สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่า!3มุมมองนักเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจชะลอ-ดอกเบี้ยขาลง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ประเมินเศรษฐกิจ ผ่าน 3มุมมองนักเศรษฐศาสตร์ แถวหน้า ฟันธงปัญหายุโรปกดเศรษฐกิจโลกชะลอ ฉุดการส่งออกไทยหดตัว ลุ้นการใช้จ่ายภาครัฐกระตุ้น
นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) กล่าวในงานเสวนา "The Global Economy 2012" ซึ่งจัดโดยไอโอดีวานนี้(19ม.ค.) ว่า ค่อนข้างชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปในปีนี้จะชะลอตัวมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ ทำให้ภาคการส่งออกซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย


 จากผลกระทบดังกล่าวก็มีความเป็นไปได้ที่ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อาจใช้นโยบายที่ผ่อนปรนมากขึ้นเพื่อรักษาความต่อเนื่องของการพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ในปัจจุบัน


"เท่าที่ดูหลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจโลกอาจเติบโตได้เพียง 2.5% ซึ่งในแง่นี้คงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปเองก็ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเรื่องของนโยบายที่อาจสร้างความผันผวนต่อเนื่องทั้งปี"นายบัณฑิตกล่าว


เขากล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ต้องติดตามดูโดยเฉพาะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ คือ การส่งออก ซึ่งเดิมเคยมองว่าประเทศกลุ่มอาเซียนน่าจะรองรับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปได้ แต่จากข้อมูลการส่งออกหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนก็เห็นว่าเริ่มมีการชะลอตัวลง ดังนั้นการจะหวังให้การส่งออกเป็นกลไกสนับสนุนการเติบโตของประเทศในกลุ่มอาเซียนคงลำบากขึ้น


นอกจากนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป ยังส่งผลกระทบในเรื่องของสภาพคล่องตลาดการเงินโลกด้วย โดยการกู้ยืมเงินของสถาบันการเงินระหว่างประเทศอาไม่คล่องตัวเหมือนช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้การระดมทุนของภาคธุรกิจในตลาดสินเชื่อต่างประเทศทำได้ยากขึ้น มีต้นทุนที่สูงขึ้น


"ความผันผวนเหล่านี้อาจทำให้นักลงทุนที่เคยลงทุนในประเทศไทยเลือกที่จะนำเงินเหล่านี้กลับไปพักไว้ในรูปดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเชื่อว่ามีความปลอดภัยกว่า ดังนั้นสภาพคล่องที่เคยมีอยู่มากก็อาจมีไม่มากเหมือนช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคงกระทบกับต้นทุนทางการเงินอยู่บ้าง"นายบัณฑิตกล่าว


ส่วนกรณีของภาครัฐที่มีความประสงค์จะใช้จ่ายเงินที่มากขึ้นเพื่อลงทุนในระบบป้องกันบริหารจัดการน้ำและกระตุ้นการลงทุนนั้น ในขณะนี้ความชัดเจนเกี่ยวกับแผนงานและโครงการต่างๆ ยังมีไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ภาคธุรกิจต่างชะลอการลงทุนเพื่อดูความชัดเจนเหล่านี้ จึงอยากให้ภาครัฐเร่งสร้างความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจ
"แม้ภาครัฐจะมีความตั้งใจดีที่จะใช้จ่าย แต่หากการเบิกจ่ายไม่เหมาะสมกับช่วงเวลา ก็อาจทำให้เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายอย่างเต็มที่นัก"นายบัณฑิตกล่าว


สำหรับปัจจับสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจนั้น คงต้องดูในเรื่องของนโยบายการเงิน ซึ่งเวลานี้ค่อนข้างชัดเจนว่าความเสี่ยงด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจมีมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะทำให้แรงกดดันด้านราคาสินค้าจากต่างประเทศผ่อนคลายลง อีกทั้งผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมก็มีมากกว่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์กันเอาไว้


