สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้หญิง การศึกษา และความเปลี่ยนแปลงของสังคม

ผู้หญิง การศึกษา และความเปลี่ยนแปลงของสังคม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ข่าวที่น่าสนใจ ได้แก่ การสำรวจข้อมูลของหนังสือพิมพ์ The Independent ของอังกฤษ พบว่าผู้หญิงไทยมีบทบาทสำคัญมากขึ้น
“ทะลุเพดานแก้วขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารงานระดับอาวุโส ในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ร้อยละ 45%”
 

หากพิจารณาสถิติอื่นๆ เช่น "รายงานสถิติจำแนกเพศของประเทศไทย 2551" (จัดทำโดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับโครงการพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติ) ประกอบไปด้วย เราก็จะพบว่าในช่วงแรกของระบบการศึกษา อันได้แก่ ระดับประถม และมัธยมต้น แม้ว่าจำนวนนักศึกษาหญิงจะมากกว่า แต่ก็เล็กน้อยและสัดส่วนนักเรียนหญิงชายจะใกล้เคียงกัน แต่จำนวนนักเรียนหญิงเริ่มมากกว่านักเรียนชาย เมื่อเข้าสู่มัธยมตอนปลาย
 

เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา จะพบว่านักศึกษาผู้หญิงเรียนระดับอุดมศึกษามากกว่าผู้ชายมากเกือบทุกสาขาวิชา โดยเฉพาะสายทางด้านการศึกษา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์  แพทยศาสตร์ และบริหารธุรกิจ ยกเว้นอยู่เพียงสาขาวิศวกรรมศาสตร์นั้นที่ผู้ชายยังมากกว่ามาก (มีเหตุผลอธิบายในตอนท้าย) ซึ่งก็หมายความว่า เมื่อนักศึกษาผู้หญิงเรียนระดับอุดมศึกษามากกว่าผู้ชาย การก้าวเดินไปสู่ผู้บริหารระดับต่างๆ ก็ย่อมมากกว่าเป็นธรรมดา ที่สำคัญ สถิติยังระบุอีกว่าในระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีนั้น ผู้หญิงก็มีโอกาสสำเร็จการศึกษาได้มากกว่าผู้ชาย
 

หากพิจารณาข้อมูลสถิติการทำงาน ก็จะพบบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิงเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่า สัดส่วนของแรงงานนอกระบบหรือที่ทำงานในภาคการผลิตไม่เป็นทางการนั้นสูงมากถึงร้อยละ 74 และ 79 (ทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 62.5) และแรงงานเหล่านี้เกินครึ่งเป็นผู้หญิง ที่สำคัญ ข้อมูลทางจำแนกเพศที่สัมพันธ์กับครอบครัวก็พบว่าครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำนั้นจะมีความยากจนน้อยกว่าครอบครัว ที่มีผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัว
 

หากเราพิจารณาจากด้านการศึกษาก่อน เราก็จะพบว่านักเรียนผู้ชายจะเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายน้อย หากแต่จำนวนมากจะเลือกไปต่อในวิทยาลัยเทคนิค หรือโรงเรียนช่างกล ในระดับ ปวช. และ ปวส. ก่อน (โรงเรียนช่างกลทั้งหลายมีแต่ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่) หลังจากนั้น เมื่อทำงานไปแล้วสักพักหนึ่งก็จะหาทางต่อปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ตามสถาบันราชมงคลหรือมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งทำให้การสำรวจพบว่าจำนวนนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ จึงมีสัดส่วนของนักศึกษาชายมากกว่าสาขาวิชาอื่นๆ ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักเรียนชายที่เรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายก็จะสอบได้คะแนนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนผู้หญิง
 

เราอาจจะสรุปเบื้องต้นจากข้อมูลทางด้านการศึกษาเชื่อมโยงต่อกับบทบาทของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าวนี้ได้ว่านักเรียนชาย “โง่” ลงเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนหญิง จึงทำให้เลือกมาทางสายอาชีพ และทำให้การทำงานในระดับบนเป็นไปได้ยากมากขึ้น จนกว่าจะขยับมาสู่การเรียนต่อเนื่องจนจบปริญญาตรี
 

ดังนั้น หากเราพึงพอใจบทบาทผู้หญิงที่เพิ่มสูงมากขึ้นเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่ผิดอันใด แต่หากลองเชื่อมโยงกับเงื่อนไขและบริบททางสังคมที่กว้างออกไป ปรากฏการณ์บทบาทผู้หญิงนี้ก็อาจจะส่งผลต่อเนื่องไปยังเรื่องทางสังคมอื่นๆ ได้อีก
 

