สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พ.ร.บ.ปรองดอง ปรองดองจริงหรือ?!

จากประชาชาติธุรกิจ

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อแนวทาง "ปรองดอง" ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่วิดีโอลิงก์มายังเวทีราชประสงค์ยังไม่ทันจาง กลุ่มเสื้อแดงยังไม่ทันคลายความหวาดระแวง รัฐบาลก็ผลักดันร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ในคราบของกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภา กระตุกความสนใจอีกครั้ง 8 มาตราของร่างนี้ มีคำถามและข้อสงสัยจากหลายฝ่าย หลายกลุ่ม ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามีเจตนาช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ครอบครัว และพรรคพวก อีกฝ่ายเห็นว่าหากพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ คนทำผิดก็ไม่ได้รับโทษ ในอีกมุมมองเห็นว่ามาตราที่เขียนไว้ผิดหลักกฎหมาย เสียงสะท้อนของนักวิชาการด้านปรองดองและคนเสื้อแดง เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างไร

--------
คณิต ณ นคร

ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)


จากการดูร่างพ.ร.บ.ปรองดองแล้ว ไม่ทราบว่าเจตนาของคนร่างขึ้นมาว่าคืออะไร เมื่อมองไม่เห็นเจตนาที่แท้จริงก็เป็นเรื่องที่เดายากว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภามีผลบังคับใช้แล้ว บ้านเมืองจะเป็นไปในทิศทางใด

จะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองคลายความขัดแย้ง ลงไป หรือจะเพิ่มความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ผมเดาไม่ออกจริงๆ

หลายเรื่องผมเดาเจตนาไม่ออก เพราะอย่างที่เห็นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่คอป.เห็นว่ามีประโยชน์และเสนอไปยังรัฐบาลหลายต่อหลายเรื่องก็ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะทำอะไรต่อ จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ต้องปล่อยให้ทางการเมืองตัดสิน

พ.ร.บ.ฉบับนี้ผมยังคิดไม่ออกว่าเคยมีการบัญญัติในลักษณะนี้ขึ้นมาทั้งการนิรโทษกรรมความผิดทาง การเมือง การกระทำ ผิดจากการ ชุมนุมทาง การเมือง คดีความที่อยู่ระหว่างการสอบสวนก็ต้องถอนฟ้อง หรือแม้แต่คดีความ ที่อยู่ในชั้นศาลทั้งหมดจะต้องยกเลิกไปนั้น ตั้งแต่อดีตของไทยที่ผ่านมาจำไม่ได้ว่าเคยมีหรือไม่

รวมถึงต่างประเทศก็ไม่เคยผ่านตามาก่อน แต่อาจต้องค้นคว้าทำวิจัยกันดูก่อนว่าเคยมีหรือไม่ ใช้เวลาสักนิด

นี่คือการทำงานในลักษณะของงานวิชาการ แต่ฝ่ายการเมืองอาจจะรอไม่ได้จึงออกมาใน ลักษณะนี้

แต่ความจริงแล้ว พ.ร.บ.ปรองดองยังไม่ได้ออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ ที่เราเห็นอยู่เป็นเพียงร่างที่เขียนมา บังคับใช้อะไรไม่ได้ ต้องผ่านสภา ผ่านการอภิปรายกันก่อน แก้ไขกันก่อน

ประเด็นหนึ่งในพ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่บอกว่าถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

ในฐานะนักวิชาการไม่เคยพบเห็น ตามปกติในทางกฎหมายคำตัดสินที่เป็นที่สุดนั้นยังสามารถกลับมาตัดสินใหม่ได้ หากกระบวนการตัดสินนั้นมีความผิดพลาด นั่นคือการทำในระบบ

แต่ถ้าบอกว่าคดีที่อยู่ในช่วงของความขัดแย้งทางการเมือง 15 ก.ย.2548 จนถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 ต้องล้มล้างไปทั้งหมด

ผมว่าแบบนี้ไม่มีหลัก มีเกณฑ์

---------------
สมบัติ บุญงามอนงค์

บ.ก.ลายจุด


เท่าที่พิจารณาเพียงบางส่วนของร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา เป็นการล้มกระดานทั้งหมด ไม่เหลืออะไรเลย

มาตราต่างๆ ของร่างกฎหมายนี้ดูแล้วเป็นประโยชน์กับทุกคน แม้แต่ตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชิน วัตร เพราะเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณพร้อมจะเดินทางกลับประเทศไทยทุกเมื่ออยู่แล้ว

หากกฎหมายที่เสนอเป็นรูปแบบนี้ การเดินทางต่อสู้กันมาของคนเสื้อแดงซึ่งเป็นภาคประชาชนก็ถือว่าจบเลย ไร้ผล เพราะเป็นคนละทางกับที่ประชาชนได้เรียกร้องไว้ว่าจะต้องนำคนผิดมาลงโทษ

ผมคิดว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองน่าจะเห็นตัวร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว เพราะลำพังเพียงรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยคงไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาลักษณะแบบนี้ได้แน่นอน เพราะต้องได้รับการต่อต้านอย่างแน่นอน

ส่วนตัวเชื่อว่าคนในชนชั้นนำทางสังคมคงได้คุยเรื่องนี้กันมาแล้ว เพื่อต้องการจะล้างกระดานทั้งหมดทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมรู้สึกผิดหวังมาก เพราะที่จริงแล้วยังไม่ควรเร่งรีบกระทำการเช่นนี้

