สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปี 2555 คดีการเมือง เรียงแถวขึ้นศาล ดับชนวนรุนแรง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เกศินี แตงเขียว จากสำนักข่าวเนชั่น สรุปปี2555 คดีความทางการเมืองเรียงหน้าสู่ชั้นศาล ที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ สู่เส้นทางปรองดอง
หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์สำคัญ ปี 2554 นับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง หลังรัฐบาลมาร์คยุบสภา จนได้รัฐบาลใหม่ “ ปู ยิ่งลักษณ์ ”  เหล่าแกนนำ นปช. คนสำคัญ จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ น.พ.เหวง โตจิราการ ก่อแก้ว  พิกุลทอง วิภูแถลง พัฒนภูมิไท ต่างได้รับการปล่อยชั่วคราวคดีร่วมกันก่อการร้าย ก่อนได้เข้าไปเป็น ส.ส.ในสภา ภายใต้เงาพรรคเพื่อไทยของนายใหญ่

ขณะที่คดีต่างๆซึ่งเกิดขึ้นในรอบปีหน้า ยังคงน่าสนใจและต้องรอลุ้นผล ไม่ว่าจะเป็น คดีก่อการร้าย ของ  "19 แกนนำเสื้อแดง" ที่ฟ้องคดีกันข้ามปี ตั้งแต่ 11 ส.ค .53 แต่คดีเพิ่งจะตรวจหลักฐานเสร็จ 11 ก.ค.54 โดยปี 2555 คดีศาลอาญาจะเริ่มสืบพยานโจทก์ครั้งแรก 1 มิ.ย. 55

แต่เพราะคดีของ 19 แกนนำเสื้อแดง เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์คดีที่ “กีร์ อริสมันต์” แกนนำแดง ฮาร์ดคอร์ ถูกอัยการยื่นฟ้องก่อการร้าย เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.54 หลังเข้ามอบตัว จึงเป็นไปได้ที่อัยการจะยื่นคำร้อง ขอรวมสำนวนคดีเพื่อความสะดวกในการพิจารณาที่มีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน

สุดท้ายคดีก่อการร้ายของเสื้อแดง จะเริ่มสืบพยานได้ตามกำหนดหรือไม่ ต้องรอดูผลการนัดคดีของกีร์ อริสมันต์ อีกครั้ง ที่ศาลอาญา นัดตรวจหลักฐาน 6 ก.พ.55 เวลา 13.30 น.ว่าอัยการจะยื่นคำร้องขอรวมสำนวนคดีหรือไม่

ส่วนคดีที่ สนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตร ฯ และแนวร่วม 114 คน ที่ สตช. สรุปสำนวนสมควรสั่งฟ้อง ส่งให้อัยการพิจารณาสั่งคดี ตั้งแต่เดือน พ.ค.54  ข้อหาร่วมกันก่อการร้าย-ปลุกปั่นยุงยง และข้อหาอื่น จากเหตุการณ์ชุมนุมปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง เมื่อปี 2551 ก็ยังไม่คืบ เพราะอัยการตรวจสำนวนไม่เสร็จ เอกสารหลักฐานมากถึง 40,000 แผ่น แถมกลุ่มผู้ต้องหายังร้องขอความเป็นธรรมอีก ก็ต้องรอลุ้นเหมือนกันว่าอัยการฝ่ายคดีอาญา จะมีความเห็นสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง ได้ทันภายในนัดสั่งคดีวันที่ 18 ม.ค.55 หรือไม่

โดยวันนัดสั่งคดี 18 ม.ค.55 ยังเป็นวันชี้ชะตา “สนธิ ลิ้มทองกุล” แกนนำพันธมิตร ฯ เช่นกันว่าจะถูกสั่งฟ้องด้วยหรือไม่ ในคดีอีก 4 สำนวน ที่ประกอบด้วย  การนำกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 5-7 ต.ค.51 , การร่วมกับแกนนำพันธมิตรฯ 6 คน นำกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26-31 ส.ค.51 , คดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย บนเวทีพันธมิตรฯระหว่างการชุมนุมต่อเนื่อง 193 วัน เมื่อปี 2551 ซึ่งการพิจารณาสำนวนค้างมาตั้งแต่ปี 2554