นายบัณฑิต กล่าวว่า ถ้าดูอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 3.25% เทียบกับเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยแท้จริงถือว่าอยู่ที่ใกล้ๆ 0% ซึ่งถือเป็นระดับที่ไม่ได้สูงมากเกินไป ดังนั้นหากมีความจำเป็นที่ภาคเศรษฐกิจต้องการการดูแล ในขณะที่เงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา ก็คงเป็นเหตุผลที่เข้มแข็งพอที่จะอธิบายว่าทำไมดอกเบี้ยจะลดลงอีกเล็กน้อยไม่ได้ เพื่อสร้างความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ


ศุภวุฒิ ชี้ยุโรปเข้าข่าย"ถดถอย"
นายศุภฒิ สายเชื่อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางกลุ่มเมอร์ริล ลินซ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของ บล.ภัทร ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย และจะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส1-2ของปีนี้ ซึ่งก็เป็นที่มาที่ทำให้ บล.ภัทร ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ระดับ 4% น้อยกว่าตัวเลขของภาครัฐที่อยู่ระดับ 5%
"สาเหตุที่เรามองการส่งออกปีนี้โต 4% เพราะการส่งออกแม้ฟื้นตัวขึ้น แต่ก็แค่ระดับหนึ่ง ไม่ได้สูงมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูภาคการผลิต และคงใช้เวลาอีก 2 ไตรมาส ขณะที่ เมอร์ริล ลินซ์ พันธมิตรของเราก็มองว่ายุโรปกำลังเข้าสู่ช่วงถดถอย ดังนั้นครึ่งปีแรกของปีนี้คงมีความหวั่นไหวจากยุโรปเข้ามาค่อนข้างมาก และการที่เศรษฐกิจยุโรปหดตัว เราจึงไม่ได้ตั้งเป้าการเติบโตของการส่งออกมากนัก"นายศุภวุฒิกล่าว


เขากล่าวด้วยว่า อีกปัจจัยที่ต้องติดตามเพิ่มเติม คือ ภาพรวมของเศรษฐกิจจีน ซึ่งต้องติดตามดูว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะเป็นลักษระค่อยๆ ชะลอลง หรือชะลอตัวลงรุนแรง เพราะจากการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่กลุ่มเมอร์ริล ลินซ์ สำรวจมา พบว่ามีนักเศรษฐศาสตร์แค่ 10% ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงรุนแรง ขณะที่เสียงส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นการชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นหากสถานการณ์จริงไม่ออกมาตามที่คนส่วนใหญ่ประเมินไว้ ก็อาจทำให้ตลาดเกิดภาวะช็อกได้


ส่วนปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ชัดเจนว่าคงเป็นเรื่องของการลงทุนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจต่างๆ จากปัญหาน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต รวมทั้งภาครัฐเองก็มีโครงการลงทุนที่ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขึ้นอีกรอบ


สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อนั้น นายศุภวุฒิ ยอมรับว่า แนวโน้มเงินเฟ้อปีนี้อาจมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ เพราะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเริ่มปรับขึ้น และมาตรการอุดหนุนของภาครัฐที่เคยมีก็ค่อยๆ ทยอยลดการอุดหนุนลง อีกทั้งเงินนำส่งกองทุนน้ำมันที่เคยพักไว้ก็เริ่มกลับมาเรียกเก็งอีกครั้ง ขณะที่นโยบายเรื่องค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยกดดันด้านเงินเฟ้อ


อย่างไรก็ตาม แม้เงินเฟ้อจะสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ แต่คงไม่สูงมากจนเกินไป ซึ่งโดยรวมน่าจะอยู่ที่ระดับเกิน 3% เล็กน้อย เพราะเศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจึงมีไม่มาก ทาง บล.ภัทร จึงมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายของธปท.มีโอกาสปรับลงได้อีก 1 ครั้ง มาอยู่ที่ระดับ 3% หลังจากนั้นก็น่าจะทรงอยู่ในระดับนี้ไปอีกค่อนข้างนาน
เศรษฐพุฒิ ชี้หนี้ยุโรปกดดันเศรษฐกิจโลก


