาชุมนุมกดดันปิดถนน บางจุดเรียกร้องให้รัฐบาล กทม.เปิดประตูระบายน้ำ รื้อแนวบิ๊กแบ็กกันเอง จนบานปลายกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านเหนือคันกั้นกับใต้คันกั้น และระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ หลายชุมชนทนไม่ไหวไปยื่นฟ้องศาลปกครองเป็นที่พึ่ง

รัฐบาล ทั้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ผอ.ศปภ.) พยายามส่งสัญญาณให้ความหวังว่า ทุกอย่างจะดีขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ระดับน้ำในทะเลจะไม่หนุนสูงกว่านี้ แต่ปัจจุบันการระบายน้ำทำได้ช้ากว่าที่พูดไว้

ประชาชนเดือดร้อนไม่พอ ยังต้องมาขัดแย้ง แตกแยกอีก...

ผู้มีอำนาจ ศปภ.และ กทม.ก็โยนกลอง ปัดความรับผิดชอบว่า ไม่มีอำนาจเข้าไปแก้ปัญหาเพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็นความไม่ใส่ใจแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของชาวบ้าน โดยเฉพาะ ศปภ.ที่ปล่อยให้แกนนำเสื้อแดง พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ แกนนำชาวลำลูกกา อ้างคำสั่งของ ศปภ.ไปเปิดศึกกับ กทม.โดยไปยกประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ และประตูระบายน้ำคลองลำหม้อแตก ระบายน้ำจากฝั่งปทุมฯ แต่ก็ไหลไปสร้างปัญหากระทบด้านใน ฝั่งสายไหม บางเขน

รัฐบาลมีอำนาจเต็มในการจัดการบริหารน้ำเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว เพราะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประกาศใช้ มาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. แต่เมื่อรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ ก็โยนให้ กทม.แก้ปัญหาตามลำพัง และโทษ กทม.ว่าไม่ใส่ใจเพื่อเฉลี่ยความรับผิดชอบร่วมกัน

ยังไม่รวมปัญหาที่เกิดขึ้นใน ศปภ.อีกมาก ทั้งปมการทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ เรือ ส้วม จนถูกฝ่ายค้านนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่รัฐบาลก็ยอมรับว่า มีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นจริง ก่อนจะปัดความรับผิดชอบกันพัลวันระหว่าง มท.1 กับ ผอ.ศปภ.ยังเจอปัญหาการแจกถุงยังชีพเน่าให้กับชาวนนทบุรีจนเป็นข่าวครึกโครม

ไม่เฉพาะปัญหาความขัดแย้งในการแก้ปัญหาระหว่างรัฐบาล กับผู้ว่าฯ กทม.ที่เป็นของคนพรรคฝ่ายค้านจนทะเลาะกันในสภาระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ภายในรัฐบาลก็ยังขัดแย้งกันเองในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ระหว่างพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล กับ พรรคชาติไทยพัฒนาที่ ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งการโยนความผิดให้กับพรรคบรรหาร ศิลปอาชา ว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาผิดพลาดเพราะไม่ยอมให้น้ำระบายไปทางทิศตะวัน ตกจนน้ำเอ่อเข้าท่วมเจ้าพระยา จนกระทบกับพื้นที่ กทม.

คำสัญญาของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่รับปากประชาชนว่า “เอาอยู่” ครั้งนี้ ให้คำมั่นในรายการยิ่งลักษณ์พบประชาชนว่า ทุกพื้นที่จะแห้งแน่ก่อนปีใหม่ ยกเว้นพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำอาจต้องเลยปีใหม่ แต่ประชาชนก็หวังลมๆ แล้งๆ เพราะอย่างไรเสียน้ำก็จะค่อยๆ ลดอยู่แล้ว

ฝ่ายการเมืองที่ขัดแย้งกันโดยเฉพาะรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม มีเครื่องมือเครื่องไม้ และบริหารตามกฎหมายบรรเทาสาธารณภัยควรยุติการสร้างปมความขัดแย้งใหม่ หรือให้ลูกพรรคเปิดเกมถล่ม กทม. ซ้ำเติมความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน ถ้า ศปภ.และกทม.ร่วมมือกันโดยไม่ต้องสนใจเรื่องคะแนนเสียง การแก้ปัญหาความเดือดร้อนน่าจะได้รับการบรรเทามากกว่านี้ อย่าลอยตัวเหนือปัญหาเพราะนี่ยังเป็นวิกฤตที่กระทบประชาชนจำนวนมากอยู่

หากยังเล่นเกมบนความทุกข์ของประชาชน ความเสื่อมศรัทธาในตัวนักการเมืองจะตกต่ำถึงขีดสุด


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เลิกทะเลาะ ก่อนเสื่อม

view