ขณะที่จากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มเสื้อสี ยังต้องตามติดคดีการชันสูตรพลิกศพ 16 ราย ที่เกิดจากการใช้กำลังเจ้าหน้าที่กำชับพื้นที่สลายชุมนุมเสื้อแดงด้วย ทั้งที่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 และแยกราชประสงค์ 19 พ.ค.53

โดยพนักงานสอบสวน บช.น. ได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนพิสูจน์การเสียชีวิตว่า เสียชีวิตเมื่อใด ด้วยสาเหตุอะไร และเกิดจากการกระทำของใคร เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่หรือไม่ ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ซึ่งสำนวนทยอยส่งถึงมืออัยการจนได้ถึง 10 สำนวน เมื่อ 16 ธ.ค.54

ซึ่ง 1 ใน 10 ราย มีกรณีที่สื่อมวลชนต่างประเทศเกาะติด คือการเสียชีวิตชาวญี่ปุ่น ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกกระสุนที่ยิงกราด ระหว่างกลุ่มเจ้าหน้าที่ และชายชุดดำในการกำชับพื้นที่ชุมนุมเสื้อแดงที่แยกคอกวัว 10 เม.ย.54

นอกจากนี้การเสียชีวิตของ  พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง แกนนำแดงอีกคน ที่ถูกยิง บริเวณลานพระบรมรูป ร.6 สวนลุมพินี ระหว่างการชุมนุม ยังเป็นอีกเคสที่เพิ่มจาก 16 ศพ ที่พนักงานสอบสวน บช.น. กำลังรวบรวมหลักฐานต่อจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ)ที่ส่งไม้ต่อให้

คดีชันสูตรพลิกศพ จึงยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยใน ปี 2555 ที่ต้องพิสูจน์ในชั้นศาลเพื่อหาสาเหตุการตาย ซึ่งเวลานี้เป็นเพียงก้าวแรกในการสรุปสำนวนชั้นตำรวจ และอัยการยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่าง 30 วันเพื่อทำคำร้องให้ศาลพิจารณา ถ้าไม่ทันอัยการยังขอขยายเวลาได้อีก 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 30 วัน รวมๆ แล้วอัยการจะมีเวลาไม่เกิน 90 วันนับจากวันที่ได้รับสำนวน ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจ ซึ่งอย่างน้อยเดือน มี.ค.55 จะได้เห็นสำนวนการชันสูตรศพ ที่อัยการส่งต่อศาลไม่มากก็น้อย

และจากการชุมนุมของเสื้อแดง อีกคดีที่ต้องย้อนรอย ตามติด คือคดีดักฟังโทรศัพท์ ระหว่าง พล.ต.ต.พีรพันธ์ เปรมภูติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กับ นายวิรัช ชินวินิจกุล อดีตเลขานุการศาลฎีกา และ นายไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา ที่เกิดในยุคแดงขับไล่ คมช. ที่ยังใช้ชื่อกลุ่ม “ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก.” ที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้อง จักรภพ เพ็ญแข - ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ - จตุพร พรหมพันธุ์ ตั้งแต่ 18 ม.ค.51 ซึ่งคดียังสืบพยานโจทก์ไม่เสร็จ รอที่จะสืบอีกในวันที่ 11 พ.ค.55 ขณะที่จำเลยเวลานี้ เหลือแค่ณัฐวุฒิ และจตุพร ส่วนจักรภพ ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว จนกว่าจะได้ตัวมาหลังจากเจ้าตัวหนีคดีเมื่อปี 2553