เอาเรื่องง่ายๆ นะครับ ผมสังเกตเห็นจำนวนนักศึกษาหญิงเพิ่มมากขึ้นมาหลายปี และผมตั้งคำถามกับนักศึกษาว่าในอนาคต หากนักศึกษาหาแฟนหรือสามีที่มีการศึกษาปริญญาตรีเท่ากันแต่งไม่ได้ มีแต่หนุ่มๆ ที่จบการศึกษาระดับ ปวช.หรือ ปวส. หรือ หาคนที่ทำงานในระดับเดียวกันไม่ได้ มีแต่ทำงานในระดับที่ต่ำกว่า นักศึกษาจะยอมแต่งด้วยไหม คำตอบจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเท่าๆ กัน ก็คือ "ไม่แต่ง" กับ "แต่ง" กลุ่มที่ตอบว่า "ไม่แต่ง" ก็บอกว่าพร้อมที่จะอยู่บนคาน และคิดว่ามีความสุขได้ ส่วนกลุ่มที่บอกว่า “แต่ง” ก็บอกว่าดีกว่าไม่มีเลย
 

(ตอนที่ผมตั้งคำถาม ผมอธิบายด้วยว่าผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชายเล็กน้อยอยู่แล้ว และผู้ชายที่มีจำนวนน้อยกว่าผู้หญิงนั้นมากกว่าร้อยละสิบก็เป็นกลุ่มเพศที่สาม ซึ่งแสดงว่านักศึกษาหญิงมีตัวเลือกที่น้อยลงไปอีก นักศึกษาหญิงสองสามคนลุกขึ้นมาเพิ่มข้อมูลว่านักศึกษาหญิงที่เป็นผู้ชายก็มีจำนวนไม่น่าจะน้อยกว่านักศึกษาชายที่เป็นผู้หญิง)
 

แน่นอนว่าคำตอบของนักศึกษาในวันนี้ไม่ได้ยืนยันอะไรในอนาคตสมรส (ของพวกเธอ) แต่ก็ชี้ให้เห็นได้ว่าปัญหาการศึกษาและสถานการณ์ทำงานที่แตกต่างกันย่อมมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการมีครอบครัวไม่มากก็น้อย
 

หากคิดสำหรับอนาคตของสังคมดูนะครับ สังคมไทยจะเป็นอย่างไร หากมนุษย์ผู้ชายที่มีอยู่จำนวนประมาณครึ่งหนึ่งนั้นมีสัดส่วนของผู้ที่มี “การศึกษาน้อย” และ “โง่” กว่ามนุษย์ผู้หญิงอีกครึ่งหนึ่งในสังคม ความตึงเครียดระหว่างคงจะแสดงออกมาอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป เช่น หากมองโลกในแง่ร้าย ผู้ชายอาจจะนิยมใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น เพราะตนเองไม่สามารถจะทัดเทียมได้ในทางอื่นนอกจากการใช้พละกำลัง (อาจจะนะครับ) หากจะมองโลกในทางที่ดี ก็อาจจะเป็นผู้ชายอยู่บ้านเลี้ยงลูก ดูแลบ้าน หมู หมา กา ไก่ แทนผู้หญิง
 

ผมคิดว่าความแตกต่างของผู้หญิงและผู้ชายในวันนี้ ก็ก่อให้เกิดความตึงเครียดบางระดับเกิดขึ้นแล้วนะครับ สถิติการฆ่าตัวตายนั้น ผู้ชายมากกว่าผู้หญิงมากทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ พื้นที่ที่ผู้ชายฆ่าตัวตายมากติดอันดับต้นๆ ในช่วงหลายปีนี้ ได้แก่ จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมที่เน้นรับคนงานหญิงมากกว่าคนงานชาย และทำให้ผู้ชายลำพูนจำนวนไม่น้อยหางานในพื้นที่ทำได้ยากกว่าผู้หญิง
 

ปัญหาที่เราน่าจะคิดกันในตอนนี้ก็คงจะทำอย่างไรให้เกิดความ “สมดุลระหว่างเพศ” ให้มากที่สุด แน่นอนว่า ไม่ใช่การหวนกลับไปสู่ยุค “ผู้ชายเป็นใหญ่-ผู้หญิงอยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน” (ซึ่งไม่เคยเป็นจริงและในวันนี้ยิ่งไม่มีทางทำได้) แต่จะทำอย่างไรให้นักเรียนชาย “ฉลาด” ขึ้น และสามารถทำงานในระดับที่เท่าเทียมกับผู้หญิงในอนาคต
 

ความ “สมดุลระหว่างเพศ” เป็นเรื่องจำเป็นนะครับ และสังคมต้องช่วยกันคิดแล้วครับ วันนี้ไม่ใช่ว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่จะมีเฉพาะการคิดเรื่อง “สิทธิสตรี” นะครับ ผมว่าจะเป็นต้องคิดถึงการทำให้ “บุรุษ” กลับมามีบทบาทครึ่งหนึ่งของสังคมครับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผู้หญิง การศึกษา ความเปลี่ยนแปลงของสังคม

view