สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปมผลวิจัยปรองดอง วุฒิสาร ยันแค่จุดเริ่มต้น ต้องดำเนินต่อไป

ปมผลวิจัยปรองดอง 'วุฒิสาร'ยันแค่จุดเริ่มต้น ต้องดำเนินต่อไป

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สัมภาษณ์พิเศษ"วุฒิสาร ตันไชย":ไขปมข้องใจผลวิจัยปรองดอง การสร้างความยอมรับระหว่างพรรคการเมือง กลุ่มผู้สนับสนุน กับสังคมต้องดำเนินการต่อไป
โครงการศึกษาวิจัยการสร้างแนวทางการปรองดองแห่งชาติ ไม่ต่างอะไรกับ"เผือกร้อน" เหตุเพราะทุกกระบวนการที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ ดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของความขัดแย้งในสังคมตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซ้ำทุกก้าวย่างเคลื่อนไหวถูกฉายบนสปอร์ตไลท์ของการเมืองกีฬาสี

สัมภาษณ์ "วุฒิสาร ตันไชย" รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย ทุกข้อครหา ท่ามกลางบรรยากาศการถวิลหาความปรองดองของสังคม ที่ยังไม่รู้จะเริ่ม ณ จุดใด

 ผลวิจัยของสถาบันฯ ขณะนี้เหมือนจะถูกเร่งรัดจากกมธ.เสียงข้างมากที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา มองเรื่องนี้อย่างไร
 ผมเข้าใจว่ายังไม่มี ต้องไปตรวจสอบ อย่างที่ผมเคยเรียนว่ากระบวนการทำงานสำคัญ ผมคงไม่มีสิทธิ์จะบอกกรรมาธิการว่าอย่าเร่งรัด เพราะไม่ใช่หน้าที่คณะวิจัย ต้องเคารพซึ่งกันและกันว่าขอบเขตหน้าที่ถึงไหน

 ในข้อเสนอที่สถาบันทำงานวิจัยชิ้นนี้ มีข้อเสนอทั้งในเชิงเนื้อหาต้องทำอะไรบ้างใน 3 ส่วน คือ การสร้างบรรยากาศ การสร้างข้อเสนอระยะสั้นใน 4 เรื่อง และข้อเสนอระยะยาวซึ่งพูดเรื่องอนาคตอีก2เรื่อง
 
 รวมไปถึงการเสนอให้มีขั้นตอนแนวทางของการทำงานที่ช่วยให้การปรองดองสำเร็จ เหตุผลหลักที่เราเสนอเป็นทางเลือกเยอะ เพราะข้อสรุปเบื้องต้นเห็นว่าบรรยากาศในการปรองดองขณะนี้ยังไม่เกิด ทุกฝ่ายยังมีจุดยืนที่แตกต่างกันชัดเจน มีความเห็นต่างกัน จึงเป็นทางเลือกที่จะต้องอาศัยกระบวนการ

 ในกระบวนการ เราจึงเสนอว่าให้มีการหาข้อยุติ การสร้างบรรยากาศ เพื่อไปหาข้อตกลงในบางเรื่อง โดยหลังจากที่เราได้เสนอไปแล้วนั้น มีการแถลงผลการศึกษาที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ แต่ปรากฏว่าสื่อมีความพยายามที่จะสรุปและตัดสินใจในทางเลือก เหตุผลตรงนั้นสถาบันจึงได้นำจุดยืนไปเรียนกับนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ในฐานะเลขากมธ.โดยบอกว่าความห่วงใยของคณะผู้วิจัย คือ เห็นว่าในบรรยากาศที่ทุกฝ่ายยังไม่เห็นพ้องต้องกัน มีจุดยืนต่างกัน การใช้เสียงข้างมากจะเกิดความเสี่ยงในการขัดแย้งรอบใหม่

อีกทั้งสืบเนื่องจากในร่างข้อสรุปกรรมาธิการ มีการสรุปเรื่องจำนวนมาก ซึ่งแม้จะไม่บอกว่ามีการโหวต แต่เราก็ได้ห่วงใย นี่จึงเป็นที่มาของการย้ำกับกมธ. และตัวผมเองก็ได้พูดคุยกับพล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ในฐานะประธานกมธ. ท่านก็รับปากว่าท่านเข้าใจในข้อห่วงใย และรับว่าจะไม่มีการสรุป หรือบอกข้อเสนอที่มีลักษณะเป็นมติ คือจะไม่ใช้เสียงข้างมาก ผมก็สบายใจขึ้น

