สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บรรเจิด สิงคเนติ การแก้ไขมาตรา 112 คือการทำลายเกราะคุ้มกันสถาบัน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความ พยายามในการแก้ไขมาตรา 112 ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ก่อให้เกิดวิวาทะในสังคม และคาดว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงครั้งใหญ่ในระเวลาอันใกล้นี้ ขณะที่นักวิชาการในนาม 'กลุ่มนิติราษฎร์' เดินหน้าเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตราดังกล่าว โดยอ้างเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ล่าสุดได้มี 'กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์' นักวิชาการที่เห็นต่างออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน การปะทะทางความคิดที่เฉียบคมและสมน้ำสมเนื้อจึงเกิดขึ้น
       
       ส่วน 'กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์' จะมีที่มาที่ไปอย่างไร และมีแนวทางในการขับเคลื่อนเช่นไร 'รศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ' คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หนึ่งในผู้ก่อตั้งสยามประชาภิวัฒน์ จะมาให้คำตอบ !!
       
       **อยากทราบถึงความเป็นมาของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์
       
       สยามประชาภิวัฒน์เป็นการรวมกลุ่มของนักวิชาการจาก 8 สถาบัน ประกอบด้วย นิด้า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยารังสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเรามารวมตัวกันเพื่อต้องการให้ความรู้แก่ประชาชน โดยนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน ถูกต้องและสมบูรณ์ คือก่อนหน้าที่จะตั้งเป็นกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์นั้นเราได้มีการพบปะพูดคุย กันในหมู่นักวิชาการ แต่จะออกมาสู่สาธารณชนเฉพาะในประเด็นที่จำเป็น และไม่ได้เป็นกลุ่มที่ถาวร
       
       อย่างไรก็ตาม เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากลุ่มนักวิชาการบางกลุ่มได้ให้ข้อมูลแก่สาธารณชนอย่างไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ และที่สำคัญคือมองปัญหาในจุดที่แตกต่าง เราจึงเห็นว่าควรมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งที่ให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ถามว่าทำไมเราถึงออกมาในช่วงนี้ ? ก็เพราะเรามองว่าการทำหน้าที่ของกลุ่มนักวิชาการบางกลุ่มจะทำให้สังคมมองไป ในทิศทางที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้ และไม่ตรงกับความเป็นจริง
       
       **บางคนสงสัยว่ากลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ตั้งใจตั้งขึ้นมาเพื่อชนกับกลุ่มนิติราษฎร์หรือเปล่า
       
       คือเรามองว่า ถ้าเราพุ่งประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาถูกจุด การแก้ไขปัญหาก็น่าจะตรงจุด เกาได้ถูกที่คัน ส่วนจะชนกับนิติราษฎร์หรือไม่คงไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ประเด็นใหญ่คือเรื่ององค์ความรู้ที่ถูกนำเสนอออกมามันเป็นประเด็นปัญหาที่ ถูกต้องแท้จริงของสังคมไทย ซึ่งจะทำให้เกิดความคิดที่ตกผลึกว่าเราควรจะขับเคลื่อนแก้ไขอย่างไร ผมมองว่าตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่มากกว่า ที่สำคัญคือเราจะทำให้สังคมมีข้อมูล 2 ด้าน จะได้พิจารณาได้ว่าเรื่องนั้นๆ มันถูกหรือผิดอย่างไร สยามประชาภิวัฒน์ก็พยายามจะทำหน้าที่แยกแยะให้เห็นว่าอะไรเป็นเนื้อ อะไรเป็นขยะ แยกกรองออกมาให้เห็น ไม่ใช่เอาปัญหาทั้งหมดไปรวมกันแล้วเขย่าบนพื้นฐานของการเมือง ไปรวมปนๆ กัน แล้วบอกว่าอันนี้คือปัญหา เหมือนกับกรณีที่เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 อยู่ในขณะนี้
       
       **อยากให้อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างกรณีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งมีผลให้สังคมมองสถานการณ์คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง
       
