สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กยน.ระส่ำ ..นักวิชาการระอา ไร้แผนงาน แต่อยากผลาญงบ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ส่อแววล้มตั้งแต่ยังไม่ตั้งไข่ สำหรับการทำงานของ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” หรือ กยน. ที่นายกฯนกแก้วเจื้อยแจ้วโปรโมทเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนคนไทยและ บรรดานักลงทุนต่างชาติว่าไม่ต้องกลัว “วิกฤตมหาอุทกภัย” จะถาโถมถล่มซ้ำเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะขณะนี้รัฐบาลได้ระดมสรรพกำลัง ระดมสมอง ของสุดยอด 'กูรู' ด้านน้ำจากหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศมาช่วยกันคิดหาทางป้องกันและหาทางระบาย น้ำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
       
       แต่ปรากฏว่าการดำเนินงานหาได้เป็นเช่นภาพที่สร้างออกมาไม่ ล่าสุดบรรดานักวิชาการที่ได้รับเทียบเชิญให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการต่างออก มาบ่นถึงความโหลยโท่ยของรัฐบาลซึ่งเป็นแกนหลักในการทำงานว่าหาได้มีการวาง แผนงานใดๆไม่ ทั้งที่รายงานล่าสุดจากกรมชลประทานระบุว่าปีนี้ปริมาณน้ำมากกว่าปกติ โดยปริมาณน้ำเหนือเขื่อนนั้นอยู่ในระดับเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แทบทุกเขื่อน โดยเฉพาะที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ขณะที่นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หนึ่งในกรรมการ กยน.ก็บอกว่าปีนี้น้ำจะมาเร็ว และคาดว่าเดือนพฤษภานี้น้ำท่วมแน่ และท่วมนาน !!
       
       กระทั่งมีข่าวเมาท์กันให้แซ่ดว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ ดร.สมิ ทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะถอนตัวออกจาก กยน. เพราะรับไม่ได้กับการทำงานแบบขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ โดยไม่มีแผนงานอะไร
       
       ถึงขนาด ดร.สมิทธก็ทนไม่ได้ ออกมาสับการทำงานของ กยน.ว่าเละเทะ โดยเฉพาะเรื่องการลงรายละเอียดในแผนงาน เนื่องจากที่ผ่านมาที่ประชุมไม่เปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะของบรรดานักวิชาการ อาทิ คำเตือนของ ดร.สมิทธ ที่ว่าปีนี้จะมีน้ำมากจากปรากฏการณ์ลานิญญา ทำให้มีปริมานฝนตกไม่น้อยไปกว่าปี 2554 แต่ยังไม่มีแผนงานที่จะพร่องน้ำจากเขื่อนหรือการระบายน้ำลงทะเลเลย ทำให้เกรงว่าจะซ้ำรอยมหันตภัยเช่นปีที่ผ่านมา ขณะที่ปราโมทย์ก็บ่นว่าจนถึงป่านนี้ยังไม่มีแผนงานเรื่องฟลัดเวย์
       
       แต่สุดท้ายเหล่าผู้อาวุโสก็ใจอ่อน ยอมอยู่ทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองต่อไป และพร้อมใจกันออกมายืนยันว่าไม่คิดจะลาออก ...
       
       ทั้งนี้ ความต่างอย่างสุดขั้วระหว่างฝ่ายการเมืองกับนักนักวิชาการก็คือ ฝ่ายการเมืองมุ่งไปที่การจัดหางบประมาณจำนวนมหาศาล ถึง 3.54 แสนล้านบาท โดยเตรียมการที่จะออก พ.ร.ก.เงินกู้ แต่กลับไม่ระบุรายละเอียดในแผนงาน ระบุเพียงว่าจะใช้เพื่อดำเนินการรื้อระบบบริหารจัดการน้ำทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่ฝ่ายวิชาการมองว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนงานที่เป็นรูปธรรมออกมา แต่กลับกันเงินก้อนโตไว้คอยท่า แล้วจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างไร ที่สำคัญยังไม่มีข้อเสนอของนักวิชาการที่รอบรู้เรื่องน้ำอยู่ในแผนงานอีก ต่างหาก
       
       สำหรับประเด็นเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการใช้งบประมาณนั้น เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังจับตามอง อาทิ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่ามีการตั้งเป้าใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมใน ระยะยาว แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ลงมาสำรวจพื้นที่ หรือรับฟังข้อมูลจากประชาชนเลย และเท่าที่รู้งบน้ำท่วมของปีที่ผ่านมารัฐบาลยังใช้ไม่หมด เหตุใจจึงมีการกู้เงินเพิ่ม
       