ทั้งนี้เราก็เรียกร้องให้กมธ.ทำงานต่อเพื่อเดินหน้าทำกระบวนการ ให้เกิดการสร้างบรรยากาศ มีการหารือรายละเอียดอีกเยอะ นั่นหมายความว่าข้อเสนอสุดท้ายในการหาทางออกให้ประเทศ อาจไม่ใช่ข้อเสนอที่เราเสนอก็ได้ แต่เป็นเรื่องที่เมื่อบรรยากาศข้อตกลงเปลี่ยนไป อะไรเห็นว่าจะเกิดประโยชน์ ผลลบน้อย ก็เลือกสิ่งนั้น นี่เป็นโอกาสของประเทศ ก็บอกกรรมาธิการให้ใส่แนวทางนี้ไป ซึ่งท่านก็รับปาก

 หากผลการวิจัยนี้ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่กลับมีการดึงดันจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในฐานะผู้วิจัยจะทำอย่างไร
 คุณถามผมในฐานะอะไรล่ะ (ย้อนถาม) ถ้าถามผมในฐานะคณะวิจัย ผมคิดว่าคณะวิจัยมีความชัดเจน แสดงความห่วงใย แสดงบทบาทชัดเจน และผมก็ได้รับการรับปากกับประธานกมธ.และเลขาฯ แล้ว คณะผู้วิจัยก็มีความสบายใจขึ้น แต่ข้อห่วงใยก็ต้องมีต่อไป

 แต่วันนี้กลายเป็นคนมองว่า คณะวิจัยไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไปไกลมาก มันไม่ใช่ เหตุผลที่เราพูดเรื่องเสียงข้างมากมันเฉพาะเรื่องนี้ ในบรรยากาศที่ยังไม่มีเช่นนี้ คงไม่มีจุดยืนนักวิชาการคนไหนที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากในสภาหรอก ตอนนี้กลายเป็นคนตำหนิว่าพูดไปได้ไง ศาลยังใช้เสียงข้างมาก คือมันต้องเข้าใจบริบท อย่าหยิบแต่คำ เราแค่บอกว่ายังไม่ควรใช้เสียงข้างมากในช่วงเวลาบรรยากาศเช่นนี้ ผมยังไม่ได้เห็นมติของกมธ. และไม่ใช่หน้าที่ของผมที่จะต้องอ่าน แต่ผมให้เกียรติทุกฝ่าย คิดว่าทุกคนต้องรักษาคำพูด

ผู้วิจัยเขียนข้อสังเกตในรายงานไปแล้วว่าการดำเนินการวิธีไหน จะได้รับผลอย่างไรไปแล้ว เหตุใดถึงต้องย้ำอีกรอบที่2
 คือมันอาจจะเขียนไม่ชัดเจน เราเขียนไปแล้วในรอบแรก และในการประชุมก็ชี้แจงว่าเหตุผลหลักที่เสนอบนความเห็นที่แตกต่าง ที่มีทางเลือกหลายทาง เพราะมีจุดยืนไม่ตรงกัน และไม่มีใครยอมใคร จึงเห็นว่าการใช้เสียงข้างมากจะทำให้อีกฝ่ายต้องยอมรับบนพื้นฐานที่ยังไม่ยอมรับด้วยเหตุผล เราอยากเห็นจุดเริ่มต้นของการรับฟังเหตุผลร่วมกัน

 ไม่ใช่ย้ำเฉพาะกรรมาธิการ เราก็พูดกับสังคม กับสื่อว่า งานวิจัยเช่นนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปรองดอง แปลว่ากระบวนการหารือ การสร้างความยอมรับระหว่างพรรคการเมือง ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุน กับสังคมต้องดำเนินการต่อไป การสร้างบรรยากาศก็ต้องทำ การวาดภาพอนาคตให้เห็นเป้าหมายร่วมกันก็ต้องทำ อันนี้ชัดเจน เพียงแต่วันนี้มันไม่มีใครพูดเรื่องอื่น กลับมาพูดไม่กี่เรื่องที่เป็นวังวน ถ้าจะถามถึงข้อผิดพลาด คงต้องไปถามกมธ. ถามผมไม่ได้ เพราะผมเองไมได้มีส่วนในคณะกรรมาธิการ และผมก็เคารพในเหตุผลทุกคน เรายืนยันว่าเรามีเหตุผลชัดเจน ทางเลือกทุกทางมีเหตุผลชัดเจน นั่นแปลว่ากรรมาธิการต้องไปวินิจฉัยเอา

 บรรยากาศการปรองดองแบบที่นิยามไว้ ณ วันนี้เกิดขึ้นหรือไม่
 ผมตอบไม่ได้หรอก เป็นเรื่องที่สังคมต้องร่วมกันดู และคนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้าง ทำไมต้องกลับมาถามแค่คนทำงานวิจัย ทำไมไม่ถามทุกคนว่าจะกลับมาสร้างบรรยากาศนี้อย่างไร สื่อจะสร้างมันอย่างไร ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พรรคการเมืองจะสร้างอย่างไรบ้าง ในเมื่อทุกคนบอกว่าอยากปรองดอง

