สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลตอบแทนจากการลงทุน 1980-2011

ผลตอบแทนจากการลงทุน 1980-2011

ในระยะหลังนี้การลงทุนมีความผันผวนมาก ล่าสุดเมื่อธนาคารกลางสหรัฐต่ออายุโปรแกรมการปล่อยกู้เงินดอลลาร์ไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2013
และลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงจาก 1% เป็น 0.5% ให้กับธนาคารกลางของ 5 ประเทศหลัก (ธนาคารกลางยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา สวิส และอังกฤษ) ก็ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นทั่วโลก 5-6% ภายในวันเดียว คงเป็นเพราะนักลงทุนมองว่านอกจากมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการขาดสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในยุโรปแล้ว ยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักลงทุนเช่นที่เคยทำอย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ การดำเนินการร่วมกันของ 6 ธนาคารกลางถูกมองว่าเป็นการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้สาธารณะยุโรป
 

แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่าสิ่งที่ธนาคารกลางทั้ง 6 ทำคือการเพิ่มช่องทางและสภาพคล่องสำหรับสถาบันการเงินที่ขาดแคลนเงินดอลลาร์ กล่าวคือ ธนาคารกลางสหรัฐจะปล่อยกู้เงินดอลลาร์ให้กับธนาคารกลางอีก 5 แห่งที่กล่าวถึง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางยุโรปก็จะนำเอาเงินยูโรไปกู้/แลกเงินดอลลาร์ โดยจ่ายดอกเบี้ย 0.5% หลังจากนั้น ธนาคารกลางยุโรปก็จะมีเงินดอลลาร์ที่จะสามารถนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ของยุโรปที่ขาดแคลนเงินดอลลาร์ โดยจะให้ธนาคารพาณิชย์ประมูลราคา (ดอกเบี้ย) แข่งกัน ทั้งนี้ อย่าลืมว่าธนาคารกลางสหรัฐกดดอกเบี้ยระยะสั้นลงเหลือ 0% อยู่แล้วปัจจุบัน ดังนั้น หากธนาคารพาณิชย์ไม่ขาดแคลนเงินดอลลาร์อย่างรุนแรงจริงๆ ก็จะไม่มาขอกู้จากแหล่งนี้ (การต้องเข้ามาขอกู้อาจถูกมองได้ว่าเป็นสถาบันการเงินที่มีปัญหาได้ด้วยซ้ำ)
 

ที่สำคัญ คือ การเพิ่มสภาพคล่องในส่วนของเงินดอลลาร์นั้นเป็นคนละเรื่องกับปัญหาพื้นฐานที่ยุโรปเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ ปัญหาที่หลายรัฐบาลมีหนี้สินมากเกินไป ทำให้ขาดความเชื่อมั่นว่าจะใช้คืนหรือบริหารหนี้สินดังกล่าวได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลอิตาลีซึ่งมีหนี้สิน 120% ของจีดีพีและขาดดุลงบประมาณ (ใช้จ่ายเกินตัว) 4-5% ของจีดีพี ทำให้นักลงทุนมองว่าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีมีความเสี่ยงสูง กดดันให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีสูงขึ้นเกินกว่า 7% ซึ่งจะยิ่งทำให้รัฐบาลอิตาลีประสบปัญหามากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ธนาคารพาณิชย์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์อิตาลี สเปน เยอรมนีและฝรั่งเศสก็ได้ซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลีเอาไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้สถานะของธนาคารดังกล่าวสั่นคลอนไปด้วย ปัญหาดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อธนาคารกลางยุโรปให้พิมพ์เงินยูโรมาช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี แต่จะสังเกตว่าปัญหาที่กล่าวถึงเป็นปัญหาหนี้สินของอิตาลีและการหาเงินยูโรมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลี ไม่ใช่ปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์แต่อย่างใด
 

จึงมองได้ว่ามาตรการของธนาคารกลางสหรัฐที่กล่าวถึง ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 5 ธันวาคม เป็นต้นไปนั้นน่าจะเป็นมาตรการป้องกันและปกป้องระบบการเงินของโลกไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนหากการประชุมสูงสุดของยุโรปในวันที่ 9 ธันวาคม ไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป กล่าวคือ ผู้นำสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นยังจำความได้ดีว่าเมื่อเลแมน บราเธอร์ส ล่มสลายลงในเดือนกันยายน 2008 นั้น ทำให้สภาพคล่องตึงตัวอย่างฉับพลัน และส่งผลลุกลามไปสู่สถาบันการเงินทั่วโลก ดังนั้น หากเกิด "อุบัติเหตุ" ขึ้นอีกในอนาคตเช่นประเทศกรีซต้องพักชำระหนี้ก็จะได้ป้องกันมิให้ระบบการเงินและธนาคารทั่วโลกต้อง "ติดเชื้อ" ทำให้เศรษฐกิจโลกชะงักงัน ดังนั้น มาตรการของ 6 ธนาคารกลางหลักของโลกเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน จึงอาจมองได้ว่าเป็นความพยายามที่จะตั้งรับ (defensive) ปัญหาข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมากกว่าการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่ามาตรการของ 6 ธนาคารกลางนั้นเป็นการบรรเทาอาการป่วย (treat the symptom) ไม่ใช่การรักษาโรค (treat the disease) ซึ่งก็น่าจะถูกต้องเพราะปัญหาหลัก คือ หนี้สินที่เป็นเงินยูโร แต่มาตรการที่ประกาศเมื่อ 30 พฤศจิกายนนั้นเป็นการพิมพ์เงินดอลลาร์เพิ่ม
 

