สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดสมุดปกขาวไทยต่อกรกัมพูชา

จาก โพสต์ทูเดย์

รมว.ต่างประเทศทำ “สมุดปกขาว”เกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร และการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชา

โดย......ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

หลังจาก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ ปัญหาระหว่าง “ไทย-กัมพูชา” โดยเฉพาะกรณีปราสาทพระวิหาร ดูเหมือนจะคลี่คลายความตึงเครียดลงไป แตกต่างจากสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ขณะนั้นเกิดปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน จนทำให้ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนของ 2 ประเทศได้รับผลกระทบ

ทว่า ปัญหาดังกล่าวยังไม่จบและคงมีผลผูกพันมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องด้วยกัมพูชาได้ยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ (ศาลโลก) เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2554 ให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 อันเป็นคดีความที่ศาลโลกเคยมีคำพิพากษาไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่ไทยได้ยื่นข้อสังเกตการณ์เป็นลายลักษณ์ อักษรกลับไปยังศาลโลก เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2554 เพื่อโต้แย้งคำร้องของกัมพูชา รวมเนื้อหา 900 หน้า โดยวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วย อิทธิพร บุญประคอง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย เป็นผู้ทำหน้าที่

ดังนั้น สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ในฐานะเจ้ากระทรวง จึงได้จัดทำ “สมุดปกขาว” หรือหนังสือข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร และการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชา นำมาเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกรณี ดังกล่าว

ทั้งนี้ ในหนังสือได้รวบรวมปัญหาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และการยื่นเรื่องของกัมพูชาล่าสุดให้ศาลโลกตีความตำพิพากษาเดิม อาศัยธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 53 ที่ระบุว่า เมื่อภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปรากฏตัวต่อศาล ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถขอให้ศาลตัดสินเข้าข้างตนได้

ข้อ 60 ระบุว่า คำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถือเป็นที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์ ในกรณีที่มีข้อพิพาทในความหมายหรือขอบเขตของคำตัดสิน ศาลจะต้องตีความคำตัดสินดังกล่าว หากมีภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ และข้อ 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติระบุว่า ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล

อย่างไรก็ดี หากศาลจะรับคดีเข้าสู่กระบวนแล้ว และก่อนจะตีความคำพิพากษาเดิม ศาลต้องพิจารณาคำร้องของกัมพูชาว่าเข้าเงื่อนไขให้ตีความหรือไม่ ซึ่งศาลจะพิจารณาจาก 2 ประการ คือ 1.คำร้องของกัมพูชาต้องมุ่งหมายให้ตีความคำพิพากษาเดิมอย่างแท้จริงเพื่อให้ ความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเดิมชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยมิใช่เพื่อตอบคำถามใหม่ที่ไม่ได้ถูกพิพากษาตามคำพิพากษาเดิม

2.คำร้องของกัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาและไทยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับ ความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาดังกล่าว หากคำร้องไม่เข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ประการ ศาลก็จะไม่รับคำร้องดังกล่าวนำไปสู่การตีความคำพิพากษาเดิมได้ ทว่า หากมีคำร้องบางส่วนเข้าเงื่อนไขดังกล่าว ศาลก็จะพิจารณาคำร้องส่วนดังกล่าวเพื่อตีความคำพิพากษาเดิม ซึ่งการตีความจะปรากฏในคำพิพากษาฉบับใหม่

 

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในหนังสือได้ระบุคำร้องที่กัมพูชายื่นต่อศาลโลก ได้ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2554 มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นบริเวณปราสาทพระวิหารและจุดอื่น ๆ ตามเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและต้องเดินทางหนีภัย ซึ่งเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าว ได้ดำเนินมาจนกระทั่งเวลาที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาล

โดยไทยเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ทั้งหมด ศาลจึงจำเป็นต้องมีวิธีการอันเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองรักษาสิทธิของกัมพูชา และป้องกันมิให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น หากปราศจากวิธีการของศาล และไทยยังคงดำเนินการต่อเนื่องก็จะทำให้ปราสาทพระวิหารเสียหาย รวมไปถึงทำให้ผู้คนล้มตายและทุกข์ทรมานจากการปะทะกันโดยอาวุธ ซึ่งจะร้ายแรงยิ่งขึ้น  กัมพูชาจึงขอให้ศาลระบุวิธีการชั่วคราว คือ