 สังคมกังวลใน 2 ประเด็นข้อเสนอหลัก คือ1.การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้ที่มีความผิดทางการเมืองทุกประเภท กับ2.การเพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด ข้อเสนอนี้สุดโต่งไปหรือไม่เหตุใดถึงเสนอแนวทางนี้ บางคนบอกว่าสถาบันพระปกเกล้าไม่น่าเสนอเพราะในงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าเองก็ตั้งข้อสังเกตว่าอาจสร้างปัญหาแต่กลับเสนอ

คุณบอกผมหน่อยว่าให้ทำยังไง (ย้อนถาม) ถ้าฟังให้ชัดผมบอกว่าเมื่อข้อสรุปทั้งหมด หารือทั้งหมดแล้ว ทางออกอาจจะไม่ใช่ทางนี้ก็ได้ มันอาจจะมีทางอื่นที่สังคมเห็นว่ามีข้อเสียน้อยที่สุด สื่อเองก็ต้องฟังให้ครบ เวลาผมอธิบายภาพใหญ่ขอให้ฟัง เราเคยชี้แจงว่าเรื่องนิรโทษกรรมมันเป็นโจทย์ ของจุดหนึ่งในการปรองดอง บนคีย์เวิร์ดของการให้อภัย เพราะถ้าไม่นิรโทษกรรมก็เพราะไม่ให้อภัย

 วันนี้เรากำลังศึกษาบนพื้นฐานของการหาทางออกในการปรองดอง หากไม่ทำอะไรเลย มันคือไม่ต้องปรองดอง ก็อยู่แบบนี้ไป ก็ไม่มีใครว่า เพียงแต่โจทย์งานวิจัยชิ้นนี้คือการค้นหาทางออก เพราะในโจทย์ของการให้อภัยนั้น มีเครื่องมือคือการนิรโทษกรรม แล้วเราก็บอกว่าการนิรโทษกรรมในการชุมนุมนั้น มันจะรวมคดีอาญาหรือไม่ และในคดีอาญาจะรวมถึงคดีอาญาญาที่มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่เลือกแล้วจบ มันต้องกลับไปดูว่าแรงจูงใจในการเมืองนั้นอีกว่าได้ทำคดีอะไรไปบ้าง ขอบเขตเวลาแค่ไหน ผมถึงบอกว่ากระบวนการสำคัญ ผมยังไม่ได้บอกว่าให้เลือก ข้อก.หรือข. แล้วมันจะปรองดอง สื่อก็ต้องเข้าใจแบบนี้ สื่อต้องถามแบบนี้ เพราะผมพูดแล้วว่ามีรายละเอียดที่ต้องกลับไปคิดต่อ

 อย่างคดีอาญาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ก็ต้องกลับไปดูว่าจะเอาอะไร เรื่องอะไรบ้าง และความจริงคดีไหนบ้างที่เกี่ยวข้อง มันก็จะไปเชื่อมโยงกับที่คอป.ทำงาน เรื่องกรอบเวลาอยู่ตรงไหน อย่างไร

 ผมยกตัวอย่าง กรณีที่เราไม่ตกผลึกทางความคิดอย่างเรื่องการเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมือง มันจึงมีคำถามตามมาเยอะแยะ ตกลงครอบคลุมตรงไหนบ้าง กลายเป็นต้องมาแก้ไขต่อ ขอย้ำว่ากระบวนการนี้คือจุดเริ่มต้น ไม่ใช่สุดท้าย

 เรื่องที่สองกรณีของ คตส. นั้นเป็นประเด็นที่เราเห็นว่า มีความรู้สึกที่เห็นว่ากระบวนการตรงนี้ขัดต่อหลักนิติธรรม แค่ความรู้สึกนะครับ เพราะไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าขัดหรือไม่ เพราะเวลาพูดเรื่องอำนาจหลังการปฏิวัติมันก็เถียงกันมาตลอดในทางทฤษฎี  เมื่อโจทย์เป็นอย่างนี้จึงเป็นที่มาของทางเลือกเหล่านี้

 แต่ถ้าถามว่าทางเลือกพวกนี้ไม่ดี เสนอมาได้อย่างไร ผมก็ต้องถามกลับไปว่า คุณแน่ใจได้ไง ที่สุดแล้วถ้าคุยกันได้หมดทางเลือกนี้อาจจะดีที่สุดก็ได้ มันขึ้นอยู่กับสังคม บริบท เราจึง Warning เราจึงเตือนไว้แล้ว เพราะฉะนั้นนี่คือเรื่องเหตุและผล การพูดคุยเจรจา หารือ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ แล้วทั้งหมดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงนั้นว่าจะเป็นอย่างไร

