สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดใจคอป. คดีซุกหุ้น เหตุวิกฤตแตกแยก

จาก โพสต์ทูเดย์

สัมภาษณ์พิเศษ "สมชาย หอมลออ" กรรมการคอป. หลังการออกรายงานชี้ชัดต้นเหตุความขัดแย้งมาจากคดีซุกหุ้น

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ตามเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยแล้ว ปีนี้จะเร่งเครื่องสร้างความปรองดอง โดยองค์กรหลักที่มีบทบาทเรื่องนี้ คือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่เพิ่งออกรายงานความคืบหน้าชี้ถึงต้นเหตุความขัดแย้งที่ร้าวลึกครั้งใหญ่ นี้ ไม่ได้เกิดจากการรัฐประหาร 19 กันยา แต่มาจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเมื่อปี 2544

โพสต์ทูเดย์ พูดคุยกับ สมชาย หอมลออ กรรมการ คอป.ถึงที่มาที่ไปของการพิจารณาเรื่องนี้ และการนำเสนอรายงานของ คอป.ก่อนจะหมดวาระในกลางปีนี้...

เหตุที่สรุปความขัดแย้งมาจากคดีซุกหุ้นเพราะอะไร

ความขัดแย้งในเหตุการณ์ เม.ย.–พ.ค. 2553 เราไม่สามารถมองได้อย่างโดดๆ หรือตัดตอน แต่ต้องเข้าใจที่มาที่เกิดขึ้นก่อนด้วย โดย คอป.พบว่า หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญดีหลายอย่าง แต่จุดหนึ่งคือ การเน้นให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก ซึ่งการขึ้นมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกฯ ตอนนั้น ทำให้เกิดการใช้อำนาจมิชอบ ไม่ว่าการฆ่าตัดตอน การแทรกแซงสื่อ ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านรัฐบาลทักษิณ โดยกลุ่มพันธมิตรฯ นำมาสู่การเลือกตั้งโมฆะ และการรัฐประหาร จนถอยหลังเข้าคลอง ก่อนจะเกิดกลุ่ม นปช.กระทั่งเกิดความขัดแย้งและการเสียชีวิตในการชุมนุมของพันธมิตรฯ และ นปช.

 

คอป.ต้องการชี้ให้เห็นว่า การเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งปีที่แล้ว ต้องมองย้อนกลับไปด้วยว่า หลักนิติธรรม นิติรัฐได้ถูกละเมิดละเลยไปในการพิจารณาคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ของศาลรัฐธรรมนูญได้ขัดหลักนิติธรรมอย่างมาก เช่น ในประเด็นที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ลงคะแนนเสียงหรือไม่วินิจฉัย ทั้งที่ต้องทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด ครั้งแรก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน เลือกวินิจฉัยว่า กรณีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้ คอป.เห็นว่า วินิจฉัยได้ แต่พอมติเสียงข้างมาก มีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาคดี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 รายก็ไม่ใช้สิทธิวินิจฉัยซึ่งไม่ถูกต้อง

ประการที่สอง การที่เอาเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่วินิจฉัยมารวม โดยพิจารณาว่า การที่ไม่วินิจฉัยแปลความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ผิด ทำให้เสียงที่ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ผิด เป็นฝ่ายชนะ

คอป.ต้องการชี้ว่า หลักนิติธรรมได้ถูกละเมิดโดยศาลรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีการดำเนินการอย่างใด คดีซุกหุ้นถือว่า เป็นคดีที่สำคัญเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนเกิดความขัดแย้งต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

เหตุที่เราต้องการให้สังคมมองย้อนกลับขึ้นไปจนถึงเหตุการณ์หลังประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ 2540 ก็เพื่อให้สังคมเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งเพราะความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ได้ เกิดขึ้นอย่างลอยๆ โดดๆ หรือไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะหลังจากมีการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เท่านั้น แต่ว่ามันเกิดขึ้นก่อนแล้ว และก็ต่อเนื่องมา รัฐประหาร 19 กันยา ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น ถ้า คอป.จะเสนอให้แก้ไขเราก็ต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้ด้วย มิฉะนั้นเราก็ไม่สามารถหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งได้

หลังคดีซุกหุ้น คอป.ได้ตรวจสอบประเด็นอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะจากนั้นมีประเด็นการแทรกแซงองค์กรอิสระเกิดขึ้น

เหตุที่เรายกเรื่องคดีซุกหุ้นและยกเรื่องการรัฐประหารมาเพราะเป็น เหตุการณ์ที่ชัดเจนและเคยมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้มาแล้ว ส่วนกระบวนการยุติธรรมโดยรวม คอป.ได้วิจัยเรื่องนี้ แต่ผลยังไม่ออกมา จะออกมาตอนงานวิจัยชิ้น|สุดท้ายเสร็จโดยจะมีทั้งสาเหตุปัญหา แนวทางการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในอนาคต

ถ้าจะเราเริ่มปรองดองวันนี้ แล้วทางออกคดีซุกหุ้นคืออะไร เราจะย้อนกลับอย่างไร หรือให้แค่สังคมได้เรียนรู้ว่ามีปัญหา

คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถไปรื้อฟื้นได้ แต่เราต้องการชี้ให้เห็นว่าเป็นบทเรียนของสังคม รวมทั้งให้มีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมต่อไป ถึงแม้ว่าเราจะยึดความเป็นอิสระและความถูกต้องของตุลาการด้วย แต่ตุลาการจะต้องไม่ถูกแทรกแซง ไม่ว่าจะโดยใคร ทหาร หรือคนหมู่มากก็ตาม หรือโดยอิทธิพลทางการเมืองก็แล้วแต่