       ยกตัวอย่างเช่น มีบางกลุ่มพยายามเปิดประเด็นว่าระบบเผด็จการทหารคือศัตรูของประชาธิปไตย เพราะเขากลัวการปฏิวัติ แต่สยามประชาภิวัฒน์ไม่ได้มองว่าปัจจุบันนี้ระบบเผด็จการทหารเป็นปัญหาของ สังคมอีกต่อไป แต่ทหารคือผู้ที่เข้ามาคานอำนาจทางการเมืองในยามที่บ้านเมืองไม่ปกติมากกว่า เพราะว่าหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 ผู้ที่เข้ามามีบทบาทนำในสังคมนั้นเปลี่ยนไป ทหารไม่ได้มีบทบาทนำอีกต่อไปแล้ว
       
       หลังจากปี 35 ผู้ที่เข้ามามีบทบาทนำทางสังคมและการเมืองคือกลุ่มทุนทางการเมือง ส่วนทหารเป็นผู้ที่คานอำนาจของทุนการเมือง จะเห็นว่าหลังปี 35อะไรหลายๆอย่างก็ถูกกำหนดขึ้นเพื่อรองรับทุนการเมือง เช่น เงื่อนไขรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็กำหนดว่าผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เงื่อนไขเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นในปี 40 เพื่อให้คุณค่ากับการรวมตัวในนามพรรคการเมือง
       
       ประเด็นสำคัญที่เรามองว่าเป็นปัญหาใหญ่มากคือการนำระบบความคิดทาง ตะวันตกเข้ามาโดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติของสังคมไทยที่เป็นระบบอุปถัมภ์ ถ้าอย่างนั้นก็จบละ สังคมไทยไม่ต้องมีเหตุผล ถ้าเป็นพวกเราทำอะไรก็ถูกหมด บ้านเมืองเราตอนนี้มันเป็นลักษณะของโลกาภิวัฒน์ทุนนิยมเสรีบวกกับระบบ อุปถัมภ์ บวกกับโครงสร้างสังคมไทยที่มีพรรคการเมืองที่มีลักษณะเป็นสมบัติส่วนบุคคล ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ หรือผลประโยชน์ชาติใดๆ ทั้งนั้น เป็นเพียงระบบอุปถัมภ์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เรียกว่า 'พรรคการเมือง' แต่หาใช่พรรคการเมืองในความหมายของสากลไม่ ซึ่งตรงนี้ส่งผลค่อนข้างแรงต่อระบบการเมืองไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
       
       **อาจารย์กำลังจะบอกว่าการเมืองไทยเป็นเผด็จการรัฐสภา ภายใต้ทุนนิยม
       
       เงื่อนไขของการเมืองมันพัฒนาไปสู่ระบบทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นว่าตั้งแต่เงื่อนไขที่กำหนดให้เข้าเป็นสมาชิกพรรค ก็เป็นตัวกำหนดแล้วว่า ส.ส.เหล่านี้ต้องเป็นตัวแทนของพรรค ดังนั้นที่รัฐธรรมนูญระบุว่า ส.ส.เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยนั้น เป็นเพียงถ้อยคำที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะก่อนเข้าเป็นสมาชิกพรรคก็มีขบวนการต่อรองอะไรต่างๆ จนสมาชิกยอมที่จะอยู่ใต้อาณัติของพรรค ยอมอยู่ภายใต้การชี้นำของผู้ที่ถือรีโมทของพรรคการเมือง
       
       ถามว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร '1 ครอบครัว 3 นายกรัฐมนตรี' เป็นภาพสะท้อนชัดเลยว่าคนที่ถือรีโมท สามารถกดรีโมทประเทศนี้ได้เลย นี่เหรอประชาธิปไตย ?..ในพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน
       
       ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง เสร็จแล้วพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกจะทำอะไรกับบ้านนี้เมืองนี้ก็ได้ โดยอ้างว่าเขามาจากเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง นี่คือปัญหาใหญ่ที่เรามองว่าการให้ข้อเท็จจริงกับสังคมนั้นมันให้ไม่ถูกจุด ไม่ถูกประเด็น เราจึงมองว่าถึงเวลาที่เราจะต้องออกมาให้ข้อเท็จจริง ให้ข้อมูลแก่สังคม และทำให้เห็นว่าประเด็นที่แท้จริงคืออะไร ปัจจุบันเรามองว่าทหารไม่ใช่ประเด็นของสังคมอีกต่อไป ทหารอาจจะมีบทบาทนำในช่วงปี 2490 มาถึง 14 ตุลาฯ 16 และ 6 ตุลาฯ 19จนถึง พฤษภาฯ 35 แต่หลังจากปี 35 เงื่อนไขต่างๆเปลี่ยนไป ผู้ที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองคือกลุ่มทุนทางการเมืองต่างหาก
       
       **แล้วรัฐประหาร19 ก.ย. 49 ล่ะ
       
       จะเห็นว่ารัฐประหาร 2549 เนี่ย ทหารไม่ใช่ผู้ที่กำหนดบทบาทความเป็นไป แต่เป็นผู้ที่เข้าไปสกัดปัญหาการเมืองที่รุนแรงอย่างยิ่งในช่วงนั้น ทหารเป็นคนที่ไปฌาปนกิจรัฐธรรมนูญปี 40 แต่การตายของรัฐธรรมนูญ 40 นั้นมันตายมาตั้งแต่ 21 ส.ค.2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดีซุกหุ้นภาค 1 ซึ่งระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่มีความผิดในฐานซุกหุ้น เพราะ 'เป็นการบกพร่องโดยสุจริต' ตรงนั้นเองที่เป็นการ 'หักดิบกฎหมาย' ให้สิทธิคนๆ หนึ่งอยู่เหนือรัฐธรรมนูญได้ และวันนั้นเองเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดที่สร้างขึ้นมา โดยอาศัยการปฏิรูปการเมืองแบบเยอรมนีเพื่อให้มีหน่วยงานที่เป็นองค์กรสูงสุด ทำหน้าที่รักษากติกาประชาธิปไตยนั้นตายลงไปด้วย
       
       เมื่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเหมือนยอดปิรามิดของระบอบประชาธิปไตยตาย ลง ไส้ในของประชาธิปไตยก็ตายไปด้วย เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วประชาชนควรเรียกร้องให้เอาผิดกับตุลาการที่กระทำผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุดเพื่อที่จะเป็นบรรทัดฐานทาง การเมืองในอนาคตต่อไป ต้องบอกว่าคำตัดสินในคดีซุกหุ้นภาค 1 คือความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง หลังจากนั้นฝ่ายการเมืองก็ค่อยๆบ่อนเซาะองค์กรต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างของสังคม จนนำไปสู่วิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ กระทั่งเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย.49
       
       **แล้วอาจารย์คิดว่าการเสนอให้มีการแก้ไขกำหมาย มาตรา 112 ของกลุ่มนิติราษฎร์ เป็นความจงใจที่จะให้ข้อมูลในลักษณะบิดเบือน คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงหรือเปล่า
       
       ผมไม่แน่ใจว่าเป็นการจงใจบิดเบือนหรือไม่ แต่ในแง่ของการวิเคราะห์เชิงสังคมแล้วผมมองว่าการไปให้น้ำหนักแบบที่คณะนิติ ราษฎร์นำเสนอนั้นมันเป็นการไปเข้าทางของนักการเมืองบางกลุ่มที่ประสงค์จะไป แก้ปรับในเชิงโครงสร้างของสถาบันสูงสุดของไทย แนวทางก็เลยไปสอดคล้องต้องกัน ส่วนจะประสงค์จงใจหรือไม่ผมไม่อาจรู้ได้ แต่ผมมองว่าการเสนอความเห็นของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ต้องการให้มีการแก้ไขมาตรา 112 นั้นเป็นการนำเสนอแบบนำประเด็นต่างๆ มารวมกันมั่วไปหมด แต่กลับไม่ได้พิเคราะห์ถึงบริบททางสังคมซึ่งประเทศไทยกับประเทศในแถบยุโรปก็ มีความแตกต่างกัน ที่สำคัญกลุ่มนิติราษฎร์ไม่ได้พูดถึงบริบททางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วกำลังเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย
       
