สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้วิกฤติตามแนวคิดของครุกแมน

แก้วิกฤติตามแนวคิดของครุกแมน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




พอล ครุกแมน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี 2551 อันเป็นปีที่เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ทั้งในยุโรปและอเมริกาซึ่งยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน
หลังจากปีนั้น นักเศรษฐศาสตร์อีก 7 คนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าว  ผู้ได้รับรางวัลนั้นเป็นชาวอเมริกันเป็นส่วนใหญ่ จึงน่าถามว่าเพราะอะไรอเมริกาจึงยังแก้ปัญหาไม่ได้ในเมื่อมีนักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงความสามารถหลายโหล มหาวิทยาลัยชิคาโกเพียงแห่งเดียวมีอาจารย์ที่ได้รับได้รับรางวัลนั้นถึง 26 คน ตามความเห็นของครุกแมนดังที่เขาเขียนไว้ในหนังสือชื่อ End This Depression Now! ซึ่งเพิ่งวางตลาดเมื่อต้นเดือนนี้ คำตอบส่วนหนึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกนั่นแหละ
 

คงเป็นที่ทราบกันดีว่า นอกจากเป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยปรินส์ตันแล้ว ครุกแมนยังเป็นนักเขียนคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์อีกด้วย การเป็นนักเขียนคอลัมน์คงมีส่วนทำให้เขานำเสนอแนวคิดทางเศรษฐกิจได้อย่างกระชับ และอ่านง่ายดังที่เขาแสดงออกมาในหนังสือเล่มดังกล่าว  หนังสือเล่มนี้ยาว 259 หน้าจึงนับว่าเป็นขนาดกลางเท่านั้น แต่เนื้อหาครอบคลุมหลายด้านซึ่งนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ควรอ่านแล้วนำมาเสวนากันอย่างทั่วถึง เพื่อจะได้เข้าใจแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หากไม่ทำเช่นนั้นก็ควรอ่านซ้ำหลายๆ เที่ยวและอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากผู้อ่านคอลัมน์นี้ส่วนใหญ่คงไม่มีเวลาที่จะศึกษาว่าครุกแมนเขียนอะไรและมีใครโต้แย้งอย่างไร จึงขอนำประเด็นหลักมาเล่าหลังจากได้อ่านจบเที่ยวแรก  ผมตั้งใจจะกลับไปอ่านซ้ำและจะนำประเด็นสำคัญๆ มาปันกับผู้อ่านคอลัมน์นี้อีก
 

ครุกแมนบอกว่าเขายังเขียนเนื้อหาของหนังสืออยู่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ฉะนั้น เนื้อหาจึงยังไม่ล้าสมัยแม้เหตุการณ์จะเปลี่ยนไปบ้างแล้วก็ตาม ยิ่งกว่านั้น เหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ รวมทั้งการกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งของเศรษฐกิจอังกฤษและสเปนเสริมการวิเคราะห์ของเขาให้หนักแน่นขึ้นอีก
 

ตัวเลขทางเศรษฐกิจจำพวกระดับการผลิต หรือจีดีพี อาจชี้บ่งว่าอเมริกาและบางส่วนของยุโรปได้ฟื้นจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2551 แล้ว แต่ครุกแมนมองว่าเศรษฐกิจยังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ (Depression) เช่นเดิม การมองเช่นนั้นอาจดูเสมือนเป็นการเล่นคำ เนื่องจากตามธรรมดาคำว่า Depression จะมีความหมายร้ายแรงกว่าคำว่า Recession แต่มันไม่ใช่การเล่นคำเนื่องจากเขาให้คำจำกัดความว่าอัตราการว่างงานในอเมริกาและยุโรป ซึ่งยังสูงมาก จากราว 8% ในอเมริกาถึง 25% ในสเปนเป็นภาวะวิกฤติ ทั้งนี้ เพราะการว่างงานในระดับนั้นเป็นความเสียหายใหญ่หลวงยิ่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคมทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว  เขาอธิบายว่าเพราะอะไรไว้อย่างดี ซึ่งคอลัมน์นี้จะนำมาเสนอต่อไป
 