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าความผันผวนของเศรษฐกิจยุโรปจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐเองก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขและอาจเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกผันผวนได้อย่างมาก หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี 2012 การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้านั้นผมจะนำเสนอในครั้งหน้า แต่ครั้งนี้จะกล่าวโดยสรุปว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะผันผวนและอาจเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า คำถามที่ตามมาคือในสภาวการณ์ดังกล่าวการลงทุนในสินทรัพย์ใดน่าจะเหมาะสมที่สุด
 

ข้อมูลในตาราง คือ การเก็บสถิติผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์หลักประเภทต่างๆ ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนในอนาคตได้ครับ
 

จะเห็นได้ว่าในช่วงที่เศรษฐกิจโลกพลิกฟื้นอย่างชัดเจนและกว้างขวางในช่วง 1980-1990 นั้น หุ้น พันธบัตรและโภคภัณฑ์ให้ผลตอบแทนที่สูงอย่างต่อเนื่อง คือ หุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 15.8% ต่อปี พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐให้ผลตอบแทน 12.4% ต่อปีและโภคภัณฑ์ 10.7% ต่อปี ในช่วงเดียวกัน ราคาทองคำลดลงอย่างต่อเนื่องและให้ผลตอบแทน -2.41% ต่อปี ผมขอสรุปเร็วๆ ว่าในช่วง 1980-1990 ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีดังนี้
 

1. ในช่วงแรกสหรัฐปราบเงินเฟ้อสำเร็จ ทำให้เงินเฟ้อและดอกเบี้ยปรับลดลงโดยตลอด (พันธบัตรจึงให้ผลตอบแทนที่สูง)
 

2. เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวดีมากโดยได้ประโยชน์จากนโยบายลดภาษีของสหรัฐ ตลอดจนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในสหรัฐและอังกฤษ (คงจำกันได้ว่า ประธานาธิบดีเรแกนและนายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ เป็นคู่หูกันในการผลักดันระบบตลาดเสรี) ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องจึงไม่แปลกอะไรที่หุ้นและโภคภัณฑ์ให้ผลตอบแทนสูงอย่างต่อเนื่อง
 

ในช่วง 1990-2000 นั้นผลตอบแทนทั้งหุ้นและพันธบัตรก็ยังสูงอยู่ แต่ผลตอบแทนโภคภัณฑ์ลดลงและทองคำก็ยังราคาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงดังกล่าวระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลายทำให้มีแรงงานและทรัพยากรไหลออกจากโลกสังคมนิยมเข้าสู่โลกทุนนิยมมากขึ้น ทำให้ราคาโภคภัณฑ์ไม่ดีนักและต้นทุนการผลิตที่ลดลงช่วยให้บริษัทมีกำไรมากขึ้นและเงินเฟ้อลดลงอย่างมาก และในช่วง 1997 เอเชีย (นำโดย ไทย) ประสบวิกฤติเศรษฐกิจก็ฉุดรั้งเงินเฟ้อและราคาโภคภัณฑ์อีกทางหนึ่ง
 

ในช่วง 2000-2011 นั้นเป็นช่วงที่โลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วสร้างหนี้สินและฟองสบู่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เงินเฟ้อก็ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประสบวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008-2009 กำไรจากหุ้นหดหายไปหมด โดยหุ้นให้ผลตอบแทนเพียง 1% ต่อปี แต่ทองคำกลายเป็น "พระเอก" ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 16.3% ต่อปี
 

กล่าวโดยสรุป คือ เมื่อโลกเข้าสู่สภาวการณ์ที่มีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงสูงนั้น ทองคำจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้น เนื่องจากเงินเฟ้อสามารถควบคุมได้ ผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรจึงอยู่ในระดับที่สูงพอใช้ได้และให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพ (แต่หากเงินเฟ้อกลับมาเป็นปัญหาก็ต้องรีบลดการถือพันธบัตร) สำหรับโภคภัณฑ์นั้นก็ให้ผลตอบแทนที่มั่นคงพอใช้ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ ในการลงทุนในกองทุนโภคภัณฑ์นั้น จะต้องดูรายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนการบริหารกองทุนที่ในบางกรณีสูงมาก จนสามารถกระทบต่อผลตอบแทนของผู้ถือหน่วยอย่างมีนัยสำคัญได้ครับ

สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ผลตอบแทนจากการลงทุน 1980 2011

view