สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โลกจับตาสมานฉันท์ไทย ฝืนปรองดอง ไร้ยุติธรรม เสี่ยงแตกแยก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ นอกเหนือจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีเมื่อปีที่แล้วของไทย ที่โลกยังคงจดจำและเฝ้าตามติด สำหรับแนวทางการยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่บานปลายกลายเป็นการปะทะนอง เลือดรุนแรงเมื่อปี 2553

เพราะหากรัฐบาลไทยไม่สามารถจัดการให้ยุติได้อย่างเด็ดขาด นักวิเคราะห์ต่างชาติซึ่งติดตามสถานการณ์มาโดยตลอดต่างเห็นตรงกันว่า ปมดังกล่าว ก็มีแนวโน้มจะกลายเป็นชนวนผลักดันให้ไทยเกิดความแตกแยกรุนแรงรอบใหม่ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการซ้ำเติมและขัดขวางประเทศไม่ให้เดินไปข้างหน้าได้

แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุด ด้วยแนวทางสมานฉันท์ของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ภายใต้การบริหารจัดการของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ย่อมเป็นความคืบหน้าที่น่ายินดี อย่างน้อยก็ในแง่ที่จะทำให้ความบาดหมางที่มีอยู่หมดไป และประเทศไทยจะได้เดินไปข้างหน้าได้เสียที

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์ต่างชาติส่วนหนึ่งกลับมองว่า แผนการปรองดองดังกล่าว นอกจากจะไม่ช่วยให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาทั้งหมดจบสิ้นได้แล้ว อาจจะกลายเป็นตัวจุดชนวนกระพือให้เกิดความแตกแยกรอบใหม่

เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวของรัฐบาลได้พยายามบิดเบือนและกลบเกลื่อนความ ผิดของผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยการจัดทำรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อกลาง ปี 2553 ที่ลบรายชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงทิ้งไป และเสนอให้มีการนิรโทษกรรมบรรดาแกนนำ กลุ่มผู้สนับสนุน นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐบาล และกองกำลังด้านความมั่นคง เรียกได้ว่า ไม่เอาผิดกับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่ เกิดขึ้นทั้งหมด

จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการกลุ่มองค์การสิทธิมนุษยชนประจำเอเชีย (Human Rights Watch : HRW) (ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์) เครือข่ายเอ็นจีโอ ด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ ระบุว่า มองเผินๆ การเสนอให้อภัยกับทุกฝ่ายดูจะเป็นทางออกที่ดี แต่หากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ข้อเสนอดังกล่าวคือการทำลายระบบยุติธรรมของไทยลงอย่างสิ้นเชิง

“ข้อเสนอปรองดอง คือ การทำให้ผู้มีอำนาจทุกคนทุกฝ่ายหลบหลีกจากอาชญากรรมร้ายแรง ทุกฝ่ายชนะหมด ยกเว้น ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์” ซิฟตัน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้แทนฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวเพิ่มเติมว่า “สมานฉันท์” หรือ “ปรองดอง” ถูกใช้เป็นข้ออ้างสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยและคนไทยเพิกเฉยมองข้ามความเป็น จริงที่เกิดขึ้นจากการแสวงหาประโยชน์และอำนาจของคนเพียงหยิบมือ จนกลายเป็นรากฝังลึกให้คนเหล่านั้นใช้เป็นช่องทางปัดความรับผิดชอบ เอาตัวรอดจากสถานการณ์ความผิดที่ก่อไว้อย่างแนบเนียน

เรียกได้ว่า เพื่อสมานความบาดหมางและทำให้ประเทศชาติสมัครสมานสามัคคี ต้องทำเหมือนไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น และทำใจให้ลืมสิ่งที่โดนกดขี่ข่มเหง โดยหลงลืมข้อเท็จจริงว่า การกระทำดังกล่าว เพียงแค่การฝืนกลบรอยร้าวบนผนังด้วยวอลเปเปอร์เท่านั้น

