สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เยียวยา2พันล้านปรองดอง2มาตรฐาน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาเหยื่อและผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าชดเชยสูงสุดกว่า 7 ล้านบาท แม้โดยหลักการจะเป็นเงื่อนไขสร้างความปรองดองในชาติ ซึ่งแตกต่างจากการเยียวยาในกรณีปกติ เพื่อแสดงออกว่ารัฐตระหนักและรับรู้ถึงความเจ็บปวดสูญเสียของผู้ได้รับผล กระทบทุกฝ่าย

แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดคำถามถึงความเป็นธรรมสำหรับผู้สูญเสียอื่นๆ อาทิ เหยื่อสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ทั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ ข้าราชการครู และเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือแม้แต่เหยื่อในคดีอาญา หรือผู้ที่ตกเป็นจำเลยแต่ต่อมาศาลพิพากษาให้พ้นผิด ซึ่งมาตรการเยียวยาที่รัฐให้นั้นน้อยมาก หากเทียบกับค่าชดเชยเยียวยาจากปัญหาความรุนแรงทางการเมือง ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งเห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา

โซรยา จามจุรี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งคลุกคลีทำงานช่วยเหลือผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่ สงบมาตั้งแต่ปี 2547 บอกว่า เหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ในปี 2547 การขนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน ไม่สามารถบอกได้ว่าควรจะต้องจ่ายเงินเยียวยาเท่ากันหรือไม่ แต่ต้องเป็นธรรมและเหมาะสม ไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

ด้าน นารี เจริญผลพิริยะ กรรมการโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฟันธงเปรี้ยงว่า การ ให้เงินเยียวยาม็อบการเมืองของรัฐบาลครั้งนี้ไม่ได้มีผลต่อการสร้างความ ปรองดอง ตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น เพราะถ้าการจ่ายเงินเยียวยาที่ไม่เท่ากัน ก็จะนำมาสู่คำถามว่าชีวิตของคนในประเทศนี้มีค่าไม่เท่ากันหรืออย่างไร ซึ่งหากมีความแตกต่าง กลุ่มที่ได้น้อยกว่าก็จะเกิดความไม่พอใจและนำไปสู่ความแตกแยก

โดยหลัก ซึ่งรัฐมีหน้าที่คุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่ประชาชน หากมีผู้ถูกละเมิดทั้งร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน หรือผู้ที่ถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งต่อมาศาลพิพากษาให้พ้นผิด นั่นหมายถึงความบกพร่องของรัฐที่ไม่อาจปกป้องคุ้มครองประชาชนได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการชดเชยเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือเหยื่อ อาชญากรรม ใน พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544

หน่วยงานซึ่งรับผิดชอบจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในคดีอาญาคือ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา สังกัดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กระบวนการทำงานคือ เมื่อมีผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจ หรือถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการข่มขืน ถูกทุบตี ฆ่าชิงทรัพย์ ถูกลูกหลง ถูกทำให้แท้งลูก ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการกระทำโดยประมาทจากบุคคลอื่น คนชรา คนป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และถูกทอดทิ้ง จะได้รับสิทธิการรับเงินช่วยเหลือผู้เสียหาย แบ่งเป็นกรณีทั่วไปและกรณีเสียชีวิต

เมื่อผู้เสียหายดังกล่าวนี้ ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชย กรมคุ้มครองสิทธิฯ จะตั้งคณะกรรมการขึ้น 1 ชุด เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายได้รับเงินหรือไม่ กระบวนการในกรณีทั่วไปเริ่มด้วยการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่ เกิน 3 หมื่นบาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2 หมื่นบาท ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ อัตราวันละไม่เกิน 200 บาท ระยะเวลา|ไม่เกิน 1 ปี และค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรไม่เกิน 3 หมื่นบาท

