สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละกม.ปรองดอง เหวี่ยงแห-ยุ่งเหยิง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

“กิตติศักดิ์ ปรกติ” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองว่าเนื้อหาของกฎหมายไม่มีขอบเขตที่แน่นอน คือ ไม่ระบุว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ควรได้รับผลประโยชน์จากกฎหมายนี้ ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า คนร่างต้องการให้มีเนื้อหาเปิด เพื่อให้มีการตีความกว้างขวางไว้ที่สุด เป็นการเหวี่ยงแหเนื้อหากฎหมาย ซึ่งเสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญและยังมีปัญหาในทางปฏิบัติตามมาอีกมาก

“ถ้าคนร่างต้องการเอาคดีเดียวหรือเพื่อคนคนเดียวเป็นตัวตั้ง บ้านเมืองจะวุ่นวายแน่ จะมีแรงต่อต้านอย่างมหาศาล”

“กิตติศักดิ์” ได้ยกตัวอย่างความไม่แน่นอนของกฎหมาย โดยได้ตั้งคำถามว่า ใน มาตรา 3 ซึ่งระบุว่า เหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2548 จนถึงวันที่ 10 พ.ค. 2554 หากมีการกระทำใดที่เป็นความผิดตามกฎหมาย ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป คำถามคือระหว่างวันที่ 19 พ.ค. 2553 ซึ่งเป็นวันยุติการชุมนุมถึงวันที่ 10 พ.ค. 2554 มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ใครแสดงออกช่วงนี้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมาย

กิตติศักดิ์

ดังนั้น ต้องถามว่าทำไมกฎหมายฉบับนี้ จึงยืดเหตุการณ์ครอบคลุมจนถึงวันที่ 10 พ.ค. 2554 ซึ่งคนร่างต้องการคุ้มครองการแสดงออกของใครที่ได้แสดงความเห็นที่ผิดกฎหมาย ในช่วงนี้ รวมถึงความผิดเรื่องหมิ่นตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ ที่สำคัญคือไปเขียนว่าทั้งการกระทำของผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำหน้าที่ป้องกันก็ไม่ต้องรับผิด นั้นแสดงให้เห็นว่าเสรีภาพในชีวิตร่างกายที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ จากนี้เสรีภาพของร่างกายก็อาจถูกกระทบได้จากเจ้าหน้าที่รัฐได้

“กิตติศักดิ์” ยังชี้ให้ความไม่ชัดเจนแน่นอนของกฎหมายมาตรา 5 ที่ระบุว่า ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายของ องค์กร หรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศ หรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข หรือ คปค. ให้ถือว่ามิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นผู้กระทำความผิด

คำถามคือ เป็นประกาศฉบับใด หรือคำสั่งฉบับใด หรือการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรใด ที่ถือว่าเป็นเหตุร้ายแรงบุคคลที่ได้รับผลกระทบควรได้รับการคุ้มครอง เพราะถ้าเขียนไว้เช่นนี้เท่ากับหมายความว่า ประกาศทุกประกาศ หรือคำสั่งทุกคำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ใช่หรือไม่

นอกจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แล้วคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดนี้ก็เกิดจาก คมช. ได้ตัดสินคดีเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. 2551 เหตุการณ์สลายพันธมิตรฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ครั้งนี้ ถูกชี้มูลว่าใช้อำนาจโดยไม่ชอบต้องออกจากราชการ หากกฎหมายนี้บังคับใช้ พล.ต.อ.พัชรวาท ก็ได้รับประโยชน์ด้วย คำถาม พล.ต.อ.พัชรวาทมีสิทธินำเรื่องมาฟ้อง ป.ป.ช.ได้หรือไม่ ถ้าฟ้องได้ก็ต้องยุ่งกันแน่

รวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับการทุจริต ที่ ป.ป.ช.ตัดสินไปหลายคดีแล้ว รวมทั้งเรื่องทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้รับประโยชน์อยู่แล้ว ซึ่งยังไม่นับรวมเรื่องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ คมช.แต่งตั้งขึ้นมาหากกฎหมายที่ออกมาโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) แล้วมีคนเห็นว่าได้รับผลกระทบก็นำมาลบล้างได้ หรือ กกต.ชุดนี้ก็มาจาก คมช.เช่นกัน หากกระทำเรื่องใดที่คนเห็นว่าได้รับผลกระทบก็จะหยิบกฎหมายนี้มาลบล้างเรื่อง นั้นได้