 คณะผู้วิจัยเพียงจะบอกว่าที่เสนอไปเป็นทางออกหนึ่ง ส่วนจะทำหรือไม่ เป็นคนละเรื่อง
 มันคือโจทย์ของการตอบว่าถ้าอยู่บนฐานการให้อภัย การนิรโทษกรรมคือทางออก เท่าที่สติปัญญามันคิดได้แค่นี้ แต่ถ้าใครคิดได้มากกว่านี้ก็เสนอมา หรือเรื่องคตส.ถ้าคุณคิดว่าไม่ใช่ก็เสนอมา เราไม่ได้ปิดกั้น แต่โจทย์งานวิจัยชิ้นนี้เราพบแบบนี้ เราเองก็พบว่าสื่อไม่ควรจะตั้งคำถามที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เราพบด้วย แต่สื่อก็ไม่พูด ทั้งที่สื่อคือตัวเร่งใหญ่ เขม็งเกลียวความขัดแย้ง

 ถ้าคุณเข้าใจที่ผมพูด เรามี 4 เรื่องที่ต้องทำในระยะสั้น นั่นคือ 1.การหาความจริง 2.การให้อภัย 3.เรื่องการคืนความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม 4.การแก้กติกาการเมืองที่ไม่เป็นธรรมเช่นการยุบพรรค มี4เรื่อง ดังนั้นทั้งหมดคือทางเลือก และถ้าทำครบทั้ง4ข้อ เราเชื่อว่าความสงบจะกลับมา แต่ก่อนกลับเราย้ำว่าบรรยากาศ ทุกคนต้องเห็นร่วมกันก่อน ยอมรับร่วมกัน และผมก็บอกว่าทางเลือกทุกทางมันไม่ใช่ทุกฝ่ายจะพอใจ มันก็มีทั้งคนได้และคนเสีย

 เราจะไว้ใจฝ่ายการเมืองได้อย่างไรว่า จะทำตามทุกขั้นตอนที่เสนอไป เพราะในขณะที่ฝ่ายวิจัยบอกว่านี่คือจุดเริ่มต้น แต่ฝ่ายการเมืองต่างมองว่านี่คือจุดสุดท้ายที่ผลักดันให้รัฐสภาพิจารณา
 ผมคิดว่า เรื่องนี้สังคมส่วนรวมต้องช่วยกันดู ไม่ใช่หน้าที่หัวหน้าคณะวิจัย หรือทีมวิจัยอย่างเดียว หรือสถาบันพระปกเกล้า ผมอยู่บนพื้นฐานการเชื่อในระบบ คือเชื่อระบบการเมือง เชื่อในระบบกระบวนการยุติธรรม เชื่อในกฎหมายที่มีอยู่ ผมถามว่าถ้าสังคมระแวงทุกอย่างมันจะทำอะไรได้ เราต้องกลับมาบนพื้นฐาน เพราะทุกคนปากพูดว่าอยากปรองดองกันทุกคน ผมก็ต้องเชื่อ เพราะถ้าผมไม่เชื่อปากผู้มีเกียรติเหล่านั้นให้ผมไปเชื่อใคร เพราะทุกคนพูดกับสาธารณะทุกคน แต่ต้องมาพูดว่าเมื่อมีเจตนาเดียวกันแล้ว แต่ทุกคนมีวิธีไม่เหมือนกัน มันก็ต้องไปคุยหาวิธีการร่วมกัน

 กังวลหรือไม่ว่าเจตนาจะถูกบิดเบือน
 กังวลหรือไม่ กับบิดเบือนหรือไม่เป็นคนละเรื่อง แต่ถ้ากังวลผมกังวลผลที่ตามมากับประเทศ จุดยืนของคณะวิจัยที่แถลงจุดยืนคือความห่วงใย นี่คือข้อกังวลของผู้วิจัย แต่ผมคิดว่าต้องยอมรับว่าไม่ว่าฝ่ายใดจะไปทำอะไรต่อก็ตาม สังคมวันนี้ต้องร่วมตรวจสอบ อ่านออก มองเห็น และช่วยกันควบคุมด้วย จะไปใช้เครื่องมืองานวิจัยชิ้นเดียวแล้วจะไปบอกว่าจะช่วยถอนสลักหรือเป็นระเบิด คงไม่เป็นธรรม แล้วสื่อไปไหนล่ะ กลุ่มประชาชน พรรคการเมืองอยู่ไหน ก็ต้องออกมาแสดงว่าอยากเห็นอะไร ทุกคนต้องทำหน้าที่ และใครที่คุณเห็นว่าบิดเบือนก็ต้องไปตรวจสอบเขา แต่ทำไมต้องคิดว่าต้องเป็นคณะผู้วิจัยอย่างเดียว