ขณะที่กรณีเสียชีวิต เริ่มจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายตั้งแต่ 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ค่าจัดการศพจำนวน 2 หมื่นบาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูไม่เกิน 3 หมื่นบาท และค่าเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกพิพากษาคุมขัง ในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด (บริสุทธิ์ 100%) เช่น คดีฆาตกรรม น.ส.เชอร์รีแอน ดันแคน ที่มีผู้ถูกจับกุมตกเป็นผู้ต้องสงสัย แต่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนกว่าคดีพิสูจน์แล้วว่าผู้ถูกคุมขังไม่มีความผิด มีการถอนฟ้องระหว่างการพิจารณาว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้กระทำ ผิด และมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ยกฟ้องจำเลย ซึ่งจะได้รับสิทธิช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล จากความเจ็บป่วยที่เป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3 หมื่นบาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 5 หมื่นบาท ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดีอัตราวันละไม่เกิน 200 บาท ค่าทนายความเท่าที่จ่ายจริงในอัตราไม่เกินกฎกระทรวงกำหนด และค่าใช้จ่ายอื่นเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3 หมื่นบาท

ส่วนกรณีเสียชีวิต ได้รับเงินค่าทดแทน 1 แสนบาท ค่าจัดการศพ 2 หมื่นบาทค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูไม่เกิน 3 หมื่นบาท และค่าความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรไม่เกิน 3 หมื่นบาท

สำหรับกรณีความรุนแรงทางการเมือง ที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิฯ จ่ายเงินชดเชยให้ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงการชุมนุมตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค. 2551 จำนวน 2 ราย จำนวนเงิน 203,300 บาท โดยมีผู้ยื่นคำขอ 6 ราย แต่จ่ายให้เพียง 2 รายเท่านั้น

ด้านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีการจ่ายเงินเยียวยาให้ 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือน เม.ย.-พ.ย. 2552 จำนวนเงิน 498,253 บาทมีผู้ยื่นคำขอจำนวน 34 ราย จ่ายให้เพียง 22 ราย

ครั้งที่ 2 เหตุเกิดตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. 2553 มีผู้ยื่นคำขอ 243 ราย กรณีเสียชีวิต 66 ราย จ่ายชดเชยไปแล้ว จำนวน 6,365,520 บาท ส่วนกรณีบาดเจ็บมีทั้งสิ้น 177 ราย ได้จ่ายเงินชดเชยไปแล้วจำนวน 2,444,420 บาท อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 21 ราย

รวมค่าชดเชยที่จ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบความรุนแรงทางการเมืองไปแล้วทั้งสิ้น 8,909,940 บาท

นโยบายที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีมติให้จ่ายเงินชดเชยเหยื่อเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองศพละ 7.75 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บจะได้รับเงินชดเชยพร้อมค่าทำขวัญลดหลั่นกันลงมา ยังต้องจับตาว่าเรื่องนี้จะพัฒนาไปในทิศทางไหน เพราะมีกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น ทำให้ พิทยา จินาวัฒน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กำลังจัดทำกรอบการจ่ายเงินช่วยเหลือให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะยังมีผู้ได้รับความเดือดร้อนอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ผู้ประกอบการร้านค้ากว่า 700 ราย ที่ถูกเผาทำลาย มูลค่าความเสียหายจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่เสียสละปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยง อันตรายในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

“การจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้จะใช้หลัก นิติศาสตร์ไม่ได้ ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ เพราะตอนนี้เจ้าของร้านค้ารู้สึกน้อยใจว่าทำไมรัฐบาลห่วงแต่ผู้ชุมนุม นปช.และมติ ครม.ที่ออกมาเป็นการเยียวยาเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ไม่ควรเป็นแนวบรรทัดฐาน หากมีการชุมนุมอีกในอนาคต” พิทยา กล่าว

พิทยา กล่าวว่า จะหารือร่วมกับผู้ประกอบการร้านค้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัทประกันภัย และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเยียวยาอย่างแท้จริง ก่อนจะเสนอของบประมาณช่วยเหลือเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ความสูญเสียตีราคาได้หรือไม่ ชีวิตคนแต่ละกลุ่มแต่ละสีมีค่าเท่าไหร่?