“นี้คือปัญหาของขอบเขตเนื้อหากฎหมายที่ไม่มีความชัดเจน หรือมีความแน่นอนว่าเป็นคำสั่งใด เป็นการกระทำขององค์กรใดและกระทำในเรื่องอะไร หากร่างยังเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองแน่ ผลกระทบต่างๆ ขององค์กรต่างๆ ถูกหยิบมาลบล้างได้ และจะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ” นายกิตติศักดิ์ กล่าวปิดท้าย


ปรองดอง" หมากหลายชั้นแผนซ่อนกล"เพื่อไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ลับ ลวง พราง จริงๆ สำหรับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ไม่มีใครคาดคิดว่าจะหาญกล้าเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ความเซอร์ไพรส์ครั้งนี้สร้างความตกใจให้กับประเทศอย่างมาก

แม้ พล.อ.สนธิ ผู้ล้มอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะยืดอกชี้แจงหนักแน่นว่า งานนี้ไม่ได้รับจ๊อบนายใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปราศจากการสนับสนุนจากพรรคเสียง ข้างมากในสภา

“ผมไม่ต้องการได้อะไร แค่ต้องการเห็นบ้านเมืองมีความสงบ และรักกันเท่านั้นเอง ทุกอย่างผมมีหมดแล้ว ณ วันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีที่มีมากกว่าไปรับจ๊อบใดๆ” คำชี้แจงจากอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

ทันทีที่สงครามปรองดองเปิดฉากขึ้น กระแสต่อต้านก็ตามมาเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งประกาศตัวแล้วว่า วันที่ 30 พ.ค.นี้ จะคิกออฟต่อต้านการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ในทุกรูปแบบ ทำให้กลุ่มแนวร่วมเสื้อเหลืองที่เคยแตกคอกันก่อนหน้านี้ กำลังกลับมารวมกันเฉพาะกิจเพื่อล้มระบอบทักษิณอีกครั้ง

รอบนี้ถือว่าเป็นงานหนักของพรรคเพื่อไทย เป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่จะมีม็อบการเมืองออกมาท้องถนน หลังจากเข้าสู่อำนาจรัฐมาเกือบ 1 ปี

เมื่อสถานการณ์เริ่มแสดงความล่อแหลมออกมา ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องวางกำแพงและเป้าหลอกป้องกันความผิดพลาดเอาไว้หลายชั้น อย่างซับซ้อน เพื่อรับมือกับแรงปะทะทุกด้านในวันที่ 30 พ.ค.

ฝ่ายบริหาร “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนทางการเมือง แต่ตอนนี้กำลังจะทำให้ตัวเองเป็นจุดแข็งผ่านการแสดงบทบาทลอยตัวจากเรื่องนี้ ด้วยการบอกว่า “เป็นเรื่องสภารัฐบาลไม่เกี่ยว” เท่ากับสร้างภาพลักษณ์ว่ารัฐบาลน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำอะไรที่มีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนในทางตรง

ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติพรรคเพื่อไทยเล่นบทบู๊สวนทางกับบทนางเอกของยิ่ง ลักษณ์สิ้นเชิง เนื่องจากได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ปรองดองอีก 2 ฉบับส่งเข้ามาประกบกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเวอร์ชันบิ๊กบัง ไม่ว่าจะเป็นของ นิยม วรปัญญา สส.บัญชีรายชื่อ และ สามารถ แก้วมีชัย สส.เชียงราย รวมไปถึงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

เนื้อหาของทั้ง 3 ฉบับ หลักการและสาระสำคัญไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก โดยได้สร้างเครื่องมือนิรโทษกรรมครอบคลุมช่วงเวลาทางการเมืองระหว่างปี 2548-2554 เสื้อทุกสี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมเหมือนกับไม่เคยมีใครฝากรอยเท้าเอาไว้

ครั้นจะมีแตกต่างไปบ้างก็ตรงที่ร่างกฎหมายฉบับคนเสื้อแดง เพราะมีบทบัญญัติคุ้มครองทุกกรณี ยกเว้นการกระทำของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม แต่การเสนอลักษณะนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแก้ปัญหาภายในพรรคเพื่อไทย เองมากกว่าหลังจากมวลชนเสื้อแดงเริ่มแสดงความไม่พอใจที่จะปล่อยให้คนสั่ง สลายม็อบลอยนวล

ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทุกฉบับ ตามขั้นตอนแล้ววันที่ 30 พ.ค. พรรคเพื่อไทยจะขอให้ที่ประชุมสภามีมติเสียงข้างมาก เพื่อให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.มาพิจารณาก่อน ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมสภาบัญญัติว่า “เมื่อที่ประชุมสภามีความเห็นให้เลื่อนเรื่องใดขึ้นมาก่อน แล้วสภาจะสามารถพิจารณาเรื่องนั้นได้ในการประชุมครั้งถัดไป”

หมายความว่า พรรคเพื่อไทยจะเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการในวันที่ 31 พ.ค.