 มีข้อเสนอจากบางฝ่าย ให้ถอนผลการวิจัยออกมาก่อน การจะถอนผลวิจัยอยู่บนปัจจัยใดบ้าง
 ผมไม่ทราบ(รีบตอบ) เพราะต้องไปถามสภาสถาบันพระปกเกล้า ผมเป็นรองเลขาธิการ ที่ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งสภา มีหน้าที่ทำตามนโยบายของสภา เพราะก่อนทำเราก็ไปขอมติเห็นชอบ เพราะนี่เป็นเรื่องเปราะบาง แต่เรื่องที่จะถามว่าสภาจะประชุม มีมติอย่างไร เงื่อนไขไหน ผมตอบไมได้ นั่นคือเรื่องของสภาสถาบันที่ผมไม่สิทธิ์ที่จะไปบอกได้ว่าคิดอย่างไร

 ผมคิดว่าเราได้แสดงจุดยืนชัดเจน แล้วชี้ให้เห็นว่าผลงานวิจัยอยู่บนพื้นฐานอะไร ต้องมองภาพใหญ่ทั้งหมด และให้ความสำคัญทุกเรื่อง โดยเฉพาะการสร้างบรรยากาศ ก็ชัดเจนแล้ว คณะผู้วิจัยมีความรับผิดชอบต่องานเราอธิบายในข้อข้องใจ แต่ถ้าคนอื่นห่วงใยมากก็ต้องช่วยกันดู

 หากรัฐสภาเร่งรัดพิจารณาท่าทีของสถาบันพระปกเกล้าจะเป็นอย่างไร
 ไม่ทราบ ผมตอบไม่ได้ ผมเป็นทีมวิจัยที่มีส่วนได้เสียกับผลงาน ผมคงไม่ตอบ ผมตอบได้แค่ว่างานวิจัยนี้ได้อธิบายหมดแล้ว ได้ชี้แจง ได้มีข้อหวงใย ชี้แจงข้อดี-ข้อเสียชัดเจน บอกถึงผลลัพธ์ที่นำไปสู่การยอมรับร่วมกัน
 แต่ทั้งนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร เราจะไปรู้ได้ไงว่าจะมีการออกกฎหมายเลย หรือไปทำอะไรต่อ มันเกิดขึ้นจากจินตนาการหมด

 ทีมวิจัยส่งข้อเสนอไปหลายประเด็น ทำไมกมธ.ถึงเลือกที่จะพูดเฉพาะ 2 ประเด็นตามข้างต้น
 ผมคิดว่าในชั้นกรรมาธิการก็รับฟังทุกเรื่อง เพียงแต่ที่เป็นข่าวมี 2 เรื่อง ต้องแยกกันนะ เพราะฟังข่าว สดับรับฟังก็อีกเรื่อง แต่ผมก็ต้องรับความคิดที่เป็นทางการ ที่ประธานและเลขากรรมาธิการรับฟังผม แล้วต้องให้เกียรติ

 หากท้ายที่สุดแล้ว ผลไม่เป็นอย่างที่คิด ในฐานะผู้วิจัยต้องมีการรับผิดชอบอะไรหรือไม่
 ก็คุณต้องการให้แสดงอะไรล่ะ (ย้อนถาม) คือถามแบบนี้ต้องการให้คณะวิจัยทำอะไร คุณต้องการให้ผู้วิจัยทำอะไรหรือไม่ ที่คุณพูดทั้งหมดผมยังไม่เห็นว่ามันเกิดรึยัง ทุกคนห่วงใยได้ แต่ทุกคนต้องไปดูสิครับ สื่อ พรรคการเมือง ภาคประชาสังคมต้องไปดู ทำไมไม่ทำแบบนั้นบ้าง ทำไมถึงกลับมามองแค่ว่าถอน-ไม่ถอน แล้วความอยู่รอดของประเทศมันอยู่ที่หนังสือเล่มนี้อย่างเดียวหรือ (ชี้ไปที่รายงาน) ผมถามว่าสื่อทุกคนอ่านครบรึยัง หรือถามให้ทะเลาะกัน มันจะมีประโยชน์อย่างไร