ในความรู้สึกของผู้สูญเสีย บุญชู ไพรวัลย์ ภรรยาลุง “นวมทอง ไพรวัลย์” แท็กซี่ผู้สละชีพเพื่อประชาธิปไตย โดยผูกคอตายใต้สะพานลอยถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อถามถึงเรื่องการเยียวยาศพละ 7.75 ล้านบาท เธอบอกประโยคแรกว่า ยังไม่ทราบข่าวเลย

“โอ้โห...ได้ขนาดนั้นเลยหรือ รัฐบาลมีเงินให้ขนาดนั้นเลยหรือ”

“ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร จะได้หรือไม่ ก็ไม่กล้าขอเขาหรอก จริงๆ เราก็อยากได้เหมือนกัน แต่เราไม่ทวงถามหรอกนะ เพราะ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่ม นปช. เคยบอกกับเรานานแล้ว ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ถ้าได้เข้าไปเป็นรัฐบาล จะประกาศให้วันที่ 31 ต.ค. (วันเสียชีวิตของลุงนวมทอง) เป็นวันหยุดราชการ ฉันก็ภูมิใจที่เขาไม่ลืมฉัน”

บุญชู บอกว่า ลุงนวมทองเสียชีวิตไปแล้ว 5 ปี ได้ค่าเยียวยาไม่มาก รวมแล้วแค่แสนนิดๆ แบ่งกันระหว่างเธอและลูกอีก 2 คน แต่ก็ไม่พอ เพราะทุกวันนี้ร้านขายของชำที่บ้านก็มีปัญหาเพราะไม่มีของขาย

ปัจจุบัน บุญชู อายุ 57 ปี เปิดร้านขายของชำเล็กๆ อยู่ในซอยติวานนท์ 57 จ.นนทบุรี อยู่กับลูกสาวเพียงลำพัง ส่วนลูกชายเทียวไปเทียวมา เธอบอกว่าไม่ค่อยมีของขาย เพราะไม่มีเงินซื้อ

“เวลาฉันทำบุญตักบาตร ฉันก็บอก (นวมทอง) ว่า ยังคอยเขาอยู่ที่บ้านหลังนี้ ถามเขาทุกวันว่าพ่ออย่าไปไหน แต่พ่อก็ไม่เคยมาให้เห็นและฉันก็ไม่เคยฝันเห็น แต่ฉันภูมิใจในชีวิตเขา เขาพลีชีพเพื่อประชาธิปไตย” เธอเล่า พลางสะอื้นและขอให้เราถามเรื่องอื่นแทน

กระนั้นเธอบอก การตายของลุงนวมทองไม่ต่างจาก สืบ นาคะเสถียร ที่เป็นการฆ่าตัวตายเพราะรับไม่ได้กับการฆ่าสัตว์ป่า

“ฉันรู้ ฉันอ่านหนังสือนะ เขาตายเอง ลุงนวมทองอาจจะต่างกับคนเสื้อแดงที่ตายเหมือนมดวิ่งเข้าไปในไฟ ลุงนวมทองตาย แต่ไม่เสียเลือดเนื้อ ... แต่ฉันก็จะไม่เรียกร้องเรื่องเงินให้เขา ถ้าเขาไม่ให้ฉันก็ไม่ขอ”

สำหรับ นวมทอง ได้ขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ภายหลังเกิดการยึดอำนาจเพียงไม่กี่วัน จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมาในคืนวันที่ 31 ต.ค. เขาผูกคอตายกับราวสะพานลอยบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก จดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้

ในอีกด้านของความสูญเสียซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง แต่เป็นการสละชีพปฏิบัติหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ พิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์ ภรรยา พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา หรือจ่าเพียรขาเหล็ก อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งถูกคนร้ายลอบวางระเบิดเสียชีวิต เธอเห็นว่าเงินชดเชยเยียวยาไม่ว่าเท่าไหร่ก็ไม่อาจชดเชยความสูญเสียได้ เธอเข้าใจในความรู้สึกของผู้สูญเสียได้ดี และเข้าใจด้วยว่าผู้ร่วมชุมนุมไม่ว่าเสื้อสีไหนก็ทำไปเพื่อประเทศชาติบ้าน เมืองเช่นเดียวกัน แต่ในเมื่อรัฐจะชดเชยช่วยเหลือ ก็ควรทำด้วยความยุติธรรม มิให้เกิดการเปรียบเทียบ สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งแทนที่จะเป็นการเยียวยากลับเป็นการสร้างบาดแผลใหม่ขึ้นมา

ทุกวันนี้ ภรรยาของนายตำรวจผู้กล้าแห่งบันนังสตา ยังชีพอยู่ด้วยเงินบำนาญและเงินช่วยเหลือทหารผ่านศึกของสามี แม้จะถึงหลักหมื่นต่อเดือน แต่เงินจำนวนนี้ก็เพียงพอแค่การดำรงชีพอยู่อย่างประหยัด แต่หากเทียบกับครอบครัวทหาร-ตำรวจ เจ้าหน้าที่ ซึ่งเสียสละชีวิตในหน้าที่รักษาความสงบชายแดนภาคใต้ เธออาจโชคดีกว่าครอบครัวอื่นๆ เพราะวีรกรรมของจ่าเพียรนั้นเป็นที่รู้จักกันดี และมีหลายหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