เพราะคนที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งได้รับความเจ็บปวดและได้รับผลกระทบมากที่สุด ยังไม่ได้รับความยุติธรรม และเมื่อใดก็ตามที่มีกลุ่มคนที่ไม่หวังดีไปสะกิด ก็ย่อมเป็นเรื่องง่ายที่จะปะทุลุกฮือขึ้นมาอีกระลอก

สุดท้ายก็เป็นประเทศไทยเองที่ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ทั้งๆ ที่ไทยมีศักยภาพและความพร้อมเพรียงพอที่จะดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก

ทั้งนี้ จากการสำรวจนักธุรกิจและผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนจำนวน 405 คน โดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจอาเซียน (อาเซียนบีเอซี) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบข้อบังคับ และนโยบายด้านภาษีของไทยเทียบกับอีก 9 ชาติสมาชิกอาเซียนที่เหลือ ประเทศไทยถือได้ว่าน่าลงทุนในอันดับที่ 4 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ตามลำดับ

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจ้อง มองมาที่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณอาเซียน เนื่องมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังคงเข้มแข็งดีอยู่ บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่าไทยน่าจะเป็นหนึ่งประเทศอาเซียนในลำดับต้นๆ ที่สามารถเก็บเกี่ยวโอกาสที่กำลังหลั่งไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียได้

โตหรุ นิชิยามา นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยไดอิจิ ไลฟ์ ในโตเกียว แสดงความเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขสถิติตั้งแต่ต้นปีที่ผ่าน การส่งออกของไทยของไทยเริ่มที่จะส่งสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างไม่ต้องสงสัย เรียกได้ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีมนต์ขลังดึงดูดนักลงทุนได้ดีอยู่

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แนวโน้มทางบวกที่ดึงดูดให้ไทยน่าลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่ง รวมถึงนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างเห็นตรงกันว่า อุปสรรคสำคัญที่จะขัดขวางให้จำต้องหันหน้าหนีไทยคือปัญหาด้านการทุจริต คอร์รัปชัน และปัจจัยด้านความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ หากรัฐบาลไทยไม่สามารถกำราบจัดการความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ ให้ราบหมดสิ้นได้ นักลงทุนก็พร้อมที่จะตัดไทยออกจากตัวเลือกได้ทุกเมื่อ

ยิ่งเมื่อประเทศเพื่อนบ้านที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติของ ไทยอย่างพม่า ซึ่งสามารถเรียกคะแนนนิยมจากนานาชาติในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาอย่างท่วม ท้นจากการเดินหน้าปฏิรูปการเมืองการปกครองของประเทศ จนทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ส่งสัญญาณยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่า ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจและน่าดึงดูดได้มากกว่า ไทย

ทั้งนี้ เพื่อยุติวงจรแห่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซิฟตัน กล่าวว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องกำหนดมาตรการนำผู้กระทำผิดกฎหมายมาลงโทษ ไม่ว่าคนคนนั้นจะอยู่ฝ่ายไหน หรืออยู่ในตำแหน่งใดๆ ก็ตาม

เพราะคนทำผิดก็คือคนทำผิด ย่อมไม่มีการยกเว้นหรือให้อภัยจนกว่าจะได้ชดใช้กับความผิดที่ได้กระทำไว้

เป็นความยุติธรรมที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่า ไทยสมควรจัดการให้เกิดขึ้น ก่อนที่มีฝ่ายใดๆ ใช้ข้ออ้างถึงความไม่เป็นธรรมกะเทาะรอยร้าวแตกแยกรอบใหม่

และเมื่อถึงเวลานั้น ไทยอาจกลายสถานะเป็นประเทศที่ล้าหลังที่สุดในอาเซียน หรือในภูมิภาคเอเชีย!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โลกจับตา สมานฉันท์ไทย ฝืนปรองดอง ไร้ยุติธรรม เสี่ยงแตกแยก

view