 คนมองว่าสถาบันพระปกเกล้ากำลังจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เหตุนี้จะกระทบกับความน่าเชื่อถือหรือไม่
 ผมบอกชัดเจนว่าคณะผู้วิจัยพร้อมรับผิดชอบ สถาบันพระปกเกล้าเป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุน การวิพากษ์วิจารณ์ผลงานเป็นเรื่องที่คณะวิจัยเป็นผู้ตอบ ไม่เกี่ยวกับตัวสถาบัน ต้องแยกให้ออก ผมถามงานวิจัยเยอะแยะที่เราทำ เราก็รับผิดชอบ พูดชัดเจน การจะตำหนิงานวิจัยคณะผู้วิจัยคงไม่ตอบโต้ เราชี้แจงเฉพาะผิดพลาดข้อเท็จจริง แต่ถ้าพาดพิงสถาบันที่มีพระนามของในหลวงรัชกาลที่7 สื่อเองก็ต้องกรุณาให้ความเป็นธรรม นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องแถลงข่าวก่อนที่กรรมาธิการสรุป เพราะเราต้องการให้ทุกคนเข้าใจเนื้อหา เพราะคนส่วนใหญ่อาจจะไม่อ่านทั้งหมด แต่หยิบเฉพาะที่สนใจมาพูด หากวิพากษ์วิจารณ์ในผลวิจัยนั้นทำได้เต็มที่มันเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่ตัวสถาบันไม่เกี่ยว

 ในระเบียบวิธีวิจัยได้สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง47คน และศึกษากรณีจากต่างประเทศ ข้อเสนอเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม และยกเลิกการทำงานของคตส.เป็นผลพวงมาจากกรณีใด
 คุณต้องไปอ่านดูในคำอธิบาย ในบทวิเคราะห์ดู ผมคงไม่ต้องอธิบายซ้ำหมด
 
 แล้วการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประเทศใดทำบ้าง
 คุณก็ต้องกลับไปดู ผมคงไม่ตอบ ต้องไปอ่านเอง การพูดเรื่อง10ประเทศนั้น บางคนก็บอกว่า 10ประเทศมันคนละบริบทกับสังคมไทย อธิบายความจริงไม่ได้ทั้งหมด แต่วันที่เราบอกว่ามันเคยมีตัวอย่าง คนก็บอกว่ามีกี่ประเทศเองที่ทำ ทำไมเราไม่ทำบ้าง ผมถามว่าตรรกะอยู่ที่ไหน ผมไม่ได้ defend ว่างานที่ผมทำนั้นถูก แต่ความมีเหตุมีผล ในเนื้อหาของงานวิจัยมันอธิบายอย่างนี้ เราไม่ได้ยืนอยู่บนความเห็นใด เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ หลักทุกเรื่องของความปรองดองคือการให้อภัย แต่การให้อภัยมีมาตรการเยอะแยะ เพราะฉะนั้นตรงนี้ ผมคิดว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับเรา

 การทำวิจัย โดยการสอบถามผู้มีส่วนได้-เสีย เหมาะสมหรือไม่ เพราะผู้มีส่วนได้เสียย่อมเสนอทางออกที่ให้ประโยชน์กับตัวเอง
 งานวิจัยนี้ไม่ใช่การไปสำรวจความเห็น แล้วเอามาแจงนับว่าใครเห็นด้วยหรือไม่ จึงต้องหลีกเลี่ยงผู้มีส่วนได้-เสีย แต่งานวิจัยนี้ตั้งคำถาม2เรื่องคือเหตุของความขัดแย้งและทางออก คนที่พึงจะตอบคือคนที่อยู่ในเรื่องนี้ เทคนิคนี้ไม่ใช่การสำรวจความเห็นและแจงนับ แต่เป็นการสำรวจว่าใครเห็นอย่างไร และมาประมวลแบบที่เรียกว่าเทคนิค “เดลฟาย” (Delphi Technique) ดังนั้นจะมาถามผมว่าใครตอบว่าอะไรบ้าง ผมตอบไม่ได้ แม้กระทั่ง1เสียง ที่กา ผมก็ตอบไมได้

 คือการวิจัยแบบ “เดลฟาย” หลักมันต้องถาม อย่างถ้าถามถึงอนาคตมันก็ต้องถามผู้ที่สังคมเห็นว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ยกตัวอย่าง เช่นถ้าอยากรู้ว่าอนาคตสังคมไทย เมื่อมี (AEC) ASEAN Economic Community จะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ คุณก็ต้องไปถามคนที่มีความรู้เรื่องนี้ คำถามเหมือนกันทุกคน เพื่อมาดูว่าอะไรเป็นคำตอบที่เป็นประเด็นร่วมกัน อะไรต่าง ทั้งรอบที่2และ3 วิธีการแบบนี้ทุกคนสบายใจที่จะตอบคำถาม ได้แสดงความเห็นอย่างมีอิสระ เมื่อประมวลไปแล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะรู้ว่าเสนออะไรไป นี่เป็นเทคนิค

 ในฐานะคนที่คุยกับ47คน อะไรเป็นจุดร่วมหรือต่างที่สำคัญ
 จุดร่วมคือเรื่องความรู้สึกว่าประเทศมีความปรองดอง แต่วิธีการจุดยืน ไม่ตรงกัน จะปรองดองด้วยวิธีใด เรื่องนี้ถ้าไปอ่านก็จะรู้