       ขณะที่ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ภคต.)ถึงขนาดทำจดหมายยื่นเรื่อง ความคิดเห็นจากนักธุรกิจ นักวิชาการ ตัวแทนเอ็นจีโอ และภาคประชาสังคม เรื่องการใช้งบประมาณฟื้นฟูประเทศหลังอุทกภัย ที่รัฐบาลต้องเฝ้าระวังการทุจริตต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อการตรวจสอบการทุจริตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
       
       แต่ประเด็นที่น่าจับตาที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคต ประเทศ พ.ศ.2555 ซึ่งจะให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินถึง 3.5 แสนล้านบาท ที่พรระประชาธิปัตย์ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะออกเป็น พ.ร.ก.หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกู้เงินจำนวนมหาศาล แต่กลับไม่มีแผนในการดำเนินงานใดๆรองรับ อีกทั้งการดำเนินงานบางส่วนก็เป็นโครงการระยะยาวที่ต้องใช้เวลาในดำเนินงาน และใช้งบประมาณต่อเนื่อง จึงน่าจะออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้สมาชิกสภาได้มีโอกาสซักถามถึงข้อดีข้อ เสียของแต่ละโครงการ และขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว จึงยังไม่แน่ว่าการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวจะสามารถทำได้หรือไม่ ? และหากออกเป็น พ.ร.ก.ไม่ได้ รัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไป !
       
       นอกจากนั้น อีกประเด็นหนึ่งที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล นั่นคือการสร้างฟลัดเวย์ (ทางน้ำผ่าน) และแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำ ที่ว่ากันว่าขณะนี้รัฐบาลยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะวางแนวฟลัดเวย์อย่างไร จะกำหนดพื้นที่แก้มลิงตรงไหน เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้รัฐบาล และ กยน.ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ไปหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดจุดให้ชัดเจนมากขึ้นและรอให้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนใน พื้นที่ก่อน
       
       ล่าสุดแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า “ แผนการจัดการน้ำ โดยเฉพาะการสร้างฟลัดเวย์ และแก้มลิงที่รัฐบาลยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้พื้นที่บริเวณใด เชื่อว่าสาเหตุที่รัฐบาลยังไม่กล้าที่จะเปิดเผยว่า มีพื้นที่ไหนบ้าง เพราะกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งของประชาชน”
       
       ขณะเดียวกันเชื่อว่าการทำ ฟลัดเวย์ หรือ พื้นที่รับน้ำที่จะกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างงอาจจะต้อง ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ( EIA/HIA)
       
       ทั้งนี้ ข้อมูลวงในระบุว่า สำหรับพื้นที่แรกต้นน้ำที่สภาพัฒน์ศึกษา ได้แก่พื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พื้นที่กลางน้ำ ศึกษาที่ อ.บางบาล กับ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามหากจัดสร้างเป็นพื้นที่แก้มลิง เมื่อน้ำเข้ามา น้ำก็ต้องออกเองได้ แต่ 2 จุดนี้น้ำออกเองไม่ได้
       
       ที่น่าเศร้าสำหรับประชาชนคนไทยในขณะนี้คือ...แม้กระแสสังคมและบรรดา นักวิชาการจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ารัฐบาลไม่มีความชัดแจนเรื่องแผนการ บริหารจัดการน้ำ และคิดแต่เรื่องใช้งบประมาณ แต่แทนที่นายกฯยิ่งลักษณ์จะแจกแจงถึงแผนงานต่างๆเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ ประชาชน กลับแถไถไปว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องใหญ่จึงต้องค่อยๆ ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้สั่งการไปแล้ว และอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงาน
       
       “ ทุกอย่างมีแผนงานชัดเจน แต่อาจไม่ทันใจคณะกรรมการที่มีความเป็นห่วง จึงต้องทำความเข้าใจกัน และเห็นใจคณะกรรมการ เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นภารกิจหลักของประเทศที่จะต้องติดตาม แต่ยืนยันว่าได้เตรียมความพร้อมและการป้องกันที่ดีสำหรับฤดูฝนที่จะมาถึง นี้” นายกฯยิ่งลักษณ์ ระบุ
       
       เมื่อเจอกับการทำงานที่หน่อมแหน้มและมุ่งหวังแต่การกอบโกยผลประโยชน์ เช่นนี้ คนไทยตาดำๆก็คงทำได้แค่บนบานสานกล่าวว่าขออย่าให้ฝนตก ขออย่าให้น้ำท่วม หรือไม่ก็ …..ขอให้เปลี่ยนรัฐบาล !!


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : กยน. ระส่ำ นักวิชาการระอา ไร้แผนงาน อยากผลาญงบ

view