เรื่องที่เกิดขึ้นจึงเป็นเกมปรองดองทางการเมืองของชนชั้นนำ ขณะที่ประชาชนตัวเล็กๆ ได้แค่ดูว่าคนในชนชั้นนำคิดได้เพียงเท่านี้หรือ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ พรรคเพื่อ ไทยและรัฐบาลจะต้องรับกับแรงที่ถาโถมเข้ามา ครั้งใหญ่

แม้ว่าบางมาตราจะเปิดช่องให้มีการฟ้องแพ่งได้ก็ตาม แต่ผมมองว่าเป็นการเขียนไว้เพื่อลดแรงต่อต้านหรือแรง เสียดทาน แต่เชื่อว่าคงไม่สามารถทำให้เกิดความสงบ ขึ้นได้ เพราะประชาชนได้ต่อสู้เรียกร้องเรื่องของความยุติธรรมแล้ว

เชื่อว่าเรื่องนี้จะส่งผลให้การเมืองของไทยคุกรุ่นอีกครั้ง แต่คงไม่ถึงขั้นรุนแรงนองเลือด แต่ที่ต้องรับศึกหนักคือพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องรับแรงกดดันทั้งจากฝ่ายตรงข้ามและพวก เดียวกันเอง

แม้ว่าผู้ที่เสนอร่างกฎหมายคือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า พรรคมาตุ ภูมิ แต่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลคงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

และคงต้องยอมรับผลที่จะตามมา เพราะประชาชนยังคงต้องการค้นหาความจริงให้ปรากฏ

พรรคเพื่อไทยต้องมีชุดหรือคณะที่สามารถอธิบายให้ชัดเจนได้ว่าการเสนอร่างกฎหมายแบบนี้ออกมาเพื่ออะไร

------------

นิยม รัฐอมฤต

รองหัวหน้าคณะวิจัยแนวทาง

สร้างความปรองดอง สถาบันพระปกเกล้า


ดูจากพ.ร.บ.ปรองดองที่ยื่นเข้าสภา มีความพยายามให้ครอบคลุมทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ความเข้าใจเบื้องต้นเท่าที่กฎหมายระบุขณะนี้เข้าใจว่าทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ การพูดคุยก็น่าจะทำได้ง่ายขึ้น สถานการณ์น่าจะดีขึ้น

แต่บางคนยังมีความเห็นว่าการเดินหน้าปรองดองก็ควรทำให้กระจ่างเพื่อเป็นบทเรียน การหลบเลี่ยงแล้วให้เลิกรากันไป เหมือนไม่มีใครผิด ใครถูก

จริงๆ ต้องรู้ว่าเรื่องราวต่างๆ มีอะไรบ้างที่เป็นความไม่ยุติธรรม เมื่อเรื่องกระจ่างแล้วจะให้อภัยกันหรือไม่ ยอมรับกันได้หรือไม่ก็ว่ากันไป

การทำอย่างนี้เท่ากับไม่ได้สอบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น

มาตรา 4 ที่ให้ยุติการสอบสวน ยกเลิกความผิดทุกกรณี รวมทั้งยกเลิกคำพิพากษา จะครอบคลุมถึงพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ หรือลึกกว่านั้น คือเจตนาที่ระบุเพื่อต้องการให้เกิด ผลอะไรบางอย่าง เช่น เมื่อผู้นำหลุด เปราะอื่นก็หลุดไปด้วย

ถามว่าเป็นการล้มล้างระบบยุติธรรมหรือไม่ แนวทางที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอไว้คือกระบวนการที่ไม่เป็น ไปตามหลักการ ตั้งอริขึ้นมาคิดบัญชี สอบสวน ตัดสิน ย่อมไม่ถูกหลักนิติธรรม เช่น ในระบบศาลหากคดีใดผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียก็จะร่วมพิจารณาตัดสินคดีไม่ได้

ภาพรวมพ.ร.บ.ปรองดอง สถาบันพระปกเกล้า มีข้อเสนอทำนองนี้เหมือนกัน แต่ที่สำคัญได้ เสนอว่าการทำอะไรต้องเกิดจากการพูดคุย เห็น พ้องต้องกันในวงกว้าง หลายอย่างทำได้ถ้าคนส่วนใหญ่พร้อมให้อภัย ยอมรับได้ ก็ไม่มีปัญหา

เข้าใจว่ารัฐบาลคงอยากให้เสร็จๆ ไป แต่เรื่องนี้หลายฝ่ายมองว่าไม่ให้เร็วไป หรือรวบรัด อย่างการเปิดเวทีสานเสวนาทำได้จริงหรือไม่ งานราชการที่ผ่านมาเป็นลักษณะเกณฑ์คนมา ให้ค่ารถ ค่าอาหาร ลงชื่อแล้วก็จบๆ ไป มีการพูดคุยถูกคนหรือเปล่า เป็นการเปิดเวทีแบบไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามแนวทางที่เสนอ

ยืนยันว่าข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าต้องการให้พูดคุย ให้มีเวทีสานเสวนาระยะหนึ่งจนมีความพร้อม แต่รัฐบาลเร่งรัด

ประเด็นสำคัญคือเรื่องของจังหวะเวลา ไม่ใช่เรื่องควรทำหรือไม่ควรทำ

ไม่ใช่อยู่ดีๆ ทำโดยฝ่ายเดียวแบบรวบรัดเร่งรีบ


ที่มา นสพ.ข่าวสด


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พ.ร.บ.ปรองดอง ปรองดองจริงหรือ

view