“เราโชคดีที่มีคนรู้จักจ่าเพียร มีคนให้ความช่วยเหลือมาก แต่ครอบครัวทหาร-ตำรวจ อื่นๆ เขาไม่ได้เหมือนเรา ได้แค่เงินช่วยเหลือของทางราชการ ซึ่งก็ไม่มากนัก เมื่อสูญเสียเสาหลักของครอบครัว ชีวิตที่เหลือก็ต้องต่อสู้ดิ้นรน หากรัฐจะช่วยเหลือแล้ว ก็ไม่ควรแบ่งแยกว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ชุมนุม เพราะทุกคนต่างทำเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองกันทั้งนั้น แต่เราที่เป็นเมียตำรวจ รู้เห็นการทำหน้าที่ การใช้ชีวิตมาตลอดว่าเสียสละแค่ไหน ฉะนั้นถ้าจะตอบแทนดูแลก็ควรให้เหมือนๆ กัน

ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าต้องการเงิน 7 ล้านบาท ต่อให้ 10 ล้านบาท เราก็ไม่เอา เราเป็นผู้สูญเสีย ทุกวันนี้ก็ยังคิดถึงพ่อ (จ่าเพียร) ทุกวัน ให้เงินเท่าไหร่ก็ทดแทนความรู้สึกไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจความรู้สึกของครอบครัวผู้ชุมนุมดี ว่าต้องพบต้องเจออะไรบ้าง ถ้าให้ได้ ก็ให้เขาไปเถอะ เงินแค่ 7 ล้านบาท มันทดแทนไม่ได้หรอก แต่อยากฝากไว้ว่าจะต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน” ภรรยาคู่ชีวิตของจ่าเพียร นายตำรวจผู้กล้าแห่งบันนังสตา สะท้อนความรู้สึกและฝากเตือนไปยังรัฐบาลให้ดูแลครอบครัวเจ้าหน้าที่ผู้เสีย สละเพื่อประเทศชาติอย่างเป็นธรรม

ล่าสุด สังคมไทยสูญเสียกำลังสำคัญของชาติไปอีกหนึ่งคน ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ ดาวเรือง รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สน.สุทธิสาร ถูกคนร้ายค้ายาบ้าขับรถพุ่งชนเสียชีวิตขณะเข้าล้อมจับกุม วีรกรรมของผู้กองหนุ่มวัยเพียง 30 ปี ได้รับการตอบแทนด้วยการเลื่อนขั้น 5 ชั้นยศ เป็นพลตำรวจโทและได้รับเงินชดเชยจากการปฏิบัติหน้าที่ 2.5 แสนบาท ค่าชดเชยนั้นน้อยนิดนัก หากเทียบกับภารกิจเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายที่ตำรวจกว่า 2 แสนนายทั่วประเทศต้องพร้อมเผชิญทุกขณะ

อภิสิทธิ์ ดาวเรือง พี่ชายของ ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ เห็นว่า อยากจะให้ทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลสวัสดิการสำหรับตำรวจหรือ ทหารให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะพวกเขาคือผู้ที่ทำงานเพื่อประเทศชาติ เงินชดเชยตามระเบียบราชการขณะนี้ไม่คุ้มกับการเสี่ยงชีวิตยิ่งกว่าอาชีพ อื่นๆ

การตอบแทน ชดเชย และเยียวยาความรู้สึกสูญเสียนั้นเป็นสิ่งที่สมควรทำ อย่างน้อยก็แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ ลดผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งควรทำอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการให้ที่เป็นธรรมและเท่าเทียม เพื่อมิให้ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ตอกย้ำความรู้สึก จนกลายเป็นรอยแผลใหม่ในใจของผู้สูญเสีย ความปรารถนาดีที่จะสร้างความปรองดอง สมานจิตใจคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียว อาจได้ผลตรงข้าม กลายกลับเป็นการแบ่งแยกผู้คนให้ขาดจากกัน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เยียวยา2พันล้าน ปรองดอง2มาตรฐาน

view