 แต่กมธ.บางรายก็อาจจะไม่อ่านทั้งเล่ม แต่ก็เลือกจะเอาประเด็นที่ตัวเองมีประโยชน์เช่นกัน จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเจตนาดี ไม่ถูกบิดเบือน
 ผมย้ำชัดว่า คำตอบสุดท้ายที่เป็นเรื่องของการปรองดอง อาจไม่ตรงกับที่ผมเสนอเลยก็ได้ ผมถามว่าถ้าออกแบบนั้น ถือว่าบิดเบือนไหม คุณว่าบิดเบือนไหม จะบิดเบือนหรือไม่อยู่ที่ว่าทำให้ผลลัพธ์ของประเทศมันหาทางออกได้หรือเปล่าล่ะ ถูกไหม การเห็นไม่ตรงกับผมคือเรื่องธรรมดา ข้อเสนอทั้งหมดอาจจะหยิบทางเลือกนี้ในประเด็นนี้ หรือแสวงหาทางออกในประเด็นอื่นก็ได้ มันเป็นไปได้หมด ทางเลือกอาจจะเป็นอื่นๆก็ได้ หรือไม่ตรงเลยก็ได้

 คือความเป็นธรรมนั้น ต่างฝ่ายก็เห็นไม่ตรงกันหรอก แต่ต้องพูดว่าคนส่วนใหญ่เห็นอย่างไร ผมยกตัวอย่างศาลตัดสินคดี คนชนะก็บอกว่าว่าศาลเป็นธรรม ถ้าแพ้ก็บอกว่าไม่ เพราะฉะนั้นความเป็นธรรมมันจะบอกว่าข้อเท็จจริง หลักการเป็นอย่างไร และคนส่วนใหญ่รับได้ว่าเป็นธรรมได้หรือไม่ ไม่ใช่คู่กรณี ถ้าเป็นคู่กรณีคุณต้องได้หมดถึงจะเป็นธรรม ถ้าจะมาถามว่าความเป็นธรรมคืออะไร ก็ต้องให้คนส่วนใหญ่ตัดสิน สื่อตัดสิน บนจรรยาบรรณ ความเสมอภาค ความแฟร์

 อีก 3 ปีข้างหน้า เราได้คำตอบที่อาจจะไม่ตรงกับข้อเสนอนี้ก็ได้ ผมถามว่าแบบนี้บิดเบือนไหม ถ้ากังวล สังคมก็ต้องช่วยกันสิ พรรคการเมืองก็ต้องทำเพื่อประชาชน สังคมก็ต้องช่วยกันดู ก็ในเมื่อทุกคนกังวลว่าเมื่อพูดเรื่องนี้แล้วจะทำให้สังคมกังวล ก็หลีกเลี่ยงไปก่อนสิ ทำไมถึงเรียกร้องคำถามนี้กับผู้วิจัย ทำไมไม่ไปถามกับคนอื่นบ้าง

 คือ ถ้ามองว่าบิดเบือนคือการไม่ตรงกับผลวิจัยเท่านั้นคงไม่ใช่ แต่ผมมองที่เป้าปลายทางว่าถ้างานวิจัยนี้นำไปสู่การถกเถียงในสังคม เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวอะไรเลยกับงานวิจัยนี้ ผมก็รับได้และไม่ถือว่าบิดเบือนเพราะเป้าตรงกันคือทางออก

 แน่นอนว่าคุณจะเลือกทางไหน บนพื้นฐานงานวิจัยนี้หรืออะไร คนก็ตีความได้เสมอ ว่าคนหนึ่งได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์นั่นคือความจริง แต่คำถามคือประเทศ-สังคม มีทางออกไหม วันนี้ผมบอกได้เลยว่า แนวทางปรองดองไม่ว่าจะทำอย่างไร คุณไม่มีทางทำให้ถูกใจคนที่สุดโต่ง2ข้างได้หรอก เพราะเขาต้องการได้อย่างที่อยากได้

 แสดงว่าต้องการให้คนที่มีความเห็นกลางๆ ยอมรับในจุดนี้
 ใช่ คนกลางๆต้องมีเสียงขึ้นมา ภาคเอกชน ธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ ต้องออกมาช่วยกันคิด คนตรงกลางต่างหากต้องมีพลังที่จะหาข้อสรุปนี้ เพราะถ้าให้คน2ฝั่ง ที่มีจุดยืนคนละขั้วตกลงกัน คนอาจไม่ยอมรับหรอก คนตรงกลางต้องมาพูดเยอะๆ ผมถึงบอกว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวทุกคน จะไปมอบให้การเมืองคงไม่ได้ โอเค ฝ่ายการเมืองมีบทบาทสำคัญตามโครงสร้าง

