สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินเฟ้อ 2.47% ข่าวร้ายชัดๆ

เงินเฟ้อ 2.47% ข่าวร้ายชัดๆ


อาหารเพิ่มราคา น้ำมันแพง ค่าแรงขึ้น แต่เงินเฟ้อในเดือนเมษายนนี้เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นแค่ 2.74% ดูแล้วเหมือนเป็นข่าวดี
แต่ถ้ามองกันให้ลึกๆ บอกได้เลยว่า สำหรับคนไทยส่วนใหญ่แล้ว นี่มันข่าวร้ายชัดๆ
 

เนื้อหาของตำราเศรษฐศาสตร์มหภาค ในบทเรียนที่เกี่ยวกับเงินเฟ้อ เตือนนักเตือนหนาว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค และการเพิ่มขึ้นของดัชนีตัวนี้ ต้องวิเคราะห์ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะการนำมาวิเคราะห์คุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย เพราะสำหรับคนกลุ่มนี้ ตัวเลขดัชนีราคาในภาพรวมเป็นแค่ปาหี่ทางสถิติดีๆ นี่เอง
 

ดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นตัวชี้วัดภาพรวมทางเศรษฐกิจตัวหนึ่งซึ่งต้องนำมาพิจารณาควบคู่ไปกับตัวชี้วัดอื่นๆ ด้วยเสมอ โดยในเรื่องการประเมินคุณภาพชีวิตนั้น ต้องใช้ดัชนีตัวนี้ร่วมกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ เช่น ถ้าในช่วง 10 ที่ผ่านมา รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น 25% แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 10% นั่นแสดงว่า สุทธิแล้ว รายได้ที่แท้จริงของประชาชนเพิ่มขึ้นเพียง 15%
 

รายได้ที่แท้จริงเป็นตัวกำหนดกำลังซื้อ รายได้ที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น จึงซื้อสินค้าและบริการได้มากกว่าเดิม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 

การคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นการสร้างตัวเลขเพื่อชี้วัดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ โดยรวมของประเทศ โดยการจัดกลุ่มสินค้า และกำหนดปีตั้งต้นในการคำนวณ หรือที่เรียกว่าปีฐาน  สมมติว่า เราใช้ปี 2550 เป็นปีฐาน และในปี 2555 ดัชนีราคาผู้บริโภคเท่ากับ 126 แสดงว่า เมื่อเทียบกับปีฐาน ในปี 2555 ระดับราคาสินค้าและบริการโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้น 26% เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงนี้เองที่เรียกว่าอัตราเงินเฟ้อ
 

ปัญหาก็คือ กลุ่มสินค้าที่นำมาคำนวณนั้น มีหลายประเภท ทั้งอาหาร พลังงาน ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ เมื่อนำมารวมกันจึงต้องมีการถ่วงน้ำหนัก โดยพิจารณาว่าจะให้ความสำคัญกับสินค้าแต่ละประเภทมากน้อยแค่ไหน  สำหรับประเทศไทย หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูป และสาธารณูปโภคที่จำเป็น (ไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปา และแสงสว่าง) รวมกันแล้วมีน้ำหนักประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มสินค้าทั้งหมด สินค้ากลุ่มนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน  และมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตในระยะสั้นของประชาชนมากที่สุด
 

ด้วยเหตุนี้ ในการคำนวณ ถึงแม้ราคาสินค้ากลุ่มที่จำเป็นจะเพิ่มขึ้นเยอะ  แต่ถ้าสินค้ากลุ่มที่เหลือราคาเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็เป็นได้ว่า เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ดัชนีราคาโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีค่าต่ำตามไปด้วย  
 

เพื่อให้เห็นความแตกต่าง ผู้เขียนได้นำเสนอข้อมูลอัตราเงินเฟ้อสองชุดด้วยกัน  คือ อัตราเงินเฟ้อโดยรวม และอัตราเงินเฟ้อเฉพาะกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน โดยเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว  และการเปลี่ยนแปลงในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้
 

จากแผนภูมิ จะเห็นได้ว่า อัตราเงินเฟ้อในภาพรวมที่เท่ากับ 2.47% ส่วนอัตราเงินเฟ้อในชีวิตประจำวันมีค่าเท่ากับ 5.52% เปรียบเทียบกับแล้วแตกต่างกันถึงเท่าตัว และเมื่อเทียบการเปลี่ยนแปลงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อในชีวิตประจำวันก็ยังมากกว่าถึงเท่าตัวเช่นกัน
 

นี่คือที่มาของเสียงบ่นของประชาชนเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งไม่ได้สะท้อนออกมาจากตัวเลข 2.47%  
 

ที่น่าสนใจคือ ผู้ที่เดือดร้อนจากเรื่องนี้มากที่สุด คือ คนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะต้องเอารายได้ส่วนใหญ่ไปใช้กับการซื้อหาอาหารและจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หากราคาอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ราคาเชื้อเพลิง ยังดาหน้ากันขึ้นต่อไปเรื่อยๆ อำนาจซื้อของคนกลุ่มนี้ก็จะยิ่งถดถอยลง
 

แม้ว่ารัฐบาลจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 7 จังหวัดไปแล้ว แต่เสียงสะท้อนจากผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ออกมาค่อนข้างชัดเจนว่า ลำพังแค่เงิน  300 บาทต่อวันยังไม่เพียงพอ รัฐบาลจะต้องให้หลักประกันด้วยว่าพวกเขาจะไม่โดนนายจ้างลอยแพ ราคาสินค้าและบริการไม่พุ่งสูงเกินไปจนทำให้เงินที่ได้เพิ่มขึ้นมาหมดค่าลงไปในเร็ววัน
 

ถ้าเราเอาข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในชีวิตประจำวันในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ซึ่งมีค่าเท่ากับ 7.33% มาเป็นฐานในการคิด อำนาจซื้อของค่าแรง 300 บาทจะมีค่าลดลงเหลือเพียง 250 บาทภายใน 20 เดือน หรือปลายปี  2556  และอาจเร็วกว่านี้ถ้ารัฐบาลยังปล่อยให้ราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นต่อไป
 

ถึงไม่เห็นอัตราเงินเฟ้อ ประชาชนเองก็รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันกันมาสักพักใหญ่แล้ว  และแทบทุกคนก็ได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป หากรัฐบาลยังไม่หาทางแก้ปัญหาที่ได้ผลกว่าการเอาธงฟ้ามาปัก เอาของราคาถูกมาวางขายเป็นช่วงๆ อีกไม่นานเสียงบ่นจะกลายเป็นคำประท้วง การจับกลุ่มพูดคุยกันเรื่องปากท้อง จะกลายเป็นการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้อง และคนที่จะออกมาเรียกร้องก่อนก็คือผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาล
 

น้ำประคองเรือได้ฉันใด น้ำก็สามารถคว่ำเรือได้ฉันนั้น คิดแล้วก็หวาดเสียวแทนรัฐบาลจริงๆ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินเฟ้อ 2.47% ข่าวร้ายชัดๆ

view