สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

USD Futures ดอลลาร์ล่วงหน้า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เกศรา มัญชุศรี


ค่าเงินของแต่ละประเทศ เป็นเครื่องสะท้อนความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน สกุลเงินของแต่ละประเทศอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนแสดงความเป็นอธิปไตยของชนชาติตนเอง แต่ละประเทศก็จะต้องมีเงินสกุลของตนเอง เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และเมื่อต้องติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศ ก็จะมีธุรกรรมที่ต้องแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกัน เราจึงเห็นการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินของแต่ละประเทศ โดยเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการนำมาอ้างอิง กับสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
 


นอกจากนี้ ค่าเงินของแต่ละประเทศยังเป็นเครื่องสะท้อนความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ กล่าวคือ ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแรงมักมีค่าเงินที่แข็งตามไปด้วย ในขณะที่ประเทศที่มีภาวะความอ่อนแอทางเศรษฐกิจมักจะต้องเผชิญกับการอ่อนตัวลงของค่าเงิน ดังจะเห็นได้จากในอดีตของประเทศไทยในช่วงวิกฤตการณ์ปี 2540 ที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ปรับตัวและสามารถเผชิญกับความผันผวนได้อย่างดี ทิศทางของเงินบาทกลับแข็งตัวขึ้นเป็นอย่างมาก จนทำให้ต้องหามาตรการบริหารค่าเงินนี้เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อบางภาคธุรกิจ   หน้าที่ของการกำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของเงินในประเทศจึงเป็นหน้าที่สำคัญต่อการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะมอบหมายให้กับธนาคารกลางของแต่ละประเทศในการทำหน้าที่นี้
 


เงินสกุลต่างๆ ที่ใช้กันอยู่นั้นมีตัวย่อหรือสัญลักษณ์ที่เป็นชื่อเรียกเป็นอักษรภาษาอังกฤษ สองลำดับแรกเป็นชื่อประเทศและลำดับที่สามเป็นชื่อของเงินสกุลของประเทศนั้น เช่น USD (USA Dollar), GBP (Great Britain Pound), JPY (Japan Yen), SGD (Singapore Dollar), THB (Thailand Baht), IDR (Indonesia Rupiah), INR (India Rupee) เป็นต้น  สัญลักษณ์นี้ใช้เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ  ซึ่งมีปริมาณธุรกรรมเป็นจำนวนมหาศาลในโลกทางการเงิน โดยเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อธุรกิจการส่งออกและนำเข้าของแต่ละประเทศ และธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทั่วโลกจึงมีหน่วยงานให้บริการด้านการซื้อขายเงินตราต่างประเทศและตราสารทางการเงินที่เกี่ยวเนื่องกับอัตราแลกเปลี่ยน  โดยการทำธุรกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตลาดโอทีซี  (Over the Counter) ที่แต่ละธนาคารจะพิจารณาความเสี่ยงของคู่สัญญา (Credit Risk) และดำเนินการด้านการชำระราคาด้วยตนเอง ทั้งนี้ ธนาคารและสถาบันการเงินสามารถที่จะออกแบบเครื่องมือหรือตราสารทางการเงินที่เหมาะสมและเป็นไปตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในตลาดโอทีซีนี้  
 


ปัจจุบัน ตลาดอนุพันธ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายอนุพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นเป็นลำดับ  จากจุดเริ่มต้นที่ตลาดอนุพันธ์ Chicago Mercantile Exchange (CME) ในสหรัฐอเมริกา และได้ขยายมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย รัสเซีย เกาหลี และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา สัญญาที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ  USD Futures ที่เป็นอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าของเงินสกุลท้องถิ่นกับดอลลาร์ เช่น USD เทียบกับ เงินรูปีของอินเดีย USD เทียบกับเงินรูเบิลของรัสเซีย และเมื่อตลาดพัฒนาเพิ่มมากขึ้น สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เป็น Cross Currency ระหว่างเงินสกุลหลักอื่นๆ ก็จะตามมา  จากสถิติปริมาณการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าบนอัตราแลกเปลี่ยนของตลาดอนุพันธ์ในโลกนี้ คาดว่ามีสูงถึงกว่า 2,000 ล้านสัญญา ในปี 2554  โดยส่วนใหญ่เกิดจากความต้องการซื้อขายใน USD Futures ที่มีขนาดเล็ก คือ ประมาณ 1,000 ดอลลาร์ต่อหนึ่งสัญญา ของผู้ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั้งในทวีปเอเชียและอเมริกาใต้
 


การจัดให้มีสัญญาดอลลาร์ล่วงหน้า หรือ USD Futures นั้น ตลาดอนุพันธ์ หรือ TFEX มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการสามารถมีทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์ จากปัจจุบันที่การใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์จะอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ที่มี Underlying หรือมีธุรกรรมเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเท่านั้น  โดยเชื่อว่าการมีธุรกรรมในตลาด TFEX น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน สามารถที่จะเลือกใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์ หรือจากตลาด TFEX
 


และที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ก็คือ การดำเนินงานของตลาดอนุพันธ์นั้น มีหลักการที่สำคัญในเรื่องของการเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล ความเคลื่อนไหวของราคาที่เป็น  Real Time และที่เป็นสถิติต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุน ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถรับรู้และอาจตระหนักถึงความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ว่ามีความผันผวนและความไม่แน่นอน จึงน่าจะเป็นเครื่องช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ของประเทศไทย ได้เริ่มตื่นตัวในการบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกการแข่งขันเสรี ที่ประเทศไทยเองก็ต้องเปิดประเทศมากขึ้น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกนั้น เราคงหลีกเลี่ยงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้เท่าทัน และเริ่มที่จะเรียนรู้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว การมี USD Futures ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะยาว
 


นอกจากนี้ ในวันที่ 3-4 มี.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 09.30-17.00 น. ขอเชิญผู้ลงทุนและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับลงทุนในทองคำและน้ำมัน ร่วมงาน “TFEX Commodity Day มหกรรมลงทุน ฟิวเจอร์ส ทองคำ น้ำมัน” ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ซึ่งนอกจากจะได้พบโบรกเกอร์ที่มาร่วมออกบูธให้คำปรึกษาและแนะนำการลงทุน พร้อมให้บริการรับเปิดบัญชีซื้อขายและมีโปรโมชั่นมากมายภายในงานแล้ว ยังมีสัมมนาพิเศษโดยกูรูชื่อดังตลอด 2 วัน ซึ่งจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้า มุมมองและทิศทางของราคาทองคำ น้ำมัน รวมถึงเทคนิคและกลยุทธ์ในการซื้อขาย


บจ.สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พี แอนด์ อี,คณะบุคคลที่ปรึกษา พี.เอ.ที.,สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา

Tags : USD Futures ดอลลาร์ล่วงหน้า

view