สำรวจขุมกำลังพรรคเพื่อไทยในเวทีนิติบัญญัติเพื่อบรรลุเป้าหมายการปลด ปล่อย พ.ต.ท.ทักษิณ ให้เป็นอิสระ เรียกได้ว่าแทบจะมองหาจุดอ่อนไม่เห็น แถมยังสามารถควบคุมกลไกรัฐสภาเอาไว้ได้ทั้งหมด

พรรคเพื่อไทย คือ เสียงข้างมากของฝ่ายนิติบัญญัติ มีต้นทุนอยู่ในมือมากกว่า 300 เสียง แถมกำลังจะได้อีก 34 เสียงจากพรรคภูมิใจไทยมาร่วมลงขันอีกแรง เป็นเครื่องการันตีได้ว่าร่างกฎหมายปรองดองไม่ได้เป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรง

การเข้ามามีส่วนร่วมของพรรคภูมิใจไทยถือว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งได้ลงมติเห็นด้วยกับการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะ รัฐมนตรี มาเที่ยวนี้มาพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อเป็นทางเลือกที่ 4 ให้กับพรรคเพื่อไทย

เดิมร่างกฎหมายปรองดองของภูมิใจไทยได้ทำเอาไว้แล้วเมื่อสมัยรัฐบาลพรรค ประชาธิปัตย์โดยร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนา โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองทั้งเสื้อ เหลืองและเสื้อแดง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ความพยายามของพรรคภูมิใจไทยจึงเป็นหมันในช่วงนั้น

เมื่อได้รับแรงหนุนจากอดีตปรปักษ์อย่างภูมิใจไทย ย่อมทำให้พรรคเพื่อไทยมีเครื่องมือหลายตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายพา พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านแบบเท่ๆ ให้เป็นจริงเร็วขึ้น

ความเข้มแข็งของพรรคเพื่อไทยในสภาสวนทางกลับความอ่อนแอในสภาของพรรคประชา ธิปัตย์ โดยกำลังถูกโดดเดี่ยวจากพรรคการเมืองร่วมสภา และถึงจะมีกลุ่ม 40 สว.ช่วยอีกแรง เพื่อเป็นความหวังว่าสภาสูงจะมีมติคว่ำกฎหมายฉบับนี้ แต่เอาเข้าจริงวุฒิสภาก็เป็นของพรรคเพื่อไทยไปแล้วกว่าครึ่ง สะท้อนได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 สว. จึงทำได้ดีที่สุดเพียงแค่อภิปรายชี้ข้อบกพร่องและปลุกกระแสต่อต้านจากภายนอก โดยที่ไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถึงจะคุมเสียงในรัฐสภาได้เบ็ดเสร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยต้องเร่งแตกหักปิดเกมนี้ให้จบภายในสมัย ประชุมสามัญนิติบัญญัติ อย่างน้อยหากอุณหภูมิการเมืองเพิ่มสูงขึ้นจนเสี่ยงต่อการกระเทือนถึง เสถียรภาพรัฐบาลภายหลังรับหลักการวาระที่ 1 ก็อาจเลือกใช้วิธีปิดสมัยประชุมทันทีที่ลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3

ทั้งหมดนี้ช่วยให้ขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองได้มีเวลาหายใจมากขึ้น ประกอบกับมีเวลากลั่นกรองให้เนื้อหาของกฎหมายมีความสมบูรณ์และปราศจากข้อขัด แย้งมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อปั๊ม พ.ร.บ.ปรองดองออกมาและกลับมาตะลุมบอนในสภาอีกครั้งในสมัยประชุมสามัญทั่วไป ในเดือน ส.ค.

ซึ่งจะดีกว่าขยายสมัยประชุมนิติบัญญัติออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนด

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดการปรองดองในแบบฉบับพรรคเพื่อไทย คงผ่านด่านนิติบัญญัติไปอย่างไม่ยากเย็น ที่เหลือลุ้นด่านต่อไปว่าจะได้รับความชอบธรรมในทางการเมืองหรือไม่เท่านั้น



สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน


Tags : ชำแหละกม.ปรองดอง เหวี่ยงแห ยุ่งเหยิง

view