ถ้าเป็นอย่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ต้องมีความผิดในคดีซุกหุ้น

เราไม่ได้มองว่า คุณทักษิณ ผิดหรือถูก แต่เป็นหน้าที่ของศาลในการวินิจฉัย เรามองเฉพาะกระบวนการในการวินิจฉัยที่ให้คุณทักษิณไม่ผิด ว่า กระบวนการนั้นไม่ถูกต้อง และการตรวจสอบอันนี้เน้นให้เกิดบทเรียนเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องตาม หลักนิติธรรม

คอป.ได้ติดตามช่วงการบริหารงาน 4-5 ปีของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยหรือไม่

ภารกิจของ คอป.ไม่ได้ค้นหาความจริงในช่วงนั้น แต่เราค้นหาความจริงในภาพรวม เช่น กระบวนการนิติธรรมหรือนิติรัฐ ทีมวิจัยจะมีรายงานออกมา แต่เราคงไม่เป็นการเจาะแต่ละกรณี เช่น การฆ่าตัดตอน ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ตรวจสอบแล้วมีรายงานออกมา เรื่องนี้ก็อาจมาใช้ประกอบในการเขียนรายงานของ คอป.ด้วย แต่สิ่งที่ คอป.ทำนั้นไม่ได้มุ่งเน้นให้รื้อฟื้น หรือนำบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี เรามุ่งศึกษาวิกฤตความขัดแย้งเพื่อเป็นบทเรียนของสังคม

คิดเห็นอย่างไรกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่เห็นว่า ต้นเหตุวิกฤตมาจากการรัฐประหารและให้ลบล้างความผิดจากการรัฐประหารทั้งหมด

นิติราษฎร์เขาก็เน้นประเด็นเรื่องการรัฐ ประหาร ซึ่งก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่เราต้องการชี้ให้เห็นว่าไม่ได้มีแค่นั้น มันมีเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลัง ส่วน 19 กันยา ทำให้ความขัดแย้งมันเลวร้ายรุนแรงมากขึ้น ในกรณีเรื่องต้นไม้พิษ ผลออกมาย่อมมีพิษ ทางนิติราษฎร์ก็หมายถึงการรัฐประหาร ซึ่งการรัฐประหารก็เป็นสิ่งที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก

วันนี้ สังคมสับสนว่า ปมความขัดแย้งใหญ่อยู่ที่อะไร ฝั่งหนึ่งบอก 19 ก.ย. บางคนก็บอกให้ดูต้นเหตุตั้งแต่คดีซุกหุ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะ คอป.ที่มีคนพูดมา มันก็เลยเหมือนจุดขึ้นมีอยู่ 2 เรื่อง ส่วนตัวผม ก็คิดว่ามันประกอบกัน เราต้องยอมรับว่าการใช้อำนาจของรัฐบาลแม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลเสียงข้างมากจะต้องถูกเสมอไป มันก็เป็นบทเรียนของผู้ที่จะเป็นรัฐบาลในอนาคต หรือขณะนี้ถึงแม้จะมีเสียงข้างมาก แต่การใช้อำนาจ ก็ต้องใช้ตามครรลองคลองธรรม อย่างถูกต้อง มิฉะนั้น คนก็จะคัดค้าน เมื่อคัดค้าน คนส่วนหนึ่งก็อาจไปสนับสนุน การใช้อำนาจทหารเข้ามาจัดการ ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น มีในหลายประเทศ เช่น ปากีสถาน ก็|วนเวียนอยู่เรื่องเหล่านี้มากึ่งศตวรรษ รวมถึงประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งตอนนี้กำลังมีการสะสางกันอยู่

จากนี้ คอป.จะเสนอรายงานอีกกี่ชิ้น และทิศทางการทำงานจะเป็นอย่างไรต่อไป

ต้องเสนอรายงานอีก 2 ชิ้น เป็นรายงานเฉพาะความคืบหน้าอีกชิ้น และรายงานสุดท้ายอีกชิ้น ถ้าตามกำหนดการแล้วก็ต้องเสนอในเดือน ก.ค. 2555 รายงานสุดท้ายจะเป็นรายงานทั้งหมดเกี่ยวกับสิ่งที่ คอป.ตรวจสอบ ครบทั้งความจริง และสาเหตุความขัดแย้ง ในช่วง เม.ย.-พ.ค. 2553 และเหตุการณ์ต่อเนื่องความขัดแย้งที่เป็นมา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คอป.เห็นสัญญาณการปรองดองเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เหมือนมีการสร้างความขัดแย้งใหม่ เรื่องการช่วยเหลือกลุ่ม พวกให้พ้นผิด

ผมเห็นว่าในสังคมประชาธิปไตยคนมีความคิดหลากหลาย ในพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านก็มีความคิดต่างกัน ผมคิดว่าการที่มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งไม่ว่า สส.หรือตัวรัฐมนตรีเอง พยายามทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น การช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมานี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกตินะ แต่สิ่งที่เขาทำ เขาต้องรับผิดชอบ เพราะมีทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย สิ่งที่ คอป.เป็นห่วงไม่ใช่เรื่องความขัดแย้ง แต่เห็นว่าความขัดแย้งไม่ควรเป็นความรุนแรง ก็หมายความว่าทุกฝ่ายต้องยอมรับกติกา ถ้าเห็นว่ากติกานั้นไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ก็ต้องเปลี่ยนกฎกติกา


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เปิดใจคอป. คดีซุกหุ้น เหตุวิกฤตแตกแยก

view