 มองว่าขณะนี้ยังไม่ควรเรียกร้องให้เสนออะไรได้หรือไม่ เพราะบรรยากาศมันยังไม่เกิด
 ผมถึงบอกว่าต้องไปทำบรรยากาศนี้ คือผมไม่รู้ว่าการเสนอแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เพราะเรามีแต่จินตนาการ เรารู้ได้อย่างไรว่าเขาไม่ได้คุยกัน ไม่ได้หารือกัน ผมไปการันตีอะไรไม่ได้ แต่ให้เกียรติกับทุกฝ่าย เพราะว่าทุกฝ่ายมีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร

 ผมไม่ได้ผลักภาระนะ แต่ผมบอกว่าเราได้ชี้แจงจุดยืนและข้อห่วงใยแล้วสำหรับตัวผม แต่สำหรับสถาบันก็แล้วแต่ คือผมว่าคนเราเมื่อทำตามภาระหน้าที่ ข้อห่วงใยได้พูดไปแล้ว จากนี้ความรับผิดชอบนี้ก็ถูกส่งมาฝ่ายอื่นบ้าง

 มองว่าคุ้มหรือไม่ ที่สถาบันรับงานวิจัยนี้มา
 ความคุ้มคืออะไร ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบ ถามว่าเปลืองตัวไหม ผมเฉยๆ เพราะคิดว่าเราทำดีที่สุดและอยู่บนพื้นฐาน ที่เราคิดอยู่แล้วว่าจะถูกวิจารณ์ ตำหนิ แต่เราอยู่ได้เพราะความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง อยู่บนพื้นฐานอิสระทางความคิด อธิบายเหตุผลตามขอบเขตงาน ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่ เป็นสิทธิเสรีภาพ

 ถ้าย้อนเวลากลับไป คิดว่าอะไรที่ไม่ควรเสนอ หรือคิดว่าจะดึงไว้ก่อน
 ไม่มี เพราะสิ่งที่เสนอวันนั้นอยู่บนเหตุและผลในสถานการณ์ตอนนั้น ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้จะไม่ทันสมัยเลยในอีก10ปี หรือ3ปี หรืออาจจะพรุ่งนี้ เพราะอยู่ในบริบทไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นบริบทอื่นให้ที่ทุกคนอยากปรองดอง บรรยากาศให้ ก็จะไม่มีอะไรที่เป็นทางเลือกเยอะ เราทำดีที่สุด อาจจะผิดวันนี้ ถูกวันอื่น จะมองแบบไหนก็ได้ แต่เราไม่มีอะไรแอบแฝง เราก็ยืนยัน และทำอะไรที่เป็นอิสระ ทุกฝ่ายมีการพูดคุยในการเสนอความเห็น แต่ไม่มีการชี้นำ คืออย่าดึงทุกเรื่องมาร่วมกัน ทุกอย่างเป็นความรับผิดชอบแต่ละฝ่าย ตรงไหนไม่ดี ส่วนไหนไม่ดี ก็สังคมตัดสิน อย่าเอามารวมกัน ไม่ใช่ทุกอย่างมารวมกันที่ผู้วิจัยหมด

 สุดท้ายแล้วความปรองดองจะเกิดได้จริงหรือไม่
 เชื่อว่าเกิด เพราะทุกคนปรารถนาจะให้ประเทศหลุดออกไป แต่วันนี้ทุกคนไม่อยากเสนอความเห็นอะไร เพราะแสดงไปแล้วจะถูกจับให้ไปยืนซีกใดซีกหนึ่งเสมอ ใครพูดอะไรที่พูดถูกใจ คุณก็ดึงเป็นพวกคุณ ใครไม่เห็นด้วยก็ถูกผลักไป แล้วบางคนไม่มีโอกาสจะอธิบาย ตอบโต้ เขาเลยเลือกจะมีชีวิตปกติดีกว่า ซึ่งภาวะเช่นนี้มันเป็นการลดทอนโอกาสสังคมที่จะได้ฟังความคิดเห็นของคน เพราะคนไปด่วนตัดสินหมด กลายเป็นจินตนาการหมด

 ส่วนจะมองว่าใครจะได้ประโยชน์นั้น ถามว่าถ้านิรโทษกรรมมันคลุมใคร มันคลุมทุกฝ่าย มันไม่ได้บอกว่าใครได้ประโยชน์ มันบอกว่ากระบวนการกลับมาเริ่มใหม่ เพราะถ้าพูดว่า ทำอะไรแล้วใครจะได้ประโยชน์ กลัวใครจะได้ประโยชน์บ้าง ก็จะไม่มีใครทำอะไร อยู่แบบนี้


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผลวิจัยปรองดอง วุฒิสาร แค่จุดเริ่มต้น ดำเนินต่อไป

view