ครุกแมนมองว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยและยังตกอยู่ในภาวะวิกฤติในปัจจุบัน คือ การขาดอุปสงค์ หรือความต้องการซึ่งมาจากการลดการใช้จ่ายของประชาชนทั่วไป ภาคธุรกิจและรัฐบาล  ภาวะหนี้สินและการขาดดุลงบประมาณเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ความต้องการลดลง เนื่องจากการขาดความต้องการเป็นต้นเหตุของปัญหา ทางแก้จึงจะต้องมาจากการเพิ่มความต้องการเข้าไปซึ่งอาจทำได้โดยการใช้นโยบายการเงินและการคลัง รัฐบาลต่างๆ ได้ดำเนินนโยบายไปตามแนวนั้นบ้างแล้วแต่มันยังไม่พอ ในปัจจุบันรัฐบาลส่วนใหญ่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาจนใกล้ศูนย์แล้วส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถใช้การลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นการใช้จ่ายได้อีกต่อไป ฉะนั้น เครื่องมือส่วนใหญ่จะต้องมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาล เขามั่นใจว่า ถ้ารัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายในด้านต่างๆ ดังที่เขาเสนอขึ้นไปให้สูงกว่าที่ทำมาแล้วมากๆ เศรษฐกิจจะเดินออกจากภาวะวิกฤติอย่างรวดเร็ว
 

ในเมื่อการแก้ปัญหาไม่น่าจะยากเย็นอะไร ทำไมรัฐบาลต่างๆ จึงไม่ทำเป็นคำถามที่ครุกแมนตอบว่าเพราะขาดความกระจ่างทางวิชาการและขาดความกล้าหาญทางการเมือง
 

การขาดความกระจ่างทางวิชาการเป็นเรื่องน่าฉงน เนื่องจากอเมริกามีนักเศรษฐศาสตร์หลายสิบคนที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์จนถึงขั้นได้รับรางวัลโนเบล เขามองว่าความไม่กระจ่างมีปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งความผิดพลาดในด้านการวิจัย การตั้งธงไว้ก่อนของพวกเมธีบริกรและอคติของผู้เกี่ยวข้อง  ในประเด็นนี้เขาชี้ให้เห็นความผิดพลาดและอคติของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำหลายคนรวมทั้งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชิคาโกที่ได้รับรางวัลโนเบลด้วย  การเอ่ยชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ดังๆ ออกมาแบบไม่ไว้หน้ากันคงจะเกิดการตอบโต้ออกมาในเร็ววัน ผู้สนใจน่าจะหาอ่านได้ต่อไปในระบบอินเทอร์เน็ต
 

ความไม่กระจ่างทางวิชาการเป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ความไม่กล้าหาญทางการเมืองของผู้ที่อยู่ในแวดวงอำนาจ นอกจากความไม่กระจ่างทางเศรษฐศาสตร์แล้วยังมีความไม่กระจ่างทางความเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของผู้ออกเสียงเลือกตั้งอย่างถ่องแท้อีกด้วย  นอกจากนั้น เงินและอุดมการณ์ทางการเมืองต่างก็มีบทบาทสำคัญในด้านนี้
 

ครุกแมนมองว่าภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งนี้ จะยืดเยื้อไปอีกหลายปีและประธานาธิบดีบารัก โอบามา น่าจะชนะเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 แต่จะต้องเผชิญกับรัฐสภาที่มาจากพรรคตรงข้าม  นั่นจะเป็นปัจจัยที่เพิ่มความยืดเยื้อให้ภาวะวิกฤติอีกแรงหนึ่งด้วย


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้วิกฤติ ตามแนวคิดของครุกแมน

view