       **ทำไมกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์จึงเห็นว่าไม่ควรมีการแก้ไขมาตรา 112
       
       คือเรามองว่าสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นสถาบันที่มีคุณค่าและมีคุณูปการ ต่อการดำรงอยู่ของสังคมไทย เรามองว่ามาตรา 112 ไม่ใช่ตัวปัญหา เพราะตัวบทกฎหมายที่ระบุในมาตรานี้นั้นถือว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากสถาบันกษัตริย์นั้นมีสถานะเป็นสถาบันหลักของรัฐ จึงควรได้รับการปกป้องดูแลโดยรัฐ จะเห็นได้ว่าในระบบกฎหมายนั้นเรื่องใดก็ตามที่มีคุณค่าสูงเขาจะกำหนดให้ ประชาชนที่พบเห็นการกระทำผิดต่อเรื่องนั้นมีอำนาจร้องเพื่อให้มีการดำเนิน คดีได้ อาทิ ในกฎหมายเลือกตั้งระบุว่าใครก็ตามที่มีสิทธิเลือกตั้งพบเห็นการซื้อสิทธิขาย เสียงซึ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมผู้นั้นก็สามารถไป ร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้เอาผิดกับคนที่ซื้อสิทธิขายเสียงได้ ถามว่ากฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้เพราะอะไร เพราะเรามองว่าการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า สูง และผู้พบเห็นถือเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องร้องได้ ทั้งนี้เพื่อดำรงคุณค่าของระบบการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม
       
       ในทำนองเดียวกัน ประมุขของรัฐในฐานะที่เป็นสถาบันนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทั้งในระบบกฎหมาย อีกทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ถือว่าเป็นสถาบันที่มีคุณค่าทางจิตใจ ของสังคม เมื่อวางคุณค่าไว้อย่างนี้ จึงวางให้มีกลไกให้ผู้ที่พบเห็นการล่วงละเมิดต่อสถาบันเป็นผู้ที่มีอำนาจ ร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ส่วนที่บอกว่ามีปัญหาในการนำมาตรา 112 มาเป็นประเด็นกลั่นแกล้งทางการเมืองนั้น ถือเป็นปัญหาในทางปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากโครงสร้างอำนาจของไทยนั้นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่ใต้อำนาจการ เมือง การเมืองจึงสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ มันจึงเป็นปัญหาโดยรวมของกระบวนการยุติธรรม และไม่ใช่เฉพาะมาตรา 112 นะ มีกฎหมายอีกเยอะแยะมากมายที่มีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะถูกแทรกแซง นี่คือปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ปัญหาของตัวกฎหมาย
       
       ทีนี้ถามว่ามาตรา 112 ควรจะแก้จะปรับหรือไม่ ทางสยามประชาภิวัฒน์มองว่าไม่ใช่ประเด็นที่จะไปแก้ไปปรับ เพราะในหลักการนั้นถูกต้องแล้ว แต่อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติที่เกี่ยวโยงกับกระบวนการยุติธรรม ส่วนจะแก้ไขอย่างไร ก็เป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องไปดำเนินการ ไม่ใช่ปัญหาของมาตรา 112 ซึ่งทางเราก็พยายามแยกแยะว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ควรจะแก้อย่างไร โดยอยู่บนพื้นฐานของการให้คุณค่าแก่สถาบันหลักที่ควรได้รับการคุ้มครองดูแล จากรัฐ ไม่ใช่ไปลดสถานะของสถาบันหลักของชาติลงมาเป็นปัจเจกบุคล และจริงๆ แล้วกฎหมายของไทยนั้นก็มีบางองค์กรที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือฟ้องร้อง ได้ สภานิติบัญญัติยังมีเอกสิทธิ์ ศาลยังมีเรื่องการห้ามหมิ่นศาล มีฝ่ายบริหาร มีอัยการต่างๆ เข้ามาคุ้มครองดูแล แล้วจะปล่อยให้สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติดูแลตัวเอง เช่นเดียวกับปัจเจกบุคคลเนี่ยผมคิดว่าไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและหลักการของ ประเทศไทย
       