อีกคดีของกลุ่มเสื้อสี ที่น่าติดตามไม่น้อย คือ คดีเผาห้างเซ็นทรัลเวิล์ด ที่อัยการยื่นฟ้อง นายสายชล แพบัว อายุ 29  ปี ชาว จ. ชัยนาท การ์ด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 27 ปี เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำ ด.2478/2553 ซึ่งไฟไหม้ที่ลุกลามเผาอาคารเซ็นทาวเวอร์และไฟไหม้เผาทรัพย์สินต่างๆมีผู้เสียหายถึง 270 ราย มูลค่าความเสียหายสูงถึง 8,890,578,649.61 บาท และยังเป็นเหตุให้นายกิติพงษ์หรือกิตติพงษ์ สมสุข ที่อยู่ภายในอาคารดังกล่าวถึงแก่ความตายด้วย โดยคดียังอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และจะเริ่มสืบพยานจำเลยเดือน มิ.ย.55 ซึ่งกำหนดสืบพยานจำเลยถึงนัดสุดท้ายวันที่ 27 มิ.ย.55 จึงคาดการณ์ได้ว่าคดีนี้จะเสร็จสิ้นจนศาลมีคำพิพากษาได้ไม่เกินปี 2555  

นอกจากคดีกลุ่มมีสีแล้ว คดีที่สืบเนื่องจากการกระทำผิดของนักการเมือง ที่ถูกฟ้องในรอบปีที่ผ่านมา และต้องตามติดชวนให้คิดถึง ก็คดีทุจริตการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง-อุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,687,489,000 บาท ซึ่งใช้เวลานานหลายปีกว่าที่จะมีการสรุปสำนวนฟ้องเมื่อ 24 ส.ค.54 โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย, นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย, นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์, พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม., บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด (STEYR - DAIMLER - PUCH Spezial fahrzeug AG&CO KG) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตกเป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ ฯ  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และการระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วย งานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 ซึ่งคดีรอพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 30 ม.ค.55 แต่ด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อเนื่องคดีในศาลฎีกานักการเมือง จึงจะใช้เวลาไม่นานเกิน 1 ปีที่จะพิจารณาพยานหลักฐานศาล แต่คดีนี้เพราะมีเอกชนที่มีถิ่นฐานอยู่ต่างแดน จึงต้องติดตามว่าการดำเนินคดีจะยุ่งยากใช้เวลามากขึ้นหรือไม่   

ขณะที่คดีของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 10 พรรคภูมิใจไทย และกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย ที่กกต. มีมติให้ใบแดงพร้อมยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นเวลา 5 ปี จากการกระทำผิด พ.ร.บ. ว่า ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 มาตรา 53 (1) (3) และ (4) โดยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับกิจกรรมสัมมนาผู้นำชุมชน อ.จักราช นครราชสีมา ให้ นางสายพิรุณ  น้อยศิริ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา นำผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 300 คน ไปจัดอบรมที่ รีสอร์ท จ.ระยอง และแจกสิ่งของ เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ระหว่างการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 12 ธ.ค.53 นั้น ศาลจะเริ่มไต่สวนพยานวันที่ 16 ม.ค.55 และจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการไต่สวนให้เสร็จ ก็ต้องติดตามผลว่าคดีจะเสร็จและมีคำพิพากษาได้ภายในเดือน ม.ค.55 หรือไม่ โดยการประทับรับฟ้องคดดีของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเป็นเหตุให้นายบุญจง ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฯ ปี 2550 มาตรา 239

คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นคดีการชุมนุมกลุ่มสี การเมือง จะยุติไปในทางใดต้องรอผล

แต่ระบบความยุติธรรมในสังคมจะเกิดขึ้นได้ ไม่ต้องรอหากทุกฝ่ายยอมรับที่จะปฏิบัติตามกฎ กติกา...ไม่ใช่การใช้กฎหมู่ เหนือกฎหมาย จนลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งอ้างเรื่อง 2 มาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ปี 2555 คดีการเมือง เรียงแถวขึ้นศาล ดับชนวนรุนแรง

view