สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต่อเวลาสมัยนิติบัญญัติ เร่งปิดจ๊อบ แก้ รธน.-ปรองดอง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

นับเป็นจังหวะก้าวทางการเมืองครั้งสำคัญของพรรคเพื่อไทยผ่านการตัดสินใจ ขยายเวลาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติไปจนถึงเดือน พ.ค. จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 18 เม.ย. โดยเป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างแน่วแน่นับจากนี้เป็นต้นไป คือ “การเอาจริง”

การเอาจริงเอาจังรอบที่ผ่านการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อเร่งการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในด้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนแต่อย่างใด เพราะมีวัตถุประสงค์ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการต่อยอดรายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเพียงข้ออ้างถึงความชอบธรรมเท่านั้น

สำหรับ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เดิมทีพรรคเพื่อไทยเองมั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 วาระจะสามารถทำได้ทันภายในกรอบเวลาปกติ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เมื่อมาเจออิทธิฤทธิ์ของ กมธ.พรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเต็มๆ มีผลกระเทือนถึงการพิจารณารายมาตราตั้งแต่ 291/1291/16 ต้องล่าช้าออกไป

เป็นผลให้ “สามารถ แก้วมีชัย” ประธานกมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัดสินใจให้วิปรัฐบาลประสานคณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกฤษฎีกาขยายสมัยประชุมออก ไป เพราะต่อให้ใช้เสียงข้างมากลากไปในชั้น กมธ.อย่างไร ก็ไม่มีทางทำทันแน่นอน

อย่างเก่งที่สุด กมธ.อาจเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาทันในวาระ 2 ไม่เกินวันที่ 18 เม.ย. แต่สำหรับการพิจารณาวาระ 3 เพื่อขอความเห็นชอบที่ต้องเว้นระยะห่างจากวาระ 2 เป็นเวลาถึง 15 วัน เพียงแค่นี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามีความเป็นไปได้เท่ากับศูนย์

ส่วน “การต่อยอดรายงาน กมธ.ปรองดอง” ยังไม่มีความแน่ชัดว่าพรรคเพื่อไทยจะทำให้เป็นรูปธรรมอย่างไร เพราะความชัดเจนที่สุดขณะนี้มีเพียงการบรรจุระเบียบวาระพิจาณารายงานก มธ.ปรองดองในการประชุมสภา วันที่ 4 เม.ย.เท่านั้น

แต่กระนั้นก็ไม่สามารถมองข้ามไปได้ ในเมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน กมธ.ปรองดอง หาญกล้าขอให้ที่ประชุมรัฐสภาประทับตราเสริมความชอบธรรมให้สภาพิจารณาญัตติใน สมัยประชุมนิติบัญญัติได้ ย่อมต้องมีอะไรในก่อไผ่แน่นอน

 

ความเป็นไปได้มากที่สุดและถ้าไม่อะไรผิดพลาดในระดับวินาศสันตะโรเสียก่อน เชื่อได้เลยว่าภายหลังจากสภาในอุ้งมือเสียงข้างมากพรรคเพื่อไทยมีมติเห็นชอบ กับรายงาน กมธ.ปรองดองเมื่อไหร่ กระบวนการนิรโทษกรรมจะเริ่มออกมาให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเรียงตามลำดับความรวดเร็ว

ถ้ารัฐบาลอยากได้แบบเร็วมากที่สุด ก็ตราเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) รองลงมา ก็ตราเป็น พ.ร.บ.และตั้ง กมธ.พิจารณา 3 วาระรวดในคราวเดียวกัน ก่อนส่งให้วุฒิสภาพิจารณา3 วาระรวดเช่นกัน หรือแบบช้าที่สุด คือตราเป็น พ.ร.บ.เช่นกัน แต่ตั้ง กมธ.พิจารณาแก้ไขถ้อยคำเพื่อเสนอให้สภาในวาระ จากนั้นส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในขั้นตอนลักษณะเดียวกัน

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงกลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่พรรคเพื่อไทยต้องขอเลื่อนวันปิดสมัยประชุมออกไป

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองกันถึงเนื้อในแล้วพรรคเพื่อไทยหวังใช้ช่วงทดเวลาบาดเจ็บสมัย นิติบัญญัติเพื่อเป้าหมายแก้มาตรา 291 มากกว่าตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางการเมือง เพราะสถานการณ์เวลานี้ที่กำลังอุดมไปด้วยความขัดแย้งแบบนี้ ย่อมไม่เอื้อให้เป้าหมายนี้สำเร็จได้

สู้เลือกจับปลามือเดียวด้วยการเร่งแก้มาตรา 291 ให้เสร็จและส่งไม้ต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปทำคลอดสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อตัดปัญหากลบเสียงครหาน่าจะดีกว่า ส่วนเรื่องปรองดองจะตราเป็น พ.ร.บ.สำเร็จหรือไม่เป็นผลพลอยได้เท่านั้น ถ้าทำได้ก็ดีไม่ทันก็ไม่เป็นไร ค่อยไปว่ากันใหม่บนบริบทสถานการณ์การเมือง ณ ขณะนั้นอีกครั้ง

ขณะเดียวกันในด้านหนึ่งการดำเนินการขยายเวลาสมัยประชุมถึงจะมีเผือกร้อน เข้ามาสภา แต่ก็ไม่อาจทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยดูแย่ไปมากนัก หากเปรียบกับการพิจารณาทั้งสองเรื่องร้อนในสมัยประชุมวิสามัญ

โดยพรรคเพื่อไทยเคยมีความคิดอยากยัดวาระ “แก้รัฐธรรมนูญ-ปรองดอง” เข้าไปในสมัยวิสามัญใจแทบขาด แต่ว่าทว่าเมื่อประเมินแล้ว “ได้ไม่คุ้มเสีย”

หมายความว่า แม้การเปิดสมัยวิสามัญจะไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงอะไร เพราะในอดีตที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมักใช้ช่วงปิดเทอมของรัฐสภาเปิดประชุมเป็น กรณีพิเศษ อย่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ก็เตรียมเสนอกฎหมายงบประมาณต่อสภาเช่นกัน แต่ในหลักปฏิบัติที่ถือกันมาจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มักจะไม่นิยมนำเรื่องอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนมาใช้เวทีสมัยวิสามัญ

ถ้าเทียบการยืดเวลาสมัยนิติบัญญัติกับการเปิดสมัยวิสามัญ จะเห็นได้ว่าแนวทางแรกช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ให้ดูดีกว่าถ้าเทียบกับแนวทางอื่น

แถมยังเป็นตัวช่วยสำคัญให้พรรคเพื่อไทยสามารถเร่งปิดจ๊อบแก้รัฐธรรมนูญ และปรองดองได้ง่ายขึ้น โดยไม่มีม็อบมารบกวนมากนัก เพราะรู้ดีว่ายิ่งปล่อยให้นานเท่าไหร่ หรือล่วงเลยไปถึงสมัยประชุมสามัญทั่วไปที่ฝ่ายค้านสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้ วางใจได้ด้วยแล้ว ย่อมไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลแน่นอน

เพราะฉะนั้น การจัดการทุกอย่างปิดจ๊อบให้เร็วที่สุด คือคำตอบสุดท้ายของรัฐบาล


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ต่อเวลา สมัยนิติบัญญัติ เร่งปิดจ๊อบ แก้ รธน. ปรองดอง

view