       **คณะนิติราษฎร์ก็อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพตามหลักสากล
       
       ไม่มีเสรีภาพใดที่ไม่มีข้อจำกัด ในต่างประเทศเสรีภาพของเขาก็มีข้อจำกัด ประการที่ 1.เราจะใช้เสรีภาพไปละเมิดสิทธิของคนอื่นไม่ได้นะ ประการที่ 2. จะให้เสรีภาพไปขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้ และประการที่ 3.จะใช้เสรีภาพขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคมไม่ได้ โดยหลักแล้วมันต้องมีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นในส่วนของพระมหากษัตริย์ซึ่งมีทั้งฐานะที่เป็นบุคคลและฐานะที่ เป็นประมุขแห่งรัฐ เราจะใช้เสรีภาพของเราเข้าไปล่วงละเมิดไม่ได้ อันนี้เป็นหลักการทั่วไปที่อธิบายได้ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เราต้องแยกแประเด็นให้ถูกต้อง
       
       **บางคนอ้างว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้
       
       ผมว่าหลักการของสถาบันในแต่ละประเทศนั้นก็ย่อมจะมีรายละเอียดที่แตก ต่างกันไป แต่ละประเทศก็มีจารีตและความอ่อนไหวในประเด็นที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเราจะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ยกตัวอย่างในต่างประเทศเนี่ยประเด็นเรื่องลูกไม่ได้เลี้ยงดูพ่อแม่นั้นถือ เป็นเรื่องปกติมากเลย แต่สำหรับสังคมไทยถ้าปล่อยให้พ่อแม่ลำบาก ไม่ดูแลก็จะถูกประณามว่าเป็นลูกอกตัญญูทันที เพราะฉะนั้นเราจะเอาความรู้สึกของต่างชาติที่มีต่อถาบันกษัตริย์ของเขามา เป็นมาตรวัดในบ้านเราไม่ได้ เพราะมุมมองของคนในแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน
       
       สำหรับสังคมไทยนั้นสถาบันกษัตริย์คือผู้กอบกู้บ้านเมือง เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน เช่น รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งการเลิกทาส ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาการคมนาคม ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันก็ทรงนำประเทศไปสู่การพัฒนา หลากหลายด้าน อีกทั้งยังทรงริเริ่มและจุดประกายแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อสังคม เปลี่ยนจากสังคมที่ฟุ้งเฟ้อ มุ่งแต่วัตถุนิยม ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจหลายต่อหลายครั้ง มาสู่สังคมที่พอเพียง รู้จักประมาณ และแบ่งปั้น อันจะนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืน สถาบันกษัตริย์ของไทยจึงมีคุณค่า เป็นศูนย์รวมของชาติ จึงจำเป็นต้องมีเกราะคุ้มกันเพื่อความมั่นคงของสถาบัน
       
       **นิติราษฎร์บอกว่าจำเป็นต้องแก้มาตรา 112 เพราะมีผู้นำกฎหมายนี้มาใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง เช่นเดียวกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่มีความเห็นว่า มีการใช้มาตรา 112 อย่างฉ้อฉล ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการวินิจฉัยผู้กระทำผิด
       