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นักเศรษฐศาสตร์อิสระ กล่าวว่า ปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรปที่เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจโลกนั้น คงไม่จบลงง่ายๆ และในระยะต่อไปคงจะมีข่าวร้ายออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้คงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ดังนั้นการจะหวังให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้สูงถึง 4.5-5.5% ตามที่ภาครัฐประเมินเอาไว้คงเป็นไปได้ยาก


"ผมว่าถ้าเราทำได้ 3% ก็เก่งแล้ว เพราะถ้าดูปีที่ผ่านมา 3 ไตรมาสแรก เศรษฐกิจเราโต 3.1% และเศรษฐกิจโลกก็ดีกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ อีกทั้งปีนี้ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมก็ยังไม่หมดไป ภาคการผลิตที่ไปคุยมาเขาก็บอกว่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่ช่วงไตรมาส2 ดังนั้นเมื่อมาบวกลบกันแล้ว โอกาสจะเห็นเศรษฐกิจโตกว่า 4% คงมีน้อย"นายเศรษฐพุฒิกล่าว


สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐที่หลายคนหวังว่าจะเป็นพระเอกของปีนี้นั้น เขากล่าวว่า ถ้าดูรายจ่ายภาครัฐในปัจจุบันจะเห็นว่าคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 15% ของจีดีพี ขณะที่รายได้จากการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 60-70% ของจีดีพี ดังนั้นการจะหวังให้การใช้จ่ายภาครัฐมาชดเชยภาคการส่งออกที่จะหดตัวลงคงเป็นไปได้ยาก


"รายจ่ายภาครัฐที่คนฝากความหวังไว้นั้น โดยโครงสร้างของมัน ผลที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมีจำกัด ตัวอย่างเช่นในปี 2551 ที่เราเจอวิกฤติจากสหรัฐ ตอนนั้นภาครัฐมีโครงการกระตุ้นหลายโครงการ โดยเฉพาะไทยเข้มแข็ง แต่ปีนั้นภาครัฐมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 0.9% เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้เยอะมาก"นายเศรษฐพุฒิกล่าว


ส่วนภาคบริโภคและการท่องเที่ยวนั้น เขาเชื่อว่ายังสามารถพึ่งพาได้ โดยภาคการบริโภคของไทยไม่ค่อยแกว่งตัวมากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างดี ส่วนภาคการท่องเที่ยวนั้นจะเห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาหลายครั้งทั้งการปิดสนามบิน การเผาเมือง แต่หลังเหตุการณ์ทุกอย่างสงบ นักท่องเที่ยวก็กลับมาเป็นปกติ จึงทำให้สบายใจได้บ้างว่าการท่องเที่ยวยังไงก็คงไม่เป็นปัญหา อีกทั้งการมาเที่ยวประเทศไทยก็ไม่ค่อยแพงด้วย


สำหรับทิศทางเงินเฟ้อนั้น แม้ระยะสั้นอาจมีปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจากปัญหาการเมืองโลกบ้าง แต่คงเป็นผลกระทบระยะสั้น ขณะที่แนวโน้มราคาโดยภาพรวมน่าจะเป็นขาลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามไปด้วย แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจึงไม่น่าห่วงมากนัก


"ชัดเจนว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นมากกว่าในด้านของเงินเฟ้อ ดังนั้นในเชิงนโยบายการเงินในช่วงนี้อาจปรับลดลงได้อีกเล็กน้อย หรือไม่ก็อาจจะคงไว้ก่อน หลังจากนั้นก็ติดตามดูสถานการณ์ในยุโรป ซึ่งถ้าไม่ดีขึ้น ก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะเป็นขาลง แต่คงยังไม่ใช่เร็วๆ นี้"นายเศรษฐพุฒิกล่าว



สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ผ่า 3มุมมอง นักเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจชะลอ ดอกเบี้ยขาลง

view