1.ให้ไทยถอนกำลังจากจุดต่างๆ ในบริเวณประสาทพระวิหารอันเป็นดินแดนของกัมพูชาโดยทันทีและปราศจากเงื่อนไข
2.ห้ามมิให้ไทยดำเนินการทางทหารใดๆ ในบริเวณประสาทพระวิหาร และ
3.สั่งให้ไทยไม่กระทำการใดๆ ที่อาจแทรกแซงสิทธิของกัมพูชาหรือทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น

เมื่อกัมพูชายื่นคำขอต่อศาลโลกเพื่อขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ไทยจะปฏิเสธไม่ไปโต้แย้งคำขอของกัมพูชา จะเป็นผลให้ศาลสามารถพิจารณาฝ่ายเดียว ตามข้อ 53 ของธรรมนูญบนพื้นฐานของคำขอ คำให้การ และเอกสารประกอบของฝ่ายกัมพูชาฝ่ายเดียว อาจเป็นผลให้คำวินิจฉัยของศาล เป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาฝ่ายเดียว และส่งผลเสียกับประเทศไทย

สำหรับท่าทีของไทยต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในอดีตรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2505 ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลโลก แต่ไทยในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา เนื่องจากกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 94 กำหนดว่า 1. สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติรับที่จะอนุวัติตามคำวินิจฉัยของศาล ยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีใด ๆ ที่ตนตกเป็นคู่กรณี

2.ถ้าผู้ตกเป็นคู่กรณีในคดีใดไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ ตน ตามคำพิพากษาของศาล ผู้เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าเห็นจำเป็นก็อาจทำคำแนะนำ หรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษานั้น

นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 ก.ค. 2505 ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยในหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ มท.8176/2505 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2505 อ้างถึงหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 11467/2505 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2505 กำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหารให้ใช้วิธีที่ 2 และให้จัดทำป้ายแสดงเขตตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอกับให้เพิ่มทำรั้วลวดหนาม

การพิจารณาคดี ปราสาทพระวิหาร ใน ศาลโลก พ.ศ.2505

การดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาเขตแดนไทย – กัมพูชา ฝ่ายไทยมีนโยบายชัดเจนและต่อเนื่องที่จะสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนกับประเทศ เพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างถาวร อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของประชาชนของทั้งสองประเทศและเสริมสร้างบรรยากาศ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Boundary Commission - JBC) ขึ้นในปี 2540 เพื่อเป็นกลไกหลักในการเจรจาและการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย – กัมพูชา ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2554 มีการจัดการประชุมเจบีซี แล้ว 9 ครั้ง

การประชุมครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 - 8 เม.ย. 2554 ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย แต่การประชุม JBC สมัยวิสามัญ (11 - 15 มี.ค. 2549) ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกัน ให้มีการสำรวจร่วมเริ่มต้น เพื่อสำรวจหาที่ตั้งหลักเขตแดนเดิมจำนวน 73 หลัก โดยเริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2549 จนถึงปัจจุบัน

ชุดสำรวจร่วมได้ดำเนินการสำรวจหาที่ตั้งหลักเขตแดนไปแล้ว 48 หลัก (จากหลักที่ 23 - 70) มีความเห็นตรงกัน จำนวน 33 หลักและมีความเห็นไม่ตรงกัน 15 หลัก ซึ่งการประชุมเจบีซีครั้งต่อๆ มา เกิดขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงต้องได้รับความเห็นชอบ จากรัฐสภา ตามมาตรา 190 วรรคสอง และต้องดำเนินการตามมาตรา 190 วรรคสาม คือ ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญา นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนดำเนินการ เจรจาด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2551 รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ทั้งนี้ มาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตาม หนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติ เพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคง

ทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดัง กล่าวก่อนดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่าง ประเทศตามวรรคสอง

คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย ปัจจุบัน กัมพูชายังคงอ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 บริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งล้ำดินแดนไทยเข้ามาประมาณ 3,000 ไร่ หรือ 4.6 ตารางกิโลเมตร

ปัญหาเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นหนึ่งในปัญหาเขตแดนไทย - กัมพูชา ที่มีอยู่ตลอดแนว ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุดต่อการละเมิดดินแดนไทย ที่มีขึ้น เนื่องจากคำนึงถึงมิตรภาพ ความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม แต่กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานในท้องถิ่นได้ประท้วงการละเมิดดังกล่าว ทุกครั้ง เพื่อรักษาสิทธิตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศของไทยไว้ระหว่างที่รอการแก้ไข ปัญหาเขตแดนโดยกลไกการเจรจาที่มีอยู่


บจ.สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พี แอนด์ อี,คณะบุคคลที่ปรึกษา พี.เอ.ที.,สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา

Tags : เปิดสมุดปกขาวไทย ต่อกรกัมพูชา

view