       ผมว่าการจะพิจารณาว่าถูกกล่าวหากลั่นแกล้ง หรือกระทำผิดจริงนั้น อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล เพราะก่อนที่จะมีการตัดสินคดี ศาลต้องรวบรวมพยานหลักฐานและเปิดโอกาสให้จำเลยชี้แจงได้อยู่แล้ว ซึ่งศาลก็จะดูพฤติกรรมและเจตนาเป็นหลัก หากเป็นการกระทำในลักษณะที่ซ้ำๆ และต่อเนื่อง แล้วจะมาอ้างว่าถูกกลั่นแกล้งใส่ความหรือรังแกคนแก่เหมือนอย่างกรณีอากง ก็คงไม่ได้ แต่หากมองว่าสามารถนำเรื่องการหมิ่นสถาบันมาเป็นช่องทางเพื่อกลั่นแกล้งทาง การเมือง ก็แปลว่ากระบวนการยุติธรรมของบ้านเรามีปัญหา ก็ต้องไปแก้ที่กระบวนการยุติธรรม ถ้าการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีทำให้ ฝ่ายการเมืองสามารถแทรกแซงการทำงานของตำรวจได้ก็ต้องแยกสำนักงานตำรวจแห่ง ชาติออกมา ถ้ามองว่ากระบวนการทำงานของอัยการและศาลมีปัญหา ปล่อยให้มีการกลั่นแกล้งกัน ก็ต้องไปแก้ในจุดนั้น ไม่ใช่มาแก้ที่ตัวกฎหมาย เพราะมาตรา 112 ซึ่งเป็นตัวกฎหมายไม่ใช่ตัวสร้างปัญหา
       
       **การที่ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) เสนอว่าให้สำนักเลขาธิการสำนักพระราชวังเป็นผู้พิจารณาว่าควรฟ้องร้องดำเนิน คดีตามมาตร 112 หรือไม่ ก็จะทำให้เกิดปัญหาอีก เพราะจะทำให้สถาบันถูกมองว่ารังแกประชาชน
       
       ถูกต้องครับ หลีกหนีไม่ได้ที่สถาบันจะถูกตำหนิ แม้ว่าผู้นั้นจะกระทำผิดจริง และสำนักพระราชวังมีความเห็นไปตามข้อเท็จจริง ก็อาจถูกนำไปเป็นประเด็นโจมตีอีกว่าสถาบันรังแกประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะส่งผลลบต่อสถาบันมากกว่าผลดี และหากมีความมุ่งหมายทางการเมืองที่จะให้ร้ายทำลายสถาบัน ก็ไม่มีใครสามารถปกป้องพระองค์ท่านได้ แม้ประชาชนจะรักพระองค์ท่านขนาดไหนก็ลุกขึ้นมาปกป้องพระองค์ท่านไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะฟ้องร้องคนที่ให้ร้ายสถาบัน หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นการกระทำผิดดังกล่าวก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิไว้
       
       **ดูเหมือนการเสนอแก้มาตรา 112 จะทำกันเป็นขบวนการ ทั้งนักวิชาการ นักการเมืองและมวลชนเสื้อแดง ซึ่งมีการขับเคลื่อนไปพร้อมกันอย่างเป็นระบบ ทำให้บางคนสงสัยว่ากลุ่มนิติราษฎร์รับงานใครมาหรือเปล่า
       
       ผมว่าการกระทำและระยะเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีที่สุด ไม่ว่ากลุ่มนิติราษฎร์ หรือแม้แต่กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์จะพูดยังไง แต่สุดท้ายการกระทำมันจะเป็นเครื่องยืนยันเจตนา ประชาชนจะเป็นผู้ประเมินว่าการดำเนินการของนักวิชาการมันไปสอดรับกับการ ดำเนินการของฝ่ายการเมืองหรือไม่อย่างไร นักวิชาการเลือกที่จะพูดเฉพาะในมุมใดมุมหนึ่ง โดยละเลยที่จะพูดถึงมุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ การเคลื่อนไหวนั้นมีเจตนาใดแอบแฝงหรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน จริงๆ แล้วบทบาทของนักวิชาการคือผู้ที่ให้ความรู้และข้อเท็จจริงแก่สังคม แต่ถ้านักวิชาการเข้าไปพัวพันกับการเมือง สถานะของเขาก็จะเปลี่ยนไป นักวิชาการจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองทันที
       
       **รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการแก้ไขมาตรา 112 แต่ปรากฏว่านักการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายต่อหลายคนก็ขึ้นเวที ไฮปาร์กจาบต้วงสถาบัน โดยที่พรรคไม่ได้มีการห้าทมปราม ในขณะที่คนเสื้อแดงซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยก็เป็นกลุ่มที่มีการจาบ จ้างสถาบันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ต่างๆ อย่างนี้ถือเป็นการเดินเกมสองหน้าหรือเปล่า
       
       เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องตอบคำถามประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลในฐานะตัวแทนรัฐได้ทำหน้าที่ปกป้องสถาบันหรือไม่ การกระทำเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์
       
       **คิดว่าถ้าสามารถแก้ไข มาตรา 112 ได้สำเร็จจริงๆ ตามที่คนบางกลุ่มพยายามดำเนินการอยู่ จะเกิดอะไรขึ้น ?
       
       ถ้ามีการนำมูลเหตุทางการเมืองมาทำลายเกราะคุ้มกันสถาบันได้สำเร็จ สถาบันกษัตริย์ก็จะอ่อนแอลงครับ แล้วก็จะถูกลดบทบาทลงด้วย จากเดิมที่กฎหมายให้อำนาจรัฐและประชาชนในการทำหน้าที่ปกป้องสถาบัน หากพบเห็นการจาบจ้วงล่วงละเมิด รัฐหรือประชาชนก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ แต่เมื่อเกราะตรงนี้ถูกทำลายลง สถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศก็จะอ่อนแลลง เพราะสถาบันก็คงไม่ลงมาฟ้องร้องเอง ท้ายที่สุดใครจะทำอะไรกับพระองค์ท่านก็ได้ จริงๆแล้วรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสถาบัน แต่ถ้ารัฐดำเนินการให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ก็เท่ากับรัฐกำลังจะทำลายเกราะคุ้มกันสถาบันเสียเอง
       
       **คิดว่าคนเหล่านี้จะได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไข มาตรา 112
       
       คือที่ผ่านมาบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของสถาบันคือสามารถคานอำนาจกับฝ่าย การเมืองได้ ทำให้โครงสร้างสังคมไทยมีการถ่วงดุล จะเห็นว่าการดำเนินการหลายๆเรื่องของรัฐบาล เช่น การแก้ไขกฎหมาย การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง รัฐบาลจะต้องนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราช วินิจฉัย ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง หรือเวลาที่ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจเกินขอบเขต เกิดการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง พระองค์ท่านก็ทรงลงมาไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง แต่หากสถาบันอ่อนแอไม่อาจคัดคานอำนาจทางการเมือง ประเทศไทยก็จะถูกรวบอำนาจโดยฝ่ายการเมืองทั้งหมด ดังนั้นทุนการเมืองจึงต้องการลดบทบาทของสถาบันลง
       
       **แปลว่านักการเมืองอาจมองว่าสถาบันเป็นผู้ขัดขวางอำนาจของกลุ่มทุนการเมือง จึงจำเป็นต้องลิดรอนอำนาจของสถาบันให้อ่อนแอลง
       
       เราปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังปี 2535 เป็นต้นมา มีความพยายามของทุนการเมืองที่จะเข้าไปกุมอำนาจในทุกภาคส่วนของสังคม และสถาบันก็ถูกวางโครงสร้างเอาไว้ให้เป็นจุดถ่วงดุลและคานอำนาจเหล่านี้
       
       **หลายฝ่ายมองว่าการแก้มาตรา 112 จะนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ในสังคม แทนที่จะก่อให้เกิดความปรองดองอย่างที่คณะะกรรมการ คอป. ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่มีการศึกษาและเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ในบางประเด็น ระบุ
       
       นี่คือสิ่งที่บรรดานักวิชาการกำลังจับตามอง และหวั่นวิตกอยู่เช่นกัน
       
       **หลังจากนี้กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์จะดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
       
       ตอนนี้เราเตรียมที่จะเดินสายเพื่อจัดเสวนาให้ความรู้เชิงวิชาการ เกี่ยวกับมาตรา 112 ในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง โดยการเสวนาครั้งแรกจะจัดที่นิด้า ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลความรู้และมุมมองที่รอบด้านแก่สังคม เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องและมองปัญหาอย่างรอบด้าน ไม่ถูกการเมืองครอบงำ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : บรรเจิด สิงคเนติ การแก้ไขมาตรา 112 การทำลายเกราะคุ้มกันสถาบัน

view